Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live

ประมวลโควิด-19 รอบวัน ครม. ออกมติแก้ปัญหา-รอรับแรงงานจากต่างชาติ

$
0
0

ประมวลสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รอบวัน สาธารณสุขออกคำแนะนำ เลี่ยงเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากแล้วไปหาหมอถ้ามีไข้ เจ็บคอ ทางเดินหายใจมีปัญหา ครม. งัดงบกลาง ออกมาตรการแก้ปัญหาหลายด้าน กระทรวงต่างประเทศ-แรงงาน เตรียมรับมือแรงงานกลับจากเกาหลีใต้

3 มี.ค. 2563 ประมวลสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รอบวัน ในภาพกว้าง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันนี้ เวลา 17.16 น. ในระดับโลกมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 91,313 คน มีผู้เสียชีวิต 3,118 คน รักษาหายแล้ว 48,115 คน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย และรักษาหายแล้ว 31 ราย 

ศูนย์ข่าวกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้ประชาชนดังนี้

  1. ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ๆ มีการรายงานว่าพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก ไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ให้เลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด หากจำเป็นต้องเดินทางไป ขอให้เลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย เลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วยหรือตาย
  3. ให้ประชาชนทั่วไปดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงอากาศแปรปรวน ให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากป้องกันโรคเวลาไอ จาม เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ

ทำเนียบรัฐบาล: ครม. ออกมาตรการด่วนแก้ปัญหาโควิด-19

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงสั้นๆ พร้อมแจกเอกสารมาตรการเร่งด่วนและบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง โดยเอกสารย้ำให้ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ให้ระงับหรือเลื่อนการดูงาน หรืออบรมในประเทศ

ให้ผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง สังเกตอาการที่บ้าน และทำงานที่บ้านพัก 14 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา ให้ ก.พ. ทำหลักเกณฑ์ในการทำงานที่บ้าน ส่วนประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดกรองอย่างเคร่งครัด ให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อพูรณาการข้อมูลจากส่วนราชการและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

ให้กระทรวงพาณิชย์ สาธารณสุข และอุตสาหกรรม พิจารณาความต้องการของสินค้าที่จำเป็นทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยา เจลฆ่าเชื้อ ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมการป้องกันการกักตุน ให้ครอบคลุมถึงการขายสินค้าออนไลน์

ให้กระทรวงคมนาคมและมหาดไทย เพิ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารตามสถานีขนส่งทุกชนิดทั้งทางบก น้ำ อากาศอย่างเคร่งครัด ให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานติดตามดูแลคนไทยที่พำนักในประเทศที่มีการแพร่ระบาดและประเทศเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด (ที่มา: สำนักข่าวไทย)

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. เห็นชอบ "โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา"โดยใช้งบกลาง วงเงิน 225 ล้านบาท เพื่อผลิตหน้ากากผ้าแจกประชาชน ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนหน้ากากอนามัย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนผู้ผ่านการอบรมจากเจ้านหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผลิตตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายผลิตจำนวน 50 ล้านชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 4.50 บาท โดยหน้ากากผ้าได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสำหรับคนปกติ เพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สำคัญต้องทำควบคู่กับการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

ในส่วนการจัดสรรหน้ากากอนามัย รัชดากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจกำลังการผลิต 11 โรงงานทั่วประเทศ หากทำเต็มกำลังการผลิต 7 วัน จะผลิตได้ประมาณ 38 ล้านชิ้นต่อเดือน  โดยจะจัดให้มีศูนย์กระจายหน้ากาก ประกอบด้วยคณะทำงานจากกรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม ผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ประสานข้อมูลเพื่อจัดสรรโควตาไปให้สถานพยาบาล ร้านขายยา ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ (ที่มา: มติชน)

กระทรวงสาธารณสุข: คำแนะนำการแยกสังเกตอาการที่บ้าน

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว. กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563 กำหนดให้ 9 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) ไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน โดยระบุว่าทุกคนที่เดินทางมาจาก 9 ประเทศนี้ ต้องกักตัว 14 วันโดยไม่มีข้อยกเว้น (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ)

ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกันนี้ มติชนรายงานว่า มีการเผยแพร่เอกสารคำแนะนำสหรับการแยกเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย กรณีการเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีรายละเอียด ดังนี้

1. การปฏิบัติตัวระหว่างสังเกตอาการที่บ้าน ที่พัก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยให้หยุดไปเรียน ไปทำงาน เข้าร่วมกิจกรรมของสถานที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก ผู้เดินทางกลับควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกบ้าน ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด การรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ใช้ของส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อยร้อยละ 60

สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่นในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อยประมาณ 1 ช่วงแขน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้วิธีใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม ทิ้งทิชชู่ลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียงผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70-90 องศาเซลเซียส

2. วิธีการสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัยและแนวทางปฏิบัติเมื่อมีอาการป่วยกรณีที่มีหอพักและเจ้าหน้าที่ควรจัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือที่หน้าหอพัก ในผู้ที่เดินทางเข้าออกหอพักทุกคน ให้ผู้เดินทางสังเกตอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวันเช้าและเย็น อาการระบบทางเดินหายใจได้แก่ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก หากพบอาการป่วยข้อใดข้อหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง โดยขณะเดินทางมาโรงพยาบาลโดยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ

3. การปฏิบัติตัวของผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านและการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมในบ้าน ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุดเพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ โดยใช้น้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วันหลังสัมผัสผู้ป่วย ควรนอนแยกห้องกับผู้เดินทางกลับ อาจรับประทานอาหารรวมกันได้ แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้เดินทางกลับ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดในระยะ 1 เมตร ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ 70-90 องศาเซลเซียส หากมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องพัก ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด เช่น แม่บ้านควรใส่ชุดป้องกันร่างกาย ได้แก่ หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาว รองเท้าบูท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก

    แรงงาน: ภาครัฐเตรียมมาตรการรองรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้

    หนึ่งในข้อกังวลในวันนี้คือกระแสการเดินทางกลับของแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน (5,186 ราย เสียชีวิต 30 คน ข้อมูลเมื่อ 3 มี.ค. 63 เวลา 17.16 น.) โดยมีศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ที่เมืองแดกู โดยในสังคมออนไลน์มีการติดแฮชแท็ก #ผีน้อย ที่หมายถึงแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีเป็นจำนวนมากที่อาจมีการเดินทางเข้าประเทศไทยแบบที่รัฐไม่มีข้อมูล

    โดยมาตรการของเกาหลีใต้นั้น ทางการมีมาตรการให้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่เกินวีซ่า แสดงความสมัครใจให้ออกนอกประเทศได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ และไม่มีโทษห้ามกลับเข้าเกาหลีใต้ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล สอบถามสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 62 - 1 มี.ค. 63 มีคนไทยไปรายงานตัวแสดงความประสงค์กลับประเทศไทยกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีแล้วกว่า 5 พันคน มีคนไทยรายงานที่นครแดกูรายงานตัว 136 คน

    ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า คนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้นั้น ส่วนที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ 3 หมื่นคน ทำให้มีข้อมูลรู้ได้ว่าใครเป็นใคร แต่ส่วนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นไม่มีการรายงานตัวใดๆ ทำให้ไม่มีข้อมูล ผุ้ลงทะเบียนดังกล่าวตอนนี้มีลักษณะต่างคนต่างกลับเอง ดังนั้น คนเหล่านี้ต้องแสดงตัวว่าเพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ มิฉะนั้นอาจไม่เป็นผลดีต่อครอบครัว ญาติ หรือคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน

    เชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าสำหรับคนไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จะต้องผ่านมาตรการคัดกรองของทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกักตัวเพื่อดูอาการเป็นระยะเวลา 14 วันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

    หากคนไทยในเกาหลีใต้มีเหตุเร่งด่วน สามารถติดต่อฮอตไลน์สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่หมายเลข +82-106747 0095 และติดตามข่าวและประกาศของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทางเพจเฟสบุ๊ค สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล Royal Thai Embassy, Seoul

    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว. กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้มีการเตรียมมาตรการรองรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีด่านคัดกรองตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และให้เฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 14 วัน หากมีอาการไข้ ไอจาม น้ำมูก เจ็บคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

    กรมการจัดหางานได้จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 81,562 อัตราเพื่อให้แรงงานที่ประสงค์หางานทำ ได้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพอิสระเมื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

    สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า ได้แจ้งให้ชะลอการนำแรงงานไทยไปทำงานในงานอุตสาหกรรมออกไประยะหนึ่งก่อน แต่หากต้องเดินทางไปทำงาน ให้ห้ามรับประทานยาลดไข้ ยาแก้หวัดหรือยาชนิดอื่นก่อนเดินทาง

    ที่มา: ไทยรัฐ สำนักข่าวไทย มติชน

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ‘มรดกคณะราษฏร’ โซนบางเขน ‘อ.ปราบกบฏ-วัดพระศรี-ม.เกษตร’ ผ่านมุมนักสถาปัตย์-ประวัติศาสตร์

    $
    0
    0

    มองพื้นที่บางเขนด้วยประวัติศาสตร์คณะราษฏร จากอนุสาวรีย์ปราบกบฏ วัดพระศรีมหาธาตุ สู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านสายตาของนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมและนักประวัติศาสตร์

     

     

    3 มี.ค. 2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ชุมนุมภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง "คณะราษฎรกับพื้นที่บางเขน"ณ ห้อง 601 อาคาร 3 ชั้น 6 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวิทยากรคือ ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ

     

    ศึกษาคณะราษฏรจากวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน

    ชาตรี กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับคณะราษฏรส่วนใหญ่เน้นไปที่การเมือง แต่ยังไม่ค่อยมีด้านวัฒนธรรม ขณะนี้ศิลปะแบบคณะราษฎร์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ทั้งจากกลุ่มคนที่อยากอนุรักษ์ไว้และกลุ่มคนที่อยากรื้อถอน

    ความเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ.2475 มีคำพูดประเภทว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ซึ่งทั้งสองฝ่ายใช้ข้อมูลต่อสู้กัน ทั้งเอกสาร จดหมายเหตุ สิ่งพิมพ์ ซึ่งแม้เอกสารจะมีคุณค่ามากทางประวัติศาสตร์ แต่หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การปฏิวัติส่งผลต่อคนมากน้อยแค่ไหน ได้รับการตอบรับมาน้อยแค่ไหน 

    มีชุดหลักฐานขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครศึกษา นั่นคือวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน รวมถึงงานศิลปกรรมที่คนระดมสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น วัตถุเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญในการสืบค้นว่า คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมการจดบันทึก เขาตอบสนองต่อเหตุการณ์ 2475 นั้นอย่างไร มีวัตถุสิ่งของเขาผลิตขึ้น และใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างไร

    แน่นอนว่าการพูดถึงสิ่งของมีข้อจำกัด วัตถุไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่สร้างหรือใช้คิดอย่างไร แต่วัตถุเหล่านี้มีวิธีการอ่านและทำความเข้าใจผ่านการตีความว่าคนที่ผลิต ใช้ มีความคิดเบื้องหลังอย่างไร

    ชาตรี ยกตัวอย่างวัตถุของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีการประกวดถักนิตติ้ง ภาพที่ชนะเลิศก็มีพานรัฐธรรมนูญอยู่ หรือโอ่งอาบน้ำ ปัจจุบันอยู่หอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการขุดลายบนโอ่งเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งอันนี้เห็นชัดว่าเป็นของใช้ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ได้ผลิตโดยรัฐ ไม่ได้ทำเพื่ออวดหรือเอาใจใคร 


    ภาพโอ่งที่มีลายพานรัฐธรรมนูญ

    ชาตรีกล่าวมีงานวิชาการยุคหลังๆ มีการตีความว่า สิ่งที่คณะราษฎรทำไม่ต่างจากในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือสร้างสิ่งของเพื่อบังคับให้ผู้คนกราบไหว้บูชา ยึดแบบแผนประเพณีเดิม สร้างวัตถุบูชาใหม่แทนอันเดิมเท่านั้น ดีเบตอันนี้ตอบได้ด้วยภาพวัตถุสิ่งของเช่นกัน

     
    ภาพที่เขี่ยบุหรี่รูปพานรัฐธรรมนูญ

    ภาพที่เขี่ยบุหรี่รูปพานรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเซ้นส์ในลักษณะเชิดชู พูดง่ายๆ ว่านี่คือถังขยะรองก้นบุหรี่ ดังนั้นสัญลักษณ์ภาพรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกทรีตเป็นพระพุทธที่ต้องกราบไหว้บูชา แต่มีลักษณะของสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

    ดังนั้นการตีความดังกล่าวจึงเป็นการตีความเกินจริง ใช้เพียงหลักฐานจากเอกสารราชการซึ่งมีการพูดถึงว่า ในสังคมใช้พานรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งของประจำวัน คณะราษฎร์บางคนบอกว่าไม่ควร ควรออกกฎเพื่อให้สัญลักษณ์พานศักดิ์สิทธิ์ แต่ความคิดนี้ถูกนำไปปฏิบัติจริงหรือไม่ ไม่แน่นัก เพราะวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันก็ยังถูกค้นพบ


    วัดที่มีรูปพานรัฐธรรมนูญ

    ในวัดเองก็มีรูปพานรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะวัดของชาวบ้านในต่างจังหวัดที่ไม่ได้ผูกโยงกับส่วนกลาง มีการสร้างวัตถุ แสดงให้เห็นว่าเจ้าอาวาสสมัยนั้นมีไอเดียสนับสนุนการปฏิวัติ 2475

    "ดังนั้นเอกสารลายลักษณ์เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิ่งที่ใช้ในการทำความเข้าใจความคิดของคนในยุคนั้น ซึ่งสิ่งที่ปรากฎในชีวิตจริงไม่ได้แบบนั้น การศึกษาวัตถุสิ่งของเหล่านี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามดีเบตททางวิชาการได้"ชาตรีระบุ

     

    แผนที่ชี้พื้นที่บางเขนเจริญขึ้นหลังเหตุปราบกบฏบวรเดช

    ชาตรีชี้ว่า วัตถุหลักฐานอีกชิ้นที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรคือแผนที่ โดยปี ร.ศ.120 ก่อนเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีความเจริญมาก มีเพียงททางรถไฟวิ่งผ่าน บริเวณทุ่งบางเขนเป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีนัยสำคัญ แต่พอมีเหตุการณ์ปรราบกบฏ พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดสำคัญ และมีความเจริญ ดังนั้นเราไม่อาจอธิบายพื้นที่บริเวณนี้ได้โดยปราศจากคณะราษฎร์และเหตุการณ์ปราบกบฏ

    "พื้นที่บริเวณบางเขนมีวัดประชาธิปไตยที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีมหาธาตุอยู่ และมีความสัมพันธ์เชื่อมกับจุดเริ่มต้นที่ถนนราชดำเนินกลาง มีการตัดถนนประชาธิปัตย์ ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธินที่เชื่อมกับถนนราชดำเนินกลาง โดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ตรงกลาง มีถนนสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย ถนนประชาธิปัตย์ มีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (สร้างและเปิดในปี 2485) อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ต่อขึ้นไปเรื่อยๆจะไปเจอพระนครศรีอยุธยา ตัดแยกเข้าไปจะเจอเกาะเมือง มีสะพานปรีดี-ธำรง เข้าสู่แนวศาลากลางเก่าของอยุธยา ซึ่งสร้างในยุคคณะราษฎร ต่อขึ้นไปอีกจะเจอทางแยกเข้าพระพุทธบาทสระบุรี เป็นถนนที่ตัดในช่วงจอมพล ป. เหมือนกัน ถ้าไปอีกก็จะไปถึงลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ในสมัยคณะราษฎร และไปจบที่เชียงราย ดังนั้นการศึกษาถนนก็นำไปสู่การเข้าใจประวัติศาสตร์เมืองใหม่เยอะมาก"ชาตรีกล่าว


    ภาพอนุสาวรีย์ฯ ก่อนถูกรื้อ (ที่มาภาพ: สารคดี)

    อนุสาวรีย์ปราบกบฏ สถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ไร้ลวดลาย

    ชาตรีเสนอว่าตัวสถาปัตกรรมของอนุสาวรีย์ปราบกบฏแม้จะถูกพูดว่าสร้างเป็นรูปปลอกกระสุน แต่ตนเห็นว่ามีความคล้ายกับเมรุของทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชที่สนามหลวงก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นแบบสมัยใหม่ เรียบเกลี้ยงไม่มีลวดลายและน่าจะเป็นไอเดียเริ่มแรกของการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ  

    "อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เกิดภาพประติมากรรมนูนสูงที่เป็นชาวบ้านธรรมดาในฐานะเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นที่แรกในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งโดยตัวของมันเองเป็นวัตถุของการเคารพบูชาหรือระลึกถึง  มีการนำแบบอนุสารีย์ปราบกบฎไปจำลองสร้างที่อื่นๆ เช่น ชลบุรี การจำลองคือปฏิบัติการของสังคม ที่สำคัญมากในการให้เห็นว่าเขานึกคิดอะไรถึงจำลองวัตถุเหล่านั้นมาใช้"ชาตรีกล่าว 

    ชาตรีระบุว่า ปี 2483 มีการสร้างที่ว่าการอำเภอบางเขนใหม่ แบบทันสมัย เรียบเกลี้ยงไม่มีลาย ราชภัฏพระนครก็เป็นผลพวงจากความเจริญของคณะราษฎรในบริเวณบางเขน ตึกบางตึกของราชภัฏก็เป็นตึกที่เก่าแก่ที่น่าศึกษา

    รวมทั้งวัดประชาธิปไตยหรือวัดพระศรีมหาธาตุ ก็มีเจดีย์ หอระฆัง หน้าบัน (เหมือนกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ซึ่งเป็นสมัยใหม่ที่เรียบเกลี้ยง เป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบยุคคณะราษฎร เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เป็นศิลปะแบบคณะราษฎร

    นอกจากนี้พระพุทธศรีถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของคณะราษฎร ไม่ซ้ำกับพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช ของระบอบเดิม

    "ช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีการเผยแพร่วัถตุสิ่งของของคณะราษฎร ที่มีคนไปถ่ายรูป น่าศึกษาถึงความทรงจำส่วนบุคคลที่มีต่อคณะราษฎร 

    "ใครควบคุมอดีต ควบคุมอนาคตได้ ใครควบคุมปัจจุบัน ควบคุมอดีตได้ ดังนั้นอดีตควรมีหลายเวอร์ชั่น ไม่ควรมีอันไหนทำหน้าที่ควบคุมอนาคตอยู่อันเดียวทั้งหมด ควรมีประวัติศาสตร์จากคนธรรมดา จากท้องถิ่น จากนักวิชาการ เป็นหนทางเดียวที่การควบคุมอนาคตจะมีสุขภาพดี ไม่เป็นอนาคตที่ควบคุมโดยคนกลุ่มเดียวทั้งหมด"ชาตรีกล่าว

    คณะราษฏรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รวมมรดกคณะราษฎรบนพื้นที่บางเขน ซึ่งได้แก่ แผนกหอวิทยาศาสตร์ พธ.ทบ. สร้างขึ้นในปี 2576, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ สร้างขึ้นในปี 2479, สถานีทดลองเกษตรกลางบางเขน สร้างขึ้นในปี 2481, วัดประชาธิปไตย สร้างขึ้นในปี 2483,อำเภอบางเขนใหม่ สร้างขึ้นในปี 2484 มีทั้งที่ว่าการ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างขึ้นในปี 2486

    ศรัญญูระบุว่า เรื่องเล่าปัจจุบันมองว่าการศึกษาวิชาการเกษตรเป็นพัฒนาการมาตั้งแต่สมัย ร.5 ซึ่งเงื่อนไขการพัฒนาและจัดการศึกษาเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตข้าราชการเข้าไปอยู่ในส่วนราชการ เรื่องเล่าแบบนี้เป็นปัญหา เพราะการมองว่ามันเป็นพัฒนาการต่อเนื่องทำให้ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนและหลัง 2475 และพัฒนาการองค์ความรู้มีการเปลี่ยนไปหลัง 2475

    ศรัญญูชี้ว่า การศึกษาการเกษตรหลัง 2475 นั้นคณะราษฎรได้เข้ามาปฏิรูปตามหลักเศรษฐกิจในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร  รัฐเข้ามาดำเนินจริงจัง จัดโครงสร้างหน่วยงานใหม่ มีนโยบายส่งเสริมอาชีพราษฎร ทั้งการเพาะปลูก การประมง การเลี้ยงสัตว์ จัดกาศึกษาทดลองทำกสิกรรมรูปแบบใหม่ เผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปรับปรุงเกษตรให้เจริญ ตั้งสถานีวิจัย ส่งเสริมให้พลเมืองเลี้ยงไก่และใช้ไข่เป็นอาหาร ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการกินของราษฏรในด้านโภชนาการ

    นอกจากนี้ศรัญญูยังได้เล่าถึงไทม์ไลน์ของจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

    2481 โอนโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมจากกระทรวงธรรมการมาอยู่กระทรวงเกษตราธิการ แล้วรวมจัดการศึกษาที่แม่โจ้เพียงแห่งเดียว พร้อมกับยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

    2482 กระทรวงเกษตราธิการ ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งที่สถานีเกษตรกลางบางเขน เพื่อจัดการศึกษาร่วมกับการทดลองทางการเกษตร 

    2484-2486 วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผลิตบุคคลากรเข้ารับราชการในกรมเกษตร กรมสหกรณ์ และกรมป่าไม้

    2485 พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน เสนอให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นชอบและสนับสนุนให้ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลักดัน “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486

    2 ก.พ. 2486 สถาปนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการเรียนการสอน 4 คณะ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี และอนุปริญญา 3 ปี มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ให้รมว.เกษตรฯ เป็นอธิการบดีและนายกสภาโดยตำแหน่ง

    จอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้งภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ปรับปรุงกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขนานใหญ่ภายใต้บริบทสงครามเย็น

    4 มกราคม 2491 กระทรวงเกษตรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมมือจัดงานจัดงานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขนครั้งแรก เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนมีความสนใจต่ออาชีพการเกษตรและเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการเกษตรสาขาต่างๆ

    2491 จัดตั้งห้องสมุดกลางบางเขน

    2492 ม.ยูท่าห์สเตท ช่วยพัฒนาบุคลากรระดับสูงของมหาวิทยาลัย

    2494 ส่งผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไก่มาช่วยงานม.เกษตรศาสตร์ และส่งบุคคลากรมหาวิทยาลัยไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกา

    2495 ม.ออรีกอนช่วยปรับปรุงม.เกษตรศาสตร์ภายใต้ความช่วยเหลือทางการเงินขององค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (FOA)

    ทศวรรษ 2490 จอมพล ป. สนับสนุนและจัดสรรทุนหมุนเวียนให้โครงการอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ของหลวงสุวรรณฯ รวมถึงจัดตั้งสหกรณ์นิคมไก่ในพื้นที่ใกล้ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ทั้งการจัดหาพันธุ์ อาหาร และมีตลาดรับซื้อ

    นับตั้งแต่ พ.ศ.2496 ม.เกษตรศาสตร์จัดอบรมวิชาชีพฤดูร้อนแก่ประชาชนทั่วไป “โรงเรียนไก่ฤดูร้อน”

    2491 โอนร.ร.เตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์แม่โจ้ ไปสังกัดกรมอาชีวศึกษา

    2495 ปรับปรุงม.เกษตรศาสตร์เป็น “กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” สังกัดกระทรวงเกษตร

    2497 โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และร.ร.ช่างชลประทานเข้ามาไว้ในกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    จัดซื้อที่ดินที่เกษตรกลางบางเขน รวม 423 ไร่

    18 เมษายน 2497 จอมพล ป. พิบูลสงคราม วางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ ม.เกษตรศาสตร์

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ขอร่วมกับประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย | 27 ก.พ. 63

    $
    0
    0

    นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ตัวแทนสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งระบุว่าพร้อมร่วมกับนักศึกษาและประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย โดยกล่าวในงานแฟลชม็อบ 'คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย'ที่ลานไทรข้างโรงอาหารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

    นศ. ม.วลัยลักษณ์ประกาศ ‘เราตื่นแล้ว’ ไม่ขอกลับไปหลงเชื่อเผด็จการอีก, 26 ก.พ. 2563

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    พูดเพื่อเสรีภาพ Talk For Freedom

    $
    0
    0

    สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากเหตุการณ์จริง จับจริง ดำเนินคดีจริง "พูดเพื่อเสรีภาพ (Talk For Freedom)"โดย iLaw X Prachatai

    7 สิงหาคม 2559 เป็นวันลงประชามติรัฐธรรมนูญที่แพงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะต้องจ่ายด้วยการปิดกั้นเสรีภาพ ดำเนินคดีพลเมืองมากกว่า 212 ราย และนี่คือเรื่องของราวของหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี "มะฟาง"และ "ไผ่ ดาวดิน"จากเวทีเสวนาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ "พูดเพื่อเสรีภาพ"ที่ จ.ขอนแก่น

    ติดตามประชาไทที่ https://youtube.com/prachatai

    #พูดเพื่อเสรีภาพ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ2560

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    เพื่อไทยประชุม ถกยับ พรรคขาดเอกภาพ อภิปรายไม่คม เหมือนแนะนำรัฐบาล

    $
    0
    0

    ส.ส. พรรคเพื่อไทยประชุมประจำสัปดาห์ ถกเถียงปมพรรคขาดเอกภาพ ส.ส. บางคนแคลงใจ จัดคิว จัดเวลาอภิปราย มติพรรคคลุมเครือ สับสน ไม่แบ่งโอกาส บางคนพูดวนอยู่ 3 ชั่วโมงเรื่องเดิม จี้ ทำไม ส.ส. อนาคตใหม่ต้องแถลงข่าวโจมตีกัน หัวหน้าพรรครับ เจ็บปวดกับเรื่องที่เกิด แต่ก็ต้องหักห้ามความรู้สึก ไร้เงายุทธพงษ์ จรัสเสถียร และศรันวุฒิ ศรัณย์เกตุ

    3 มี.ค. 2563 เดลินิวส์และไทยโพสท์รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า มีการประชุม ส.ส. เพื่อไทย (พท.) ประจำสัปดาห์ โดยมีสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์ พท. นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตหัวหน้าพรรคร่วมทำหน้าที่ประธานการประชุม

    บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยความดุเดือด มี ส.ส.หลายคนสลับกันลุกขึ้นตำหนิการทำหน้าที่ของประธานวิปฝ่ายค้าน ผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจบางคนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไปจนถึงการตำหนิ พท. อย่างรุนแรงจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม และศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส. อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เข้าร่วมประชุม

    ในการประชุม มี ส.ส. รุ่นกลางและอาวุโสหลายคน ต่างผลัดกันตำหนิการทำงานที่ขาดเอกภาพและการทำหน้าที่ของผู้ใหญ่ในพรรคที่ไม่มีความกลมเกลียวของ พท. โดย ส.ส. บางคนกล่าวว่า ก่อนอภิปรายครั้งนี้เละไปหมด มีหลายทีม คนหนึ่งพูดอย่าง อีกคนจะเอาอีกอย่าง ไม่รู้จะฟังใคร การเลือกคนและจัดคิวเวลาอภิปรายก็มีเพียงแค่ไม่กี่คน ขนาดใกล้วันอภิปรายแล้ว ส.ส.บางคนยังไม่รู้เรื่องว่าจะอภิปรายใคร เพื่อน ส.ส. บางคนที่มีข้อมูลก็เลยไม่รู้จะเอาข้อมูลไปให้ใคร 

    ส.ส. อีสานคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตุว่า ผู้อภิปรายบางคนพูดเรื่องเดิมๆ เป็นเวลา 3 ชั่วโมง รวมเวลานายกฯตอบเป็น 4 ชั่วโมง อนาคตใหม่ไม่ walk out ตั้งแต่ตอนนั้นก็บุญแล้ว เขาโกรธที่ไม่ได้เวลาอภิปราย ไม่แปลก เป็นตนก็ไม่พอใจเหมือนกัน พูดจาวกวนไปมามีแต่เรื่องเดิมๆ

    ส.ส.อีสานอีกคน เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์คืนวันที่ 27 ก.พ. ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอ้างว่า มีมติจะไม่เดินทางมาโหวตและทางพรรคได้แจ้งในกลุ่มไลน์ให้ ส.ส. ทราบ แต่พอเช้าวันที่ 28ก.พ. กลับมีไลน์จากทางพรรคให้วิ่งไปห้อง301 ที่สภาฯ ดูว่าจะสรุปอย่างไร ในวันนั้นมีแกนนำ พท. และพรรคร่วมฝ่ายค้านมาร่วมหลายคน สรุปเวทีสรุปกลายเป็นเวทีปราศรัย ไม่ควรรีบออกเป็นมติจะไม่มาในวันที่ 28 ก.พ. พอกลับไปบ้าน ชาวบ้านยังถามว่าไปประชุมแล้วทำไมไม่โหวต บางพรรคยังประชุมถึงดึกดื่นจะโหวตให้หรือไม่โหวตให้รัฐมนตรีบางคน ยังมีมติออกมา 24-17เลย แต่ของเราทำไมรีบสรุป

    ส.ส. จากอีสานใต้ระบุว่า กว่าจะได้เป็นผู้แทน ไม่ได้ง่ายๆ การอภิปรายในเมื่อหัวหน้าบอก ไม่มีงาน ก็จบ ท่านสุทิน ที่เคารพ วิปเก่งหมด ที่ขาดอยู่อย่างหนึ่งคือการแบ่งปันโอกาส จะอภิปรายหรือจัดเวลาก็คิดกันอยู่ไม่กี่คน เป็นกลุ่มเดิมๆ การอภิปรายก็เป็นเชิงเสนอแนะ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านบางคนพูด 2 ชั่วโมง แนะนำทั้งหมด อันนั้นมันหน้าที่รัฐบาล อภิปรายต้องตั้งคำถามให้คม ติดคุกเป็นติด มันอภิปราย  ไม่ใช่ไปแนะนำเขา อยากฝากเอาไว้ เมื่อได้พูดแล้วก็เชื่อว่าเราจะรักกัน  

    ส.ส.ภาคเหนือคนหนึ่งกล่าวว่า อยากให้ย้อนดูการอภิปรายสมัยพรรคไทยรักไทยว่าทำกันอย่างไร ของเราเนื้อหาดี แต่การนำเสนอห่วยแตก ของ อนค. เนื้อหาไม่เท่าไหร่ แต่เขานำเสนอดี ทำเป็นเรื่องๆ เป็นข้อมูล มีการหาข้อมูล ของเราเอามาจากอินเตอร์เน็ตบ้าง อิศราบ้าง วิกิพีเดียบ้าง ใครก็รู้ ข้อมูลเป็น 10 ปีแล้ว วันนี้เราเกรงใจพรรคเพื่อนบ้านมากเกินไปหรือเปล่า เอาจังหวะยุบพรรคมาปีนด่า ตีกินเรา ยังมีผู้ใหญ่ในพรรคบางคนไปดูเขาแถลง มันสมควรหรือไม่ แทนที่จะห้าม กลายเป็นไปดูเขาแถลงข่าว

    นอกจากนั้น ยังมี ส.ส.ตั้งข้อสังเกตุท่าทีของ อนค. ที่ไม่ยอมมาพูดคุยหารือกันก่อนแล้วไปแถลงข่าวตำหนิ พท. โดย ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่สบายใจที่ อนค. ใช้วิธีเช่นนั้น ทำไมจึงไม่ปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาแบบผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ แต่กลับแถลงข่าวโจมตี ทั้งที่ยังต้องทำงานร่วมกันในสภาฯ อีก และยังกล่าวหาว่า พท. เล่นปาหี่ช่วยรัฐบาลซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงและไม่เป็นความจริง แล้วจะทำงานร่วมกันในสภาอย่างไร ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ส.ส. พรรคข้างบ้านพูดโจมตี พท. 

    สมพงษ์กล่าวว่า เป็นธรรมดาของ ส.ส. วัยรุ่นที่ยังขาดประสบการณ์ อาจใช้อารมณ์วู่วามไปหน่อย แต่หวังว่า ส.ส. เพื่อไทยซึ่งมีความเป็นผู้ใหญ่กว่า จะใจเย็นและให้อภัยวัยรุ่นใจร้อน ยอมรับว่าก็รู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องกลืนเลือดและต้องหักห้ามความรู้สึก

    มี ส.ส. และอดีต ส.ส บางคนถามผู้บริหารพรรคกลางวงประชุมว่า มีผู้บริหารระดับสูงของ พท. บางคนไปปรากฎตัวร่วมกับ ส.ส. อดีต อนค. ในช่วงที่แถลงข่าวโจมตี พท. ที่รัฐสภา ทำให้สมาชิก พท. ที่ทราบเรื่องรู้สึกไม่สบายใจ ขอให้สมพงษ์สอบสวนหาข้อเท็จจริง

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    วิเคราะห์-สรุปดรามาเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในมาเลเซีย ปัญหาเก่าๆ และอนาคต 1MDB

    $
    0
    0

    นักวิเคราะห์นำเสนอกรณีดรามาเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในมาเลเซียอย่างฉับพลันว่า มีต้นเหตุมาจากปัญหาทางการเมืองที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษเคยก่อไว้จากการแบ่งแยกอำนาจระหว่างคนเชื้อชาติแตกต่างกันในมาเลเซีย และเป็นไปได้ที่ขั้วอำนาจเก่าฝ่ายนาจิบ ราซัค อาจจะพยายามจุดวิกฤตการเมืองในครั้งนี้เพื่อเลี่ยงการถูกดำเนินคดีอื้อฉาวครั้งใหญ่เกี่ยวกับโครงการ 1MDB

    ธงชาติมาเลเซีย (ที่มา:bergerpaints.com)

    ผู้นำทรยศลูกน้อง ศิษย์คิดล้างครู การทุจริตพันล้านที่สะเทือนจากกัวลาลัมเปอร์ไปถึงฮอลลีวูด การอ้างเรื่องเพศมาโจมตีไม่รู้จบ การเมืองมาเลเซียเต็มไปด้วยดรามาที่ดูเหมือนละครเช็กสเปียร์แบบนั้น แถมล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนขั้วทางการเมืองในแบบที่น่าเวียนหัว ทั้งในสายตาของชาวมาเลเซียเองและสายตาของคนต่างชาติ

    เบน แบลนด์ ผู้อำนวยการสถาบันโลวีที่ศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เขียนสรุปการเมืองมาเลเซียล่าสุด โดยเริ่มเล่าจากเหตุการณ์จัดตั้งรัฐบาลปี 2561 ที่ต่อเนื่องมาจากการขั้วการเมืองปากะตัน ฮารัปปัน โค่นล้มกลุ่มที่ครองอำนาจนำมายาวนานอย่างกลุ่มอัมโนที่นำโดย นาจิบ ราซัค ผู้มีเรื่องอื้อฉาวจากการทุจริตโครงการ 1MDB

    หลังจากการเลือกตั้งในปี 2561 มหาเธร์ มูฮัมหมัด ที่เคยเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งต่อนาจิบและต่อประเทศมาเลเซียก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ในอายุ 92 ปี สัญญาว่าจะส่งต่ออำนาจให้กับอันวาร์ อิบราฮิม อดีตลูกศิษย์ของมหาเธร์อีกคนหนึ่งที่เคยต้องจำคุกด้วยความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน อิบราฮิมติดคุกยาวมาทั้งในสมัยรัฐบาลมหาเธร์ (เดิม) และนาจิบ ด้วยข้ออ้างคดีความที่มีแรงจูงใจเบื้องหลังทางการเมือง

    กระนั้น มหาเธร์ก็ยังรั้งรอที่จะยอมมอบอำนาจต่อให้อันวาร์ แม้ในช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มีการประมือกับอัซมิน อาลี อดีตลูกศิษย์ของเขา แต่หลังจากที่อัซมินหันไปทำข้อตกลงลับๆ กับกลุ่มรัฐบาลเก่าอัมโนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แผนการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ในนามกลุ่มปากะตัน ฮารัปปันของมหาเธร์ล่มไป หลังจากนั้นมหาเธร์ก็ออกจากตำแหน่งและมีมูฮิดดิน ยัสซิน อดีต รมว. มหาดไทยที่เคยทำงานกับทั้งมหาเธร์และนาจิบในพรรคอัมโนขึ้นมาแทน เขาประกาศตนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียในวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

    เรื่องนี้น่าเวียนหัวสำหรับทั้งชาวมาเลเซียเองและคนต่างชาติ แบลนด์วิเคราะห์ว่าปัญหาการเมืองยุ่งเหยิงแบบนี้เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่มีอิทธิพลเหนือมาเลเซียในสมัยก่อนแล้ว เจ้าอาณานิคมอังกฤษในยุคนั้นสร้างการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและสร้างความบาดหมางในสังคมมาเลเซีย โดยการให้ประชากรที่เป็นชาวมุสลิมมาเลย์ส่วนใหญ่มีอำนาจนำทางสังคมและการเมือง แต่ชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวเชื้อสายจีนกลับมีอำนาจนำทางเศรษฐกิจ

    แบลนด์กล่าวว่าภายใต้พื้นผิวที่ดูเหมือนความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองกับบุคคลทางการเมืองก็ยังมีโครงสร้างสำคัญที่ควรจะมีการปฏิรูปคือการขจัดการทุจริตคอร์รัปชันและการส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

    มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นไทยที่ต้องต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพจากอาณานิคม ด้วยเหตุนี้เองมาเลเซียยังต้องต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากภาระทางประวัติศาสตร์ด้วย เช่นการกุมอำนาจของรัฐบาลฝ่ายที่มีขึ้นหลังได้รับอิสรภาพอย่างกลุ่มอัมโนที่มีอำนาจมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2500 และเพิ่งถูกโค่นล้มในปี 2561 แบลนด์มองว่าการโค่นล้มที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะเกิดขึ้นได้เพราะมหาเธร์และอันวาร์ร่วมมือกันเพราะทนต่อความฉ้อฉลของนาจิบต่อไปไม่ไหว

    แต่ถึงแม้ว่ามหาเธร์จะกลายเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีความหลากหลายที่สุดของมาเลเซีย แต่มหาเธร์ผู้ที่ในอดีตเคยเป็นสายอัมโนมาก่อนก็ไม่สามารถปฏิเสธแนวคิดเชิงเชื้อชาติที่ฝังรากอยู่ในตัวเองได้ ทำให้เขาเน้นนโยบายปกป้องและให้ความสำคัญกับชาวมาเลย์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมาก่อน ที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐบาลของเขาต้องเผชิญกับแรงต้านจากชาวมาเลย์ทำให้แพ้การเลือกตั้งซ่อม ในขณะที่อัมโนและพันธมิตรที่เป็นกลุ่มอิสลามจุดชนวนความตึงเครียดทางเชื้อชาติและศาสนา

    เบลนด์ระบุว่าด้วยเหตุนี้เองทำให้อัมโนเด้งกลับมามีอำนาจเหนือรัฐบาลได้จากการกลายเป็นขั้วพรรคแนวร่วมที่ใหญ่ที่สุด แต่นั่นก็ทำให้มาเลเซียล้าหลังไปด้วย จากการที่พรรคแนวร่วมสมัยมหาเธร์นั้นมีพัฒนาการเรื่องการทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น ลดระดับโครงการที่ไม่ทำประโยชน์ และยุบกฎหมายอำนาจนิยม แต่พอกลุ่มอำนาจเก่าอย่างฮัมโนกลับมาได้ไม่นาน ภาคประชาสังคมที่ประท้วงก็ต้องเผชิญกับการสืบสวนจากตำรวจเรื่องข้อหายุยงปลุกปั่นแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายทางการเมืองนี้ยังไม่ถึงจุดยุติทำให้ฝ่ายมหาเธร์ยังมีความหวังอยู่ ขึ้นอยู่กับว่ามูฮิดดินจะได้รับการสนับสนุนข้างมากจากสภาหรือไม่ แต่สภาพแบบนี้สำหรับเบลนด์แล้วมันสะท้อนให้เห็นว่ามาเลเซียยังก้าวข้ามไม่พ้นเรื่องการยึดติดเชื้อชาติไปสู่ความเป็น "เอเชียอย่างแท้จริง"แบบที่ฝันไว้

    สื่อแชนแนลนิวส์เอเชียยังระบุถึงความน่าสงสัยว่า การที่พรรคสายอัมโนของนาจิบพยายามกลับเข้ามามีอำนาจในครั้งนี้ ก็เพื่อให้นาจิบสามารถหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีใหญ่อย่างการทุจริต 1MDB ได้เช่นเดียวกับที่มหาเธร์เคยพูดไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่าพรรคของนาจิบจัดฉากให้เกิดวิกฤตทางการเมืองด้วยวัตถุประสงค์นี้

    ซินเทีย กาเบรียล ผู้อำนวยการกลุ่มต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของมาเลเซียซีโฟร์เซนเตอร์กล่าวว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะเป็นไปได้คือการแทรกแซงจากตุลาการจะทำให้มีการยกเลิกการดำเนินคดีอื้อฉาว 1MDB ต่อนาจิบ 

    เรียบเรียงจาก

    Beneath Malaysia’s political battles are older struggles, Ben Bland, Financial Times, Mar. 3, 2020

    After Malaysia's political turmoil, questions over trials in 1MDB scandal, Channel News Asia, Mar. 3, 2020

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ศรีสุวรรณชี้ ส.ส.แจกหน้ากากอนามัยไร้คุณภาพมีความผิดทางแพ่ง-อาญา/จริยธรรม

    $
    0
    0

    ศรีสุวรรณ ชี้ ส.ส. พลังประชารัฐแจกหน้ากากอนามัยไม่ได้มาตรฐาน สามารถฟ้องค่าเสียหายและดำเนินคดีอาญาได้ และนายกฯต้องเรียกมาภาคทัณฑ์หรือลงโทษ

    4 มี.ค. 2563 วันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้นำหน้ากากอนามัย ที่มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐนำมาแจกประชาชนมาตรวจสอบคุณภาพแล้วพบว่า เป็น ผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ของโพลิเมอร์ ที่เป็น “Polypropylene ( PP )” ซึ่งมีกลิ่นเหม็นพลาสติก มีขนาดบางมากๆ เส้นใยสีฟ้าเป็นการย้อมสีเพื่อให้ดูรู้สึกดี แต่ทั้ง 3 ชั้นบางมากและเป็นพอลิเมอร์ชนิดเดียวกัน ที่สำคัญมีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหากนำไปล้างน้ำและไหลลงไปในระบบนิเวศ เช่นแม่น้ำลำคลองสัตว์น้ำสัตว์ทะเลจะได้รับไมโครพลาสติกพวกนี้กลับเข้ามาสู่ระบบและมนุษย์ก็ไปกินสัตว์น้ำเหล่านี้ก็จะเข้ามาสู่ร่างกายได้เช่นกัน ในระยะยาวพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ยากมาก และเป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น

    กรณีที่เกิดขึ้น ส.ส.คนดังกล่าวต้องรีบเรียกคืนหน้ากากทั้ง 10,000 ชิ้นนำกลับมาทำลายให้หมด และจะต้องเร่งรีบกลับไปดำเนินการเอาผิดกับเจ้าของสินค้าหรือผู้ที่ขายมาให้โดยเร็ว เพราะถือได้ว่าเป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” เพราะผู้ที่ได้รับแจกนำไปใช้แล้วหากเกิดความเสียหายภายใน 3 ปีสามารถเรียกค่าเสียหายในทางละเมิดได้ ตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 2551  นอกจากนั้นยังมีความผิดในทางอาญาด้วย ในข้อหากระทำการด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หาก ส.ส.คนดังกล่าวไม่ดำเนินการใด ๆ ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อ.157 และการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม 2561 ได้

    นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้รักษาการตาม พรบ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ต้องเรียก ส.ส.คนดังกล่าวมาภาคทัณฑ์หรือลงโทษ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการทำงานเกินหน้าที่จนอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชนได้ ศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    รอบโลกแรงงาน กุมภาพันธ์ 2020

    $
    0
    0

    พนักงานบริการบนเครื่องบินทั่วโลกเกิดกระแสตื่นกลัวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

    ที่สนามบินใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุดคลุมสีขาวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ใช้อุปกรณ์เทอร์โมมิเตอร์ดิจิทัลจี้ไปที่ศีรษะผู้โดยสารเพื่อวัดไข้ ขณะที่ผู้โดยสารบางส่วนเดินทางเครื่องสแกนความร้อนในร่างกาย

    ส่วนบนเที่ยวบินจากนครเซี่ยงไฮ้ไปยังนิวยอร์ก พนักงานบนเครื่องทุกคนสวมหน้ากากขณะเดินเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับผู้โดยสารที่สวมหน้ากากเช่นกัน ผู้โดยสารบางคนเปลี่ยนหน้ากากของตนทุกสี่ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าสะอาดปลอดเชื้อโรค

    และไม่ใช่แค่บนเครื่องบินเท่านั้น แต่ตามสนามบินต่าง ๆ ทั่วโลก ก็สามารถพบเห็นพนักงานและผู้โดยสารที่มีหน้ากากปกปิดตั้งแต่จมูกลงมา เดินกันขวักไขว่ทั่วไป

    ภาพเช่นนี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติบนทุกเที่ยวบินทั่วโลกในขณะนี้ ท่ามกลางกระแสความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ที่มีศูนย์กลางในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และมีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบหนึ่งหมื่นคน และองค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศให้เป็น "ความฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ"

    บางครั้งความกังวลลุกลามไปเป็นความตื่นกลัว เช่น บนเที่ยวบินจากจีนไปยังนครอัมสเตอร์ดัม ผู้โดยสารหลายคนลุกขึ้นมาโวยวายเมื่อทราบง่ามีชายจากเมืองอู่ฮั่นผู้หนึ่งอยู่ในกลุ่มผู้โดยสารด้วย

    สำหรับเที่ยวบินที่ยังต้องให้บริการเข้าและออกจากจีนอยู่นั้น พนักงานต้อนรับบนเครื่องต่างพากันหาวิธีต่าง ๆ มาใช้กำจัดเชื้อโรคทั้งก่อนและหลังจากที่ผู้โดยสารขึ้นลงเครื่องบิน เช่น ใช้น้ำยากำจัดเชื้อโรคเช็ดทั่วบริเวณที่นั่งผู้โดยสารและกระจก และหากเที่ยวบินนั้นมีผู้โดยสารที่น่าสงสัยว่ามีอาการป่วย หน้ากากและแว่นตาแบบป้องกันพิเศษ รวมทั้งเสื้อแขนยาว ก็อาจถูกนำมาใช้ได้เช่นกัน ตามรายงานของโฆษกของสายการบิน United Airlines

    หลายวันที่ผ่านมา สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง Air France, British Airways และ Scandinavian Airlines ต่างระงับเที่ยวบินไปประเทศจีน

    และในวันศุกร์ สายการบิน Delta Air, United Airlines และ American Airlines ของสหรัฐฯ ได้สั่งระงับเที่ยวบินทั้งหมดที่ไปและกลับจากประเทศจีน

    โดยเที่ยวบินของ Delta Air จะถูกระงับตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. และอาจยาวนานถึงสิ้นเดือนเมษายน ส่วนของ American Airlines จะระงับไปจนถึงวันที่ 27 มีนาคม ขณะที่ United Airlines ระงับเที่ยวบินระหว่างวันที่ 6 ก.พ. - 28 มี.ค.

    การตัดสินใจของสายการบินสหรัฐฯ เหล่านี้มีขึ้นหลังจากสหภาพนักบินได้ยื่นฟ้องสายการบินต่าง ๆ ให้ระงับเที่ยวบินไปจีนทันที เนื่องจากความกังวลเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัส

    ที่มา: VOA, 1/2/2020

    บริษัทของญี่ปุ่นเลื่อนกำหนดการเปิดดำเนินการโรงงานในประเทศจีน

    บรรดาบริษัทของญี่ปุ่นได้เลื่อนกำหนดการเปิดดำเนินการของโรงงานในประเทศจีน โดยทางการจีนได้เรียกร้องให้ขยายวันหยุดเทศกาลตรุษจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่

    โตโยต้า มอเตอร์ ระบุว่าจะเลื่อนการเปิดทำการอีกครั้งของโรงงาน 4 แห่งในจีน จากต้นเดือน ก.พ. ไปเป็นวันที่ 10 ก.พ. หรือหลังจากนั้น ฮอนด้า มอเตอร์ ขยายช่วงวันหยุดของโรงงานที่เมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาด จากวันที่ 2 ก.พ. ไปเป็นวันที่ 13 ก.พ. และยังระงับการดำเนินการของโรงงานแห่งอื่น ๆ ในจีน ไปจนถึงวันที่ 9 ก.พ.

    มาสด้า มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ ก็ระงับการดำเนินการของโรงงานในจีนไปจนถึงวันที่ 9 ก.พ. ส่วนพานาโซนิกและฮิตาชิ ก็เลื่อนการกลับมาดำเนินการของโรงงานของตนในประเทศจีนเช่นกัน

    ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 2/2/2020

    'Cathay Pacific'ขอให้พนักงานกว่า 27,000 คน พักงานโดยไม่รับเงินเดือน

    CEO ของสายการบิน Cathay Pacific ระบุผ่านคลิปวิดีโอที่ส่งถึงพนักงานทุกคนว่าขอให้พนักงาน 27,000 คน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทั่วไปในส่วนต่างๆ พักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 3 สัปดาห์ ช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2020 เขารู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่เป็นมาตรการที่ต้องทำเพื่อประคับประคองบริษัทให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในจีน ไม่รวมถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงตั้งแต่ปีก่อนที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน

    ที่มา: scmp.com, 5/2/2020

    Adidas สั่งปิดร้านหลายแห่งในจีนเป็นการชั่วคราวเพราะวิกฤติโคโรนาไวรัส

    บริษัทผลิตภัณฑ์กีฬาสัญชาติเยอรมันอย่าง Adidas เป็นธุรกิจข้ามชาติอีกรายที่ตัดสินใจปิดร้านค้าในจีนหลายแห่งเป็นการชั่วคราว จากเหตุระบาดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตคนไปแล้วหลายร้อยราย และส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน Adidas มีร้านค้าอยู่ราว 12,000 แห่งทั่วจีน โดยมีทั้งร้านที่บริษัทแม่บริหารเองและร้านที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์

    รายงานข่าวไม่ได้ระบุว่า อดิดาส ตัดสินใจปิดร้านชั่วคราวทั้งหมดกี่แห่ง ก่อนจะเกิดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ยอดขายของ Adidas ในประเทศจีนในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วส่งสัญญาณชะลอตัวไปแล้ว ด้วยอัตราการเติบโตที่ 11% เมื่อเทียบกับอัตราขยายตัว 14% ในไตรมาสก่อนหน้า

    ที่มา: VOA, 6/2/2020

    คนทำงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่นมากขึ้น ส่งผลเงินเดือนหดตัวลงในปี 2019

    กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานในญี่ปุ่นเมื่อปรับตามเงินเฟ้อแล้ว ปรับตัวลง 0.9% ในปี 2019 เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากมีผู้ทำงานพาร์ทไทม์เพิ่มมากขึ้น ทำให้รายรับในรูปเงินสดเฉลี่ยต่อเดือนของคนทำงานในญี่ปุ่น รวมถึงโบนัส ลดลง 0.3% แตะที่ 322,689 เยน (2,900 ดอลลาร์) เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี

    ทั้งนี้ อัตราส่วนของผู้ที่ทำงานพาร์ทไทม์พุ่งทำสถิติสูงสุดที่ 31.53% หรือเพิ่มขึ้น 0.65% จากระดับของปีก่อนหน้า ส่วนค่าแรงพื้นฐานและค่าจ้างที่มีการกำหนดเวลา ปรับตัวลดลง 0.1% สู่ระดับ 244,485 เยน ขณะที่ค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลาและทำงานนอกกำหนดเวลา ลดลง 0.8% แตะที่ 19,740 เยน ส่วนโบนัสและรายได้อื่นๆ ปรับตัวลง 0.9% แตะที่ 58,464 เยน ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสำหรับคนทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น 0.3% แตะที่ 425,288 เยน ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ทำงานพาร์ทไทม์ทรงตัวที่ 99,758 เยน

    ที่มา: japantimes.co.jp, 7/2/2020

    ผลศึกษาออฟฟิศไกลบ้าน-ทำงานหนัก เสี่ยงปัญหาสุขภาพรุมเร้า

    นักวิจัยในสวีเดนได้ศึกษาผู้คนที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต้องเดินทางโดยเฉลี่ยนานกว่าครึ่งชั่วโมงทั้งขาไปและขากลับ และพบว่าคนเหล่านั้นมีความเสี่ยงในการมีวิถีชีวิตแบบเฉื่อยชา สูงขึ้น 25% และความเสี่ยงต่อปัญหาการนอนหลับสูงขึ้น 16%

    Jaana Halonen จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มและสถาบันสุขภาพและสวัสดิการ Finnish Institute for Health and Welfare ในเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าวว่าปัญหาเรื่องการนอนหลับอาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมคลายเครียด หรือการผ่อนคลาย และว่าคนที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และยังต้องเดินทางไปทำงานเป็นระยะทางไกลๆ อาจเหนื่อยเกินกว่าที่จะมีความกระตือรือร้นได้

    สำหรับการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นผู้ใหญ่วัยทำงานมากกว่า 22,000 คนอย่างน้อยสองครั้งในระหว่างปี 2008 จนถึงปี 2018 โดยจะสอบถามเกี่ยวกับการทำงานและการเดินทางไปทำงาน รวมถึงเรื่องการออกกำลังกายและการนอนหลับ นอกจากนี้ยังถามด้วยว่าสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์บ่อยมากน้อยแค่ไหน

    Oliver Mytton นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า การที่จะเลือกทำงานที่ต้องเดินทางไกลๆ นั้น ควรจะคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพด้วย เขาตั้งข้อสังเกตอีกว่าใช่ว่าทุกคนจะมีทางเลือกมากมายในเรื่องสถานที่ทำงาน หรือมีโอกาสในการทำงานจากที่บ้าน แต่การศึกษาในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่านายจ้าง และรัฐบาลควรมีความยืดหยุ่นต่อความต้องการของพนักงานของตน

    การศึกษาเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Occupational & Environmental Medicine

    ที่มา: VOA, 16/2/2020

    'HSBC'เลิกจ้าง 35,000 ตำแหน่ง-ปรับโครงสร้างเน้นตลาดเอเชีย

    ธนาคาร HSBC ประกาศว่าจะลดพนักงานลง 35,000 ตำแหน่ง ภายใต้นโยบายปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อมุ่งเน้นไปที่ตลาดเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว CEO รักษาการณ์ของ HSBC ระบุว่าจำนวนพนักงานของ HSBC ทั่วโลกจะลดลงจาก 235,000 คน เหลือ 200,000 คน หรือลดลงราว 15% ในช่วงสามปีข้างหน้า

    ผลกำไรสุทธิของ HSBC เมื่อปีที่แล้วลดลง 53% อยู่ที่ระดับ 6,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะยิ่งลดลงอีกในปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น การแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป การประท้วงในฮ่องกง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการระบาดของโคโรนาไวรัส

    ที่ผ่านมา ธนาคาร HSBC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน พยายามปรับโครงสร้างการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นทำตลาดเอเชียมากขึ้น และลดขนาดธุรกิจในภูมิภาคอื่นลง โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรป และยังมีแผนจะลดขนาดสินทรัพย์รวมลงเหลือ 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มผลกำไร โดยคาดว่าแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้จะมีต้นทุนราว 6,000 ล้านดอลลาร์

    ที่มา: VOA, 19/2/2020

    ฟิลิปปินส์ยกเลิกคำสั่งห้ามการเดินทางชั่วคราว หลังแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวันรวมกลุ่มเขียนจดหมายถึงผู้นำ

    สืบเนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ห้ามผู้โดยสารจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊าเดินทางเข้าเข้าฟิลิปปินส์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ได้เพิ่มไต้หวันเข้าไปด้วย สรุปผู้โดยสารจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง  มาเก๊าและไต้หวันไม่สามารถจะเดินทางเข้าฟิลิปปินส์ได้ ยกเว้นชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงห้ามชาวฟิลิปปินส์เดินทางไปยังเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวด้วย โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นายจ้างไต้หวันที่กำลังจะนำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์และแรงงานฟิลิปปินส์ที่กำลังจะเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันประสบปัญหาไม่สามารถจะเดินทางได้นั้น

    แรงงานฟิลิปปินส์ในบริษัทอี้เหม่ยฟู้ด (Imei Food) ที่เขตหนานข่าน นครเถาหยวน ขณะให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากสื่อฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า พวกตนทั้งหมด 410 คน รวมกลุ่มกันลงนามเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี Rodrigo Roa Duterte ขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากกังวลจะส่งผลต่อโอกาสการทำงานของแรงงานฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังจะกระทบการเดินทางกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ เนื่องจากเที่ยวบินส่วนใหญ่ถูกยกเลิก

    ด้านนาย Angelito Banayo ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมนิลาประจำไต้หวันก็กล่าวว่า นายจ้างไต้หวันหลายรายที่กำลังจะนำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์ ไม่สามารถนำเข้าได้ ส่วนแรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เกรงว่า คำสั่งห้ามการเดินทางชั่วคราวของรัฐบาลของตน จะลดโอกาสการทำงาน ส่งผลให้นายจ้างไต้หวันหันไปนำเข้าแรงงานชาติอื่นแทน

    ที่มา: Radio Taiwan International, 21/2/2020

    Expedia ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ยักษ์ใหญ่ประกาศจะเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก

    Expedia บริษัทบริการการท่องเที่ยวออนไลน์ยักษ์ใหญ่ประกาศจะเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก เพราะผลการดำเนินงานปี 2019 ไม่เป็นไปตามเป้า โดยในปี 2019 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 แต่หากพิจารณาเฉพาะไตรมาสสุดท้าย กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 4 และกำไรต่อหุ้นลดลงร้อยละ 1 บริษัทมีพนักงานทั่วโลก 25,400 คนนับจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2019 การประกาศเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนจะคิดเป็นร้อยละ 12 ของพนักงานทั้งหมด

    ที่มา: scmp.com, 27/2/2020

    แรงงานและบริษัทในญี่ปุ่นอาจมีภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีและประกันสังคมเพิ่มขึ้น

    บรรดาบริษัทและแรงงานในญี่ปุ่นอาจต้องจ่ายภาษีรายได้และประกันสังคมเพิ่มมากขึ้นในปีงบประมาณ 2020 โดยการขึ้นภาษีผู้บริโภคเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นระบุว่า รายได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 44.6 ของบริษัทและแรงงานจะถูกรัฐบาลเรียกเก็บ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.7 จุดจากปีงบประมาณปัจจุบัน

    เจ้าหน้าที่ระบุว่าการขึ้นภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 เมื่อปีที่แล้วได้ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายนี้เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และยังระบุว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้สูงเนื่องจากมีอัตราภาษีรายได้สูงขึ้นมาก

    สัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายนี้เป็นมาตรวัดในการเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับประเทศอื่น ๆ โดยข้อมูลเมื่อปี 2017ชี้ว่าบริษัทและแรงงานในฝรั่งเศสจ่ายให้รัฐบาลร้อยละ 68.2 ของรายได้ ส่วนของเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 54.1 ญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 43.3 และสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 34.5

    ที่มา: NHK, 27/2/2020

    แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไต้หวัน หากไม่ติดเชื้อและไม่เปลี่ยนผ่านเครื่องที่ฮ่องกง นายจ้างให้กักแยกบริเวณ 14 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ

    ผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก โดยมีการระบาดหนักในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว ไต้หวันประกาศห้ามชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊าเดินทางทางเข้าไต้หวันเป็นการชั่วคราว และผู้โดยสารที่เดินทางเข้าไต้หวัน หากเปลี่ยนผ่านเครื่องที่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงหรือมาเก๊า จะต้องถูกกักแยกบริเวณเพื่อสังเกตอาการด้วยตนเองเป็นเวลา 14 วัน แต่มีนายจ้างบางราย บังคับให้แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันในช่วงนี้ ยังไม่ให้เข้าทำงาน โดยให้แยกบริเวณอยู่ในหอพักเพื่อเฝ้าดูอาการด้วยตนเองเป็นเวลา 14 ทั้งที่แรงงานต่างชาติเหล่านี้ เดินทางเข้าไต้หวันโดยเที่ยวบินบินตรง ไม่ได้เปลี่ยนผ่านเครื่องที่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงหรือมาเก๊านั้น

    ที่มา: Radio Taiwan International, 28/2/2020

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    องค์กรต้านโกงขอนแก่น-ผู้กองปูเค็ม แจ้งความ น.ศ.หญิง ชักธงดำ ระบุชาติได้รับความเสียหาย

    $
    0
    0

    องค์กรต้านโกงจ.ขอนแก่นแจ้งความ น.ศ.หญิง ชักธงดำ ระบุชาติได้รับความเสียหาย 'ผู้กองปูเค็ม'จ่อแจ้งความเช่นกัน ด้าน'วัฒนา'ยัน พ.ร.บ.ธงชาติ ไม่มี กม. เอาผิด ชี้ น.ศ.ไว้อาลัยกระบวนการยุติธรรม

    องค์กรต้านโกงจ.ขอนแก่น-ผู้กองปูเค็ม แจ้งความ น.ศ.หญิง ชักธงดำ ระบุชาติได้รับความเสียหาย

    4 มี.ค. 2563 วานนี้ (3 มี.ค.) ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ตุลย์ ประเสริฐศิลป์ และ อภิชัย เพชรสม ในฐานะตัวแทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาจนถึงที่สุดต่อ สิรินทร์ มุ่งเจริญ พร้อมพวก ตามความผิด พ.ร.บ.ธง 2522 มาตรา 53, 54 และ ปอ.มาตรา 118

    ทั้งนี้สืบเนื่องจาก สิรินทร์ มุ่งเจริญ พร้อมพวกได้กระทำการอันเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามธงไตรรงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรไทยและชาติไทย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ชาติไทยได้รับความเสียหายต่อสายตาสื่อมวลชน นานาชาติ และลดเกียรติภูมิศักดิ์ศรีแห่งมาตุภูมิของชาติอย่างร้ายแรง เพราะธงชาติคือสัญลักษณ์อันสำคัญสูงสุด แสดงถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดที่สนามหญ้าเสาธงจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

    ตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่น กล่าวย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าคนไทยทั้งชาติได้รับความเสียหาย เพราะธงชาติเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การที่นักศึกษาหญิงรายนี้กระทำต่อธงชาติเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามเกียรติภูมิของชาติ เป็นเรื่องที่ยอมความไม่ได้ เป็นอาญาแผ่นดิน

    “เราจะติดตามคดีนี้เป็นระยะ จริงๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการเอาผิดนักศึกษารายนี้ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์” นตุลย์กล่าว

    ด้าน พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังรับเรื่องร้องทุกข์จากตัวแทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่นว่า จะดำเนินการตามขั้นตอน เพราะโดยส่วนตัวยังไม่เคยได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวที่มีการแชร์โพสต์ในโลกโซเชียล

     

    ขณะเดียวกันวันนี้ 'ผู้กองปูเค็ม'หรือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล กลุ่มการ์ดชาตินิยม ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กระบุว่า

    "ภารกิจไล่ล่า "แรดดำ"เพื่อปกป้องเกียรติภูมิจุฬาฯ 1300 ยื่นหนังสือถึงอธิการบดีจุฬาฯ 1400 แจ้งความดำเนินคดี ณ สน.ปทุมวัน" 

     

    'วัฒนา'ยัน พ.ร.บ.ธงชาติ ไม่มี กม. เอาผิด ชี้ น.ศ.ไว้อาลัยกระบวนการยุติธรรม

    เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัฒนา เมืองสุข รองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊กแสดงความเห็นกรณีมีข่าวการเตรียมแจ้งความเอาผิดนิสิตหญิงจากจุฬาฯรายหนึ่ง ที่พยายามจะชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาของมหาวิทยาลัย ระหว่างการจัดแฟลชม็อบประท้วงรัฐบาล ก่อนถูก รปภ.เข้าขัดขวาง ต่อมามีการพยายามเอาผิดด้วย พ.ร.บ.ธงชาติ ซึ่งทางกลุ่มผู้จัดชี้แจงว่าการพยายามชักธงดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง 18.00 น .

    ทั้งนี้ วัฒนาระบุว่า ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับธงเฉพาะการใช้ ชัก หรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ธงอื่นของต่างประเทศ และธงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัติธง หรือตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ส่วนธงดำมิได้ถือเป็นธงตามกฎหมายดังกล่าว

    ดังนั้น การที่นิสิตจุฬาท่านหนึ่งพยายามจะชักธงดำขึ้นเสาของจุฬาฯเพื่อแสดงสัญลักษณ์การไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายทุกฝ่ายจึงควรให้ความเคารพ ส่วนจะเป็นความเหมาะสมหรือไม่เป็นเรื่องของดุลพินิจของแต่ละคน

    การที่หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกของนิสิตก็เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ แต่การที่มีบุคคลไปสืบค้นประวัติรวมทั้งกล่าวหานิสิตดังกล่าว ว่ามีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อชาติและขอให้ใช้มาตรการลงทัณฑ์ทางสังคมไม่รับเข้าทำงานต่างหากที่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 326 และมาตรา 309 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

    ทุกฝ่ายควรยอมรับว่าเหตุที่ทำให้นิสิตนักศึกษาต้องมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนนั้น มีอยู่จริง การเรียกร้องของนิสิตและนักศึกษาถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยและประโยชน์ต่อบ้านเมือง หากไม่ต้องการเห็นการชุมนุมเรียกร้องฝ่ายที่มีอำนาจก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน ทำบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แค่นี้บ้านเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ ปัญหาคือทำไมต้องให้เด็กออกมาเรียกร้อง

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ม.ราม 2 แฟลชม็อบเย็นนี้ พร้อม #ชาวประเวศเนรเทศเผด็จการ

    $
    0
    0

    4 มี.ค. 2563 วันนี้ มติชนออนไลน์รายงานว่า มีการเชิญชวนร่วมกิจกรรม ‘ชาวประเวชสมเพชประยุทธ์’ บริเวณลานหน้าเสาธง มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตประเวศ วิทยาเขตบางนา หรือ รามคำแหง 2 เวลา 17.00 น.

    โดยจะจัดเป็นแฟลชม็อบต่อต้านเผด็จการ พร้อมติดแฮชแท็ก #ชาวประเวศเนรเทศเผด็จการ นอกจากนี้ผู้จัดยังระบุว่า ขนมหวานราดกะทิไม่เป็นที่นิยมแถวนี้ แต่หอยทอดอร่อย ไม่ต้องไปกินไกลถึงออสเตรเลียอีกด้วย

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    เครือข่ายแรงงานจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานก่อนสหรัฐฯจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษี กระทบส่งออก

    $
    0
    0

    เครือข่ายแรงงานยื่นหนังสือถึง 'ประยุทธ์'ให้รัฐบาลประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ แก้ กม.แรงงานให้สอดคล้อง เร่งแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐฯประกาศระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเริ่ม 25 เม.ย. นี้ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าเรื่องแก้ปัญหาสิทธิแรงงานตามหลักสากล ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเสียภาษีเพิ่มสูงถึง 1,800 ล้านบาท

    4 มี.ค. 2563 วานนี้ (3 มี.ค.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องสหรัฐอเมริกาได้ลงนามหนังสือถึงรัฐบาลไทย ระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย จำนวน 573 รายการ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลโดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่จะถึงนี้

    โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ระบุในหนังสือว่า กรมการค้าต่างประเทศ ประเทศไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าต่อการระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP ดังกล่าว ทำให้สินค้าไทยต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1,800 ล้านบาท การเสียภาษีที่สูงขึ้น มีผลกระทบทำให้ต้นทุนการส่งออกของสินค้าไทยมีค่าสูงขึ้น ย่อมกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันการขายสินค้าไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกระทบต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของสินค้าไทยจำนวน 573 รายการดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ในหนังสือยังระบุว่า ประเทศไทยมีปัญหาแรงงานที่สะสมมานาน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุจากการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สิทธิแรงงานถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิในการนัดหยุดงาน อันเป็นเครื่องมือสำหรับคนงานในการเจรจาต่อรองร่วม ตัวอย่างเช่น

    1) ผู้นำ 7 คนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ยังคงต้องถูกหักเงินเดือนเพื่อจ่ายค่าปรับจำนวน 24 ล้านบาทและผู้นำจำนวน ๑๓คนถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
    อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ด้านแรงงานเรียกร้องมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2552

    2) ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดในศาลฎีกาคดีแรงงาน และให้จ่ายค่าเสียหายจำนวนเงิน 3,479,793 บาท อันเกิดจากการชุมนุมที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2560

    3) สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย) ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์จนเกือบจะหมดหายไปจากสถานประกอบการ หลังจากที่คนงานต้องยอมจำนนต่อกลยุทธ์ทำลายสหภาพแรงงานที่รุนแรง (รวมทั้งการบังคับให้กรรมการสหภาพแรงงานที่เหลืออยู่เข้าร่วมฝึกแบบทหารและให้คนงานลงนามเอกสารข้อตกลงแต่ละคนไม่ให้มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานอีกต่อไป แนวปฏิบัตินี้กำลังจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับใช้ในการกำจัดสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่อื่นๆ ต่อไป 

    ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังมีให้พบเห็นมากมายและเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์เลิกจ้างในปัจจุบันที่มีการเอาเปรียบคนงาน ไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายกรณีตัวอย่างการละเมิดสิทธิแรงงาน (เพิ่มเติม) มีดังนี้

    (1) กรณีลูกจ้าง ทีอาร์ดับเบิลยู สเตียริงแอนด์ซัสเพนซัน
    (2) กรณีลูกจ้าง เทคโนพลาส
    (3) กรณีลูกจ้าง นากาชิมา รับเบอร์ 
    (4) กรณีลูกจ้าง ยัมเรสเทอรอง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) 
    (5) กรณีลูกจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย
    (6) กรณีลูกจ้าง การบินไทย
    (7) กรณีลูกจ้าง ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) 
    (8) กรณีลูกจ้าง อิตะ เซอิมิตสึ
    (9) กรณีลูกจ้าง อิเล็กโทรลักซ์
    (10) กรณีลูกจ้างมิตซูบิชิอิเลคทริคคอนซูมเมอร์
    (11) กรณีลูกจ้าง มอลเท็นเอเชียโพลิเมอร์โปรดักส์
    (12) กรณีลูกจ้าง พงษ์พารา

    คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนี้

    1. ขอให้รัฐบาลประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 และเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ให้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับโดยเร็ว

    2. เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดกับกรรมการของสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย)

    3. เร่งแก้ไขสถานการณ์การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เกิดขึ้นกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

    "ขอเรียกร้องให้ท่านและคณะรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว ตามข้อเสนอ ทั้ง 3 ข้อข้างต้น โดยยึดหลักการมาตรฐานแรงงานระดับสากล เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีสภาพการจ้างงานที่ดี อันจะส่งผลให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาทบทวนการระงับการให้สิทธิพิเศษ GPS คืนให้กับประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานอย่างเข้มข้นเพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work) อันเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้มีความยั่งยืนและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยดี เฉกเช่นหลายกรณีก่อนหน้า"หนังสือระบุ
     

     

    ๓มีนาคม ๒๕๖๓
    เรื่อง    การประกาศระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) กับสินค้าไทย
    กราบเรียน   นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
    อ้างถึง    หนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ลงนามโดยองค์กรด้านแรงงานในระดับสากล ๓ องค์กร คือ ITUC (International Trade Union Confederation), ETUC (European Trade Union Confederation)
    ,IndustriALL Global Union และITF (International Transportation Federation) ลงวันที่๒๗พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิแรงงานให้ดีขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะนำไปสู่ในการแก้ไขการระงับการให้สิทธิพิเศษGSPต่อไป

    ตามที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR: US. Trade Representative) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ว่า สหรัฐอเมริกาได้ลงนามหนังสือถึงรัฐบาลไทย ระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย จำนวน ๕๗๓ รายการ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลโดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓ ที่จะถึงนี้ ในชั้นต้น กรมการค้าต่างประเทศ ประเทศไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าต่อ
    การระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP ดังกล่าว ทำให้สินค้าไทยต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง ๑,๘๐๐ ล้านบาท 
    การเสียภาษีที่สูงขึ้น มีผลกระทบทำให้ต้นทุนการส่งออกของสินค้าไทยมีค่าสูงขึ้น ย่อมกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันการขายสินค้าไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกระทบต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของสินค้าไทยจำนวน ๕๗๓ รายการดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    สำหรับประเด็นที่เป็นเหตุผลในการระงับใช้สิทธิพิเศษ GSP คือข้ออ้างที่ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านแรงงาน ที่เกิดจากการรวมตัวของสหภาพแรงงานในภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจ ตามลำดับขอกราบเรียนให้ท่านทราบว่าประเทศไทยมีปัญหาแรงงานที่สะสมมานาน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุจากการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สิทธิแรงงานถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิในการนัดหยุดงานอันเป็นเครื่องมือสำหรับคนงานในการเจรจาต่อรองร่วม ตัวอย่างเช่น

    ๑) ผู้นำ๗คนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ยังคงต้องถูกหักเงินเดือนเพื่อจ่ายค่าปรับจำนวน ๒๔ล้านบาทและผู้นำจำนวน ๑๓คนถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
    อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ด้านแรงงานเรียกร้องมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒
    ๒) ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน ๔คนถูกตัดสินว่ามีความผิดในศาลฎีกาคดีแรงงาน และให้จ่ายค่าเสียหายจำนวนเงิน ๓,๔๗๙,๗๙๓บาท อันเกิดจากการชุมนุมที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖
    ๓) สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย) ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์จนเกือบจะหมดหายไปจากสถานประกอบการ หลังจากที่คนงานต้องยอมจำนนต่อกลยุทธ์ทำลายสหภาพแรงงานที่รุนแรง (รวมทั้งการบังคับ
    ให้กรรมการสหภาพแรงงานที่เหลืออยู่เข้าร่วมฝึกแบบทหารและให้คนงานลงนามเอกสารข้อตกลงแต่ละคนไม่ให้มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานอีกต่อไป แนวปฏิบัตินี้กำลังจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับใช้ในการกำจัดสหภาพแรงงาน
    ในสถานประกอบการที่อื่นๆ ต่อไป 

    ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังมีให้พบเห็นมากมายและเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์เลิกจ้างในปัจจุบันที่มีการเอาเปรียบคนงาน ไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายกรณีตัวอย่างการละเมิดสิทธิแรงงาน (เพิ่มเติม) มีดังนี้
    (๑)    กรณีลูกจ้าง ทีอาร์ดับเบิลยู สเตียริงแอนด์ซัสเพนซัน
    (๒)    กรณีลูกจ้าง เทคโนพลาส
    (๓)    กรณีลูกจ้าง นากาชิมา รับเบอร์ 
    (๔)    กรณีลูกจ้าง ยัมเรสเทอรอง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) 
    (๕)    กรณีลูกจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย
    (๖)    กรณีลูกจ้าง การบินไทย
    (๗)    กรณีลูกจ้าง ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) 
    (๘)    กรณีลูกจ้าง อิตะ เซอิมิตสึ
    (๙)    กรณีลูกจ้าง อิเล็กโทรลักซ์
    (๑๐)    กรณีลูกจ้างมิตซูบิชิอิเลคทริคคอนซูมเมอร์
    (๑๑)     กรณีลูกจ้าง มอลเท็นเอเชียโพลิเมอร์โปรดักส์
    (๑๒)     กรณีลูกจ้าง พงษ์พารา

    การละเมิดสิทธิของแรงงานนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนจำนวน ๑๔ฉบับต่อคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (ILO CFA) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้เคยให้ความเห็นในรายงานฉบับที่ ๓๘๙ (๒๒มิถุนายน ๒๕๖๒) ว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓และการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ ๘๗และ ๙๘นั้นล่าช้ามาเป็นระยะเวลานานแม้จะมีการตรวจสอบครั้งแรกของคณะกรรมการILO CFA และให้คำแนะนำในเรื่องนี้ตั้งแต่

    ปี พ.ศ.๒๕๓๔ ร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในเรื่องเสรีภาพในการสมาคมสิทธิ
    ในการจัดตั้งองค์กรของแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการนัดหยุดงาน ในร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓แม้ว่ารัฐบาลจะรายงานผลการแก้ไข ตามรายงานฉบับที่ ๓๘๙ ว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีสิทธิที่จะนัดหยุดงานได้ แต่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ นั้น 
    ยังคงกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดต่อความสามารถของแรงงาน และสหภาพแรงงาน รวมทั้งผู้นำของพวกเขาที่จะรวมตัวนัดหยุดงาน และยังกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจอย่างมากที่จะสั่งยุติการนัดหยุดงานเพื่อประโยชน์ของ "เศรษฐกิจ"หรือ "ความสงบเรียบร้อย"

    ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)
    จึงขอเรียกร้องให้ท่านและคณะรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนี้
    ๑.    ขอให้รัฐบาลประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ ๘๗และ ๙๘และ
    เร่งแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ 
    ให้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับโดยเร็ว
    ๒.    เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดกับกรรมการของสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย)
    ๓.    เร่งแก้ไขสถานการณ์การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เกิดขึ้นกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

    คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)พร้อมด้วยการสนับสนุนขององค์กรด้านแรงงานในระดับสากล ตามที่อ้างถึง ขอเรียกร้องให้ท่านและคณะรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว ตามข้อเสนอ ทั้ง ๓ ข้อข้างต้น โดยยึดหลักการมาตรฐานแรงงานระดับสากล เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีสภาพการจ้างงานที่ดี อันจะส่งผลให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาทบทวนการระงับการให้สิทธิพิเศษ GPS คืนให้กับประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานอย่างเข้มข้นเพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work) อันเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้มีความยั่งยืนและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยดี 
    เฉกเช่นหลายกรณีก่อนหน้า

    ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

    นายสมพร ขวัญเนตร 
    ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)

    นายสาวิทย์ แก้วหวาน
    เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
       
       

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    เชียงใหม่-ขอนแก่น แฟลชม็อบอีกระลอก รวมพลคนไม่ทนเผด็จการ RAD ร่วมแสดงที่ มข.

    $
    0
    0

    ม.เชียงใหม่ชวนร่วมแฟลชม็อบวันศุกร์นี้ 6 มี.ค. ร่วมติดแฮชแท็ก #ลูกช้างไม่ทนขอชนเผด็จการ #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง #มหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน #ช้างเผือกจะไม่ทน ส่วน ม.ขอนแก่นชวนร่วมแฟลชม็อบ 14 มี.ค.นี้ พร้อมติดแฮชแท็ก #มขพอกันที #ขอนแก่นพอกันที

    4 มี.ค. 2563 วันนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้โพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบ ในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. นี้ เวลา 17.00 น. ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยระบุว่า "ขอเชิญ นักเรียน นิสิต นักศึกษา พี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่รักในประชาธิปไตย ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน รักความเป็นธรรม มาร่วมแสดงพลังพร้อมกันอีกครั้งในสะเทือนถึงรัฐบาลเลือกตั้งอำพราง รัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์! มาเถิดทุกท่าน มาพบกัน วันศุกร์ ที่ 6 มีนาคม นี้ เวลา 17.00 น. ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"พร้อมติด 3 แฮชแท็ก #ลูกช้างไม่ทนขอชนเผด็จการ #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง #มหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน #ช้างเผือกจะไม่ทน 

     

    วันเดียวกันเฟสบุ๊คแฟนเพจ ดาวดิน สามัญชน ได้โพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบ #ขอนแก่นพอกันที ครั้งที่ 2 วันที่ 14 มี.ค. นี้ เวลา 17.30 น. ณ ณ บึงสีฐาน(ฝั่งหอศิลป์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งพบศิลปินรับเชิญ Rap Against Dictatorship และระบุว่า นัดรวมพลครั้งที่ 2 เพื่อแสดงพลังของพวกเราอีกครั้ง เสียงทุกเสียงของพวกเรา ต้องดังถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน พร้อมติดแฮชแท็ก #มขพอกันที #ขอนแก่นพอกันที

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ม.วลัยลักษณ์ลุยต่อ ซ้อมปราศรัยใหญ่วันนี้ จี้ประยุทธ์ต้องลาออก

    $
    0
    0

    นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซ้อมปราศรัยใหญ่วันนี้ พร้อมออกแถลงการณ์จี้ประยุทธ์และรัฐมนตรีต้องลาออก ยกเลิกระบอบประยุทธ์

    4 มี.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊คแฟนเพจ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โพสต์ข้อความเชิญชวนนักศึกษา ร่วมกิจกรรม ‘ซ้อมปราศรัยใหญ่’  #Doyouhearthepeoplesing #เราอยากมีชีวิตดีๆที่นี่ ในวันนี้ เวลา 17.00 น. บริเวณลานไทรข้างโรงอาหารกิจกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถนำกระดาษ ข้อความ มาระบายความในใจของตนเองได้ และสามารถขึ้นปราศรัยได้อย่างเสรี เพื่อยืนยันว่าเสียงของตนเองมีค่าเสมอ นอกจากนี้ทีมผู้จัดงานยังเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย เอาไว้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่ง และเชิญชวนให้สวมหน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือมาในงานด้วย

     

    ทั้งนี้ เพจสหภาพนักศึกษา ศูนย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังโพสต์แถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกระบอบประยุทธ์ โดยมีใจความดังนี้

    วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่นำไปสู่การตื่นตัวของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อทวงคืนอนาคตของตนเองนั้น เริ่มจากรัฐประหารในปี 2557 และแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มุ่งเน้นบั่นทอนอำนาจตัวแทนประชาชนจากการเลือกตั้งและวางกลไกอันซับซ้อนเพื่อสืบทอดอำนาจ รวมทั้งยังวางกลไกและตัวบุคคลในองค์กรต่างๆ ไว้สนับสนุนตนเองและทำลายคู่ปรับทางการเมือง ดังปรากฎให้เห็นชัดว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา และส่งให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้น เป็นเพียงการฟอกขาวให้กับเผด็จการทหารเท่านั้น

    กว่า 5 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้สะท้อนถึงความไร้ความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาลในทุกด้าน ทำลายระบบการเมือง สร้างความถดถอยทางเศรษฐกิจ ขาดความโปร่งใส เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังในหมู่ประชาชน และไร้ซึ่งหนทางที่จะแก้ไขได้ภายใต้ระบบการเมืองและรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อออกจากสภาพดังกล่าวและเรียกคืนอนาคตของเรากลับมา สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย ศูนย์ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีข้อเรียกร้อง ต่อ่ไปนี้

    1. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชนชนเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ สสร. ชุดใหม่จะต้องเป็นผู้ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารมาก่อน

    2. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยุติบทบาททางการเมืองโดยทันที

    3. ยกเลิกและยุติบทบาทขององค์กรอิสระ หน่วยงาน และบุคคล ทั้งหมด ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมีที่มาจากรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. ลากตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบสนองต่อที่มาของพวกเขา มากกว่าประชาชนผู้เสียภาษี

    4. คณะรัฐประหารและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ทหารต้องยุติบทบาททางการเมืองและกลับเข้าสู่กรมกองโดยทันที

    เรายืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวบุคคล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนและทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” ขึ้นมา ดังนั้นการแก้ไขปัญหา จึงไม่ใช่เพียงการเอาตัวบุคคลออกไปอย่างเดียว แต่คือการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ

    เชื่อมั่นในพลัง นิสิตนักศึกษา คนหนุ่มสาว

    สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย

    ศูนย์ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

    4 มีนาคม 2563

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแจก F รัฐบาลสอบตกด้านการปกป้องสิทธิสตรี

    $
    0
    0

    ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย แจก F รัฐบาลไทย สอบตกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง ชี้ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ ตามข้อเสนอแนะสหประชาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกข่มขู่ คุกคาม เข้าไม่ถึงกระบวนยุติธรรม ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางเสี่ยงถูกเลือกปฏิบัติ ล้มเหลวแก้ปัญหาความยากจน ฯลฯ ด้าน “ฅนรักษ์บ้านเกิด” เมืองเลย เผยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 25 ราย จากทั้งหมด 440 คดี จี้ปรับปรุงกองทุนยุติธรรมให้เข้าถึงง่าย

    เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย แถลงข่าวและมอบเกรด F ให้กับรัฐบาลไทย ล้มเหลวปกป้องสิทธิ 6 ด้าน และให้เกรด D- ปฏิบัติได้น้อยมากต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง 2 ด้าน คือ กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี โดยการแถลงข่าว “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” จัดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ FCCT เมื่อ 4 มี.ค.

     

    4 มี.ค. 2563 - ในโอกาส 103 ปีวันสตรีสากล “8 มีนาคม” โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  หรือ PI ภายใต้การสนับสนุนของโครงการกองทุนแคนาดาเพื่อความริเริ่มท้องถิ่น (CFLI) โดยสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง เนื่องในวันครบรอบ 103 ปีวันสตรีสากล โดยเปิดตัวรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

    ทั้งนี้อนุสัญญา CEDAW เป็นกลไกการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและสนับสนุนความเสมอภาค ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้รัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

    ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่คณะกรรมการ CEDAW ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลไทย ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้มีผลผูกพันทางกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ที่รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงต่อคณะกรรมการ CEDAW ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

    เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ จึงได้ร่วมกันประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนธันวาคม2562 ว่ารัฐไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW มากน้อยแค่ไหนอย่างไรในรูปแบบของการจัดเกรดให้คะแนน ผ่านรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW  “เหมือนการสอบมิดเทอม” ปรานมเปรียบเทียบ “ก่อนที่คณะกรรมการ CEDAW จะมีการประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยต่ออนุสัญญา CEDAW ในรอบที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในประเทศไทย

    สำหรับการให้คะแนนแบ่งออกเป็น 5 เกรด คือ เกรด A คือปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อเสนอของ คณะกรรมการ CEDAW อย่างน่าพึงพอใจ เกรด B มีการปฏิบัติตามพอสมควร เกรด C มีการปฏิบัติบ้างแต่ยังคงต้องปรับปรุง เกรด D มีการปฏิบัติบ้างแต่ถือว่าน้อยมากต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง และเกรด F ไม่มีการปฏิบัติใดใดจากรัฐบาลหรือมีการปฏิบัติในแบบที่ตรงกันข้ามกับอนุสัญญาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW

    โดยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่ายให้เกรดตามข้อเสนอ 8 ประเด็นของคณะกรรมการ CEDAW  ที่ให้ไว้แก่รัฐบาลไทย ประกอบด้วย 

    1. กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ได้ D-
    2. การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา ได้ F
    3. ประสิทธิภาพและความเป็นอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ F
    4. ผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคง ได้ F
    5. ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ F 
    6. ผู้หญิงชนบท ได้ F
    7. การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี ได้ D- 
    และ 8. ความยากจน ได้ F

    โดยมี น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  น.ส.ชูศรี โอฬาร์กิจ ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้   น.ส. อลิสา บินดุส๊ะ   กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย และ น.ส.ภัทราภรณ์ แก่งจำปา ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย เป็นตัวแทนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย เข้าร่วมเสนอรายงานในครั้งนี้

    พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศยังซับซ้อน พบผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้เข้าไม่ถึง

    อลิสา บินดุส๊ะกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่อง "กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย"ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายระบุในรายงานว่า คณะกรรมการ CEDAW มีการเสนอให้รัฐบาล แก้ไขมาตรา 17 (2) ของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศฯ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและศาสนา และการสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนที่ เป็นผู้หญิงที่ทำงานบริหาร ผู้หญิงชาติพันธุ์ และผู้หญิงผู้ลี้ภัย รวมทั้งผู้หญิงที่อาศัยในพื้นที่ภายใต้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

    อลิสา กล่าวด้วยว่า ในส่วนความก้าวหน้า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศแห่งชาติ ดังนั้นผลประเมินจึงได้เกรด D-

    แนะคุ้มครองผู้หญิงชายแดนใต้ หยุด จนท.เก็บดีเอ็นเอ

    อลิสา กล่าวว่าในประเด็นการเก็บตรวจดีเอ็นเอในสามจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลยังไม่มีปฏิบัติการใดๆ ที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะในด้านนี้ ทั้งยังมีการปฏบัติในทางตรงกันข้ามของอนุสัญญาข้อเสนอแนะของ CEDAW เด็กและผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ล้วนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความขัดแย้ง รวมถึงมีการเก็บดีเอ็นเอจากเจ้าหน้าที่โดยที่ไม่มีหลักการที่ชัดเจนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลการประเมินในด้าน “ผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคง” ข้อนี้จึงเป็น F

    ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพียง 25 เข้าถึงกองทุนยุติธรรม เรียกร้องปรับปรุงให้เข้าถึงได้ง่าย

    ภัทราภรณ์ แก่งจำปา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย

    ภัทราภรณ์ แก่งจำปาตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กล่าวถึงการประเมินในด้าน “การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา” เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีการปฏิบัติการใดๆ จากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตีตราทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งยับยั้งผู้หญิงและเด็กให้แจ้งความดำเนินคดี โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงทางเพศ

    อีกทั้งทัศนคติทางลบของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายต่อผู้หญิงที่ร้องเรียนการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทำให้การแจ้งความและการสอบสวนไม่ประสบความสำเร็จ

    ดังนั้นรัฐควรที่จะลดความซับซ้อนของกระบวนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และสร้างหลักประกันว่ากองทุนจะเป็นประโยชน์ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้

    ภัทราพร กล่าวต่อว่าข้อเสนอที่ทาง CEDAW เสนอแนะมานั้น “ไม่มีข้อไหนที่รัฐบาลทำตามได้เลย กลับกลายเป็นว่าการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมีอุปสรรคและยากขึ้นไปอีก” ภัทราพรกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาระหว่างปี 2557-2562 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนเพียง 25 รายจาก440 รายที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ดังนั้นผลประเมินของรัฐบาลในด้านนี้คือ F 

    เรียกร้องรัฐหยุดใช้กฎหมายคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ห่วงสถิติฟ้องร้องพุ่งต่อเนื่อง

    ส่วนการประเมินด้าน “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ภัทราพรกล่าวว่ารัฐบาลก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และยังคงมีการดำเนินคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 179 คน ถูกดำเนินคดี รวมถึงปี 2557 ก็มีการฟ้องร้องคดีผู้หญิงจากชุมชน 440 คน ทั้งที่คณะกรรมการ CEDAW ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยยุติการกลั่นแกล้งด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

    และปี 2560 ที่ผ่านมา ก็ไม่พบว่ารัฐบาลจะสามารถนำผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนอกระบบและการบังคับให้สูญหายมาลงโทษได้แม้แต่คดีเดียว ผลประเมินจึงได้ F

    ผู้หญิงในชนบท ไร้สิทธิ-ไร้เสียงในนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง  ถูกจำกัดสิทธิในที่ดิน-ทรัพยากรธรรมชาติ

    ชูศรี โอฬารกิจ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

    ส่วนการประเมินในด้าน “ผู้หญิงชนบท” ชูศรี โอฬาร์กิจผู้แทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จากชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในชนบทยังขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน ถูกกีดกันจากกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเอง และยังต้องเผชิญกับการถูกจำกัดสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีการนำที่ดินไปใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ในการทำเมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
    “ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาไม่มีมาตรการพิเศษชั่วคราวใดๆ ที่จะบังคับใช้ และไม่มีการลงทุนในโครงการที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าแต่อย่างใด ในขณะที่งบประมาณด้านการทหารและความมั่นคงสูงถึงร้อยละ 11.5”

    “นอกจากนี้ยังพบว่าการจ้างงานในกลุ่มผู้หญิงลี้ภัยเป็นแสนคน ยังกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติยังคงประสบกับการแสวงหาประโยชน์และการเลือกปฏิบัติ ผู้หญิงชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญยังพบว่าในส่วนของนโยบายทวงคืนพื้นป่า จำนวนกว่า 500 คดีมีประมาณเพียง 10 คดีเท่านั้น ที่ดำเนินคดีต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เหลือเป็นการดำเนินคดีต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซ้ำร้ายถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน รัฐบาลกลับให้ที่ดินในป่าสงวน ให้กับบรรษัทขนาดใหญ่ไปจัดสรรเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ส่วนนี้จึงประเมินให้เกรด F แก่รัฐบาล

    สังคมเหลื่อมล้ำสูง รัฐสอบตกแก้ปัญหาความยากจน

    ในการประเมินด้าน “ความยากจน” ชูศรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบการขจัดความยากจนให้เป็นการกุศล มากกว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ แม้จะเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน ทว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มใช้บัตรคนจนกับผู้มีรายได้น้อย แต่สวัสดิการดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของการจับจ่ายในร้านบางร้านและจำกัดอยู่เฉพาะสินค้าบางชนิด โดยได้เพียง 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น

    นอกจากนี้สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเงินช่วยเหลือเด็กต่ำกว่าหกขวบ ยังไม่เพียงพอ อัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยผู้หญิงซึ่งมีภาระและความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูครอบครัวได้รับผลกระทบมากขึ้น ปลายปี 2562 โรงงานกว่า 200 แห่งถูกปิดตัวลง ทำให้คนงานผู้หญิงจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันผู้หญิงหลายพันคนและครอบครัวจากชุมชนคนจนเมืองยังเผชิญกับการถูกไล่ หรือโดยไม่มีการเสนอทางเลือกที่มีมาตรฐานเพียงพอหรือการชดเชยใดๆ การประเมิน “ด้านความยากจน” จึงให้ F

    จี้กระทรวง พม.เปิดทาง ผู้หญิงบริการมีส่วนร่วมร่าง พ.ร.บ.ค้าประเวณี

    ปรานม สมวงศ์องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงการประเมินด้าน “การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี” ว่า ขณะที่การประเมินการทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีตามข้อเสนอของคณะกรรมการ CEDAW ว่า พบว่ารัฐบาลมีการปฏิบัติตามข้อเสนอบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก โดยในปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กำลังทบทวน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แต่กลับไม่มีช่องทางให้ผู้หญิงที่ทำงานบริการหรือองค์กรที่ทำงานเข้าไปมีส่วนร่วม

    โดยเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่ายเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยยกเลิกความผิดทางอาญาต่อผู้หญิงในการค้าประเวณี พร้อมลงโทษบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากผู้หญิงในการค้าประเวณี รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ควรยุติมาตรการบุกเข้าจับกุมในสถานบันเทิงด้วยความรุนแรง การล่อซื้อ การบังคับ ข่มขู่ รีดไถ และจัดให้มีความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และการกลับคืนสู่สังคมให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกแสวงประโยชน์ในการค้าประเวณี อีกทั้งต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและจัดสวัสดิการทางสังคมอย่างครบถ้วนในงานภาคบริการ

    “ที่น่าตกใจได้ยินเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยพูดว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตามที่ CEDAW บอก งานบริการยังคงถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ตั้งแต่ปี 2560 มีผู้หญิงกว่า 5 หมื่นคนที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี จำนวนนี้มีผู้หญิง 105 คนที่ถูกล่อซื้อที่ร้านอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเคร็ต ในปี 2561 ทั้งที่คณะกรรมการ CEDAW มีข้อเสนออย่างชัดเจนให้ยุติการบุกจับล่อซื้อ และกลับกลายเป็นว่าตำรวจสนับสนุนให้เอ็นจีโอทำงานล่อซื้อแทน แนวทางเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ไปอีก 3 เดือน จนกว่าเอ็นจีโอจะดำเนินการดังกล่าวเสร็จ”

    ตั้งคำถามกรรมการสิทธิฯ ปกป้องรัฐมากกว่าประชาชน กฎหมายออกแบบให้กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส

    ส่วนการประเมินด้าน “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”ปรานมกล่าวว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่า ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ จากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามที่คณะกรรมการ CEDAW เสนอแนะเช่นกัน โดยเฉพาะความไม่ชัดเจน ความไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกสม. ซึ่ง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 (พ.ร.ป. กสม.) ขัดต่อหลักการปารีส มีการให้อำนาจประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองเป็นผู้แต่งตั้ง กสม.ชั่วคราว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีปัญหาแต่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด

    “ปี 2561 สนช.ได้แต่งตั้งข้าราชการที่เกษียณแล้ว 2 คนมาเป็นกสม.โดยตัดโอกาสผู้สมัครอื่นๆที่มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าอย่างชัดเจน ในปี 2562 กสม.ที่มีบทบาทโดดเด่นในการทำงานสองคนคือเตือนใจ ดีเทศน์ และอังคณา นีละไพจิตร ลาออกจาก กสม. ซึ่งที่ผ่านมา กสม.เคยเป็นสถาบันอิสระที่ครั้งหนึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือ เพื่อหนุนเสริมการต่อสู้ของชุมชน แต่ตอนนี้รู้สึกเหมือนประตูสู่กระบวนการยุติธรรมและกลไกการเยียวยาได้ปิดลงแล้ว นอกจากนี้กระบวนการในการตรวจสอบภายใต้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ทำให้กสม.มีอำนาจปกป้องรัฐบาลแทนที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้การประเมินจึงได้เกรด F”

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    กระทรวงแรงงานแจงแผนกักตัว 'ผีน้อย'เดินทางกลับไทย 'ประยุทธ์'ลั่น "นึกอะไรไม่ออกก็บอกทหาร ไม่ต้องกลัว"

    $
    0
    0

    กระทรวงแรงงานแจงมาตรการคัดกรองแรงงานไทยในเกาหลีเฝ้าระวังอาการ-คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง-กักตัว 14 วัน ผลสำรวจเผยเพียงร้อยละ 23 ของคนไทยในเกาหลีต้องการกลับประเทศ ประยุทธ์ ระบุกำลังเตรียมเรื่องกักตัว "นึกอะไรไม่ออกก็บอกทหาร ไม่ต้องกลัว"

    มาตรการคัดกรองแรงงานไทยในเกาหลีเฝ้าระวังอาการ-คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง-กักตัว 14 วัน

    วันที่ 4 มีนาคม ทำเนียบรัฐบาล สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยภายหลังร่วมกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประชุมเตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ได้มีข้อสั่งการให้ติดตามและดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 และประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จะเร่งหารือเพื่อจัดเตรียมมาตรการที่เหมาะสมอย่างเข้มข้นต่อไป

    "สำหรับมาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เดินทางจากเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ ให้เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของ สธ. แต่หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จะจัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด 14 วัน 2.กลุ่มที่เดินทางจากเมืองอื่นๆในเกาหลีใต้ มีมาตรการคือ เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของ สธ. หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคท้องถิ่น 14 วัน"อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

     

    ผลสำรวจเผยเพียงร้อยละ 23 ของคนไทยในเกาหลีต้องการกลับประเทศ

    อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากข้อมูลในระบบศูนย์ทะเบียนคนหางาน มีจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 จำนวน 22,257 คน สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในสาธารณรัฐเกาหลีจากข้อมูล KCDC ณ วันที่ 4 มีนาคม 2563 มีจำนวน 5,328 คน ซึ่งยังไม่พบว่ามีแรงงานไทยเป็นผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดี มีแรงงานไทยที่รายงานตัวกลับประเทศ กับทาง ตม.เกาหลี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง วันที่ 1 มีนาคม 2563 จำนวน 4,727 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วก่อนที่สาธารณรัฐเกาหลีจะมีการประกาศสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยปัจจุบันมีผู้รายงานตัว ที่อยู่ระหว่างรอ ตม. พิจารณาประวัติและรอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 1,181 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลเฟซบุ๊ก ชุมชนคนไทยในเกาหลีใต้ ThaikukKR สำรวจความเห็นคนไทยในเกาหลีเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยช่วงไวรัสระบาด พบว่า ร้อยละ 77 ไม่กลับ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 23 ต้องการกลับประเทศไทย

     

    ประยุทธ์ ระบุกำลังเตรียมเรื่องกักตัว "นึกอะไรไม่ออกก็บอกทหาร ไม่ต้องกลัว"

    เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 4 มีนาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) แถลงหลังเป็นประธานการประชุมวาระเร่งด่วน เรื่องมาตรการรองรับแรงงานไทยเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ถึงแนวโน้มพื้นที่กักกันจะเป็นโรงพยาบาลหรือพื้นที่ทหาร ว่า กำลังเตรียมการอยู่ ท้ายที่สุด นึกอะไรไม่ออกก็บอกทหาร ไม่ต้องกลัว

    เมื่อถามว่า ศูนย์ที่จะตั้งขึ้นในทำเนียบรัฐบาล ตามโครงสร้างใครเป็นประธาน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ศูนย์สั่งการนี้ตนเป็นประธานเอง การชี้แจงจะเป็นเรื่องนโยบายการสั่งการและติดตามความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 และสั่งการไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายช่องทาง รวมทั้งช่องทางโทรศัพท์ด้วย เป็นการยกระดับขึ้นมาเท่านั้น ขณะที่ สธ.ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรคติดต่อร้ายแรงอยู่แล้ว ค่อนข้างจะครอบคลุม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็เตรียมการไปสู่หากมากกว่านี้จะต้องมีกฎหมายอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ขอให้เข้าใจทำอะไรก็ตามต้องอาศัยข้อกฎหมายทั้งสิ้น แต่ตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง

    "การเข้ามาประเทศไทยก็คงไม่ได้เข้ามาที่เดียว 4-5 พันคนหรอก คงทยอยเข้ามาแหละ เพราะต้องผ่านมาตรการควบคุมของเกาหลีด้วย ผ่านมาตรการควบคุมของสายการบินด้วย เมื่อมาแล้วก็มาคัดกรองที่เราอีกครั้งหนึ่ง "

    “ขอให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองให้ปลอดภัย ซึ่งมีหลายปัญหามาอยู่กับเรา ฉะนั้นไม่อยากให้เอาอะไรหลายๆอย่างมาพันกันไปมา แยกเรื่องกันหน่อยแล้วกัน เรื่องใดเป็นเรื่องใดก็ว่าไป เรื่องของประชาชนก็ต้องช่วยรัฐบาล การแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีแนวนโยบายจะปรับงบประมาณบางส่วน เพื่อให้มีเงินมาดูแลในเรื่องเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นงบประมาณเราจำกัด แผนงานโครงการบางอันที่ยังไม่มีความพร้อมต้องระงับไปก่อน เพื่อมีเม็ดเงินมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการดูแลเรื่องเศรษฐกิจให้ถึงระดับล่างให้ได้เป็นกลุ่มไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

     

    เตรียมค่ายทหารเป็นพื้นที่กักตัวผีน้อย

    วันที่ 4 มีนาคม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพ ได้เตรียมการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในมาตรการรองรับแรงงานไทย ที่กำลังจะเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ โดยได้นำพื้นที่พักทหาร จัดเตรียมเป็นพื้นที่ควบคุมโรคในพื้นที่ต่างๆของภูมิภาค สนับสนุนในการกักตัวและติดตามเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจากเมืองที่มีการแพร่ระบาด

    ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลทหารและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ สนับสนุนการดูแลผู้ติดเชื้อขั้นต้น พร้อมทั้งจัดชุดแพทย์ทหาร สนับสนุนการคัดกรองในพื้นที่ด่านชายแดน โดยจะคงความเข้มการทำงานร่วมกับ สธ.และส่วนราชการอื่นๆในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด

     

    อ้างอิง:มติชน, มติชน, เนชั่นทีวี, เวิร์คพอยท์

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ตร.ปรับผู้จัดแฟลซม็อบ #เชียงรายไม่เอาเผด็จการ เหตุใช้เครื่องเสียง แม้แจ้งชุมนุมแล้ว

    $
    0
    0

    ตำรวจปรับผู้แจ้งการชุมนุมแฟลซม๊อบ #เชียงรายไม่เอาเผด็จการ ข้อกล่าวหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเงิน 200 บาท ศูนย์ทนายฯแจง ผู้แจ้งพยายามติดต่อให้ตำรวจในท้องที่เซ็นอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงก่อนเริ่มชุมนุมแล้ว แต่ตำรวจบ่ายเบี่ยง

    4 มี.ค. 2563 วันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย นายกฤตตฤณ สุขบริบูรณ์ ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ในกิจกรรมแฟลซม๊อบ #เชียงรายไม่เอาเผด็จการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 63 บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางหลังเก่าจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางเข้าจ่ายค่าปรับจากข้อกล่าวหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเงิน 200 บาทจากการชุมนุมดังกล่าว

    สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 26 ก.พ. 63 ที่จะมีการจัดกิจกรรมแฟลซม๊อบ นายกฤตตฤณได้เดินทางเข้าแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อ พ.ต.อ.กิตติพงษ์  สุขวัฒนพันธ์ ผู้กำกับการสภ.เมืองเชียงราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต่อมาพ.ต.อ.กิตติพงษ์ ได้ทำหนังสือสรุปสาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะกลับมาให้ผู้แจ้งการชุมนุมโดยมีการกำหนดเงื่อนไขของการชุมนุมจำนวน 6 ข้อ โดยสรุปดังนี้  1. ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ, 2. ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย, 3. ให้ขอใช้สถานที่จากหน่วยงานเจ้าของสถานที่ , 4.ให้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงก่อนใช้ในการชุมนุม, 5. การใช้เครื่องขยายเสียงต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 6. ให้ผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ โดยเคร่งครัด

    เมื่อนายกฤตตฤณ ผู้แจ้งการชุมนุม ได้รับหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมดังกล่าวแล้ว เห็นว่าต้องดำเนินการขอใช้เครื่องขยายเสียงกับเทศบาลนครเชียงราย  ดังกล่าวในวันที่ 26 ก.พ. ก่อนการเริ่มชุมนุม นายกฤตตฤณจึงได้เดินทางไปยังเทศบาลนครเชียงราย เพื่อแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงรายก็ได้นำเอกสารการขออนุญาตดังกล่าวให้แก่นายกฤตตฤณกรอก แต่ส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวกลับต้องมีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่รับผิดชอบลงชื่อรับทราบด้วย และเมื่อนายกฤตตฤณพยายามติดต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของสภ.เมืองเชียงรายลงชื่อรับทราบในเอกสารดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลงชื่อในเอกสาร จนใกล้เวลาเริ่มกิจกรรม นายกฤตตฤณจึงได้ตัดสินใจไปจัดกิจกรรมโดยที่การขออนุญาตดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ

    กิจกรรมแฟลชม็อบ #เชียงรายไม่เอาเผด็จการ มีประชาชนและนักศึกษากว่า 500 คน เข้าร่วมแสดงจุดยืน ทั้งโดยการแต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับความอยุติธรรมของประเทศไทย

    จนล่าสุดวันที่ 3 มี.ค. 63 หลังกิจกรรมชุมนุมไปแล้ว 6 วัน  นายกฤตตฤณได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เดินทางไปยังสภ.เมืองเชียงราย เพื่อจ่ายค่าปรับจากข้อกล่าวหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 โดยนายกฤตตฤณถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 200 บาท

     

    ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าในแบบฟอร์มแจ้งการชุมนุมสาธารณะ จะมีส่วนรายละเอียดการใช้เครื่องขยายเสียงให้ผู้แจ้งการชุมนุมกรอกไว้อยู่ด้วยแล้ว ซึ่งทำให้เรื่องการประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ เรื่องการใช้งานเครื่องขยายเสียงนี้ ควรจะอยู่ในความรับผิดชอบเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ คือหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ  ตามหมวด 4 เรื่องการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 19 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  การที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทำหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุม โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต้องไปขออนุญาตเพื่อใช้เครื่องขยายเสียงอีกครั้ง เป็นการสร้างภาระเกินความจำเป็นให้กับประชาชนผู้ที่จะใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ ทำให้การดำเนินการจัดการชุมนุมต้องไปแจ้งแก่หน่วยงานต่างๆ ทับซ้อนกันไปมา และทำให้เจ้าหน้าที่นำข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมในลักษณะนี้อีกด้วย

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    อังคณาเสียใจรัฐใช้งบจัดตั้งไอโอคุกคามสิทธิ เสนอผู้เสียหายร้องศาลเยียวยา

    $
    0
    0

    เวทีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแจก F รัฐบาลไทยสอบตกปกป้องสิทธิสตรี ‘อังคณา นีละไพจิตร’ เสียใจรัฐบาลใช้งบจัดตั้งไอโอคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ เสนอผู้ได้รับความเสียหายจากปฏิบัติการไอโอใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้มีการเยียวยา พร้อมสะท้อนเสรีภาพออนไลน์ว่าที่ผ่านมาราชการยังไม่เป็นกลไกปกป้องสิทธิได้อย่างแท้จริง ในทางกลับกันหากมีคนวิจารณ์รัฐ ตำรวจ ปอท. กลับเป็นฝ่ายดำเนินคดีคนเห็นต่าง

    4 มี.ค. 2563 กรณีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่ายแถลงข่าว  “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศหรือ FCCT ในโอกาส 103 ปีวันสตรีสากลตัดเกรดแจก F รัฐบาลไทยสอบตกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง โดยชี้ว่ารัฐบาลยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ ตามข้อเสนอแนะสหประชาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW นั้น

    ในเวทีเดียวกัน ซินเธีย เวลิโก ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) แสดงความห่วงใยต่อสถิติที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในไทยกว่า 440 ราย ถูกกลั่นแกล้งคุกคามจากการฟ้องคดีระหว่างปี 2557-2562 ทั้งยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิภาพ

    ซินเธียกล่าวด้วยว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิยังเผชิญความท้าทายจากการแปะป้ายตีตรา และการประจานออนไลน์ โดยการโจมตีเหล่านี้เพื่อโดดเดี่ยวพวกเขาและทำลายการสนับสนุนจากสมาชิกในชุมชน กรณีที่เห็นได้ชัดอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มีการคุกคามออนไลน์ พุ่งเป้าต่องานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เธอทำงานอยู่

    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้เปิดโปงว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ เพื่อปฏิบัติการคุกคามออนไลน์และดิสเครดิตนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในเอกสารของราชการพบความเชื่อมโยงกับเว็บ pulony ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชังนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งอังคณา นีละไพจิตร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นเป้าหมายคุกคามด้วย

    อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

    อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายคุกคามออนไลน์ ได้กล่าวในเวทีแถลงข่าวโดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบและยุติปฏิบัติการนี้ "น่าเสียใจที่ปฏิบัติการไอโอเกิดขึ้นจากงบประมาณของรัฐเสียเอง"อังคณากล่าวในวงเสวนา

    อังคณาเล่าถึงประสบการณ์ร้องเรียนกับหน่วยงานราชการที่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท ว่ายังไม่สามารถเป็นกลไกปกป้องสิทธิออนไลน์ได้อย่างแท้จริง “ที่ผ่านมาเคยไปแจ้ง บก.ปอท. 2 ครั้ง แต่ละครั้งต้องปริ้นท์เอกสารไปเอง เพื่อไปชี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เห็นว่าข้อความไหนเป็น hate speech ตรงไหนลดทอนความเป็นมนุษย์”

    และในทางกลับกันเมื่อมีนักการเมืองหรือนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์เรื่องความมั่นคง ปอท. ก็กลับเป็นฝ่ายร้องทุกข์กล่าวโทษคนเห็นต่างจากรัฐ ขณะที่ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากการโจมตีออนไลน์ก็ต้องเป็นภาระไปแจ้งความเอง

    ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแจก F รัฐบาลสอบตกด้านการปกป้องสิทธิสตรี, 4 มี.ค. 63

    หลังรัฐประหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกฟ้องคดี 440 ราย เรียกร้องรัฐหยุดคุกคามคนเห็นต่าง, 6 ก.พ. 63

    เปิดตัวผ้าปักควิลท์ 54 ผลงานผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ พร้อมเรียกร้องยุติฟ้องร้อง-คุกคาม, 5 ก.พ. 63

    ต่อกรณีที่การปฏิบัติการไอโอมีความเกี่ยวข้องกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. นั้น อังคณายังเสนอให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับความเสียหาย ไปใช้สิทธิทางศาลพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ และเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขอให้ศาลเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

    อังคณายังเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่าย ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ CEDAW ให้รัฐบาลแก้ไขมาตรา 17 (2) ของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศฯ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและศาสนาด้วย โดยอังคณาเชื่อว่าการยกเลิกมาตรา 17 (2) ดังกล่าวจะช่วยสร้างสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ

    อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังแสดงความเป็นห่วงที่ยังมีชาวบ้านเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรม เพราะมีระเบียบมากมายจนเป็นข้อจำกัด กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และปัญหาโครงสร้างระดับชาติ นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงว่ายังไม่มีมาตรการป้องกันคุกคามทางเพศในสถานประกอบการ และสถานศึกษายังไม่มีสภาพบังคับในรูปแบบกฎหมาย มีแต่ระเบียบเท่านั้น

    อังคณายังเสนอให้งานปกป้องสิทธิสตรีเป็นประเด็นระดับชาติ จากเดิมที่เป็นงานระดับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และเสนอให้ยกระดับงานปกป้องสิทธิสตรีจากงานสงเคราะห์ ให้เป็นกลไกเพื่อปกป้องผู้ทรงสิทธิอย่างแท้จริง

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ภาค ปชช. โต้กระทรวงพาณิชย์ตอบคำถามเรื่อง CPTPP ไม่ครบ ระบุอาจกระทบเข้าถึงยา

    $
    0
    0

    เครือข่ายภาคประชาชนระบุ กระทรวงพาณิชย์ยังตอบข้อชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) กับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ชี้อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา-การผูกขาดพันธ์ุพืช ชะลอการแข่งขัน-นำเข้า-ส่งออก ของยาชื่อสามัญ

    4 มี.ค. 2563 วันนี้ จากกรณีที่อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) กับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ที่กลุ่มศึกษาความตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้แถลงข่าวต่อรัฐบาลไป เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ระบุผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊ก FTA Watchไว้ว่าคำชี้แจงของกรมฯ มีบางส่วน ไม่ถูกต้อง ไม่ครบ และยังไม่ช่วยคลายกังวลในเรื่องผลกระทบของ CPTPP ได้แก่ประเด็น ต่อไปนี้

    1. กรมฯ แจ้งว่าความตกลง CPTPP เปิดโอกาสในประเทศสมาชิกสามารถขอความยืดหยุ่นได้ ในกรณีนี้ ไทยยังไม่ได้ลงนามเป็นสมาชิกของความตกลง CPTPP และความยืดหยุ่นในที่นี้หมายถึงความยืดหยุ่นสำหรับประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว และโดยส่วนใหญ่เป็นความยืดหยุ่นในเรื่องเงื่อนไขเวลาว่าจะปรับเปลี่ยนกฎหมายภายในประเทศในสอดคล้องกับความตกลง CPTPP ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการยกเว้นไม่ปฏิบัติข้อบทต่างๆ

    2. นอกจากนี้ หากการเจรจาขอเข้าร่วม ไม่สามารถต่อรองความยืดหยุ่นได้ในประเด็นสำคัญที่อ่อนไหวมากๆ ที่ว่าประเทศไทยก็สามารถไม่เข้าร่วมความตกลงฯนั้น อำนาจยังเป็นการพิจารณาของรัฐบาลเพียงลำพัง เพราะตามมาตรา 178 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รัฐสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยจนกระทั่งการเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว และมาขออนุวรรตตามโดยให้เวลาพิจารณา 60 วันเท่านั้น ซึ่งต่างจากมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งเท่ากับให้คำมั่นสัญญากับตัวแทนประชาชนในประเด็นสำคัญที่ต้องเจรจาให้ได้ ฉะนั้นความเสี่ยงที่เมื่อเจรจาไม่ได้ แล้วอ้างว่ามีความจำเป็นต้องยอมรับความตกลงฯ โดยใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาสนับสนุน แม้การเข้าความตกลงนั้นจะได้ผลดีทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย แต่ส่งกระทบทางลบกับประชาชนส่วนใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้

    3. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา FTA Watch ทราบดีเกี่ยวกับข้อบทที่เกี่ยวการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร ไม่ว่าเพราะความล่าช้าในการให้สิทธิบัตรหรือให้ทะเบียนยา ว่าได้ถูกระงับไม่เจรจาต่อ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ถอนตัวไป แต่ข้อบทที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ในความตกลง CPTPP ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยา

    3.1 จำกัดการใช้หรือทำให้การนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing (CL)) มาใช้เป็นไปได้ยากลำบากขึ้น โดยตัดเหตุผลที่จะนำมาตรการ CL ให้น้อยลง ซึ่งขัดกับความตกลงทริปส์ขององค์การกาค้าโลกและ พรบ. สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบัน (ดังเปรียบเทียบ)

    #CPTPP มาตรา 18.6 (a)
    ประเทศสมาชิกสามารถนำมาตรการ CL มาใช้ได้ในกรณี
    1) ภาวะฉุกเฉินของประเทศ (national emergency) หรือ
    2) ภาวะจำเป็นเร่งด่วนที่สุดอื่นๆ (other circumstances of extreme urgency)

    #WTO’s TRIPs Agreement
    มาตรา 31 (b)
    ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกสามารถนำมาตรการ CL มาใช้ได้ในกรณีต่อไปนี้
    1. ภาวะฉุกเฉินของประเทศ (national emergency) หรือ
    2. ภาวะจำเป็นเร่งด่วนที่สุดอื่นๆ (other circumstances of extreme urgency) หรือ
    3. การใช้โดยไม่แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์สาธารณะ (public non-commercial use)

    #พรบ_สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบัน
    มาตรา 51 กระทรวง ทบวง และกรมสามารถประกาศใช้มาตรการ CL ได้เพื่อ
    1. ประโยชน์ในการประกอบกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือ
    2. การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือ
    3. การสงวนรักษาหรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือ
    4. ป้องกันหรือบรรเทาการขาดแคลนอาหาร ยา หรือสิ่งอุปโภคบริโภคอย่างอื่นอย่างรุนแรง หรือ
    5. ประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
    นอกจากนี้ มาตรา 52 ยังระบุว่ามาตรการ CL ยังสามารถใช้ได้ในภาวะสงครามหรือภาวะฉุกเฉิน

    3.2 ขจัดหรือชะลอการแข่งขันของยาชื่อสามัญ หรือขัดขวางการนำมาตรการ CL มาใช้ เพราะยาภายในมาตรการ CL อาจขอขึ้นทะเบียนยาไม่ได้ ในมาตรา 18.53 ของความตกลง CPTPP ระบุให้ประเทศสมาชิกต้องมีระบบการแจ้งเตือนกับผู้ทรงสิทธิบัตรเมื่อมียาสามัญมาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นข้อผูกมัดเกินกว่าความตกลง TRIPs ขององค์การการค้าโลกและไม่อยู่ในกฎหมายของไทย โดยกำหนดไว้ 2 ทางเลือก คือ
    #ทางเลือกที่1 ให้มีระบบแจ้งผู้ทรงสิทธิบัตรเมื่อมีผู้อื่นมาขอขึ้นทะเบียน ต้องกำหนดระยะเวลาที่พอเพียงและให้โอกาสผู้ทรงสิทธิในการขอการเยียวยา และต้องกำหนดให้มีกระบวนการที่สั่งห้ามขึ้นทะเบียน เพื่อหาทางแก้ไขเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรเสียก่อน
    #ทางเลือกที่2 ประเทศต้องกำหนดให้มีระบบที่ใช้ทดแทนกระบวนการทางศาล ซึ่งจะต้องป้องกันการอนุญาตทะเบียนยาให้กับบุคคลที่สาม โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร

    3.3 ขัดขวางการนำเข้าหรือส่งออกยาชื่อสามัญ ในมาตรา 18.76 ของความตกลง CPTPP ประเทศสมาชิกอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรยึดจับยาที่ต้องสงสัยเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ในความตกลง TRIPs ไม่อนุญาตให้มีการยึดจับสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง
    3.4 อาจสร้างความหวาดกลัวให้กับโรงพยาบาลไม่กล้าจ่ายยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่าให้กับผู้ป่วย ในมาตรา 18.77 ของความตกลง CPTPP ผู้ทรงสิทธิจะสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ ในกรณีที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ บุคคลอื่นๆ ในที่นี้อาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งบุคคลอื่นๆ อาจรวมถึงโรงพยาบาล ในขณะเดียวกัน เครื่องหมายการค้าหรือชื่อการค้าที่คล้ายคลึงอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดกับบุคคคลอื่น และฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้อาจถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่มีลิขสิทธิ์ได้

    ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ยังน่ากังวลที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ซึ่งยังอยู่ในความตกลง CPTPP ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพยายามบอกว่า ไม่มีปัญหาหรือข้อกังวลแล้ว แต่กรมฯ ไม่เคยพูดถึงในรายละเอียดรายมาตราและผลของการบังคับใช้ของมาตราดังกล่าว แต่มักจะบอกรวมๆ ว่าไม่มีปัญหา ไม่มีมาตราที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่จะสร้างผลกระทบต่อการเข้าถึงยา และสามารถเจรจาขอให้มีความยืดหยุ่นได้ ทั้งๆ ที่ความยืดหยุ่นดังกล่าวเป็นการขอประวิงเวลาเท่านั้น ไม่ใช่การยกเลิกหรือข้อยกเว้นไม่ปฎิบัติตามได้

    ยิ่งในภาวะการระบาดของ #COVID19 การพึ่งตัวเองได้ด้านยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการที่รัฐสามารถกำหนดนโยบายสาธารณะที่จำเป็นเร่งด่วนได้ จึงมีความสำคัญยิ่ง แต่ความตกลงฯดังกล่าวจะจำกัดพื้นที่การกำหนดนโยบายสาธารณะเหล่านี้ทั้งหมด

    4. ในส่วนของข้อกังวลเรื่องที่เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกได้ หากเข้าเป็นสมาชิก #UPOV1991 นั้น ในคำชี้แจงของอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า UPOV 1991 ได้ให้ทางเลือกสมาชิกสามารถออกกฎหมายเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่ของตนได้ แม้จะเป็นสมาชิก UPOV 1991 คำชี้แจงนี้ไม่เป็นความจริง
    4.1 ความตกลงในอนุสัญญา UPOV 1978 ซึ่งเป็นพื้นฐานของการร่างกฎหมายคุ้มครองของไทยนั้น
    กำหนดให้การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อนั้นเป็นสิทธิพื้นฐานของเกษตรกร (farmers' privilege) แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV1991 นั้นจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายพันธุ์พืชเปิดทางให้มีการห้ามเกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ โดยในร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ....ที่กรมวิชาการเกษตรได้ร่างเอาไว้เพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 นั้น ในมาตรา 35 วรรคสองได้ระบุว่า “รัฐมนตรีโดยข้อเสนอของกรรมการสามารถห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อทั้งหมดหรือบางส่วนได้”
    #การห้ามเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น ทำลายวิถีวัฒนธรรมการเก็บรักษาและแบ่งปันการใช้พันธุ์พืชของเกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารอย่างสำคัญ

    4.2 การชี้แจงของอธิบดีฯยังปิดบังเรื่องผลกระทบต่อเกษตรกรอีกในหลายเรื่องสำคัญ ดังนี้
    - ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทออกไปตาม UPOV1991 โดยขยายสิทธิผูกขาดพันธุ์พืชซึ่งตาม UPOV 1991 กำหนดไว้ที่ 15 -20 ปี เป็น 20-25 ปี
    - ขยายการผูกขาดจากเดิมกำหนดอนุญาตให้เฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” ให้รวมไปถึง “ผลผลิต” และ “ผลิตภัณฑ์” ด้วย
    - ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชใหม่ หรือสายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties-EDVs) เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองของบริษัท เป็นต้น

    4.3 การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 ยังส่งผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตัดการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมออกเมื่อบริษัทประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ และแก้คำนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทไม่จำเป็นต้องแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์

    งานศึกษาซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)เมื่อปี 2556 ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาประกอบไปด้วย นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการด้านทรัพยากรชีวภาพ นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอดีตข้าราชการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ติดตามความตกลงเรื่องการเปิดเสรีทางการค้ามาอย่างยาวนาน เพื่อประเมินผลกระทบจากการเข้าเป็นภาคี UPOV1991 โดยคำนวณผลกระทบเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ พบว่าความตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่เพิ่มอำนาจการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพนั้น จะส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 1.2-2.2 แสนล้านบาทต่อปี

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    คนทำงาน กุมภาพันธ์ 2563

    $
    0
    0

    คนยะลาขอยกเลิกประกาศลดพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ชี้เอื้อกลุ่มทุนทำเหมืองหิน

    $
    0
    0

    เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงรมว.วัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศลดขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา หวั่นเอื้อนายทุนทำเหมืองหิน และไม่เคยเปิดรับฟังความเห็นคนในพื้นที่-ไม่มีการศึกษาผลกระทบ ด้านเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ออกแถลงการณ์ชี้การกระทำนี้คือความพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย จ่อฟ้องศาลปกครอง

    ที่มาภาพจาก : The Reporters

    5 มี.ค. 2563 The Reportersรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร ในการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขาจะลา เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและชุมชน หลังกรมศิลปากรประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

    วรา จันทร์มณี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ จากเหตุผลในการลดพื้นที่ ยังไม่เพียงพอในการระเบิดภูเขาเพื่อการอุตสาหกรรมและไม่เกี่ยวข้องกับการลดการก่อความไม่สงบ การระเบิดหินจะส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสีและทำให้พื้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เกิดเหตุการณ์ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ยาว 3 เมตร ถล่มจากการระเบิดหิน ขณะที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ 2560 ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนตามกฏหมาย การแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานครั้งนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน นอกจากนี้การประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก็ไม่ได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ และไม่มีการศึกษาหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตว่า การลงนามเปลี่ยนแปลงขอบเขต เกิดขึ้นในวันสุดท้ายในการปฏิบัติราชการของอธิบดีกรมศิลปากรคนก่อนด้วย

    ทั้งนี้ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้ ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำของอธิบดีคนก่อนว่ากระทำไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ขอให้กรมศิลปากรเร่งสำรวจพื้นที่ ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์  เร่งสำรวจและประกาศเขตที่ดินโบราณสถานในพื้นที่ภูเขาที่ตกค้าง ไม่เปิดให้เกิดการตัดเฉือนเพื่อทำลายอีก และ กระทรวงวัฒนธรรมต้องให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เร่งสร้างการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณคดีให้ได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย

    ขณะที่ ประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ยืนยันว่า กระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญต่อพื้นที่ดังกล่าว โดยจะรับข้อร้องเรียนกังกล่าวนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

    ด้านพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากรเปิดเผยว่า จะเร่งทำการตรวจสอบ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนมีการประกาศลดพื้นที่นั้น การทำประชาพิจารณ์เพื่อทำสัมปทานเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติมต่อไป

    ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีนี้เช่นเดียวกัน โดยของให้มีการเพิกถอนประกาศกรมศิลปากร มีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้

    แถลงการณ์ ขอให้เพิกถอนประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา 

    จากกรณีที่กรมศิลปากร ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2563 เรื่อง แก้ไข เขตที่ดินโบราณสถาน โดยได้มีการแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ตําบลลิดล ตําบลยะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา จากประกาศเดิมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากในพื้นท่ีจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหิน อุตสาหกรรม จากสาเหตุที่แหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทําให้จําเป็นต้องอาศัยแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลาซ่ึงเป็นท่ีต้ังของโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ดังนั้นเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นภาคใต้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 จึงประกาศแก้ไขเขตท่ีดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อําเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้มีพื้นที่ประมาณ 697 ไร่ 75 ตารางวา นั้น

    เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่าการเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการเข้าทําประโยชน์ในกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการออกประกาศที่ขัดต่อวิสัยทัศน์พันธกิจ และบทบาทหน้าที่ของกรมศิลปากร ซึ่งควรต้องปกป้อง คุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์บํารุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อธํารงคุณค่าและเอกลักษณ์ต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การที่อธิบดีกรมศิลปากรอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 ซึ่งตามมาตราดังกล่าวเมื่อตีความแล้วจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาหรือควบคุมโบราณสถานในการปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์บํารุง รักษา ฟื้นฟูศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการนําพื้นที่แหล่งโบราณสถานให้ผู้ประกอบการเข้าทําประโยชน์ในกิจกรรมอื่นใดที่มีลักษณะทําลายหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งโบราณสถานศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่การกําหนดให้เป็นเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมสํารองของจังหวัดด้วยก็ตาม

    ไม่เพียงเท่านั้นผลกระทบจากการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่บางส่วนของภูเขายะลาเพียงส่วนเดียวก็ส่งผลกระทบในภาพรวมต่อภูเขาทั้งลูกและแหล่งโบราณสถานด้วย เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินและการทํางานของเครื่องจักรอุปกรณ์ในการทําเหมือง ซึ่งได้เกิดกรณีการที่ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดยาว 3 เมตร ได้พังถล่มลงมา และเกิดรอยร้าวบริเวณอื่น ๆ ของแหล่งโบราณสถานด้วย โดยแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สําคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่มากถึงราว 3,000 ปี โดยได้มีการสํารวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพํานักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และสัตว์เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน และภาพเขียนสีอยู่ตามถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง และควรพัฒนาแหล่งโบราณสถานมรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนจังหวัด และประเทศต่อไป

    อย่างไรก็ตามการที่อธิบดีกรมศิลปากรออกประกาศเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการเข้าทําประโยชน์ในกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นความพยายามในการหลบเลี่ยงกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตามมาตรา 17 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ‘พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติหรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม’ ซึ่งการปล่อยให้ผู้ประกอบการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นการกระทําผิดขัอต่อพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ประกอบการต้องหยุดดําเนินกิจกรรมใด ๆ ในการทําเหมืองทั้งหมด แต่ทว่าอธิบดีกรมศิลปากรกลับไปเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานเพื่อเปิดทางให้เกิดการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่แหล่งโบราณสถานต่อไป โดยละเลย/เพิกเฉยต่อคุณค่าและความสําคัญทางประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชุมชนและของชาติ

    ด้วยเหตุนี้การที่อธิบดีกรมศิลปากรเพิกถอนขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วนเอื้อให้ผู้ประกอบการทําเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและเข้าข่ายขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2563 และขอให้ยกเลิกเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมบนภูเขายะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา ทั้งหมดโดยด่วน ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะดําเนินการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้อย่างถึงที่สุด รวมทั้งการฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
    Viewing all 27824 articles
    Browse latest View live