Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live

ธนาธร: นี่ไม่ใช่วิกฤตครั้งใหม่ แต่เป็นวิกฤตครั้งเดิมตั้งแต่ 19 ก.ย. 49

$
0
0

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อภิปรายในเวทีเสวนา "ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ : การเมืองของความหวังหรือ จุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่?"

เวทีเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของงาน 70 ปี สถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน

ตอนหนึ่งเขาอภิปรายว่า "ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ ผมอยากจะเริ่มว่า "วิกฤต"เราพูดถึงวิกฤตกับโอกาส คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ก็จั่วหัวว่านี่เป็นโอกาสที่จะเกิดวิกฤตครั้งใหม่หรือเปล่า? ผมคิดว่าเราต้องพูดให้ชัดเจนว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่วิกฤตครั้งใหม่ นี่เป็นวิกฤตครั้งเดิม มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นี่ยังอยู่ภายใต้เงาอันทะมึนของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นี่เป็นวิกฤตเดียวกันตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ไม่ใช่วิกฤตใหม่ครับ"

"แล้วใจกลางปัญหาของวิกฤตไม่ได้อยู่ที่เรื่องบุคลิกหน้าตาท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าถ้าใจเย็นกว่านี้ ยิ้มแย้มกว่านี้ ประเทศไทยจะสงบสุขขึ้น ไม่ใช่ ไม่ได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ้มหวาน หรือจมูกยาว ไม่ใช่ วิกฤตครั้งนี้ใจกลางของมันอยู่ที่อำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร"

"20 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญลองไล่นะครับ รัฐธรรมนูญ 2540, รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549, รัฐธรรมนูญ 2550, รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ในรอบ 20 ปีมี 5 ฉบับมันบอกเราว่าสังคมไทยตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร มันอยู่ที่ไหน มันบอกเราอย่างนี้ นี่คือต้นตอของปัญหา ต้นตอของวิกฤต วันนี้ก็ยังอยู่ในวิกฤตเดิม แต่เปลี่ยนเฟส เปลี่ยนระยะไป หลังมีการเลือกตั้ง มีฝั่งหนึ่งยืนยันหนักแน่นว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของประชาชน และขณะเดียวกันก็มีอีกฝั่งหนึ่งที่มีผู้สนับสนุนน้อยกว่า แต่เชื่อว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นนำไม่กี่คน แต่กลุ่มนี้มีอำนาจ ปืน รถถัง ตราชั่งทางกฎหมาย นี่คือปัญหาใจกลางของสังคมไทยที่ยังแก้ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องอื่น นี่คือเรื่องใจกลางของปัญหาสังคมไทย"

'ธนาธร'ชวนต่อต้านข่าวปลอมและเฮทสปีชด้วยความจริง ไม่ใช่ความเกลียดชัง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โปรดเกล้าฯให้หน่วยงานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ขึ้นตรงกับสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ

$
0
0

โปรดเกล้าฯ ให้ กองราชเลขานุการฯ กองราชสำนักฯ กองศิลปาชีพ สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ และ นางสนองพระโอษฐ์และคุณข้าหลวงในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นตรงกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ

แฟ้มภาพ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ที่มาภาพ: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

14 มิ.ย.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ เรื่อง การบังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ ข้าราชการและข้าราชบริพารในกรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมการบังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ ข้าราชการ และข้าราชบริพารในกรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 และมาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ 2560

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมการบังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ ข้าราชการและข้าราชบริพารในกรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นตรงกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ ดังนี้

1. กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 2. กองราชสำนักสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 3. กองศิลปาชีพ 4. สถาบันสิริกิติ์ 5. มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ 6. นางสนองพระโอษฐ์และคุณข้าหลวงในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 14 มิ.ย. 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ดูฮ่องกงผ่านประวัติศาสตร์การประท้วง กับวัฒนธรรมที่จะไม่ทนถูกลิดรอนเสรีภาพ

$
0
0

ในช่วงที่มีการประท้วงใหญ่ของผู้คนนับล้านในฮ่องกง เดอะการ์เดียนนำเสนอรายงานระบุถึงประวัติศาสตร์ของฮ่องกงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาด้วยการประท้วงจำนวนมาก เริ่มจากประเด็นเล็กๆ อย่างการขึ้นค่าตั๋วเรือไปจนถึงเรื่องการเมืองที่ไม่ยอมให้จีนแผ่นดินใหญ่ใช้อำนาจลิดรอนเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวฮ่องกงกังวลว่ากฎหมายฉบับใหม่จะมาทำลายสิทธิในการแสดงความไม่พอใจของพวกเขา

ผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่ย่านแอดมิรัลตี ใกล้กับรัฐสภาและที่ทำการของรัฐบาลฮ่องกง เมื่อ 12 มิ.ย. 62 (ที่มา:Facebook/HKFP)

15 มิ.ย. 2562 ในฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีนตามแนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบอบ ประชาชนมีเสรีภาพแทบทุกด้านยกเว้นอยู่อย่างเดียวคือสิทธิในการเลือกผู้นำของตัวเอง คริส แพตเทน ผู้ว่าการฮ่องกงที่มาจากอังกฤษคนสุดท้ายเคยพูดถึงฮ่องกงไว้ว่าเป็นสถานที่ๆ "มีเสรีภาพแต่ไม่มีประชาธิปไตย"

สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าการที่ฮ่องกงมี "เสรีภาพแต่ไม่มีประชาธิปไตย"ทำให้การประท้วงกลายเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมืองและสิ่งที่ทำให้ชาวฮ่องกงแสดงออกอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาได้ จากการที่ชาวฮ่องกงมีการเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อแสดงการต่อต้านอำนาจมาตลอดมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นอำนาจอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ หรืออำนาจจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อต้านทานไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการบริหารเมืองฮ่องกงของพวกเขา

และการประท้วงล่าสุดคือการประท้วงใหญ่ต่อต้านกฎหมายการส่งตัวนักโทษข้ามแดนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กฎหมายใหม่ทำให้พวกเขากังวลว่าจะทำให้มีการส่งตัวนักโทษข้ามแดนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ได้ง่ายขึ้น เจสัน ฟง อายุ 19 ปี ที่เข้าร่วมประท้วงกับเพื่อนรักเรียนไฮสคูลของเขากล่าวว่าพวกเขาจะสูญเสียสิทธิการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมในฮ่องกงถ้าหากกฎหมายนี้ผ่าน

แอนโทนี ดาปิรัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ "เมืองแห่งการประท้วง" (City of Protest) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การต่อต้านขัดขืนในฮ่องกงระบุว่า การประท้วงใหญ่ๆ ในฮ่องกงเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2509-2510 ที่ประชาชนออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อประท้วงเรื่องแผนการขึ้นราคาตั๋วเรือเฟอร์รีระหว่างเกาะฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่การชุมนุมในครั้งนั้นที่ถูกเรียกว่า "การจลาจลสตาร์เฟอร์รี"ก็นำไปสู่การประท้วงในเรื่องอื่นๆ เช่น การประท้วงประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานและเรื่องสภาพความเป็นอยู่

ในช่วงปี 2510 การประท้วงทวีกลายเป็นความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่าย ตำรวจใช้วิธีการควบคุมฝูงชนแบบรุนแรงและฝ่ายผู้ประท้วงก็เริ่มใช้ระเบิดทำมือ มีผู้คนหลายสิบรายถูกสังหาร นับเป็นการนองเลือดครั้งเลวร้ายที่สุดของฮ่องกง การประท้วงในครั้งนั้นก็ส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อชีวิตทั่วไปของผู้อาศัยในฮ่องกง

ดาปิรันระบุว่าการประท้วงในครั้งนั้นทำให้เจ้าอาณานิคมเริ่มเล็งเห็นว่าพวกเขาต้องคำนึงถึงสวัสดิการของคนในฮ่องกงมากขึ้น ทำให้มีการปฏิรูปในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเคหะ การศึกษาภาคบังคับ และสิทธิแรงงาน

ต่อมาในยุค 2513-2523 ก็มีการประท้วงต่อต้านการทุจริตของหัวหน้าตำรวจกรณีสินบน ในช่วงปี 2532 ที่รัฐบาลจีนปราบปรามผู้ประท้วงจัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างโหดเหี้ยมยิ่งทำให้สิทธิการประท้วงในฮ่องกงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ฮ่องกงกลายเป็นแหล่งที่ผู้คนจำนวนมหาศาลชุมนุมรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินทุกปีโดยเฉพาะในช่วงครบรอบ 30 ปี ที่ผ่านมาไม่นาน ดาปิรันระบุว่าการชุมนุมเรื่องเทียนอันเหมินในฮ่องกงกลายเป็นการรำลึกและแสดงการเป็นประจักษ์พยาน รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงตัวตนความเป็นฮ่องกงให้เห็นว่าชาวฮ่องกงแตกต่างออกไปและจะใช้สิทธิการชุมนุมของตัวเอง

หลังจากที่มีการให้ฮ่องกงกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปี 2540 ทางการจีนก็สัญญาว่าจะให้มีการปกครองตนเองแบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"การประท้วงในฮ่องกงก็เริ่มเน้นมากขึ้นในเรื่องการปกป้องสิทธิและเสรีภาพชาวฮ่องกง นอกจากนี้การประท้วงยังเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นพื้นที่แสดงออกถึงความไม่พอใจทางการเมืองในระบบที่พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าการเขตปกครองของตนเอง

ที่ผ่านมาการประท้วงที่ได้ผลมากที่สุดหลังถูกส่งมอบให้จีนเห็นจะเป็นการประท้วงต่อต้านกฎหมายมาตรา 23 ในปี 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายอ้างเรื่องการสั่งห้ามการก่อกบฏ การแยกตัวเป็นอิสระ การปลุกระดม และการล้มล้าง นักการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและประชาชนในยุคนั้นเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำลายสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา ทำให้มีประชาชนมากกว่าครึ่งล้านออกมาเดินขบวนเพื่อต่อต้านมัน ทำให้ทางการต้องระงับกฎหมายนี้อย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้นำฮ่องกงในยุคนั้นด้วย

ในปี 2555 ผู้ประท้วงในฮ่องกงก็ประสบความสำเร็จในการบีบให้รัฐบาลกลับลำในแผนหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับที่ถูกฝ่ายต่อต้านวิจารณ์ว่าเป็นการล้างสมอง ในการประท้วงนี้เองที่กลายเป็นเบ้าหลอมนักเรียน-นักกิจกรรมอย่างโจชัว หว่อง ที่ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ ในขณะเดียวกันการประท้วงครั้งนั้นก็อาจจะกลายเป็นการส่งสัญญาณให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มไหวตัวด้วย ในยุคสมัยภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้น เขาใช้อำนาจควบคุมสังคมจีนอย่างเข้มงวด ทั้งการปราบปรามนักกิจกรรม และปล่อยให้มีการคุมขังสอดแนมชาวซินเจียงซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นอกจากนี้รัฐบาลฮ่องกงยังแข็งข้อต่อฝ่ายต่อต้านมากขึ้นด้วย

และในปี 2557 ถึงเริ่มมีการประท้วงครั้งสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถึงแม้ว่าจะถูกปราบปรามในเวลาต่อมาแต่ก็ปักหลักประท้วงยาวนานเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน ขณะที่ผู้จัดการชุมนุมและผู้นำที่มีชื่อเสียงของการชุมนุมในครั้งนี้ก็ถูกดำเนินคดีในชั้นศาล

ดาปิรันกล่าวว่าทางการจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องการให้ชาวฮ่องกงคิดว่าตัวเองประท้วงแล้วจะได้ผลอยู่เรื่อยๆ

ในการประท้วงล่าสุดก็เช่นเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมการประท้วงมากขึ้นก็มีนักวิเคราะห์เพียงไม่กี่คนที่มองว่ารัฐบาลปัจจุบันของฮ่องกงจะยอมให้กับฝูงชนในเรื่องกฎหมายการส่งตัวนักโทษข้ามแดน มายา หวัง นักวิจัยอาวุโสด้านจีนของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ท่ามกลางการประท้วงใหญ่ของประชาชนรัฐบาลฮ่องกงก็มีทีท่าว่าจะเดินหน้ามากกว่าจะถอยในเรื่องการทำลายการเป็นอิสระของฮ่องกง

เรียบเรียงจาก

Taking to the streets: how protests have shaped Hong Kong's history, The Guardian, Jun. 13, 2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กรุงเทพโพลล์: ประชาชนเชื่อ รัฐบาลผสม 19 พรรคไร้เสถียรภาพที่สุด

$
0
0

กรุงเทพโพลล์ระบุ ประชาชนกลุ่มสำรวจร้อยละ 65.6 กังวลว่ารัฐบาลผสมจะไร้เสถียรภาพจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล การจัดสรรตำแหน่งโควตารัฐมนตรี กระแสข่าวโจมตี และภาวะสภาปริ่มน้ำ นโยบายที่ควรแก้ไขก่อนคือเรื่องปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ

15 มิ.ย. 2562 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “มุมมองประชาชนต่อความท้าทายที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ”  โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,196  คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.6 เห็นว่ารัฐบาลใหม่จากการผสมกว่า 19 พรรคการเมือง จะมีเสถียรภาพและความมั่นคงค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34.4 เห็นว่า จะมีเสถียรภาพและความมั่นคงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะเผชิญกับความท้าทายด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดคือ ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล การจัดสรรตำแหน่ง โควตารัฐมนตรี คิดเป็นร้อยละ 64.1 รองลงมาคือ กระแสข่าวโจมตีรัฐบาล คิดเป็นร้อยละ 43.8  และจำนวนเสียงที่ใกล้เคียงกันระหว่าง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน คิดเป็นร้อยละ 41.6

ส่วนนโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ สานต่อจากที่ค้างคาไว้ในอดีต แบบไร้รอยต่อพบว่า อันดับแรกคือ ช่วยเหลือผู้ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม คิดเป็นร้อยละ 59.6 รองลงมาคือ  ปฏิรูปเศรษฐกิจ การลงทุน ที่มีนวัตกรรมและการวิจัย คิดเป็นร้อยละ 58.1 และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น คิดเป็นร้อยละ 44.7

สุดท้ายเมื่อถามว่านโยบายหาเสียงของฝ่ายรัฐบาลที่อยากให้รีบดำเนินการมากที่สุดคือ เพิ่มรายได้ประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชน คิดเป็นร้อยละ 53.1 รองลงมาคือ ทวงคืนกำไรให้ชาวสวน ชาวนา คิดเป็นร้อยละ 51.5 และเศรษฐกิจประชารัฐ คิดเป็นร้อยละ 45.3

รายละเอียดตามประเด็นข้อคำถามมีดังต่อไปนี้  

1. ความเห็นต่อรัฐบาลใหม่จากการผสมกว่า 19 พรรคการเมือง จะมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากน้อยเพียงใด ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 65.6 (แบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 41.2  และน้อยที่สุดร้อยละ 24.4) ค่อนข้างมากถึงมากที่สุดร้อยละ 34.4 (แบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 29.7  และมากที่สุดร้อยละ 4.7)

2. สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะเผชิญกับความท้าทายด้านเสถียรภาพทางการเมือง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล การจัดสรรตำแหน่ง โควต้ารัฐมนตรีร้อยละ 64.1 กระแสข่าวโจมตีรัฐบาลร้อยละ 43.8 จำนวนเสียงที่ใกล้เคียงกันระหว่าง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร้อยละ 41.6 ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศร้อยละ 38.7 การชุมนุมประท้วง ภายหลังปลดล็อค ม.44 ร้อยละ 35.5

3. นโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ สานต่อจากที่ค้างคาไว้ในอดีต แบบไร้รอยต่อ 5 อันดับแรก  (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ช่วยเหลือผู้ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมร้อยละ 59.6 ปฏิรูปเศรษฐกิจ การลงทุน ที่มีนวัตกรรมและการวิจัยร้อยละ 58.1 ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นร้อยละ 44.7 ช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย พัฒนาคืนความสุขให้ประชาชนร้อยละ 28.6 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง รถไฟความเร็วสูงร้อยละ 22.1

4. นโยบายหาเสียงของฝ่ายรัฐบาลที่อยากให้รีบดำเนินการมากที่สุด  5 อันดับแรก  (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) เพิ่มรายได้ประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชนร้อยละ 53.1 ทวงคืนกำไรให้ชาวสวน ชาวนาร้อยละ 51.5 เศรษฐกิจประชารัฐร้อยละ 45.3 สังคมประชารัฐร้อยละ 38.1 สวัสดิการประชารัฐร้อยละ 25.1

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หนุ่มเครียดยิงตัวตาย หลังโพสท์การเมืองแล้วมีคนใส่ชุดลายพรางติดตาม

$
0
0

ที่จันทบุรี เกิดเหตุชายอายุ 32 ปี เสียชีวิต น้าชายระบุ เคยบ่นโพสท์วิจารณ์การเมืองรุนแรงจนมีคนเตือนว่าผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดนสายโทรศัพท์ลึกลับมาสอบถาม มีชายใส่ชุดลายพรางขับรถมาป้วนเปี้ยนแถวบ้าน หวั่นถูกอุ้มหาย ก่อนพบยิงตัวตายในบ้านคนเดียว พ่อกล่าวย้ำ ลูกชายเครียดเรื่องถูกคนติดตาม

ภาพที่เกิดเหตุ (ที่มา: Facebook/Krisada Sawatdichai)

15 มิ.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) ข่าวสดรายงานว่า ร.ต.อ.จุมพล จั่นสังข์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ได้รับแจ้งว่ามีผู้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตที่บ้านในซอยตะเคียนทอง 9/2 .เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี จึงเดินทางไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่สมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถาน จันทบุรี เจ้าหน้าที่วิทยาการกองพิสูจน์หลักฐานและเจ้าหน้าที่กู้ภัย

จากการตรวจสอบพบว่าผู้ตายอยู่ในบ้านชื่อวิศรุต บุตรคุณ อายุ 32 ปี นอนหงายบนเตียงไม้ มีแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนที่หน้าผากหนึ่งนัด กระสุนฝังใน มือซ้ายวางทับอาวุธปืนลูกกรดไทยประดิษฐ์ ในรังเพลิงพบปลอกกระสุนปืนขนาด .22 คาในลำกล้องหนึ่งปลอก เจ้าหน้าที่วิทยาการได้ตรวจสอบร่องรอยลายนื้วมือแฝง เขม่าดินปืนและเก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน

ลิขิต เขียวน้อย อายุ 39 ปี น้าชายของวิศรุตให้การกับเจ้าหน้าที่ โดยคิดว่าวิศรุตฆ่าตัวตาย อาจเพราะมีสาเหตุจากอาการเครียดเรื่องที่ได้เคยมาปรึกษาว่าไปโพสต์วิจารณ์การเมืองในโลกโซเชียลด้วยถ้อยคำรุนแรงจนชาวเน็ตท้วงติงว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อ 2-3 วัน ที่ผ่านมาก็มีสายโทรศัพท์ปริศนา โทร. เข้ามาสอบถามวิศรุตเกี่ยวกับข้อความที่โพสท์ไป แต่เมื่อวิศรุตติดต่อกลับไปยังหมายเลขปลายทางก็พบว่าไม่สามารถติดต่อได้

ประกอบกับเห็นกระบะพาชายฉกรรจ์สวมชุดลายพรางคล้ายทหารวนเวียนมาแถวบ้านบ่อยครั้ง ทำให้วิศรุต วิตกและหวาดระแวงตลอดเวลา ซึ่งลิขิตได้ให้กำลังใจว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ปัญหามีทางออก

สมศักดิ์ บุตรคุณ อายุ 53 ปี พ่อของวิศรุตให้การว่า เมื่อ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้ให้วิศรุตช่วยขับรถกระบะไปขายผลไม้ในตลาด แต่ลูกชายบอกว่ายังเครียดเรื่องที่มีชายฉกรรจ์ใส่ชุดลายพรางมาวนเวียนแถวบ้าน อาจจะมีทหารมาอุ้มหรือถูกดักรุมทำร้าย เมื่อเห็นว่าลูกชายอยู่ในอาการเครียด สมศักดิ์จึงขับรถเองแต่ให้วิศรุตนั่งรถไปเป็นเพื่อน จนเมื่อคืนที่ผ่านมา (13 มิ.ย.) ลูกชายได้หายตัวไป ไม่กลับมานอนที่บ้านซึ่งถือว่าผิดปกติ ทำให้ตนเกิดความเป็นห่วง จนรุ่งเช้าจึงได้รีบออกมาตามหาที่บ้านพักในสวนผลไม้ เมื่อเปิดประตูเข้ามาก็พบว่าลูกชายใช้อาวุธปืนยิงตัวตายแล้ว จึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบดังกล่าว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จึงส่งศพไปชันสูตร ก่อนมอบให้ญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุสลตามประเพณีทางศาสนาต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักเรียนตายในสถาบันกวดวิชาเตรียมทหาร ผลชันสูตรเจ็บสาหัสทั้งภายนอก-ภายใน

$
0
0

มีเหตุนักเรียนเสียชีวิตขณะเตรียมสอบนักเรียนเตรียมทหารในสถาบันกวดวิชา ผลชันสูตร บาดเจ็บสาหัสทางร่างกาย หัวแตก แขนหัก อวัยวะภายในกระทบกระเทือนหนัก พ่อเตรียมฟ้องร้อง เจ้าของสถานกวดวิชา เพื่อน ยัน บาดเจ็บเกิดจากการเล่นกันเอง แม่ของคนที่ถอนตัวออกไปจากสถาบันก่อนหน้านี้ระบุ มีการใช้กฎรุนแรงจนถึงให้นักเรียนคนอื่นรุมซ้อม

15 มิ.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) เว็บไซต์ sanook.comรายงานว่า ด.ช.ฐปกร (ชายแดน) อายุ 15 ปี ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะเตรียมตัวสอบนักเรียนเตรียมทหารในสถาบันกวดวิชาเตรียมทหารแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสทางร่างกาย มีอาการช็อคหมดสติ อุจจาระ ปัสสาวะเรี่ยราดจนต้องส่งห้องไอซียูรักษาตัวที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

พิษณุ ผู้เป็นบิดาของฐปกรกล่าวว่า เมื่อบ่ายวันที่ 13 มิ.ย. เขาได้รับโทรศัพท์จากหญิงรายหนึ่งซึ่งระบุว่าเป็นมาดาของเด็กชายอีกรายที่เคยไปเรียนและเก็บตัวที่สถาบันกวดวิชาดังกล่าวแต่ถอนตัวออกมาก่อน เนื่องจากภายในใช้กฎระเบียบที่เข้มงวด มีการใช้ความรุนแรงในการทำโทษ ทำให้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถาบันดังกล่าว การทำโทษจะมีการใช้วิธีตั้งแต่ให้ไปทำงานบ้านคนเดียวหนักๆ จนเลยเถิดไปถึงการใช้ความรุนแรงถึงขั้นให้นักเรียนคนอื่นๆ รุมซ้อม

พิษณุเชื่อว่าลูกชายต้องถูกรุมทำร้ายอย่างแน่นอน แต่จะโดยฝีมือใครเท่านั้นเอง ตอนนี้กำลังหาหลักฐานเพิ่มเติมในการเอาผิดส่งให้ตำรวจ ในทางคดีนั้น ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะมีการเชิญตัวเจ้าของสถาบันมาสอบสวน โดยจะดำเนินการเอาผิดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชายถึงที่สุด

การชันสูตรตรวจสอบสภาพศพของฐปกร พบว่า นอกจากมีแผลศีรษะแตก เย็บ 7 เข็ม และแขนขวาหักแล้ว ที่บริเวณด้านหลังมีร่องรอยถูกทุบตีด้วยของแข็งตั้งแต่แผ่นหลังไปจนถึงขาหลายจุด อัณฑะมีร่องรอยไหม้คล้ายถูกไฟลน ส่วนอวัยวะภายในได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก กระเพาะและปอดช้ำ ตับอ่อนฉีกขาด แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นการบาดเจ็บของตับอ่อนจากการกระทบต่อช่องท้อง

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ณัฐพล ถาวรพิบูลย์ อายุ 27 ปี เจ้าของสถาบันกวดวิชาดังกล่าว ได้ออกมาชี้แจงว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการเล่นกันเองของกลุ่มนักเรียนในสถาบันที่พักอยู่ร่วมกัน โดยการสกัดให้ล้มเหมือนการเล่นรักบี้ แล้วเด็กคนอื่นๆ ก็จะล้มตัวทับเด็กกันเป็นชั้นๆ ขณะที่เล่นกันนั้น ฐปกรอยู่ข้างล่างสุดแล้วสะบัดตัวออกมาได้ ก็วิ่งหนีขึ้นบันไดไปชั้นสอง แต่ขณะที่กำลังวิ่งลงมา ฐปกรก็หมดสติล้มลงตรงหน้าบันได ศีรษะแตกและนอนนิ่ง นักเรียนที่เล่นกันจึงรีบมาแจ้งเขา ก่อนจะช่วยกันพาฐปกรส่งโรงพยาบาล โดยส่วนตัวยืนยันและพร้อมให้ตรวจสอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะไม่หลบหนีไปไหนอย่างเด็ดขาด โดยจะนำนักเรียนคนอื่นๆ ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนด้วย

นักเรียนกวดวิชาที่เก็บตัวเรียนอยู่ในสถาบันเดียวกันเองก็ยืนยันว่าเป็นการเล่นกันเองแล้วฐปกรเกิดหมดสติหัวล้มฟาดกับราวบันได เบื้องต้นพนักงานสอบสวนยังไม่มีการเรียกคู่กรณีมาสอบปากคำแต่อย่างใด  พิษณุ พ่อของเด็กชายที่เสียชีวิต เตรียมแจ้งความเพิ่มกับพนักงานสอบสวน แต่ขอดำเนินการจัดงานสวดพระอภิธรรมศพของบุตรชายวันแรก ที่วัดส้มเกลี้ยง อ.เมืองตาก ให้เรียบร้อยก่อน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

การเมืองของความหวังหรือจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่?: พงศ์เทพ-ธนาธร-วีเชียร-โกวิทย์ [คลิป]

$
0
0

อภิปรายช่วงแรกโดย วิเชียร ชวลิต, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และโกวิทย์ พวงงาม

ช่วงถาม-ตอบ เริ่มต้นคำถามโดยวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวการเมืองและอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

คลิปจากเสวนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่: การเมืองของความหวังหรือจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่?” วิทยากรประกอบด้วย 1. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ 2. วิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ 3. พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย และ 4. ศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไทย ผู้ดำเนินรายการ: รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวทีเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของงาน 70 ปี สถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฮ่องกงเลื่อนพิจารณา ก.ม.ผู้ร้ายข้ามแดนไม่มีกำหนด ผู้นำเลี่ยงตอบเรื่องลาออก

$
0
0

รัฐบาลฮ่องกงเลื่อนพิจารณากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน อย่างไม่มีกำหนดหลังเผชิญหน้าการเดินขบวนต่อต้านมาเกือบหนึ่งสัปดาห์ ผู้นำรัฐบาลระบุ อาจไม่ได้พิจารณาภายในวาระของสภานิติบัญญัติชุดปัจจุบัน ภาคส่วนการเมือง ธุรกิจพอใจ แต่บางส่วนยังอยากให้แครี่ หล่ำ ผู้นำรัฐบาลลาออกแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มจัดชุมนุมยังคงเดินขบวนต่อในวันอาทิตย์ เพราะอยากให้ยกเลิก ไม่ใช่เลื่อน

แครี่ หล่ำ ผู้นำรัฐบาลฮ่องกง (ที่มา:)

15 มิ.ย. 2562 แครี่ หลำ ผู้นำฝ่ายบริหารของฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่าสภานิติบัญญัติได้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างจีน-ฮ่องกงออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยมีแนวโน้มว่าอาจไม่ได้พิจารณาภายในวาระของรัฐบาลนี้ (ก่อนสิ้นเดือน ก.ค.)

เธอกล่าวว่ารัฐบาลจะเดินหน้าขอคำปรึกษาจากประชาชนก่อนที่จะตัดสินใจต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี กลุ่ม แนวหน้าสิทธิมนุษยชนพลเมือง (Civil Human Rights Front) องค์กรที่จัดตั้งการประท้วงต่อต้านร่างฯ ดังกล่าวทีมีคนออกมาชุมนุมหลักแสน-ล้านคน ยังคงยืนยันที่จะเดินขบวนต่อในวันอาทิตย์ เนื่องจากต้องการให้ร่างฯ ดังกล่าวถูกถอน ไม่ใช่ถูกเลื่อนพิจารณาออกไป

ด้านพรรคนิยมจีนอย่างพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อฮ่องกงที่ก้าวหน้าและดีกว่า (DAB) ออกมาแสดงความยินดีกับการเลื่อนกฎหมาย เพื่อให้มีการเดินหน้าต่อไปท่ามกลางภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยในสภา ต้องการให้หลำแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข่าว หลำถูกถามเรื่องการลาออกถึงเจ็ดครั้ง แต่เธอไม่เคยตอบคำถามแบบตรงๆ เลย เพียงแต่ตอบว่ายังมีอะไรที่ต้องทำในฐานะผู้นำฮ่องกงอีกมากมาย

ในภาคส่วนธุรกิจก็มีปฏิกิริยาต่อการเลื่อนพิจารณากฎหมายออกไปเช่นกัน โดยสภาธุรกิจหลักๆ อย่างน้อยสามแห่งยินดีกับการเลื่อนพิจารณาครั้งนี้ แต่รัฐบาลจะต้องอธิบายต่อประชาชนในเรื่องกฎหมายดังกล่าวให้มากขึ้นด้วย

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฮ่องกงโคจรรอบประเด็นกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายาวนานเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้ว เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อนุญาตให้ทางการสามารถจัดการกับการส่งตัวนักโทษข้ามแดนได้เป็นรายกรณีระหว่างฮ่องกง ไต้หวัน และจีนโดยไม่ต้องมีการทำข้อตกลงล่วงหน้า นั่นทำให้ผู้ว่าการฮ่องกงและศาลในฮ่องกงมีอำนาจส่งตัวนักโทษข้ามแดนโดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมาย เรื่องนี้ทำให้ทั้งทนายความ นักข่าว นักการเมืองต่างประเทศ และนักธุรกิจต่างกังวลว่าจะถูกหาเรื่องส่งตัวไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะนักโทษข้ามแดน

การประกาศเปลี่ยนแปลงกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดนนี้ยังจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายเรื่องความเชื่อมั่นต่อระบบนิติบัญญัติของฮ่องกงและต่อระบบกฎหมายของจีน มีการลงนามต่อต้านกฎหมายนี้ทางออนไลน์ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของผู้พิพากษาศาลสูงของฮ่องกง แพทริก ลี อยู่ในนั้นด้วย ถึงแม้ว่าเพื่อนร่วมงานของเขาจะเคยเตือนไม่ให้เขาเข้าร่วมการลงนามโดยอ้างเรื่องความเป็นกลางของตุลาการ นอกจากแพทริก ลีแล้วมีผู้พิพากษาระดับสูงในฮ่องกงรวม 3 ราย และทนายความชั้นนำรวม 12 ราย ร่วมกันประท้วงในเรื่องนี้เนื่องจากกังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำลายหลักนิติธรรมของฮ่องกง โดยที่น้อยครั้งคนทำงานด้านกฎหมายระดับสูงเหล่านี้จะทำการประท้วงทางการเมือง

แปลและเรียบเรียงจาก

‘Deep sorrow and regret’ – Hong Kong suspends controversial extradition bill after months of protest and criticism, HKFP, Jun. 15, 2019

Hong Kong extradition bill: Carrie Lam backs down and 'suspends' legislation, sets no new time frame, SCMP, Jun. 15, 2019

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปชป.จ่อส่ง 7 ลิสต์ รมต. ให้ประยุทธ์ ด้านกลุ่มหลุดโผขู่ทบทวนจุดยืน

$
0
0

ขั้วร่วมจัดตั้งรัฐบาลขยับหลัง โผ ครม. ประยุทธ์ 2 ออกมา ปชป. เตรียมส่งชื่อ 7 บุคคลนั่งตำแหน่ง รมต. ให้ประยุทธ์ จุติ ไกรฤกษ์ มีสลับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยกับนิพนธ์ บุญญามณี รมว.พม. ดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยโอด หลุดโผกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาจย้ายไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ ส.ส. พปชร. อีสานตอนบนขู่ทบทวนท่าที เหตุ ครม. ไม่มี ส.ส. อีสานตอนบนสักคน

15 มิ.ย. 2562 สำหรับสถานการณ์ความคืบหน้าเก้าอี้รัฐมนตรีในขั้วรัฐบาลผสมจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มีข้อยุติ 7 รายชื่อผู้จะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ราเมศ รัตนะเชวง โฆษก ปชป. ออกมาแถลงผลการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ปชป. ระบุว่าขั้นตอนต่อไปจะส่งชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวน 7 คนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบันต่อไป ทั้งนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อของกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ตามระเบียบข้อบังคับพรรค

กางโผ ‘ครม.ประยุทธ์ 2’ แบ่งเค้กปชป.-ภท.ตามดีลเดิม พร้อมแจกเก้าอี้สามมิตร–สี่กุมาร

สำนักข่าวไทยรายงานว่า การประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) กินเวลายาวนานกว่า 10 ชั่วโมง ตั้งแต่ 14.00-22.50 น. เป็นการถกเถียงคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งโควตารัฐมนตรีของพรรค โดยมีรายงานว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นิพนธ์ บุญญามณี จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จุติ ไกรฤกษ์ จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถาวร เสนเนียม จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และสาธิต ปิตุเตชะ จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

หลังประชุมเสร็จ กลุ่ม ส.ส. ก็จับกลุ่มหารือกันจนถึงเวลา 01.00 น. สำนักงานเลขาธิการพรรคจึงได้ทำหนังสือถึงเฉลิมชัย ให้ทบทวนมติสลับตำแหน่งระหว่างจุติ ไกรฤกษ์ จาก รมช. กระทรวงมหาดไทย เป็น รมว. พม. แล้วให้นิพนธ์ บุญญามณี จาก รมว. พม. ไปดำรงตำแหน่ รมช. มหาดไทย โดยมี ส.ส. ร่วมลงชื่อในเอกสาร 8 คน ประกอบด้วย ถาวร เสนเนียม อิสสระ สมชัย นริศ ขำนุรักษ์ นิพนธ์ บุญญามณี จุติ ไกรฤกษ์ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

ด้าน กรณ์ จาติกวณิช ส.ส. บัญชีรายชื่อ ปชป. โพสท์เฟสบุ๊คว่า “วันนี้ในการประชุมพรรคเพื่อพิจารณารายชื่อผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี ทางผู้บริหารพรรคได้เสนอชื่อ 7 ท่านที่จะเป็นรัฐมนตรีในนามของพรรค ซึ่งไม่มีผมอยู่ด้วย - พวกเราไม่ต้องเป็นกังวลนะครับ ผมอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้”

“ผมจะทำหน้าที่ในฐานะ สส. ให้ดีที่สุดต่อไป”

ส่วนทางพรรคชาติไทยพัฒนา กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคได้เสนอชื่อวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส. บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย ในฐานะ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี เลขาธิการพรรคเป็น รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปให้ประยุทธ์พิจารณาเป็นรอบสุดท้าย

ด้านขั้ว 10 พรรคเล็กก็มีปฏิกิริยาออกมาเช่นกัน ในวันนี้ (15 มิ.ย.) ดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่มี ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 2 คน ประกาศทบทวนร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังโผ ครม. มีชื่อวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนาเป็น รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ดำรงค์ผิดหวัง เพราะเดิม พปชร. เชิญให้มาช่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และหากไม่ได้ทำงานที่เป็นนโยบายพรรค จะให้ไปทำงานด้านอื่นก็นับว่าไม่มีประโยชน์

ดำรงค์กล่าวย้ำว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่ม 10 พรรคเล็กที่แต่เดิมมีมติสนับสนุน พปชร. ทั้งนี้ หาก พปชร. ไม่ทบทวนมติพรรคใหม่ ดำรงค์ก็จะขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ

กระแสความไม่พอใจต่อโผ ครม. ประยุทธ์ 2 ปรากฏในมุ้ง พปชร. เช่นกัน มติชนรายงานว่า เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. อดีตคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคที่ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ออกมากล่าวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรตำแหน่งใน ครม. ทั้งที่ตนมีบทบาทในการทำให้ พปชร. ได้คะแนนเสียงจากภาคอีสานตอนบนเกือบ 2 ล้านเสียงจาก 8 ล้านกว่าคะแนนเสียง แต่ ส.ส. อีสานตอนบนกลับไม่อยู่ในโผ ครม. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เสมือนปล่อยให้ ส.ส. ภาคอีสานตอนบนเดินอย่างว้าเหว่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทาง ส.ส. ก็จะทบทวนบทบาทการร่วมกิจกรรมกับ พปชร. ในอนาคตต่อไป แต่ย้ำว่านี่ไม่ใช่การลาออกเด็ดขาด แต่จะไปร่วมงานกับผู้มีอุดมการณ์และมีความเป็นธรรมให้ ส.ส.กลุ่มภาคอีสานตอนบน

ที่มา: สำนักข่าวไทย [1][2]  มติชนออนไลน์ [1][2]

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อดีต ปธ. PerMAS เข้าฟังข้อกล่าวหาชุมนุมร่วมธนาธร เบื้องต้นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

$
0
0

อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ในกรณีชุมนุมหน้า สน.ปทุมวันเมื่อ 24 มิ.ย. 2558 คดีเดียวกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและนักกิจกรรมอีก 15 คน จนท.แจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เบื้องต้นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยื่นหลักฐานเพิ่มภายใน 30 วัน ผู้สนับสนุนให้กำลังใจสุไฮมีด้วยการชู 3 นิ้วแชร์ลงโซเชียล

สุไฮมีและหมายเรียกเมื่อ 11 มิ.ย. 2562 (ภาพจากเฟสบุ๊ค 'Suhaimee Dulasa')

15 มิ.ย.2562 ที่ สน.ปทุมวัน เพจ Media For Youรายงานว่า สุไฮมี ดูละสะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีหรือเปอร์มาส (PerMAS) พร้อมทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในกรณีชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อ 24 มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นคดีเดียวกับที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนักกิจกรรมอีก 15 คนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้

อดีตประธาน PerMAS เจอหมายเรียกคดีเก่าชุมนุมร่วมกับธนาธร ข้อหายุงยงปลุกปั่น

13 นักกิจกรรมรับทราบข้อกล่าวหาเหตุชุมนุมหน้า สน.ปทุมวันปี 58 ผิด ม.116-215

พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215

สุไฮมีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือพร้อมพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 30 วัน หลังรับทราบข้อกล่าวหา สุไฮมีได้ออกมาขอบคุณนักศึกษา ประชาชน และสถาบันต่างๆ ที่มาร่วมให้กำลังใจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้โพสต์ข้อความในเพจของศูนย์แจ้งข่าวว่า มีบุคคลสองคนในกลุ่มคน 15 คนที่ถูกหมายเรียกในคดีเดียวกัน ได้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับทนายความ คือ ปกรณ์ อารีกุลและวรวุฒิ บุตรมาตร ซึ่งได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากคดีเมื่อสี่ปีที่แล้วคือในการชุมนุมเมื่อ 24 มิ.ย.2558 ข้อกล่าวหาคือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและกระด้างกระเดื่องตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญา และรวมตัวกันกว่าสิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 ของกฎหมายอาญาเช่นกัน ทั้งสองข้อหาเป็นข้อหาเดียวกันกับที่นายสุไฮมีถูกแจ้ง และก่อนหน้านี้นายธนาธรและบุคคลอื่นๆอีก 13 คนได้รับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว รวมทั้งหมดขณะนี้มีผู้ถูกหมายเรียกและไปรับทราบข้อหาแล้วรวม 16 คน

สุไฮมีโพสท์ภาพหมายเรียกตัวเมื่อ 11 มิ.ย.2562 หลังจากนั้นก็มีแคมเปญ SAVE Suhaimee เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์และสนับสนุนสุไฮมีผ่านการโพสท์รูปชูสามนิ้วแทนหลักการเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใต้โต๊ะนักข่าว EP.13 | แม่มดไม่มีจริง

$
0
0

หลังจากที่ช่วงนี้การล่าแม่มดออนไลน์กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะในกรณีของ ช่อ -​ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่โดนขุดรูปถ่ายรับปริญญามาแปะข้อหาล้มเจ้า วันนี้รายการใต้โต๊ะนักข่าว EP.13 เชิญอดีตผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท จีรนุช เปรมชัยพร มานั่งคุยเรื่องการล่าแม่มด และผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกเมื่อสังคมปฏิเสธความแตกต่าง รวมไปถึงว่าเราจะป้องกันตัวเองอย่างไรเมื่อเรากลายเป็นแม่มดเสียเอง

รับฟังใต้โต๊ะนักข่าวย้อนหลัง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กีฬาสีเมืองตรัง-นักเรียนล้อ 'ประยุทธ์' 5 ปียังไม่พอ ขอต่ออีก 4 ปี

$
0
0

กีฬาสี ร.ร.สภาราชินี เมืองตรัง จัดพาเหรดล้อการเมือง-พล.อ.ประยุทธ์ "5 ปีที่ผ่านมาผมว่ายังไม่พอ""ผมเลยจะขอทำต่ออีก 4 ปี"ด้าน 'ศูนย์ข่าวรักษ์ตรัง'เผย ผอ.โรงเรียนระบุว่าโรงเรียนตรวจสอบแล้ว เห็นว่ามิได้ส่อไปในทางรุนแรง จึงอนุญาตให้ดำเนินการ เข้าใจนักเรียนต้องการแสดงออก แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม

กรณีที่นักเรียนโรงเรียนสภาราชินี อ.เมือง จ.ตรัง จัดงานกีฬาสีประจำปี 2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา และมีกิจกรรมพาเหรดในตัวเมือง จ.ตรัง โดยนักเรียนที่ร่วมขบวนพาเหรดส่วนหนึ่ง ได้ถือป้ายผ้าและจัดทำขบวนล้อการเมือง โดย วานิช สุนทรนนท์"บก.นสพ.ฅนตรัง ได้โพสต์ภาพดังกล่าวและมีผู้แชร์ต่อหลายพันครั้งนั้น

ทั้งนี้ใน YouTubeได้มีผู้โพสต์วิดีโอการเดินพาเหรดด้วย โดยหลังขบวนของกลุ่ม อย.น้อย รณรงค์งดใช้น้ำมันพืชทอดซ้ำ ก็มีขบวนล้อการเมือง มีนักเรียนถือป้ายผ้าเป็นข้อความเรียงต่อกัน ระบุว่า "Congratulation Mr.Prayuth""5 ปีที่ผ่านมาผมว่ายังไม่พอ""ผมเลยจะขอทำต่ออีก 4 ปี"ถัดจากนั้นมีคนแต่งชุดสูทสวมแว่นดำ ทำเสียงคล้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีแถวป้ายผ้าเขียนว่า "เรารักลุงตู๋"พร้อมด้วยหลักกิโลเมตรจำลองเขียนว่า "กม.44"และขบวนถือป้ายผ้าปิดท้ายว่า "ปีนี้เอาแค่หัวส่วนตัวเอาไว้ปีหน้า และหนูขอสัญญาว่า""หนูจะเป็นเด็กดี"

ที่มา: YouTube/ขบวนพาเหรด กีฬาสี โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง 2562

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในคลิปเดินพาเหรดของกลุ่มอื่นๆ ยังมีขบวนที่น่าสนใจทั้งขบวนต่อต้านการทุจริต ขบวนของชมรมทูบีนัมเบอร์วัน ขบวนส่งเสริมให้รับประทานผักและผลไม้ งดใช้น้ำมันทอดซ้ำ ฯลฯ 

ที่มา: YouTube/ขบวนพาเหรด กีฬาสี โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง 2562

อนึ่งเมื่อคืนวันที่ 15 มิ.ย. เฟซบุ๊คเพจ ศูนย์ข่าวรักษ์ตรังเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ สุรศักดิ์ ยี่หลัก ผอ.ร.ร.สภาราชินี ที่ระบุว่า ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรม ประธานสภานักเรียนได้นำรูปแบบและข้อความมาเสนอต่อฝ่ายปกครองแล้ว ซึ่งทางโรงเรียนตรวจสอบกลั่นกรองแล้วเห็นว่ามีลักษณะหรือเนื้อหาที่มิได้ส่อไปถึงความรุนแรงใดๆ จึงอนุญาตให้ดำเนินการ โดยเข้าใจถึงความคิดของนักเรียนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง แต่ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม ซึ่งหลังจากที่มีการนำภาพการแสดงออกทางเมืองดังกล่าวไปเสนอผ่านโลกออนไลน์ แม้อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันบ้าง แต่ทางผู้ใหญ่ก็เข้าใจ ไม่ได้ตำหนิอะไรต่อทางนักเรียน หรือโรงเรียน เนื่องจากทุกอย่างได้ดำเนินการอย่างรอบคอบหรือรอบด้านแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในรอบสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคการศึกษา มีรายงานข่าวกิจกรรมไหว้ครูในโรงเรียนมัธยมหลายแห่งทั่วประเทศ ทำพานไหว้ครูสะท้อนสถานการณ์การเมืองในประเทศ และวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล โดยบางโรงเรียนมีรายงานข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสอบถามถึงโรงเรียน โดยมีกรณีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย ชี้แจงในเวลาต่อมาว่าที่นักเรียนทำพานไหว้ครูรูปตราชั่งเอียงเพราะติดกาวไม่ดี ส่วนตัวแทนนักเรียนชี้แจงว่า ต้องการสื่อให้เห็นว่า ส.ว. 250 คน เป็นตัวแทนของประชาชนหลายล้านเสียง ซึ่งแล้วแต่คนจะมองว่ามันสื่อไปในทางไหน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘คุกไทย’ 3 เรื่องเล่าจากโลกหลังกำแพง

$
0
0

ประสบการณ์จากคุก เรื่องเล่าจากแดนหญิง แดนชาย และงานวิจัย ที่ทำให้คุกไทยไม่อาจแก้ปัญหาและฟื้นฟูผู้ต้องให้กลับคืนสู่สังคมได้ เมื่อคุกยังเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เด็ดขาดเกินไป เชื่อว่าคน 70-80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรต้องอยู่ในคุก

  • ผู้ต้องขังหลายคนต้องติดคุกเพราะเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ต้องขังเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ที่ควรต้องมีในฐานะมนุษย์
  • เรือนจำไทยมีคนเข้ามากกว่าคนออก
  • เรือนจำไทยเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จซึ่งทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีความเด็ดขาดเกินไป

ในงาน ‘ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน...ประชากรกลุ่มเฉพาะ’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ เมืองทองธานี มีวงเสวนาวงหนึ่งที่พูดถึงเหล่าผู้คนหลังกำแพงคุกในชื่อว่า ‘นานาทัศนะต่อคุกไทย สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น’ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยจินตนา แก้วขาว ชาวบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิจัยอิสระที่ทำเรื่องเกี่ยวกับคุกมากว่า 10 ปี

เรื่องเล่าจากแดนหญิง

จินตนา แก้วขาว เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอต้องโทษจำคุก 2 เดือนในเรือนจำประจวบฯ ว่า

“ในคุกมีคนที่ไม่ควรติดคุกเยอะมาก บางคนไม่ได้ทำผิด แต่ผิดเพราะคำตัดสินก็มีเยอะมาก และเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อันแรกที่เห็นคือไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย ไม่ใช่ร้องเรียนแล้วออกมาได้เลย ต้องผ่าน ผบ.แดนหญิง แล้วก็ ผบ.แดนชาย ถ้าใครคนใดคนหนึ่งไม่อนุมัติหนังสือก็ไม่ผ่าน แล้วไม่ใช่ทนายไปจะพบได้เลย ต้องขอห้อง ต้องพิจารณาจากหลายส่วน

“สองคือสภาพของการกดขี่ สิ่งแรกที่เห็นคือผู้ต้องขังทุกคนต้องนั่งคุกเข่าคุยกับผู้คุม เราเห็นว่าไม่สมควรจะมีแล้ว ทำไมต้องคุกเข่า ทำไมต้องใช้คำว่านาย คำว่าแม่ ที่เราสงสัยทุกวันว่าเมื่อผู้คุมกินข้าว ทำไมล้างจานไม่เป็น ต้องเก็บจานเหล่านั้นให้นักโทษล้าง”

จินตนาเล่าต่อว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำเป็นเรื่องลำบาก ผู้ต้องขังที่ป่วยจะเป็นฝ่ายเดินไปรับยาด้วยตัวเอง ขณะที่แดนหญิงที่เธออยู่ไม่มีแพทย์ มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บางคนป่วยหนักแต่ก็ไม่อยากออกไปโรงพยาบาลเพราะรู้สึกอับอายที่สังคมต้องรู้ว่าตนเองเป็นนักโทษ

“มีงบประมาณจัดการเรื่องชุดชั้นใน ผ้าอนามัย แต่ใน 2 เดือนมีแจกผ้าอนามัยครั้งเดียว แล้วก็เป็นแบบห่อเล็กสี่ชิ้นห้าชิ้น แล้วเป็นชิ้นบางๆ มันไม่พอ สอง-เกิดการขโมยชุดชั้นในในเรือนจำ เรามองว่าถ้าไม่ขโมยแล้วจะเอากางเกงในที่ไหนใส่เวลามีรอบเดือน เพราะผู้ต้องขังบางคนไม่มีญาติหรืออยู่จังหวัดอื่น ก็ต้องขโมยของเพื่อน ถ้าถูกจับได้กลางคืนก็จะถูกตี เรากดกริ่งเรียก ผู้คุมก็ได้แต่มาชะโงกมอง แต่ไม่สามารถไขได้ เราก็ถามว่าไม่ไขเข้าไปแยกคนที่ตีกัน เขาบอกว่าหลัง 6 โมง กุญแจแดนหญิงจะไปอยู่ที่แดนชาย เราก็ถามว่าถ้าไฟไหม้ทำยังไง กลางคืนเรายังดับยาสูบอยู่เลย”

เรื่องเล่าจากแดนชาย

นพ.สุรพงษ์เคยต้องโทษจำคุกที่เรือนจำกลางกรุงเทพเป็นเวลา 10 เดือน เขาสรุปปัญหา 4 ข้อใหญ่ของคุกไทยว่า หนึ่ง-มีคนเข้ามากกว่าคนออก กรมราชทัณฑ์ต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 1 หมื่นล้านในการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่มากกว่าหลายๆ กระทรวง

ข้อที่ 2 ออกยากกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากกระบวนการพักโทษและอภัยโทษทำได้ยากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการสะสมตัวของผู้ต้องขัง

“ข้อที่ 3 อัตราการเพิ่มของนักโทษมากกว่าผู้คุม หลายคดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในนั้นเลย จะด้วยความล้าสมัยทางกฎหมายก็ได้จึงต้องตัดสินด้วยการจำคุก มาสู่ข้อที่ 4 ว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย แต่กรมราชทัณฑ์น่าจะอยู่ในยุคที่ล้าสมัยมาก หลายสิ่งน่าจะปรับปรุง อย่างกำไลอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง”

นพ.สุรพงษ์ เล่าอีกหลายเรื่อง เช่นการเข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง การฝึกอาชีพที่ไม่จริงจัง ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่าและไม่ให้อ่านหนังสือพิมพ์

“เราเรียกกรมราชทัณฑ์ว่า Department of Correction แต่ไม่เห็นกระบวนการ Correction ผมเรียนว่าไม่มีวันได้เห็นของจริง ถ้าไม่ได้ไปอยู่ ทุกอย่างจะถูกจัดฉากหมด เวลาใครจะเข้าไปทีหนึ่งจะมีการล้างเรือนจำกันขนานใหญ่ ตัวผู้คุมก็จะกำหนดพื้นที่ให้นักโทษต้องอยู่ในแดนนี้เท่านั้น ผู้ต้องขังจะนั่งกันเรียบร้อยเพราะถูกกำชับไว้แล้ว และสภาพแวดล้อมจะสะอาดมากซึ่งของจริงจะไม่เป็นอย่างนั้น”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่าสิทธิการประกันตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาพบเห็นคดีจำนวนไม่น้อยที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว บางคนถูกจำคุกประมาณปีกว่า โดยไม่ได้ขึ้นสืบพยานแม้แต่ครั้งเดียวในศาลชั้นต้น ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงกับสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขัง เพราะถ้าเป็นคดีที่ยังอยู่ในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์ แล้วไม่ได้ประกันตัว ซึ่งเรียกว่าอยู่ในคดีระหว่าง ผู้ต้องขังระหว่างเหล่านี้จะขยับจากนักโทษชั้นกลางเป็นชั้นดี จากชั้นดีเป็นชั้นดีมากไม่ได้เพราะคดียังไม่สิ้นสุด ทำให้ไม่มีสิทธิในการพักโทษหรืออภัยโทษ

“ทัศนคติของคนภายนอกต่อคนในเรือนจำที่มองว่าเป็นคนมีปัญหา น่ากลัว ไม่ควรได้รับโอกาสใดๆ พอมีประกาศอภัยโทษก็จะแตกตื่น ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ไม่ควรไปอยู่ในนั้นเลย หมอบางคนจ่ายเช็คเด้งไปอยู่ในเรือนจำปีครึ่ง ดังนั้น วิธีการลงโทษอาจต้องปรับปรุงใหม่หรือไม่”

เรื่องเล่าจากงานวิจัย

ด้านนภาภรณ์ เปิดใจจากการทำวิจัยมาเกือบ 10 ปีว่า ในขณะที่ทำก็มีทั้งความสิ้นหวังและความหวังเล็กๆ ความสิ้นหวังเกิดจากตัววิธีคิดหรือระบบที่ถูกสร้างมาค่อนข้างมาก มากเสียจนรู้สึกว่าถ้าเอาออกไม่ได้ การแก้ไปปัญหาเรือนจำจะไม่สำเร็จ

“เรื่องแรกคือมีคนมากเกินไป เราต้องกลับไปดูวิธีคิดระบบการลงโทษ แต่ปรากฏว่ายิ่งทำไปมันเหมือนกับเราแก้ปัญหาสังคมด้วยการใช้การจำคุกเป็นตัวแก้ไข เช่น ยาเสพติดเยอะก็ออกกฎหมายให้เข้มงวดเข้าไว้ ถ้าเจอยาเสพติดในรถ คน 5 คนในรถก็ติดคุกหมด โอกาสที่จะหลุดบอกได้เลยว่าน้อยมาก คนที่เข้าไปเขารู้สึกว่าเขาไม่ผิด มันเกี่ยวกับระบบคิดที่มองว่าไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็เอาเข้าคุกเข้าไว้ก่อน ส่วนตัวคิดว่ามันทำให้แก้ตัวได้ว่าฉันได้ปราบปรามยาเสพติดแล้ว แล้วมันจริงหรือไม่ คนเข้าไปอยู่ในคุกเยอะแยะ แต่ยาเสพติดก็เยอะแยะไปหมด

“ระบบยุติธรรมทางอาญา โดยส่วนตัวมองเสมอว่าคำพิพากษาต้องเปลี่ยน เช่น จะพิพากษาใครสักคน ท่านจะอ่านมายาวมาก มีแต่ความเลว มันทำให้สังคมเห็นว่าคนที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นคนไม่ดี ซึ่งจะต่างจากหลายประเทศที่เขาเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว ในยุโรปจะไม่ใช้วิธีอ่านคำพิพากษาแบบนี้ เขาอาจเป็นคนที่ตัดสินใจผิดพลาดและทำผิดกฎหมาย ห้ามใช้คำว่าเป็นคนเลว แต่เมื่อมีความผิดนี้ กฎหมายเป็นอย่างนี้ เขาก็จะเคลื่อนย้ายคนจากสังคมเข้าไปอยู่ในเรือนจำ”

นภาภรณ์กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเธอเห็นว่าคนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคุก และสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือวิธีคิดเกี่ยวกับเรือนจำ ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงได้ เธอคิดว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องเปลี่ยน

“ประเด็นแรกคือการอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องวิถีการดำรงชีวิต ทำไมเราต้องทำให้คนที่อยู่ในเรือนจำมีวิถีการดำรงชีวิตต่างจากคนที่อยู่ข้างนอก ควรทำให้วิถีชีวิตข้างในเรือนจำเหมือนวิถีชีวิตข้างนอกให้มากที่สุด อะไรที่ทำไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่ทุกวันนี้มันเริ่มจากการทำให้ต่างที่สุด

“ประเด็นที่ 2 เรือนจำเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ หมายความว่าทันทีที่คุณเดินเข้าเรือนจำ คุณถูกยึดหมดทุกอย่าง ทุกอย่างเรือนจำจะเป็นคนจัดหาให้ ไม่ว่าจะเสื้อชั้นใน ผ้าอนามัย อาหาร แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นสำหรับคนที่พอมีเงิน แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่เราจะอยู่กันในเรือนจำ ด้วยความที่เป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ มันก็ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเด็ดขาดเกินไป ที่นั่งกับพื้นมันมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผู้ต้องขังที่อยู่มานานจะพอใจกับการทำแบบนี้ การที่เขาสยบยอมทำให้เขาได้รับความเมตตา ความรักกลับมา ถ้าจะเปลี่ยนตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้คุมกับผู้ที่ถูกคุม ต้องเปิดช่องให้มีความเสมอภาคมากขึ้น

“ประเด็นที่ 3 มีวิธีของผู้บัญชาการเรือนจำจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการฝึกวินัยอย่างเข้มข้นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะ Correction เพราะฉะนั้นเราจะเจอวิธีการทำโทษ โดยเฉพาะผู้ชาย แบบโหดร้ายทารุณมากคือให้อยู่กลางแดดตลอดเวลา นี่คือการละเมิดสิทธิ์ บางเรื่องการลงโทษมีกฎอยู่แล้ว แต่ไม่ทำ เช่น ผู้หญิงห้ามเฆี่ยน แต่กลับใช้กระบอง บางอย่างไม่มีกฎก็ต้องออกกฎ”

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานที่ต้อง ‘แก้ไขให้ถูกต้อง’ หรือ ‘Correction’ ไม่อาจทำสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องได้

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

70 นักวิชาการ-นักเขียน-นักกิจกรรม ออกแถลงการณ์หนุนการต่อสู้ของชาวฮ่องกง

$
0
0

ผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่ย่านแอดมิรัลตี ใกล้กับรัฐสภาและที่ทำการของรัฐบาลฮ่องกง เมื่อ 12 มิ.ย. 62 (ที่มา:Facebook/HKFP)

16 มิ.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 70 นิสิตนักศึกษา อาจารย์ นักเขียน ผู้ประกอบสื่อสารมวลชน และประชาชนชาวไทย ได้รวมลงชื่อในแถลงการณ์สนับสนุนการต่อสู้ของชาวฮ่องกง ในการต่อต้านการผลักดันกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยชี้ให้เห็นว่าความพยายามดังกล่าวเป็นการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลจีน และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง จนทำให้ชาวฮ่องกงกว่าล้านคนออกมาชุมนุมคัดค้านบนท้องถนนอย่างสันติแต่กลับถูกคณะผู้บริหารสั่งสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้บาดเจ็บ จึงขอเรียกร้องให้แครี่ แลม ผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กำลังความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม พร้อมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงดังกล่าว และขอให้รับฟังเสียงของประชาชนชาวฮ่องกงต่อร่างกฎหมายนี้ให้มากขึ้น พร้อมขอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกโดยเร็ว

พวกเรากลุ่มสิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน นิสิตนักศึกษา อาจารย์ นักเขียน ผู้ประกอบสื่อสารมวลชน และประชาชนชาวไทยผู้รักความยุติธรรมมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการผลักดันการออกกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เนื่องด้วยกฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถส่งตัวประชาชนชาวฮ่องกงที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ไปดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้

ความพยายามออกพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวฮ่องกงโดยรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการละเมิดแนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบซึ่งรัฐบาลจีนเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะให้อิสระแก่ชาวฮ่องกงในการตัดสินอนาคตของตนเอง

ทว่าตลอดช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จีนแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองสู่ฮ่องกง และเชื่อได้ว่ารัฐบาลจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีเจ้าของร้านหนังสือถูกบังคับให้สูญหายที่คอสเวย์เบย์ กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลจีนถูกปลดออกหรือจำคุก กรณีการปิดกั้นเสรีภาพทางศาสนาและการจับกุมชาวอุยกูร์เข้าไปในค่ายกักกัน และกรณี โจชัว หว่อง หนึ่งในผู้นำขบวนการร่มถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมปาฐกถาของงานเสวนาที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและไม่ให้เข้าประเทศไทย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลจีน รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียสิทธิเสรีภาพและอาจเกิดภัยคุกคามต่อนักกิจกรรมและประชาชนชาวฮ่องกงที่คิดเห็นแตกต่างจากจีน

ด้วยความน่ากังวลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้กระทั่งอดีตเจ้าพนักงานชั้นสูงของฮ่องกง ทั้งอดีตผู้บริหารฝ่ายสวัสดิการและผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายคมนาคม ก็ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ถอนกฎหมายนี้ และรับฟังความคิดเห็นของพลเมืองฮ่องกงให้มากขึ้น พวกเขากล่าวว่า “เราเป็นชาวฮ่องกงโดยกำเนิด เรารักเมืองและประเทศของเรา เราขอให้ผู้บริหารฮ่องกงถอนกฎหมายนี้อย่างเร็วเท่าที่จะทำได้ และเปิดพื้นที่การสนทนาถกเถียงด้วยเหตุผลขึ้น”

ล่าสุด มีชาวฮ่องกงมากกว่าหนึ่งล้านคนหรือประมาณหนึ่งในเจ็ดของประชากรทั้งเขตร่วมกันออกมาชุมนุมต่อต้านการออกกฎหมายนี้ พวกเขาร่วมมือร่วมใจนัดหยุดงานหยุดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อประท้วงการกระทำของคณะผู้บริหาร หลังจากที่พวกเราทราบข่าวการชุมนุมประท้วง พวกเราก็รู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่งต่อการเกิดขบวนการประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพของตนเอง การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ช่วยปลุกเร้าให้พวกเราชาวไทยและคนอื่นๆ ในโลกมีความรักความหวงแหนในสิทธิ และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนเอง

ทว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้การชุมนุมจะดำเนินไปอย่างสันติและใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุด การสลายการชุมนุมและการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เกิดขึ้น มีการใช้แก๊สน้ำตา พ่นสเปรย์พริกไทย และยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม หลายสำนักข่าวรายงานว่ามีเด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษาได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงจำนวนหลายคน อีกทั้งมีคลิปวิดีโอยืนยันว่ามีผู้หญิงวัยกลางคนถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยางจนได้รับบาดเจ็บด้วย องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวถึงความไม่ชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมในครั้งนี้ว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจฉกฉวยโอกาสโดยอ้างการกระทำของคนกลุ่มน้อยเพื่อใช้กำลังโจมตีต่อคนกลุ่มใหญ่ซึ่งชุมนุมอย่างสันติ” เขากล่าวว่าการกระทำนี้ “ละเมิดหลักสากลว่าด้วยการควบคุมการชุมนุม”

พวกเราขอเรียกร้องให้นางแครี่ แลม ผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กำลังความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม พร้อมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงดังกล่าว และขอให้รับฟังเสียงของประชาชนชาวฮ่องกงต่อร่างกฎหมายนี้ให้มากขึ้น และขอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกโดยเร็ว

ผู้ร่วมลงชื่อ ทั้ง 70 คน มีดังนี้
พิพัฒน์ พสุธารชาติ ILLUMINATIONS EDITIONS
ภัควดี วีระภาสพงษ์
วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน
สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ National Chengchi University
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ อิสระ
บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน
รจเรข วัฒนพาณิชย์ Book Re:public
ลภาพรรณ ศุภมันตา สมาคมวิถีชนบท
พงษ์สิทธิ์ กิจถาวรรัตน์ สมัชชาคนจน
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ
กนกรัตน์ สถิตนิรามัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
จักรกฤษณ์ จักรแก้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ชมรมสภาจำลอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ณัฐนิชา จันทิพย์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
บุญเลิศ วิเศษปรีชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ BIOSCOPE
ณัฏฐา มหัทธนา
อานนท์ นำภา
ธัญชนก คชพัชรินทร์ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
โกวิทย์​ ปวงเหมือง​
วชิรวิทย์ แสนพระวัง
พรพิศ ผักไหม
ภาสิทธิ์ กิจถาวรรัตน์
เพียร​พิไล​ ธรรม​ลิขิต​ชัย
สรวิสิฐ โตท่าโรง
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
เฉลิมชัย ทองสุข
ภิศิษฐ์ วงศ์ทอง
ชนมน วังทิพย์
ชัชวาล ปุญปัน
บัณฑิต ไกรวิจิตร
ชณิตา ชาญอนุสรสิทธิ์
นพพร ศักดานเรศว์
จามีกร อำนาจผูก
ประสิทธิ์​ ครุ​ธ​า​โรจน์​
ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล
วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ปุณพจน์​ ศรีเพ็ญจันทร์
พรพรรณ วรรณา
พันธกานต์ พรพิทักษ์ธรรม
นพดล พอใจ
จรัล ดิษฐาภิชัย
ธนวัฒน์ วงค์ไชย
เทพ​พิทักษ์​ มะลา​ศรี​
เฟื่องเฉลย สังข์สกฤษณ์
พนัตดา สรสิทธิ์
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
บริพัตร เวศร์ภาดา
ภัคพงศ์ อนุพงศ์รัตน์
ศรีศิริ ศิริรัชตกูล
ฐานวัฒน์ ศิลานันท์
วิศรุต เหล็มหมาด
ธีรพร อรุณกาญจนโรจน์
เบญจ ณ นคร
บุญยืน สุขใหม่
สุวิมล ทับเที่ยง
กุลภรณ์ จงเจริญ
Duangsiri Sriphetcharawut
อิศรา สุวรรณประพิศ
คณิศร แพงกัลยา
สุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ
สุรชัย ผลาผล
นิตยา ตุงคะโกมุท
มีชัย ม่วงมนตรี
สุรสิทธิ์ น่วมศิริ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รองโฆษก พปชร. ขอพรรคร่วมเคารพการเลือกตัว รมต. ของพล.อ.ประยุทธ์

$
0
0

ธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐแถลงข่าวหลัง ดำรงค์ พิเดช จ่อไม่ร่วมรัฐบาลเตรียมเป็นฝ่ายค้านอิสระหลังไม่ได้ตำแหน่งกระทรวงทรัพย์ฯ ตามที่คาด และ ส.ส. พปชร. อีสาน น้อยใจไม่ได้รับจัดสรรตำแหน่ง ย้ำขอให้ทุกคนเคารพการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก

16 มิ.ย. 2562 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยเรียกร้องขอดูแลงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่เคยตกลงไว้ หากไม่เป็นเช่นนั้นจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้านอิสระว่า รายชื่อคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเพียงคนเดียว ดังนั้น ควรให้เกียรติและเคารพการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง จึงอยากให้ทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก 

ส่วนกรณีเอกราช ช่างเหล่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ภาคอีสานตอนบนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรตำแหน่ง รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ผู้บริหารของพรรคให้ความสำคัญกับทุกภาค และพิจารณาความเหมาะสมเป็นหลัก สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งต้องให้เกียรติในการตัดสินใจ ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่าเอกราชอยู่ในกลุ่มสามมิตรนั้น ไม่เป็นความจริง เอกราชไม่ได้อยู่ในกลุ่มสามมิตร และที่สำคัญขณะนี้ไม่มีกลุ่มสามมิตรแล้ว มีแต่พลังประชารัฐเพียงหนึ่งเดียว อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำกัด ย่อมมีคนผิดหวังและสมหวังเป็นธรรมดา แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะสามารถทำความเข้าใจกันได้ เพราะที่ผ่านมาทุกคนทำงานให้พรรคอย่างเต็มที่ 

“ต้องขอย้ำอีกครั้งเพราะเวลานี้ ใครผิดหวังการจัดตั้งรัฐบาล ใครจะออกมาเรียกร้องอะไรก็บอกว่าอยู่กลุ่มสามมิตร การจะนำเสนออะไร หากสงสัยหรือไม่ชัวร์ก็โยนให้สามมิตร พอเถอะครับ เพราะเวลานี้เรามีเพียงอย่างเดียวคือพรรคพลังประชารัฐ อย่าโยงไปเรื่อย เพราะคนถูกกล่าวหา ถูกโจมตีคือแกนนำที่ไม่รู้เรื่อง และกลับกลายเป็นการโยนบาป ทั้งที่เขามิได้กระทำ” ธนกร กล่าว

ขณะเดียวกัน หลังจากที่ดำรงค์ แถลงทบทวนการร่วมรัฐบาลนั้น มีรายงานว่า ชัชวาลย์ คงอุดม พรรคพลังท้องถิ่นไท ซึ่งมีเสียง ส.ส. ทั้งหมด 3 เสียง อาจจะร่วมแถลงข่าวกับดำรงค์อีกครั้ง เนื่องจากไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ ใน ครม. เช่นเดียวกัน 

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หากพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคพลังท้องถิ่นไท ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจริง จะทำให้รัฐบาลประยุทธ์ 2 กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เนื่องจากในการโหวตเลือกนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนเสียงจาก ส.ส. ทั้งหมด 251 เสียง เท่านั้นหากทั้งสองพรรคซึ่งมีเสียงรวมกัน 5 เสียง ถอนตัวจะทำให้จำนวนเสียง ส.ส. ทางฝั่งรัฐบาลเหลือเพียงแค่ 246 เสียง 

สำหรับที่นั่งในคณะรัฐมนตรีตามที่คาดการณ์มีดังนี้

พรรคพลังประชารัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ความมั่นคง)

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (เศรษฐกิจ) 

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (กฏหมาย)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

อุตตม สาวนายน รมว.คลัง

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.พลังงาน

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.อุตสาหกรรม

อัครา พรหมเผ่า รมว.ดิจิทัล

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม

สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง

อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม

อนุชา นาคาศัย รมช.คลัง

พรรคประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.พาณิชย์

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ

จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมฯ

นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม

กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ

สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข

พรรคภูมิใจไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวฯ

ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย

ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ 

กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ

วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์

พรรคชาติไทยพัฒนา

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ

ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ

พรรคชาติพัฒนา

เทวัญ ลิปตพัลลภ รมช.อุตสาหกรรม

พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.ต่างประเทศ

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พปชร. เตรียมยื่นประธานสภาฯ ส่งศาล รธน. สอบคุณสมบัติ ส.ส. ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ

$
0
0

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ภาพจากเพจพรรคพลังประชารัฐ

16 มิ.ย. 2562 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนและเพื่อน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอีกจำนวนหนึ่งกำลังรวบรวมข้อมูล การถือครองหุ้น ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาชาติ ที่มีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการ ประเภท หนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชน เพื่อทำคำร้องยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยเบื้องต้น ตรวจสอบรายชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านแล้วพบว่าเข้าข่ายดังกล่าวประมาณ 20 คนขึ้นไป

ทั้งนี้กรณีที่ปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้ร่วมกันยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ ส.ส. 41 คนของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ตนเห็นว่า ควรจะต้องตรวจสอบ ส.ส.ที่มีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้นในลักษณะเดียวกันให้ครบทุกพรรค เพื่อความชัดเจน และปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เลือกตรวจสอบแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ทำ เพราะหากดูจากรายชื่อ ส.ส.ที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นตรวจสอบล้วนเป็น ส.ส.ในฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ปรากฎชื่อ ส.ส.ของฝั่ง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ดังนั้นจึงอยากจะยกคำกล่าวของสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ว่าที่เลขาธิการประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยบอกกับรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นมาเตือนสติอีกสักครั้งว่า ถ้าอยากเป็นส.ส.ที่ดี การตรวจสอบไม่ควรเลือกปฏิบัติ

นายชัยวุฒิ คาดว่า จะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดประกอบคำร้องและลงชื่อร่วมกับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลให้ครบ 50 คนและยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในสัปดาห์นี้ เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า รายชื่อ 41 ส.ส. ที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นผ่านประธานสภาฯ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัตินั้นประกอบด้วย

พรรคพลังประชารัฐ 26 ราย

1.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

2.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

3.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

4.อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

5.หษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. เขต 8

6.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1

7.จักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. เขต 30

8.ชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. เขต 15

9.ฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 1

10.ฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 6

11.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 2

12.ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต 4

13.บุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี เขต 2

14.ปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม เขต 4

15.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราขบุรี เขต 3

16.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 3

17.ภิญโญ นิโณจน์ ส.ส.นครสวรรค์ เขต 1

18.วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ เขต 2

19.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2

20.ศาตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา เขต 1

21.สมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 2

22.นายสัมพันธ์ มะซูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2

23.สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. เขต 9

24.สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี เขต 1

25.สุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ส.ส.สระแก้ว เขต 3

26.อนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก เขต 3

พรรคประชาธิปัตย์ 12 ราย

1.กรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ

2.จิตรภัสร์ ภิรมย์ภักดี ส.ส.บัญชีรายชื่อ

3.อัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

4.กันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา เขต 1

5.ปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต 1

6.ประมวล พงศ์ถาวรเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3

7.ภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 1

8.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 3

9.สมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 4

10.สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ เขต 1

11.สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง เขต 1

12.อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4

พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ราย ได้แก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคชาติพัฒนา 1 ราย ได้แก่ เทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคประชาภิวัฒน์ 1 ราย ได้แก่ สมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'พงศ์เทพ-ณัฏฐา-ณัฏฐา-สมยศ-ปชช.ปฏิรูปตำรวจ'ถกวิกฤตศรัทธาตุลาการ กับอนาคตประเทศ

$
0
0

เสวนาสาธารณะ “วิกฤตศรัทธาตุลาการ กับอนาคตประเทศไทย” 'พงศ์เทพ'ชี้วิกฤตเกิดจากตัวศาลหรือองค์กรตุลาการเอง 'ณัฏฐา'ย้ำเป็นวิกฤตกระบวนการยุติธรรม ศาล รธน. และองค์กรอิสระ  'สมยศ'มองอาจจะไม่มีมาตรฐาน แต่ชอบสอน 'Police Watch'อัดเป็นยุติธรรมบนความเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน

ภาพจาก Metha Matkhao

งานเสวนาสาธารณะ “วิกฤตศรัทธาตุลาการ กับอนาคตประเทศไทย” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตลา (ด้านหลัง) สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย และภาคประชาชน นั้น มีผู้ร่วมเสวนาที่น่าสนใจ เช่น พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) รวมทั้ง ชํานาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

'พงศ์เทพ'ชี้วิกฤตเกิดจากตัวศาลหรือองค์กรตุลาการเอง

พงศ์เทพ กล่าวถึงหลักการโดยทั่วไปของทุกประเทศที่จำเป็นต้องมีองค์กรตุลาการมาวินิจฉัยความขัดแย้งในคดีความต่างๆ โดยเทียบเคียงระหว่างองค์กรตุลาการของสหรัฐอเมริกาที่ระบุลักษณะที่เป็นกลางและมีอิสระอย่างชัดเจน แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบตุลาการไทยที่เปิดช่องว่างให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจ ในการตัดสินซึ่งมาจากการตีความตามหลักฐานสำนวนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้สามารถที่จะทำให้เกิดการตัดสินที่ผิดจากความเป็นจริงได้ เช่น ศาลฎีกาอาจจะตัดสินผิด ศาลชั้นต้นอาจจะตัดสินถูกจากความจริงที่เกิดขึ้น แต่โดยหลักกการแล้วตามกระบวนการให้ยึดถือการตัดสินของการฎีกาเป็นคำตัดสินสูงสุด ซึ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาตุลาการ เพราะศาลเองตราบใดที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่สุดความสามารถ อ่านสำนวนและตัดสินตามสำนวนที่ได้รับมาจากทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาเป็นกลาง ซึ่งโจทย์ จำเลย และสังคมย่อมยอมรับคำตัดสินของศาล

อย่างไรก็ตาม พงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่าเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีสิ่งที่เป็นวิกฤตเกิดขึ้นมาเหมือนกันคือวิกฤตศรัทธาตุลาการ ที่เป็นปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นมาจากตัว ศาล หรือองค์กรตุลาการเอง ที่มีอคติ ติดสินบน ไปรับทองเขามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ กล่าวคือตุลาการจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นกลาง มีความเป็นธรรม ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างเคร่งคัด หรือการแสดออกถึงสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นออกมาให้ผู้อื่นเห็นอย่างชัดเจน แต่ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำการรวบรัดคดี ที่ไม่มีการฟังเหตุ ไม่ฟังคู่ความ ตั้งธงจะตัดสินอย่างเดียว อย่างในกรณีตัวอย่าง การตัดสินเรื่องการยุบพรรคที่จะต้องให้เวลาในการเขียนแถลงการณ์ปิดคดี ซึ่งโดยปกติใช้เวลา 15 วัน แต่กลับถูกให้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ทั้งที่คดียุบพรรคเป็นคดีใหญ่ หรือในการใช้เวลาในการวินิจฉัยคดีความที่รวดเร็วเกินไปจนผิดวิสัย มันจึงทำให้เป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมแคลงใจ

ปัญหาในยุคปัจจุบัน พงศ์เทพ มองว่า ประการแรกคือโครงสร้างทางตุลาการที่ถูก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแทรกแซงและเข้ามามีผลประโยชน์ร่วมกันทำให้การตัดสินในหลายๆ เรื่องออกมามีความน่าแคลงใจต่อสาธารณชน ประการที่สองคือองค์กรตุลการอื่นหรือองค์กรอิสระอื่น มาผ่านความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง สนช.ก็มีผลประโยชน์ร่วมกันกับ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และหลังการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่อีก 5 ท่าน ก็จะมาจากความเห็นชอบของ ส.ว. ซึ่ง ส.ว.ก็มาจากกการสรรหาโดย คสช. ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ โดยประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อยู่ในคณะ คสช. แต่ในรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างจัดเจนว่าคุณสมบัติของผู้ที่เป็นประธานสรรหาฯ ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง รวมไปถึงไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรการสรรหาฯ อย่างชัดเจน ดังนั้นน่าเชื่อได้ว่ากระบวนการสรรหาฯนี้ จึงขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

พงศ์เทพ ได้นำเสนอทางออกเชิงโครงสร้างผ่านการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญคือ ม.129 ที่ไม่เป็นเพียงแก้ไขเฉพาะฝ่ายตุลาการแต่จะครอบคลุมไปถึงองค์กรอิสระด้วย กล่าวคือ การแก้ไขให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเทียบเคียงและทวงถามเหตุผลในคำตัดสินว่าผู้พิพากษาใช้เกณฑ์หรือดุลยพินิจอะไรในการกำหนดใช้บทลงโทษนั้นๆ ผ่านกรรมาธิการฯ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ และเป็นการถ่วงดุลอำนาจไม่ตุลาการต่างๆ ใช้อำนาจอย่างไม่มีเหตุผล และ ม.124 ที่ทำให้ ส.ส. ไม่มีเอกสิทธิ์ในการอภิปรายและอ้างอิงถึงองค์กรแห่งรัฐและบุคคลอื่นอย่างชัดเจน เช่น กรณีของการที่ มี ส.ส.ได้กล่าวอ้างอิงและอภิปายถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญฟ้องกลับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส่และความมีอิสระทางการเมือง

'ณัฏฐา'ย้ำเป็นวิกฤตกระบวนการยุติธรรม ศาล รธน. และองค์กรอิสระ     

ณัฏฐา มองถึงวิกฤตศรัทธาตุลาการว่า ในอีกมิติหนึ่งคือวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า อาจจะไปไฮไลท์ที่ตัวตุลาการหรือว่าศาล ในความเป็นจริงแล้วอันนี้แทบจะเป็นปลายทาง แน่นอนว่าตุลาการมีปัญหาอยู่บางส่วน แต่จะไม่เป็นธรรมถ้าเกิดโยนวิกฤตไปที่ตุลาการเท่านั้น วิกฤตในวันนี้ เป็นวิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรม และไม่ใช่แค่กระบวนการยุติธรรมในอดีต แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านองค์กรด้วย

กระบวนการยุติธรรมปกติ จะมีตำรวจ มีอัยการ มีศาล ยกตัวอย่างคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มีการตั้งข้อหาขึ้นโดยง่าย เช่น คดีหมิ่นประมาทคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกิดหลังจากที่ประชาชนเรียกร้องลงชื่อในเว็บเพื่อตรวจสอบการทำงานของ กกต. แต่กลับนำมาสู่การตั้งข้อหา โดยผู้ต้องหาโดนข้อหาที่เป็นถ้อยคำ เช่น คำว่า ’อาจจะทำให้เป็น’ ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่เป็นการกล่าวหาด้วยซ้ำ เป็นแค่การตั้งคำถาม อย่างไรก็ตามตำรวจก็คงไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งถึงแนวโน้มของกฎหมายได้ แต่ผู้ที่มาร้องทุกข์นั้น ก็คือ กกต. ทำให้อาจจะมีความรู้สึกเกรงอกเกรงใจ จนนำมาสู่การตั้งข้อหาขึ้น

นอกจากนั้น ณัฏฐา มองว่า ตำรวจยังมีการทำตามใบสั่ง คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตำรวจก็โยนความเห็นไปที่อัยการ คดีที่กลุ่มของเราโดนคือ MBK39 ซึ่งในที่นี้มีอยู่ในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง  คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำเยอะถึง 9 คน และ 3 คนในนั้นเป็นคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเลย แต่โดนแจ้งข้อหา ม.116  ยุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี  และถัดมาอีกหนึ่งข้อหาที่กลุ่ม MBK39 ถูกกล่าวหาคือ จัดงานใกล้เขตพระราชสถาน ต่ำกว่า 150 เมตร  สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า คดีนี้มันมีใบสั่งและนำไปสู่ศาล ซึ่งศาลคือปลายทาง  สิ่งนี้คือตัวอย่างของวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม  

นอกจากนี้ยังมีศาลรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่วิกฤตศรัทธาในตัวศาลมากมาย ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ และมีกลไกการอนุรักษ์พิทักษ์ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งองค์กรนี้เรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ปัจจุบันต้องไปร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะฉะนั้นคำร้องจำนวนมาก แม้จะสมเหตุสมผลและมีน้ำหนักเพียงใด ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็คือจบ  เพราะฉะนั้นวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่รวมไปถึงองค์กรอิสระ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย  และสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาตุลาการขึ้นคือ 1. มีการรับใช้ผู้มีอำนาจ 2. ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจหลักกฎหมายและไม่เข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพ

สำหรับข้อเสนอแนะหรือทางออกของเรื่องนี้ ณัฏฐา เสนอว่าต้องเรียกร้องให้ไม่ยอมรับกับความอยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนอย่าปล่อยให้มันผ่านไปง่ายๆ เราต้องไม่ชินกับการยอมรับ สังคมต้องสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมของการปกป้องความยุติธรรมทุกรูปแบบ เพราะที่ผ่านเป็นการกระทำในรูปแบบของอาชญากรรมโดยรัฐ คอยสร้างความอยุติธรรมให้แก่ประชาชน

'สมยศ'มองอาจจะไม่มีมาตรฐาน แต่ชอบสอน

มองวิกฤตของตุลาการว่าอย่างไรบ้างนั้น สมยศ มอง 2 ประเด็นคือ 1) อาจจะไม่มีมาตรฐาน ตัวอย่างคดี ดร.นิด้าคนหนึ่งบันดาลโทสะใช้ไม้กอล์ฟฟาดภรรยาเสียชีวิต อำพรางคดีพาภรรยาส่งโรงพยาบาลบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ โทษเพียง รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี เมื่อแต่อีกคดีหนึ่งต้องติดคุกคือ ผัวกินเหล้า แล้วเมียเอามีดเสียบตายเหมือนกันแต่ติดคุกไป 5 ปี ซึ่งบันดาลโทสะด้วยกันทั้งคู่แต่อีกฝ่ายเป็น ดร. อีกฝ่ายคือคนจน 2) ชอบสอน มีทั้งสองมาตรฐานแต่ก็บรรจุศีลธรรมเข้าไปด้วย กรณีครูข่มขืนเด็กโดยศาลพิจารณาบริบทรอบนอกด้วยครูคนหนึ่งข่มขืนเด็กรับโทษไป 20 ปี อีกคนครูเหมือนกัน แต่ทำคุณความดีต่างๆ เป็นแบบอย่างที่ดีรับไป 5 ปี อีกตรรกะวิบัติอีกเรื่องคือรถไฟความเร็วสูงศาลบอกไม่ให้สร้างเพราะถนนลูกรังยังไม่หมด แต่พอทหารจะทำก็ไม่เห็นว่าใครจะว่าอะไร นี่เป็นเรื่องที่ให้เห็นปัญหาตุลาการบ้านเรา

ตุลาการบ้านเราทำหน้าที่ 3 อย่าง สมยศ กล่าวว่า ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาชัด คือ 1) รับใช้เผด็จการ อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน 2) ตุลาการทำเพื่อตนเองทั้งสิ้น 3) ตุลาการได้รับใช้มือที่มองไม่เห็น  

สำหรับข้อเสนอนั้น สมยศ เสนอว่า 1) คิดว่าอนาคตประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบตุลาการแบบนี้แต่ทางออกเรามี อย่างที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอจะแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตราก็ต้องรอดู เนื่องจากเขาล็อคไว้หลายชั้น คิดว่าต้องรื้อรัฐธรรมนูญใหม่หรือฉีกรัฐธรรมนูญว่าจะใช้แบบไหน จะเอาแบบอเมริกาก็ได้คือเขาตั้งศาลหนึ่ง โดยที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอต่อสภา รับรองแล้วไปเป็นประมุขศาลต่างๆ ได้ มันก็จะทำให้ศาลได้เชื่อมโยงกับประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็หมายความว่าผู้พิพากษาท่านใดทำงานไม่คงเส้นคงวาหรือไม่ถูกต้องก็จะถูกตรวจสอบโดยระบบสภา อย่างหนึ่งถ้าจะให้แก้รัฐธรรมนูญคือให้ยกเลิก ส.ว. เพราะเรามี ส.ส. ตั้ง 500 คน แล้ว สามารถออกกฎหมายได้แล้ว เนื่องจากในกระบวนการออกกฎหมายก็มีฝ่ายค้านวิจารณ์เรียบร้อย ฉะนั้นไม่ต้องเพิ่ม ส.ว. แล้ว แถมจะได้ประหยับงบประมาณ อีกปัญหาของ ส.ว. มีอำนาจตั้งองค์กรอิสระ แล้ว สว. มาจากไหนก็มาจากเขา หรือคสช. อีก

2) ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ข้อเสนอของ ปิยบุตร ในนามนิติราษฎร์ก็น่าสนใจ ให้ตุลาการมาจากสัดส่วนตุลาการ 3 คนบ้าง สภา 3 คนบ้าง สว. ถ้ายกเลิกแล้วมันขาดก็เปลี่ยนมาเป็นภาคประชาชนก็ได้ อีกประเด็นที่ต้องแก้ไขคือศาลทหารยกเลิกไปก็ได้ เขาใช้เฉพาะทหารอยู่แล้วแต่เขาใช้กรณีพิเศษคือมีกฎอัยการศึกก็ขึ้นศาลทหาร มีอีกกี่นายที่ถูกซ้อมทหารมีปัญหาตรงนี้เยอะ หากมีเรื่องอะไรก็ให้ไปขึ้นศาลยุติธรรม

'Police Watch' อัดเป็นยุติธรรมบนความเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน

พ.ต.อ.วิรุฒ กล่าวว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันมีปัญหาหนัก ไม่มีความยุติธรรม สรรหาแพะ คนไปแจ้งความก็กลายเป็นแกะตั้งเยอะ มันสับสนอลหม่านไปหมด ปัญหาตอนนี้มันมีอยู่ว่ามันไม่ได้ยุติธรรมบนความจริงแต่ยุติธรรมบนความเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน นอกจากจากจะมีปัญหาเรื่องของตัวบุคคลแล้วตัวบทกฎหมายก็มีปัญหาคือเราสามารถแจ้งข้อหาต่อตัวบุคคลได้ง่าย ถ้าใครไปกล่าวหาก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งๆ ที่เราจะผิดจริงหรือไม่ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งมันต่างจากหลักสากลเขาจะแจ้งข้อหาต่อตัวบุคคลก็ต่อเมื่อบุคคลนั่นทำผิดจริงๆ แล้วศาลต้องพิพากษาลงโทษแน่นอนเขาจึงจะแจ้งข้อหา ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนนานมากเขาจึงไม่แจ้งข้อหาง่ายๆ จึงเป็นปัญหาที่ไปแยกพนักงานสอบสวนกับกระบวนการศาลเป็นคนละท่อนกัน

งานสอบสวนในบ้านเราไม่ถูกตรวจสอบ ทุกอย่างอยู่ในมือตำรวจหมดแล้วตำรวจแบบบ้านเราก็มีการปกครองใต้บังคับบัญชา การปกครองแบบกองทัพเช่นเดียวกับทหาร ฉะนั้นถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคือการตรวจสอบจึงเป็นแบบทหาร จากปัญหากระบวนการสอบสวนและกระบวนการศาลเป็นคนละท่อนกันทำให้ผู้พิพากษาต้องมานั่งอ่านแต่เอกสาร ไม่มีโอกาสเห็นที่เกิดเหตุเลย และตามกฎหมายเขาจะไม่ให้อัยการไปยุ่งในที่เกิดเหตุ เรื่องการฟ้องของบ้านเราคือพยานหลักฐานพอฟ้องได้ก็ฟ้อง แต่ต่างประเทศไม่เป็นเช่นนั้น คือหลักฐานต้องเพียงพอต่อการลงโทษจึงจะฟ้องได้ คือถ้าฟ้องแล้วศาลจะต้องลงโทษ 99% ไม่ใช่ฟ้องแล้วศาลศาลยกฟ้อง 40% เหมือนประเทศไทยเช่นทุกวันนี้

เรื่องที่จะต้องแก้ไข พ.ต.อ.วิรุฒ เสนอว่าคือทำเรื่องงานสอบสวนกับกระบวนการศาลให้เป็นเรื่องเดียวกัน ในต่างประเทศกระบวนการสอบสวนไปดูที่เกิดเหตุทั้งสิ้น จะมีหลักฐานชิ้นใดหายไม่ได้ คดีฆ่าคนตายจะต้องมีหลายฝ่ายเข่มาดูพร้อมกันต้องไม่ปล่อยให้ใครมาทำลายหลักฐานหรือเก็บหลักฐานแบบไม่ครบถ้วนไม่ได้ คิดว่าอันตรายหรือไม่หากให้ตำรวจตรวจอยู่กันฝ่ายเดียว เพียง 2-3 คน

พ.ต.อ.วิรุฒ ยังมองว่า กฎหมายยังเลือกปฏิบัติ เช่น คนจนก็ปล่อยให้ตายฟรี คุณลองไปตีหัวคนรวยสักพันล้านสิแล้วคุณจะถูกจับ ใครจะรักใครเกลียดใครแต่กฎหมายต้องเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย ช่องโหว่กฎหมายของกองวิทยาเขาก็ไม่ได้บอกว่าหลักฐานพอจะฟ้องได้ให้ฟ้องแต่อัยการเราเห็นหลักฐานพอฟ้องก็ฟ้อง ที่จริงแล้วเขาเขียนไว้ดีบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2478 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปีก็มีการร่างกองวิทยาบอกว่า ถ้าเห็นควรฟ้องก็ให้ฟ้องหมายถึงอัยการต้องเห็นว่าผิดจริงจึงฟ้อง เพียงแต่ไปบัญญัติอำนาจตำรวจกับอัยการเป็นคนละท่อนกันจึงเป็นจุดอ่อน

การรับส่วยนั้น พ.ต.อ.วิรุฒ กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากเขาไม่ได้คิดว่ามันผิด เขารู้สึกเหมือนเป็นความชอบธรรมที่จะได้นู่นได้นี่ไปแล้วเพราะสังคมเราปล่อย สุดท้าย คสช. 5 ปีที่ผ่านมาได้คุยโม้ว่า 5 ปีที่ผ่านมาออกฎหมาย 500 ฉบับ แต่ล้วนแล้วเป็นกฎหมายที่มันไปกดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น แต่กฎหมายในการตรวจสอบราชการโดยเฉพาะกฎหมายขัดแห่งผลประโยชน์จะเป็นกฎหมายที่ปราบปราบการทุจริตได้ดีที่สุด เพราะป้องกันการนำของหลวง รถหลวง คนหลวงไปใช้ซึ่งมีโทษจำคุก กฎหมายเหล่านี้จึงไม่ผ่าน ส.ว.  ที่สำคัญถ้าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตุลาการก็จะมีปัญหาให้คนไปวิพากษ์วิจารณ์เพราะศาลต้องพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏ ปรากฏแค่ไหนก็แค่นั้น เมื่อหลักฐานไม่พอก็ยกฟ้องซึ่งเป็นหลักสากลก็จริงอยู่ แต่ปัญหามันอยู่ที่ใครมีหน้าที่ทำให้หลักฐานมันครบถ้วน มีประสิทธิภาพ สุจริต มีหลายคดีที่ถูกยกฟ้องนั้นอันตรายมากยิ่งจำเลยไม่มีความผิดเขาก็เสีย และยิ่งถ้ามีความผิดจริง คนผิดก็จะลอยนวลอยู่ในสังคม

ชำนาญ กล่าวว่าถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในชั้นศาล เช่น คำว่า “ขอความเมตตาจากศาล” ซึ่งถ้าว่าตามทฤษฎี ศาลควรให้ความยุติธรรมตามกฎหมายอยู่แล้วมิใช่พิจารณาตามความเมตตาหรือไม่เมตตา การเขียนคำฟ้องไม่ต้องใช้ถ้อยคำแบบนี้ก็ได้ และคำว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” เขามองว่าจะใช้คำว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” ไม่ได้ เพราะอย่างไรแล้วศาลต้องพิจารณาคดีตามพยานและหลักฐานมิใช่แล้วแต่จะโปรด

ศาลคือที่พึ่งสุดท้ายแต่ปรากฏการณ์ที่ผ่านมามันไม่ใช่เพราะปัจจุบันการค้างคาใจ ไม่เข้าใจ ศาลคือหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ศาลไม่ได้อยู่เหนืออำนาจอธิปไตย ปัจจุบันเกิดความสงสัยความไม่เป็นกลางของศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 คือระบอบที่ตุลาการเป็นใหญ่ ปกครองโดยตุลาการ เขามีความสงสัยต่อผู้พิพากษา ตุลาการ ในเรื่องความสัมพันธ์ทางความคิด และทัศนคติทางการเมือง คดีที่เขาสงสัยมากที่สุดคือเรื่อง คดีป่าแหว่ง ข้อสงสัยคือ ที่ราบมีเยอะแยะแต่ทำไมเลือกไปอยู่ตรงนั้น และทำไมศาลต้องไปทะเลาะกับประชาชน โดยการฟ้องคนเชียงใหม่ที่กรุงเทพฯ ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางขึ้นให้ปากคำและกว่าคดีจะผ่านซึ่งเขามองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประกอบสร้างวาระรำลึกจลาจล 'สโตนวอลล์' | หมายเหตประเพทไทย #266

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ยังอยู่ในช่วง Pride Month ชานันท์ ยอดหงษ์ และติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง พูดถึงเหตุรำลึกจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riot) ที่นิวยอร์ก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 28 มิถุนายนปี 1969 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะกลายเป็นเดือนรณรงค์ Pride Month เพื่อสิทธิของชาว LGBT ทั่วโลก

แต่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดต้องใช้เหตุการณ์ที่สโตนวอลล์เป็นหมุดหมาย ทั้งที่เหตุประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิและตอบโต้การเลือกปฏิบัติต่อชาว LGBT เกิดขึ้นมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะในแถบแคลิฟอร์เนียที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1965 เหตุใดเหตุการณ์ก่อนหน้านี้จึงไม่ถูกให้ความสำคัญ ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทย ตอน ประกอบสร้างวาระรำลึกจลาจล 'สโตนวอลล์'

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
YouTube เพลยลิสต์ หมายเหตุประเพทไทย
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

หมายเหตุประเพทไทยย้อนหลัง

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กองทุนบัตรทอง ปี 63 เพิ่มยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสเชื้อ ดูแลกลุ่มเสี่ยงสูง

$
0
0

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ กองทุนบัตรทอง ปี 63 นำร่องสิทธิประโยชน์ “บริการยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อ” (PrEP) ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่ที่มีความพร้อม หลัง HITAP ประเมินผลคุ้มค่า หนุนแผนเอดส์ชาติ ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าพันราย/ปี บรรลุเจตนารมณ์การยุติปัญหาเอดส์ปี  73

16 มิ.ย.2562 รายงานข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายการบริการในสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) กลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่มีความพร้อม ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตนำเสนอ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ PrEP เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันในกลุ่มประชากรเสี่ยงสูงที่มีประสิทธิผลสูง อาทิ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายบริการ หญิงข้ามเพศ หญิงบริการ ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด และคู่เพศสัมพันธ์ที่มีผลเลือดต่าง ด้วยการกินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ ช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีและโรคฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ปี 2558 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำ PrEP เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้มีความเสี่ยงสูง ควบคู่ไปกับการป้องกันที่มีอยู่เดิม ประเทศไทยได้ให้บริการ PrEP ผ่านโครงการนำร่องหรือดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่โดยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานต่างประเทศ แต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 เพื่อเพิ่มการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอบรรจุบริการPrEP ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2560 ประกอบด้วยบริการ 2 ส่วน คือ

1.บริการยาต้านไวรัส 2 รายการ ประกอบด้วย ยาต้านไวรัสทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir Disoproxil Fumarate: TDF) และ ยาเอ็มตริไซตาบี (Emtricitabine: FCT) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ก) ตั้งแต่ ปี 2561กินวันละ 1 เม็ด ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ผลิตโดย GPOราคาขวดละ 600 บาท บรรจุ 30 เม็ด ค่ายารวมประมาณ 7,200 บาทต่อปี

2.บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน ตรวจการทำงานของไต (Cr) ทุก 6 เดือน ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุก 6 เดือน ตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี ปีละ 1 ครั้ง และตรวจการตั้งครรภ์ทุกครั้งที่สงสัย

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการพิจารณาได้มอบโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าบริการ PrEP มีคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชายและคู่เพศสัมพันธ์ที่มีผลเลือดต่าง เมื่อประเมินความคุ้มค่าโดยพิจารณาร่วมกับเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573 การให้บริการ PrEP ในทุกกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีประมาณ 245,000 คน นับว่ามีความคุ้มค่า เพราะสามารถช่วยลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปีได้ แต่ทั้งนี้ต้องใช้งบประมาณ 405 ล้านบาทต่อปี 

“บอร์ด สปสช.เห็นชอบนำร่องบริการ PrEP ในกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยใช้งบประมาณกองทุนบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ปี 2563 และให้มีการวิจัยประเมินผลเพื่อติดตามความสำเร็จในการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาความเหมาะสมในการขยายผลทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลต่อพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ถุงยางอนามัยลดลง  เปลี่ยนคู่นอนบ่อยขึ้น ใช้เข็มและอุปกรณ์สะอาดลดลง เป็นต้น ที่ประชุมให้จัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสนับสนุนให้มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างกว้างขวาง และการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ PrEP เพื่อประสิทธิภาพของบริการ PrEP มีประสิทธิภาพสูงสุด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สาระ+ภาพ : 3 พรรคจัดตั้งรัฐบาล 'พลังประชารัฐ-ปชป.-ภูมิใจไทย'เคยหาเสียงอะไรไว้บ้าง

$
0
0

หลังสภาที่มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ อีกสมัย ที่มาพร้อมกับข่าวความขัดแย้งกันในการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มต่างๆ นั้น ระหว่างนี้เราจึงขอมาย้อนทบทวนว่าช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคหลัก 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยหาเสียงด้วยนโยบายสำคัญอะไรไว้บ้าง

พรรคพลังประชารัฐ

‘นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ’ 7:7:7 สวัสดิการ-สังคม-เศรษฐกิจประชารัฐ

7 สวัสดิการรัฐ บัตรประชารัฐ เน้นสร้างหลักประกันผู้มีรายได้น้อย ต่อยอดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สวัสดิการรายกลุ่ม ตามความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกัน เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ สวัสดิการคนเมือง เนื่องจากคนเมืองมีค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้าน หมดหนี้มีเงินออม ปลดหนี้ชาวนาคุณครู บ้านสุขใจวัยเกษียณ โครงการบ้านล้านหลัง สิทธิที่ดินทำกิน  ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี

7 สังคมประชารัฐ การศึกษา 4.0 เตรียมความพร้อมตั้งแต่เด็กจนถึงวัยทำงาน กระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค สร้างเมืองสีขาว ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดยา 15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง ลดการกระจุกในเมือง ชุมชนประชารัฐพัฒนาบ้านเกิด เมืองอัจฉริยะสีเขียว คนต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Bangkok 5.0 พัฒนาด้านการค้า คืนคลองสวยน้ำใสให้เมืองกรุง

7 เศรษฐกิจประชารัฐ ยกระดับความสามารถผู้ผลิต สมาร์ทเอสเอ็นอี 1 ล้าน ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 ปรับโครงสร้างภาคเกษตร กระจายรายได้ กระจายโอกาสด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เน้นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล 5G ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เน้นการปฏิรูประบบราชการ ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นโยบายด้านอื่นๆ ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่น เด็กจบใหม่ยกเว้นเสนอภาษี 5 ปี เสนอยกเว้นภาษี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี ลดภาษี 10% บุคคลธรรมดา มารดาประชารัฐถ้วนหน้า ดูแลตั้งแต่ครรภ์ ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาท รวมทั้งสั้น 181,000 บาท เพิ่มเวลาดูแลบุตร ผู้ปกครองสามารถลาป่วยในสิทธิของตนเอง พ่อลาไปช่วยเลี้ยงลูก จัดหาสถานที่รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน พัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ และจัดการดูแลปัญหาภาวะขาดสารอาหารเฉพาะอย่าง

พรรคประชาธิปัตย์

‘นโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ’

นโยบายด้านเศรษฐกิจ ดันดัชนีหุ้น 2,500 จุดใน 4 ปี บำนาญถ้วนหน้า 1,000 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท เบี้ยสวัสดิการ 1,000 บาทต่อเดือน เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน โครงการโฉนดสีฟ้า ออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชนเพื่อให้สิทธิในการจัดการชุมชนอย่างแท้จริง ประกันรายได้เกษตรกรข้าว ราคาไม่ต่ำเกวียนละ 1,000 บาท ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม 10 บาทต่อกิโลกรัม ประกันรายได้แรงงานไม่ต่ำกว่า 400 บาทต่อวันหรือ 120,000 บาทต่อปี แต่ถ้ายังมีรายได้ต่อเดือน เมื่อคำนวณแล้วไม่ถึงที่กำหนด รัฐบาลก็จ่ายเงินส่วนต่างให้ ธนาคารที่ดินเพื่อเพิ่มที่ทำกินให้คนไทย จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชนให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี มีเงินทำแหล่งน้ำทุกหมู่บ้าน

นโยบายด้านอื่นๆ เกิดปั๊ปรับเงินแสน เบี้ยเด็กเข้มแข็ง เรียนฟรีถึง ปวว.จบแล้วมีงานทำ กองทุนสมาร์ท อีดูเคชั่น (ด้านการศึกษาพัฒนาการเรียนการสอน) โครงการอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี,สำหรับเด็กอนุบาลถึง ม.3 และโฉนดชุมชนจัดการตนเอง เพื่อที่อยู่ ที่ทำกิน

พรรคภูมิใจไทย

‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’

นโยบายด้านต่างๆ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กัญชาไทย ปลูกได้เสรี : แก้พรบ.ยาเสพติด พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย บุรีรัมย์โมเดล : หาจุดเด่นในการพัฒนาเมือง เช่น ตัวอย่างของจังหวัดบุรีรัมย์ ชูเรื่องกีฬา ทำงานที่ออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วัน/เรียนสัปดาห์ละ 4 วัน/เรียนออนไลน์ฟรีตลอดชีพ

ตั้งกองทุนข้าว เพิ่มรายได้ให้ชาวนา เปลี่ยนสวนปาล์มเป็นบ่อน้ำมัน : เสนอกฎหมายตั้งกองทุนข้าว ระบบกำไรแบ่งปัน เพิ่มรายได้ชาวนา ยุติความไม่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยนำตัวอย่างจาก อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบ ตั้งกองทุนข้าวขึ้นมา ทำหน้าที่บริหาร กำหนดโควตาการส่งออก จำทำประกันภัยความเสี่ยง และบริหารแบ่งปันกำไร เปลี่ยนสวนปาล์มเป็นบ่นน้ำมัน สร้างโรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์ม ปาล์มทะลายกิโลกรัมละ 5 บาท โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำพืชที่สามารถผลิตเป็นพลังงานน้ำมันมาใช้ในประเทศ เพื่อเพิ่มตลาดและมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจเหล่านั้น ลดปัญหาเงินตราไหลออกไปยังต่างประเทศ ลดปัญหามลภาวะ อาทิ น้ำมันปาล์มสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ : เปลี่ยนเสียงระเบิด เป็นเครื่องจักร เปลี่ยนงบลับเป็นงบลงทุน โดยนำพรบ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ฯลฯ

อ้างอิง : efinancethai.commthai.com และ workpointnews.com 

สำหรับ ภูมิรพี โรจนะบุรานนท์ ผู้ทำข้อมูลปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท จากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live