Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live

เปิดรายงาน กสม. ตรวจสอบ 6 ประเด็นละเมิดสิทธิหลังรัฐประหาร

$
0
0


24 พ.ค. 2557 สนามเป้า กรุงเทพฯ
แฟ้มภาพ: ประชาไท

วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับจดหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีที่ศูนย์ทนายฯ ภาคประชาสังคม และประชาชน ขอให้ กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหารโดย กสม. มีรายงานผลการพิจารณาที่ 1270 – 1294/2558 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นผู้พิจารณา ซึ่งแบ่งประเด็นออกเป็น 6 ประเด็น คือ


ประเด็นที่ 1 การบังคับใช้กฎอัยการศึกมีความเหมาะสม และเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่

ประเด็นที่ 2 การเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. และกฎอัยการศึกในการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวเป็น 7 วัน มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ประเด็นที่ 3 การจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกมีพฤติการณ์ซ้อมทรมานอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือไม่

ประเด็นที่ 4 การดำเนินคดีกับพลเรือนในเขตอำนาจศาลทหารเป็นการละเมิดสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ประเด็นที่ 5 การใช้กฎอัยการศึกในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุม มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ประเด็นที่ 6 การใช้กฎอัยการศึกในการจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปพลังงานในประเทศไทย เป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

จากการพิจารณาดำเนินการ ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การบังคับใช้กฎอัยการศึกมีความเหมาะสม และเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง ระบุว่า การควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ปกปิดสถานที่คุมตัว ไม่เปิดเผยให้ครอบครัวทราบ ไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความ บุกค้นบ้าน ยึดและค้นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการออกหมายจับ เพื่อถอนหนังสือเดินทาง จำกัดการชุมนุมต่างๆ และกำหนดให้พลเรือนต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เข้าข่ายเป็นการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างน้อย 7 กรณี

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พันเอก วิจารณ์ จดแตง และพันเอก สัญชัย บูรณะสัมฤทธิ์ ชี้แจงว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกมีความจำเป็น เนื่องจากสังคมมีปัญหาความขัดแย้งสะสมมาหลายปีหากไม่เข้ามาดำเนินการจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตั้งแต่ปลายตุลาคม 2556 ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2557 มีการใช้อาวุธสงครามร้ายแรง ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกฎอัยการศึกจึงเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อควบคุมสถานการณ์ แม้นานาชาติจะไม่ให้การยอมรับ แต่ก็จำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะเป็นไปตามนโยบายของ คสช. หรือผู้บัญชาการทหารบก คือ ใช้กฎอัยการศึกเท่าที่จำเป็น เน้นการประนีประนอม การแสดงความคิดเห็นสามารถใช้ช่องทางของศูนย์ดำรงธรรมได้

ข้อเท็จจริงจากการพิจารณา

คณะอนุกรรมการฯ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ (1) ความเป็นมาของประกาศกฎอัยการศึก (2) เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก และ (3) สถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ในประเด็นแรก อนุกรรมการฯ ได้อ้างการชุมนุมทางการเมืองในปลายปี 2556 ว่า ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีท่าทีว่าจะเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จึงได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้ง กอ.รส. ควบคุมสถานการณ์ให้ยุติการชุมนุม ต่อมามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในมาตรา 4 ต่อมา 1 เมษายน 2558 ได้ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร แต่ในวันเดียวกันมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวาง

ในประเด็นที่สอง กฎอัยการศึกมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นเครื่องมือ ในการที่จะรองรับอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่จะรักษาความมั่นคงของประเทศชาติเมื่อยามคับขันและจำเป็นที่ไม่อาจใช้หน่วยงานของฝ่ายพลเรือนได้ ซึ่งกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายพิเศษที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต จำต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนลงบ้าง เพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร

ส่วนในประเด็นที่สาม ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน แต่อาจรอนสิทธิได้ หากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องเหมาะสม และแสดงให้เห็นว่าไม่มีมาตรการเบากว่านี้ที่จะสามารถตอบโต้ภัยคุกคามที่เผชิญอยู่ได้ แต่ไม่สามารถรอนสิทธิในชีวิตร่างกายได้

ประเด็นที่ 2 การเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. และการบังคับใช้กฎอัยการศึกในการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวเป็น 7 วัน มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง ในประเด็นการเรียกรายงานตัวมี 3 กรณีคือ นางสาวจิตรา คชเดช นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ร้องเรียนว่าถูกออกหมายจับ ยกเลิกหนังสือเดินทาง ต้องไปรายงานตัวที่ค่ายทหาร ในประเด็นการควบคุมตัว 7 วันมี 6 กรณีที่ถูกบุกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่จำนวนมาก มีการยึด ค้น แจ้งความดำเนินคดี

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พันโท บุรินทร์ ทองประไพ ได้ชี้แจงในประเด็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกว่า ไม่เหมือนการควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วๆ ไป ซึ่งการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นไปเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่ คสช. สงสัย ตามกฎอัยการศึก ไม่มีบทลงโทษ แต่เป็นเพียงการสอบสวนไปหาความผิดอื่น แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาและลงโทษตามกฎหมายอาญา

2.3 ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ ผู้แทนกรมการกงสุล ได้ชี้แจงกรณีการเพิกถอนหนังสือเดินทางของผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ว่าเป็นการปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันในคดีอื่นๆ คือ กรมการกงสุลจะต้องได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งว่าศาลได้ออกหมายจับกรณีหลบหนีการจับกุมตัว และขอให้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือเดินทาง ซึ่งไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของหนังสือเดินทางทราบ เนื่องจากไม่รู้ว่าหลบหนีอยู่ที่ใด ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแต่กรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หากบุคคลผู้ที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย สามารถดำเนินการได้โดยไปที่สถานทูต เพื่อขอออกหนังสือสำหรับเดินทางกลับไทยได้

ประเด็นที่ 3 การจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก มีพฤติการณ์ซ้อมทรมานอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือไม่

ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทรมาน ในระหว่างควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกอย่างน้อย 7 กรณี โดยอนุกรรมการฯ ได้เข้าเยี่ยมผู้ร้องเรียนบางราย เช่น

นายชัชวาล ปราบบำรุง ได้ให้ถ้อยคำว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยมัดมือ ปิดตา ควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารไม่ทราบชื่อ มีการข่มขู่เอาชีวิตตนเองและครอบครัว ซ้อมทรมานด้วยการทำร้ายร่างกาย ช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า เอาถุงพลาสติกคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เป็นต้น

นายณรงค์ศักดิ์ พลายอร่าม ได้ให้ถ้อยคำว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ไม่ได้พบญาติ ถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา มีการนำไฟฟ้ามาช็อตเพื่อข่มขู่ เมื่อตอบคำถามเจ้าหน้าที่ช้าจะถูกทำร้าย

นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี ได้ให้ถ้อยคำว่า สารภาพยอมรับผิดเนื่องจากถูกซ้อมทรมาน ถูกทำร้ายตามเนื้อตัวร่างกาย ถูกนำถุงพลาสติกคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ ถูกข่มขู่ว่าจะช็อตไฟฟ้า

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พันเอก วิจารณ์ จดแตง ชี้แจงว่า การนำตัวผู้กระทำความผิดไปซักถามเป็นการปฏิบัติตามกฎอัยการศึกและไม่สามารถปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ โดยใช้วิธีการเชิญตัวมาซักถาม หาความเกี่ยวโยงถึงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น มีการแยกผู้ต้องหาชายหญิงออกจากกันชัดแจน โดยผู้ชายจะถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร ส่วนผู้หญิงจะถูกควบคุมตัวไว้ที่หมวดสารวัตรทหารหญิง และระหว่างการซักถามจะไม่มีการทำร้ายหรือขู่เข็ญใดๆ

ผู้ถูกควบคุมตัวยังมิใช่ผู้ต้องหาตามกฎหมายซึ่งหากในการซักถาม มีทนายความอยู่ด้วยก็จะให้คำแนะนำ ทำให้ไม่ได้ข้อมูลหรือผลอะไร เนื่องจากซักถามในประเด็นความมั่นคง อีกทั้งชุดปฏิบัติการด้านต่างๆ ของ คสช. เป็นชุดปฏิบัติการลับด้านการข่าว หากเกิดความไม่ถูกต้อง หัวหน้าชุดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ประเด็นที่ 4 การดำเนินคดีกับพลเรือนในเขตอำนาจศาลทหารเป็นการละเมิดสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง ได้ความว่า ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งพิจารณาลับ ในคดีหมิ่นกษัตริย์ (112) ที่พลเรือนเป็นจำเลยโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งสองเคยถูกฝากขังด้วยอำนาจศาลอาญา ก่อนจะโอนย้ายมาฝากขังด้วยอำนาจศาลทหาร และถูกฟ้องต่อศาลทหาร

ส่วนอีกกรณีหนึ่งผู้ร้องมีเอกสารชี้แจงว่า การแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การพิจารณาคดีในศาลทหารไม่มีความเป็นอิสระ เนื่องจากศาลทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นกลางในการอำนวยความยุติธรรม กระบวนการพิจารณาไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม

นอกจากนี้ ผู้ร้องไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดีโดยปราศจากเหตุผล เช่น อ้างว่าจะมีการหลบหนี ทั้งที่ไม่มีการไต่สวนพยานหลักฐาน ไม่มีหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย การนำผู้ร้องหรือผู้อื่นซึ่งเป็นพลเรือนไปให้ศาลทหารพิจารณาคดีถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนกรมพระธรรมนูญศาลทหาร พันโท  พุฒิพงษ์ ชีพสมุทร ได้ชี้แจงว่า กระบวนการยุติธรรมในศาลทหารถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิจารณาคดีด้วยความโปร่งใส ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระและไม่มีใครจะมาสั่งคดีได้ การสั่งพิจารณาลับในศาลทหารเหมือนกับการสั่งพิจารณาลับในศาลยุติธรรม เหตุในการสั่งการพิจารณาคดีเป็นการลับมีหลักเกณฑ์ คือ เป็นคดีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือโจทก์ร้องขอให้พิจารณาลับ

ในห้องพิจารณาคดีของศาลทหารรับได้จำนวนจำกัดประมาณ 30 คน บางคดีมีหน่วยงานจากต่างประเทศ ผู้แทนประเทศต่างๆ ผู้แทนผู้สื่อฯ ขอเข้าเพื่อการรับฟังการพิจารณาคดีซึ่งศาลทหารก็ไม่เคยปิดกั้นและให้เข้าทุกครั้ง การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเปิดเผย เว้นแต่พิจารณาคดีเป็นการลับในคดี 112 ที่เป็นการกล่าวอ้างหรือคำพูดหมิ่น โดยกฎหมายบัญญัติเช่นใด ผู้พิพากษาก็ต้องทำตามนั้น ไม่มีนโยบายใดๆ

กรณีการปล่อยตัวชั่วคราวในศาลทหาร เป็นดุลพินิจของศาลทหารในการพิจารณา ศาลทหารไม่มีคำสั่งที่เป็นนโยบายไม่ให้ประกันตัวแต่ประการใด

ประเด็นที่ 5 การใช้กฎอัยการศึกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุม มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ประเด็นย่อยที่หนึ่งเรื่องการจัดกิจกรรมทางวิชาการ ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้องกรณีการถูกห้ามจัดกิจกรรมทางวิชาการที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกห้ามจัดงานเสวนาห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ และ เสวนาความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พันเอก วิจารณ์ จดแตง และ พันโท บุรินทร์ ทองประไพ ชี้แจงว่าเป็นการขอความร่วมมือ การจัดกิจกรรมด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยนั้นสามารถทำได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยอยู่ในระหว่างดำเนินการแบบพิเศษ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและสร้างความปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและด้านจิตวิทยา เมื่อประเทศเดินไปข้างหน้าแล้ว สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ก็ย่อมสามารถดำเนินการต่อไปได้

นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสื่อหลายครั้งแล้วว่าในช่วงเวลานี้ขอให้ระงับไว้ก่อนอย่าเพิ่งเรียกร้องสิทธิที่จะแสดงออก อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาตามโรดแมป ซึ่งฝ่ายทหารต้องเข้าไปชี้แจงและทำความเข้าใจ หากเป็นหัวข้อที่ล่อแหลมอาจสร้างความขัดแย้งหรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจนำมาโต้แย้งหรือนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง จะทำให้เกิดปัญหาได้เรื่องการจัดกิจกรรม คสช. ไม่ได้ปิดกั้น สามารถร้องขอและขออนุญาตจาก คสช. ได้ โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าสมควรที่จะให้จัดกิจกรรมหรือไม่

ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะหรือมหาวิทยาลัย ถ้าเกี่ยวข้องกับทางวิชาการและกระทบต่อการเมือง ทาง คสช. ได้เปิดช่องทางไว้ในการร่วมเสวนา เมื่อมีการเปิดเวที ก็สามารถเข้าไปร่วมได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องมาจัดงานให้ล่อแหลม หรือทำให้เกิดปัญหา

ประเด็นย่อยที่สอง เรื่องการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้องมีกรณีที่กลุ่มดาวดินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใส่เสื้อไม่เอารัฐประหารและชูสามนิ้วขณะที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น กรณีเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวด้วยการใช้ความรุนแรง กรณีการควบคุมตัว 14 นักศึกษาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ถูกร้องผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ประสงค์ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เกิดขึ้น

ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พันเอก นุรัช ทองแก้ว ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ว่า การจับกุมมีเพียงฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายปฏิบัติ ทางทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ส่วนคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่นั้น ไม่ทราบแน่ชัด ส่วนประเด็นความผิดในเชิงสิทธิเสรีภาพไม่ควรขึ้นศาลทหาร ไม่สามารถตอบได้ ส่วนในเรื่องข้อกฎหมาย ให้สอบถามเป็นหนังสือทาง คสช. ยินดีชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ขอยืนยันว่า คสช. ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและศึกษากฎหมายอย่างดีแล้ว กรณีอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายเต็มยศไปเยี่ยมผู้ปกครองของนักศึกษาถึงบ้าน ก่อนนักศึกษาถูกจับมีทหารนอกเครื่องแบบสะกดรอยติดตาม ยืนยันว่าทหารไม่เกี่ยวข้อง และเป็นทหารจริงหรือไม่นั้น ยังพิสูจน์ไม่ได้

ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาดำเนินการคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เข้าเยี่ยมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากนักศึกษา สาระสำคัญดังนี้ กลุ่มนักศึกษาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การกระทำของนักศึกษาสามารถทำได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นักศึกษาให้ข้อมูลว่าในชั้นศาลทหาร ตุลาการศาลทหารไม่ได้เขียนในสิ่งที่นักศึกษาพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ

ข้อเท็จจริงและความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าการใช้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ประกาศ คสช. 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 บังคับใช้กฎหมายอย่างสับสนโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีผลยกเลิกกฎหมายเก่า ทำให้ต้องขึ้นศาลยุติธรรม แต่ในกรณีนี้นักศึกษาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ศาลทหาร หากศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของนักศึกษาเข้ามาตรา 116 ที่กำหนดโทษหนักกว่าความผิดจากการชุมนุมก็ต้องขึ้นศาลทหาร แต่หากไม่ถึงขั้น 116 ก็ขึ้นศาลยุติธรรม

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากประกาศของ คสช. แล้ว ก็เห็นว่ามีเจตนาให้ขึ้นศาลยุติธรรมปกติ แต่เจ้าพนักงานซึ่งไม่มีแนวปฏิบัติ ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และมีอำนาจมากในการควบคุมคดีก็จะพยายามกล่าวหาความผิดรุนแรงขึ้น กสม. ควรทำความเข้าใจกับ คสช. ว่าการกระทำระดับใดควรอยู่ในอำนาจศาลทหารเพื่อป้องกันความขัดแย้งและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า การตั้งข้อกล่าวหา เกี่ยวกับการจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่ทำผิดประมวลกำหมายอาญา มาตรา 116 และขัดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนนั้น หากดูตามพฤติการณ์มาเทียบเคียงกับความผิดตามข้อกล่าวหาแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีข้อใดที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด เพราะเป็นการแสดงออกตามวาระทางการเมือง ส่วนที่ระบุว่านักศึกษามีคนเสื้อแดง หรือขั้วอำนาจเก่าอยู่เบื้องหลัง ถ้าเป็นจริงเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่จะต้องพิสูจน์หาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้แล้วเสียก่อนจึงค่อยตั้งข้อหาไม่ใช่ดำเนินการด้วยข้อสันนิษฐาน

ประเด็นที่ 6 การใช้กฎอัยการศึกในการจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปพลังงานในประเทศไทย เป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้องกรณีกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตกรณีความรุนแรงปี 2553 เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่แบไรท์ จัดกิจกรรมแล้วถูกควบคุมตัว โดยมีทั้งควบคุมตัวในห้องขัง ควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา รวมถึงดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 หรือเชิญตัวไปเจรจาปรองดองเพื่อให้ยกเลิกการรวมกลุ่มคัดค้าน

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พันเอกวิจารณ์ จดแตง และพันโท บุรินทร์ ทองประไพ ชี้แจงว่า เนื่องจากปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ในกรณีประชาชนมีความเห็นต่าง ผู้บังคับบัญชาจะมีช่องทางให้สามารถแสดงออก เสนอความคิดเห็นได้ ฉะนั้น การมาแสดงออกโดยการเดินบนถนนหรือที่สาธารณะ หรือโปรยใบปลิว และทำกิจกรรมนั้น ผู้อื่นอาจมองว่าประเทศยังมีความขัดแย้งอยู่รวมทั้งอาจมีผู้ฉวยโอกาสก่อความไม่สงบขึ้นมาอีก เจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่จะต้องยุติการกระทำดังกล่าว และอาจเชิญตัวไปเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจว่ามีช่องทางแสดงความคิดเห็นอยู่ เมื่อเข้าใจแล้วจะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด ก็ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เว้นแต่ข้อจำกัดของกฎหมาย ซึ่ง คสช. ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมได้ แต่ขอให้ไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้  เพียงแค่จำกัดพฤติกรรมร้องเรียนที่ไม่เหมาะสม

ส่วนในกรณีเหมืองแร่แบไรท์ พันเอก ชาญวิทย์ ปิ่นมณี ได้ชี้แจงว่า เจ้าของเหมืองแร่และบิดาของผู้เสียชีวิตเป็นเพื่อนร่วมทำกิจการมาด้วยกัน แต่มีเรื่องผิดใจกันจึงเกิดการคัดค้านฟ้องร้องกัน ทาง กอ. รมน. จึงเข้าไปเพื่อสร้างความปรองดองตามนโยบายของกองทัพ การขอให้ถอนฟ้องนั้นเป็นข้อเสนอของกำนันในพื้นที่ ทางกอ.รมน. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนของคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังติดตามอยู่และรับว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้

ความเห็นคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

1. ประเด็นการบังคับใช้กฎอัยการศึกในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 ถึงต้นพฤษภาคม 2557 รับฟังได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกินกว่าขอบเขตของการใช้เสรีภาพของการชุมนุม ฉะนั้น การประกาศใช้กฎอัยการศึก ในระยะเวลาดังกล่าวในการรักษาความมั่นคงพอรับฟังได้

แต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่า ใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่สะสมมายาวนานในบริบทการสร้างความปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรายงานตัว การควบคุมตัว การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เห็นว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สถานการณ์ในช่วงหลังรัฐประหาร ยังไม่ปรากฏภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติให้เห็นเป็นประจักษ์ การบังคับใช้กฎอัยการศึก หรือกฎหมายอื่นใดเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เกินกว่าความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

2.ประเด็นการเรียกบุคคลไปรายงานตัวและการบังคับใช้กฎอัยการศึกในการขยายระยะเวลาควบคุมตัวเป็น 7 วันเป็นการไม่เหมาะสม ในการจำกัดสิทธิบุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ ขัดกับข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ. ศ. 2550

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การควบคุมตัวไม่มีการตรวจสอบโดยศาล การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองย่อมต้องใช้มาตรการทางการเมือง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต้องใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องตัดสิน

3. ประเด็นการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกมีพฤติการณ์เป็นการซ้อมทรมานคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทางการแพทย์และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุยืนยันได้ว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น ประกอบกับการตรวจสอบไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากอุปสรรคในการเข้าถึงพยานหลักฐานในระยะเวลาที่เหมาะสมและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ให้ข้อสังเกตว่าพฤติการณ์การควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 7 วัน โดยไม่เปิดเผยสถานที่ และไม่ให้บุคคลใดเข้าพบ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน

4. ประเด็นการดำเนินคดีกับพลเรือนในเขตอำนาจศาลทหาร เป็นการละเมิดสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ กรณีนี้ได้มีหนังสือสำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ คสช, (สลธ)/38 เรื่อง ผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีสาระสำคัญว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ยังมีเหตุผลและความจำเป็นที่ยังจะต้องคงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าประเทศไทยมีพันธกรณีตามข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิการได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และควรตระหนักถึงหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ซึ่งวางหลักไว้แล้วว่า ศาลทหารไม่ควรมีเขตอำนาจในการดำเนินคดีกับพลเรือน

5. ประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ รัฐควรมีหน้าที่ส่งเสริม ไม่ควรปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวโดยสิ้นเชิง อีกทั้งกฎหมายทั่วไป ก็สามารถดูแลการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสงบเรียบร้อย และการชุมนุมทางการเมืองก็ต้องใช้วิธีการแก้ไขทางการเมือง กล่าวคือ การพูดคุย ปรึกษาหารือ แต่มาตรการที่ใช้กำลังความรุนแรงหรือกฎหมายความมั่นคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

6. การจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูประบบพลังงานในประเทศไทย รัฐบาลปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง โดยไม่แก้ไขความเหลื่อมล้ำอันเป็นสาเหตุแท้จริงของปัญหา ย่อมเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศไทยและจะยิ่งขยายความขัดแย้งออกไปอย่างกว้างขวาง ทำลายเป้าหมายความปรองดองสมานฉันท์และคืนความสุขให้กับประชาชนในที่สุด

ดังนั้น คณะอนุกรรมจึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี

ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาคำร้องและความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีความเห็นสอดคล้องกัน และมีข้อเสนอแนะทางนโยบายดังนี้

1. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายที่มีลักษณะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง และจำต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน โดยกระทำเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น

2. คณะรัฐมนตรีควรกำชับและดูแลหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายความมั่นคง รวมถึงสาระสำคัญตามพันธกรณีระหว่างประเทศ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ทั้งนี้ เพื่อปฏิรูปประเทศ และเพื่อให้เกิดการปรองดอง ในอันที่จะลดเงื่อนไขต่างๆ ลงสมควรพิจารณาถึงประกาศและคำสั่ง คสช. ที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพในสาระสำคัญ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตามการประชุมครั้งที่ 41/2558 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 มีมติให้เสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามผลการดำเนินการต่อไป

 

 

หมายเหตุจากประชาไท:

ท้ายรายงานดังกล่าวระบุว่า รายงานผลการตรวจสอบนี้ กสม.ชุดที่ 2 ลงมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2558 โดยระหว่างการปรับแก้รายงานตามมติที่ประชุม กสม.ชุดที่ 2 ได้หยุดการปฏิบัติหน้าที่และมีกรรมการฯ บางท่านไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ 
 
กรรมการที่ลงชื่อ ได้แก่ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, ปริญญา ศิริสารการ และวิสา เบ็ญจะมโน
 
ส่วนกรรมการที่ไม่ลงชื่อ ได้แก่ แท้จริง ศิริพานิช และไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุเนื้อหาฯ กสท.เสียงข้างมากเสนอโทษหนัก Peace TV ถึงขั้นปิดสถานี

$
0
0
อนุเนื้อหาฯ กสท.เสียงข้างมากเสนอโทษหนัก Peace TV ถึงขั้นปิดสถานี และ ปรับวอยซ์ทีวี - รอ กสท.ชี้ขาดจันทร์นี้ และเตรียมออกหนังสือทวงเงินประมูลทีวีดิจิตอลงวด 3

 
12 มิ.ย.2559 สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 19/2559 วันจันทร์ที่ 13 มิ.ย. นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาโทษปรับทางปกครองสูงสุดช่องพีซ ทีวี ภายหลังสำนักงาน กสทช. ตรวจพบการออกอากาศรายการ “เข้าใจตรงกันนะ” เมื่อวันที่ 11 มี.ค. และ วันที่ 21 มี.ค. 59 รายการ “เข้มข่าวดึก” เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2559 และรายการ “ห้องข่าวเล่าเรื่อง” วันที่ 28 มี.ค. 59 มีเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับ 103/2557 และเป็นการขัดต่อเงื่อนไขในการออกอากาศตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. นอกจากนี้ที่ประชุมจะมีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณีการออกอากาศรายการ Wake Up News ทางช่องรายการ Voice TV เมื่อวันที่ 21 เม.ย.59 นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ภายหลังจากที่สำนักงานได้ขอถอนวาระการประชุมไปในการประชุม กสท.ครั้งที่ 17/59 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2559
 
สุภิญญา กล่าวว่า เป็นครั้งที่สองแล้วที่มีการเสนอโทษให้เพิกถอนใบอนุญาตช่องพีซทีวี  เนื่องเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติซึ่งทางอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้วิเคราะห์เองว่าไม่สามารถเอาผิดตามฐานมาตรา 37 ตามปกติของ กสทช.ได้ จึงต้องใช้ฐานอำนาจพิเศษคือประกาศ คสช. ซึ่งเสียงในอนุกรรมการฯก็ไม่เป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 4 โดยเฉพาะความเห็นของนักวิชาการและนักกฎหมายมองว่าไม่ได้ผิดขนาดนั้น โดยเฉพาะถ้าถึงขั้นจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนตัวก็เห็นต่างจากมติอนุเนื้อหา แต่เห็นด้วยกับอนุกรรมการเสียงข้างน้อยและคิดว่าตนเองจะเป็นเสียงข้างน้อยใน กสทช. อีกครั้งที่เห็นต่างเรื่องการจะเพิกถอนใบอนุญาติช่องพีซทีวี เพราะเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันฝ่ายอำนาจรัฐก็ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายค้านได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว ถ้าจะปิดทีวีดาวเทียมฝ่ายค้านซึ่งตอนนี้ก็ลดโทนลงมากแล้ว จะยิ่งทำให้สถานภาพด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองของไทยลดลงอีกจนเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายและตอกย้ำบรรยากาศความหวาดกลัว ตึงเครียดในการลงประชามติที่กำลังจะมาถึงนี้ รอบก่อนหลังจากมติส่วนใหญ่เสนอให้เพิกถอนใบอนุญาต ทางช่องพีซ ทีวี ไปฟ้องศาล จนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รอบนี้รอดูว่าจะออกมาอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่าการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์โดยฐานกฎหมายพิเศษ จะเข้าข่ายการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุได้ เพราะจะกระทบกับรายการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงพนักงานและลูกจ้างทั้งหมดจะตกงานกะทันหันด้วย
 
“ส่วนกรณีช่องวอยซ์ทีวี ความเห็นในอนุกรรมการผู้เชี่ยวชาญเสียงก็แตก 7:4 เช่นกัน โดยเสียงข้างน้อยที่เป็นนักวิชาการสื่อและกฎหมายมองว่ายังไม่ขัดมาตรา 37 คงเพราะยังเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและตรวจสอบ ตั้งคำถามการใช้อำนาจของภาครัฐตามหน้าที่ของสื่อ จะให้เชียร์อย่างเดียวก็จะฝืนความเป็นจริงมากเกินไป สังคมควรต้องมีการถ่วงดุลบ้าง การลงโทษหนักช่องโทรทัศน์ที่มีจุดยืนต่างจากฝ่ายรัฐ จะทำให้ กสทช. ถูกมองว่าขาดความอิสระในการทำหน้าที่และใช้อำนาจในมิติทางการเมืองมากเกินไป ในขณะที่เรื่องอื่นๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบกลับยังอ่อนแอมากในการใช้อำนาจกำกับดูแล ดังนั้น ดิฉันยังหวังว่า บอร์ด กสท. จะพิจารณาวาระอย่างรอบคอบและมีความเป็นธรรมในการใช้อำนาจด้วย” สุภิญญา กล่าว
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาแนวทางดำเนินการกรณีผู้รับใบอนุญาต 5 ราย ที่ยังค้างการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ได้แก่ ผู้รับใบอนุญาตช่อง PPTV HD ช่องไทยรัฐทีวี ช่องGMM ONE ช่องGMM25 และช่องไบรท์ทีวี
 
วาระอื่นๆ น่าจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ การออก (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... วาระการพิจารณาคำขอยกเว้นการเผยแพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปของผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก จำนวน 29 ราย วาระการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี จำนวน 4 ช่อง วาระการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง กรณีเกิดข้อขัดข้องในการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และวาระการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ของช่องรายการ โฮม ชาแนล, กอแก้ว, ซุปเปอร์ริช ซุปเปอร์รวย, ไบรท์ทีวี, 1TV และเรื่องร้องเรียนอื่นๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ลงพื้นที่โคกยาวตรวจสอบจุดนายเด่นหายตัว

$
0
0

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ย้ำจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบเบาะแสการหายตัวของนายเด่น พร้อมจะคุ้มครองความปลอดภัยชาวบ้านหากถูกข่มขู่ ด้านเมียนายเด่นยืนยัน สามีถูกอุ้มหาย เพราะเป็นแกนนำต่อสู้สิทธิมาอย่างยาวนาน

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.59 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้สิทธิเพื่อที่ดินทำกิน และเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ขณะที่เข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแก่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และหายไปนับแต่วันที่ 16 เม.ย.59 เป็นเวลากว่า 55 วันแล้ว

ทั้งนี้ คุณอังคณา นีละไพจิตร  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ชี้ว่า ตามที่นางสุภาพ คำแหล้ (ภรรยาของนายเด่น) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอความเป็นธรรมให้ติดตามค้นหาการหายตัวไปของนายเด่น เพราะจากการสอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายถูกบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ จึงลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมระบุว่าหลังจากออกจากพื้นที่โคกยาวจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมอย่างเร่งด่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยยาง เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนคดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) มาสอบถามว่าสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ เพื่อให้เร่งรัดในการหาความเป็นธรรมต่อการหายไป และจะเชิญนางสุภาพ พร้อมตัวแทนเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสานเข้าร่วมประชุมด้วย

ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง แจ้งอีกว่า หลังจากลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และมาให้กำลังใจชาวบ้านแล้วนั้น หากชาวบ้านมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย หรือหากถูกข่มขู่ คุกคามจากกรณีใดหรือจากหน่วยงานใดก็ตาม สามารถแจ้งมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือคุ้มครองโดยเสมอ

ด้านนางสุภาพ ยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่าการหายตัวไปของสามีเป็นการถูกอุ้มหายอย่างแน่นอน เพราะไม่เคยมีความบาดหมางกับใคร มีเพียงการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน เนื่องจากเมื่อปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารพรานได้อพยพครอบครัวชุมชนโคกยาวออกจากพื้นที่ทำกิน โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่แห่งใหม่ให้ แต่พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้กลับมีเจ้าของอยู่แล้ว พวกเราจึงอยู่ในสภาพไร้ที่ดินทำกิน จนมาถึงปี 2548 สามีของตนพร้อมครอบครัวอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนจึงได้ตัดสินใจกลับเข้ามาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินเดิม และปักหลักต่อสู้เรื่อยมามาถึงปัจจุปันนี้

ภรรยานายเด่น ย้ำด้วยว่า เพราะฉะนั้นนับแต่ต่อสู้กันมา จะมีปัญหาแต่กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น และสามีของตนเป็นคนออกไปเรียกร้องความยุติธรรมมาตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดล้อมกว่า 200 นาย จับตัวชาวบ้านไปขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง 2 คืน แปละส่งอัยการฟ้องดำเนินคดีจำนวนรวม 10 ราย สามีของตนตกเป็นจำเลยที่ 1 และตนเป็นจำเลยที่ 4 ใน ข้อกล่าวหาบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ปัจจุบันได้ยื่นคำร้องขอรับการประกันตัวชั่วคราวเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นการต่อสู้คดีในศาลฎีกา เพื่อยืนยันในการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินเดิม

จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ตามด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า และวันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2558 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศไล่รื้ออีกรอบ สามีตนจะเป็นแกนนำชุมชนเพื่อเข้าร่วมเจรจากับหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย กระทั่งมีมติให้ชะลอการไล่รื้อออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

“ดังนั้นจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากถูกอุ้มหาย เหตุสามีเป็นแกนนำสำคัญที่ร่วมต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินมาโดยตลอด อีกทั้งสามีของตนไม่มีโรคประจำตัวเป็นคนสุขภาพแข็งแรง และจากการค้นหาไม่พบหลักฐานใดใดที่บ่งบอกถึงการเกิดภัยจากสัตว์ร้าย ส่วนการหลงป่าไม่มีความเป็นไปได้เพราะอยู่ในป่าแห่งนี้มานับแต่ปี 2512 จนเมื่อปี 2527 ได้จดทะเบียนสมรสร่วมชีวิตคู่กันมาตลอด โดยยึดอาชีพรับจ้าง ทำการเกษตร ปลูกผัก ขายของและต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินร่วมกันเรื่อยมา “ ภรรยานายเด่น กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมชนบ่อแก้ว: ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในที่ดินอีสาน

$
0
0

ที่ดิน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน มนุษย์จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรที่ดินในการเป็นที่อยู่อาศัย การเป็นแหล่งทำมาหากินเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรที่ดินเป็นปัจจัยมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินนั้นนับวันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการนำที่ดินไปใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าขาย หรือโครงการการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น ถนน เขื่อน ซึ่งอีกนัยหนึ่งถือเป็นการทำลายป่าอย่างชอบธรรมโดยภาครัฐ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินของกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องที่ดินของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ หรือความขัดแย้งในเรื่องที่ดินระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มนายทุนอยู่มากมาย

นอกจากปัญหาการขาดที่ดินทำกินแล้ว ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ต้องสูญเสียที่ดินโดยการแย่งชิงการถือครองที่ดินโดยภาครัฐ เช่น การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของประชาชน อย่างเช่นกรณี การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านทับที่ดินทำกินของประชาชน

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินของประชาชนในภาคอีสาน ทำให้เกิดการออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชาวบ้านในภาคอีสานมีให้เห็นอยู่หลายต่อหลายครั้ง เช่น การต่อสู้กับโครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ของสมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกยอ.) ในปี พ.ศ. 2534 การออกมาเรียกร้องที่ดินทำกินของชาวบ้านกับสมัชชาคนจน (สคจ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และการออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ในปี พ.ศ. 2554

ชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ทำการเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบันการต่อสู้ของชุมชนบ่อแก้วได้พัฒนามาสู่การต่อสู้ด้วยยุทธวิธีการบุกยึดที่ดินในเขตป่าคืน ซึ่งชาวชุมชนบ่อแก้วเคยอยู่อาศัยทำมาหากินมาก่อน แต่ถูกรัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติทับที่ดินทำกิน และบังคับไล่รื้อให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ แต่หลังจากต้องสูญเสียที่ดินทำกินอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจทำการบุกยึดที่ดินคืน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน

จากการศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่าง ๆ ของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กรณี ดังนี้

1. การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูซำผักหนาม ทับที่ดินทำกินของชุมชนในปี พ.ศ. 2516

การประกาศป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว คือความไม่เป็นธรรมเชิงนโยบายจากภาครัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน โดยการผ่านเป็นกฎหมายป่าไม้ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แล้วดึงทรัพยากรที่ดินจากประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ซึ่งกฎหมายและนโยบายในด้านป่าไม้และที่ดินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ

กล่าวโดยสรุป คือนโยบายป่าไม้ที่ดินในสังคมไทยเป็นนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนขึ้นมากมาย เช่นเดียวกันกับการประกาศเขตป่าสงวนแห่ชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เนื่องจากเป็นนโยบายที่ออกมาจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วนำมาบังคับใช้กับชาวบ้าน โดยขาดการมีส่วนร่วม แม้ในปี พ.ศ. 2491 จะได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญา ฯ ฉบับนี้

ในปี พ.ศ. 2521 เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มดำเนินการไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ การข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่บริเวณชุมชนไป การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับชาวบ้านที่กำลังทำไร่ทำนาในบริเวณนั้น ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามบริเวณพื้นที่ป่าเหล่าไฮ่ โดยการปลูกสร้างสวนป่าตามโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ และในปีเดียวกันมีการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร บังคับไล่รื้อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วให้อพยพย้ายออกจากชุมชนไป

นั่นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 25 ว่า “ในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย...” รวมถึงที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 17 ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเองและโดยร่วมกับผู้อื่น และไม่มีบุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจได้”

โดยเฉพาะการบังคับไล่รื้อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว โดยการข่มขู่คุกคามที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในความเห็นทั่วไปในด้านสิทธิในที่อยู่อาศัยของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights) ข้อที่ 4.8 (ก) ว่า “...ไม่ว่าการเป็นเจ้าของในรูปแบบใด ทุกคนต้องมีความมั่นคงในการเป็นเจ้าของระดับหนึ่ง ที่จะประกันความคุ้มครองทางกฎหมายในการที่จะไม่ถูกขับไล่รื้อถอน ขู่เข็ญหรือคุกคามใด ๆ ...” ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ระบุข้อความไว้อย่างชัดเจน ในการที่จะคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกบังคับไร่ลื้อจากที่อยู่อาศัย

แม้กติการะหว่างประเทศฯ ดังกล่าว ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีเมื่อ 5 กันยายน 2542 มีผลใช้บังคับ 5 ธันวาคม 2542 ภายหลังจากเหตุการณ์ปลูกสร้างสวนป่าคอนสารแล้วบังคับไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ แต่แสดงให้เห็นว่าการบังคับไล่รื้อด้วยการข่มขู่คุกคามชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่พิพาทเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการสิทธิมนุษยชน

2. การไม่จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านสมาชิกหมู่บ้านสวนป่า

ก่อนที่ชาวบ้านจะอพยพย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด มีการชักชวนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยจะได้สิทธิทำงานเป็นลูกจ้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ที่ดินทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ โดยตามโครงการจะมีการดำเนินการจัดสรรที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเป็นแปลง จำนวน 100 แปลง จำแนกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิออกเป็นสองประเภท คือ เจ้าของที่ดินเดิมและคนทั่วไปที่เข้ามาอยู่เป็นลูกจ้าง โดยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ โรงเรียนและวัด

แต่ปรากฏว่า จากทั้งหมด 103 ครอบครัวที่ถูกไล่รื้อ มีเพียง 41 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับที่ดินจำนวน 1 ไร่ เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในบริเวณที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดให้ หรือที่เรียกว่าหมู่บ้านสวนป่า และไม่มีผู้ใดได้รับที่ดินจำนวน 5 ไร่ สำหรับทำการเกษตรตามที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ให้สัญญาไว้

ในปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชน จำนวนประมาณ 130 ครัวเรือน ซึ่งขนาดของชุมชนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายและคนจากพื้นที่อื่นที่หวังจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง อ.อ.ป. อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามระบบโครงการหมู่บ้านป่าไม้ก็ยังไม่สามารถจัดสรรที่ทำกินให้กับสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ได้จนกระทั่งปัจจุบัน จึงทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ตามที่สัญญาเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากชาวบ้านที่ยินยอมเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ยังมีครอบครัวขยายและคนจากพื้นที่อื่นที่หวังจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง หมายถึง คนเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคนที่ไร้ที่ดินทำกิน

3. ศูนย์ธรรมรัศมี

การเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่า ได้มีการสร้างโครงการในพื้นที่ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีมติมอบให้ชาวบ้าน 1,000 ไร่ ชื่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแทน โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตดังกล่าวได้มีการใช้พื้นที่จริงในการดำเนินโครงการจำนวน 240 ไร่ ซึ่งในเวลาต่อมาพื้นที่ของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมชื่อว่า ศูนย์ธรรมรัศมี

ศูนย์ธรรมรัศมีตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทโดยมีจำนวนที่ดินถึง 240 ไร่ โดยมิได้ถูกภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐดำเนินการทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มีคนร่ำรวยมีอำนาจไปทำบุญส่งเสริมเป็นจำนวนมาก ต่างกับชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ทำมาหากินมาก่อนที่ถูกไล่รื้อให้ออกจากพื้นที่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาทที่เดียวกัน

4. การไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

การเพิกเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากเจ้าหน้าที่ ๆ มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการบังคับไล่รื้อชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ถือเป็นการไม่รับผิดชอบที่ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในตัวเมืองใหญ่ และทั้งหมดไม่มีที่ดินทำกินเพราะการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินของชาวบ้านในครั้งนั้น

อีกทั้งภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในชุมชนบ่อแก้วถึง 10 ชุด ซึ่งมีคณะกรรมการหลายชุดที่ยืนยันว่ากรณีพิพาทดังกล่าวเป็นความผิดที่เกิดจากการประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด แม้จะมีคำสั่งจากฝ่ายการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีในการที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็ยังคงนิ่งเฉยดูดายตลอดมา

5. การดำเนินคดีกับปฏิบัติการทวงคืนที่ดิน

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีสวนป่าคอนสารจึงได้เข้าทำการทวงคืนที่ดินและปักหลักอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาท โดยมีเป้าหมาย คือ การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน มีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด 2.ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน

3.ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนจำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมตำบลทุ่งพระ และ 4.พื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ให้ชาวบ้านและท้องถิ่นมีสิทธิในจัดการทรัพยากรในรูปแบบป่าชุมชน

ปรากฏว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ฟ้องขับไล่ ชาวบ้านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบุกยึดที่ดิน รวม 31 คน ออกจากพื้นที่พิพาท พร้อมการห้ามมิให้ขยายเขตพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม

ปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านที่ดินที่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วได้รับ คือ การถูกทำให้สูญเสียที่ดินโดยนโยบายและกฎหมายของภาครัฐที่ออกมาดำเนินการบังคับใช้โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การให้ที่ดินทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐโดยการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ปี พ.ศ. 2484 มาบังคับใช้ การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2516 อีกทั้งการดำเนินการใช้มาตรการบังคับไล่รื้อให้ชาวบ้านต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2530 ด้วยยุทธวิธีการข่มขู่คุกคาม การใช้กำลังประทุษร้าย จนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมาโดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชน

ดังนั้น การประกาศเขตป่าสงวนภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2516 จึงเป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ที่อยู่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่มาก่อน 

ข้อเสนอ เพื่อการจัดสรรที่ดินที่เป็นธรรมในเชิงรูปธรรมของการจัดการที่ดิน

1.การจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
โฉนดชุมชน เป็นลักษณะ การบริหารจัดการที่ดินโดยประชาชนในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า โฉนดชุมชน นั้น เป็นการจัดการที่ถูกเสนอขึ้นมาจากขบวนการภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในเรื่องที่ดินทำกิน อย่าง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีเจตนารมณ์ให้ชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนของตนเอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 66

- เพื่อป้องกันปัญหาที่ดินของเกษตรกรหลุดมือ
- เพื่อรักษาพื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรมหรืออาหาร รักษาความมั่นคงทางอาหาร
- เพื่อรักษาที่ดินไม่ให้ถูกคุกคามโดยนายทุนต่างชาติ
- เพื่อคืนอำนาจการจัดการสู่ประชาชน คืนประชาธิปไตยสู่ประชาชนระดับรากหญ้า

2.ระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์
ระบบการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์ คือ ยุทธศาสตร์หนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชุมชนบ่อแก้ว ในการที่จะสื่อสารกับสังคมภายนอกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหว อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านบ่อแก้ว ในการเป็นเกษตรกรที่มีวิถีการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีไม่ทำลายธรรมชาติ

3. ป่าชุมชน
ป่าชุมชน รูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ให้สิทธิคนในชุมชนที่ต้องอาศัยป่าหรือที่ดินรอบ ๆ พื้นที่ป่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่ออาศัยป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่มาของอาหาร เป็นแหล่งเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค หาพืช สมุนไพร และประโยชน์เพื่อการใช้สอยอื่น ๆ โดยภายในชุมชนมีการกำหนดกฎระเบียบ กติกา การนำภูมิปัญญา จารีตประเพณี และวิถีชีวิตในท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาให้คงไว้ซึ่งการฟื้นฟูทรัพยากรในป่าชุมชนได้อย่างเหมาะสมและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

4. โรงเรียนชาวนา
แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ่อแก้วที่ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้โดยยุทธวิธีบุกยึดที่ดินจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนา แต่สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านยังขาดเหลือสำหรับการต่อสู้ ก็คือ การขาดอุดมการณ์ชาวนา การขาดชุดวิเคราะห์ในการแยกมิตรแยกศัตรู ขาดชุดความรู้สำหรับวิเคราะห์เพื่อปรับใช้สำหรับขบวนการต่อสู้ในระยะยาว ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความสำคัญที่จะจัดตั้งโรงเรียนชาวนาสำหรับการต่อสู้ในชุมชนบ่อแก้วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดตั้งทางความคิดทางการเมืองสำหรับการต่อสู้โดยเฉพาะ

5. ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม
ขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในด้านที่ดินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ถูกตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีหลายครั้ง จึงควรมีการจัดตั้งศูนย์กฎหมายเพื่อสังคมขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับชาวบ้าน

 

บรรณานุกรม

กิตติศักดิ์ ปรกติ, สิทธิชุมชน, สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง.. วิวัตนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า, กรุงเทพมหานคร:สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, พ.ศ.2534.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม, โครงการผลิตตำราและเอกสารการสอน คณะรัฐศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2552.
ชลธิรา สัตยาวัฒนาและคณะ, สิทธิชุมชนท้องถิ่นอีสาน ในชุดโครงการสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล พ.ศ. 2547.
เสน่ห์ จามริก, สิทธิมนุษยชนไทยในกระแสโลก, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.

 

ที่มา:  www.citizenthaipbs.net

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย: สิ่งตกค้างที่ชื่อ ‘พี่วินัย’

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทย สัปดาห์นี้ คำ ผกา พูดคุยกับ ภคพงศ์ อุดมกัลยารักษ์ กรณีเปิดเทอมมีนักเรียนเป็นลมเสียชีวิตหน้าเสาธง และครูยืนดักหน้าโรงเรียนตัดผมนักเรียนในวันเปิดเทอม โดยนำเสนอว่า ที่มาของการจัดระเบียบร่างกายนักเรียนไทยในนามของระเบียบวินัย ทั้งทรงผม เครื่องแต่งกาย พิธีหน้าเสาธง มีกำเนิดมาจากระบบโรงเรียน/ข้าราชการสมัยอาณานิคม รวมไปถึงการรับแนวคิดเผด็จการอำนาจนิยมที่เริ่มต้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะจากเยอรมนีและอิตาลี โดยไทยรับเข้ามาในช่วง จอมพล ป. พิบูลสงคราม

แม้ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศต้นทางปรับเปลี่ยนไปสู่การเมือง-สังคมแบบเสรีประชาธิปไตยไปแล้ว แต่ประเทศปลายทางอย่างประเทศไทยยังสลัดแนวคิดอำนาจนิยมภายในโรงเรียนไม่หลุดและใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้แนวคิดจัดระเบียบร่างกายในโรงเรียนดังกล่าว นำไปสู่การสร้างสังคมที่มีระเบียบวินัยจริงหรือไม่ ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย

ติดตามวิดีโอจากประชาไทที่

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานเผยดัชนีเผย 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2559

$
0
0

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลการสำรวจ '2016 ITUC Global Rights Index'ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ เบลารุส, จีน, โคลัมเบีย, กัมพูชา, กัวเตมาลา, อินเดีย, อิหร่าน, กาตาร์, ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนไทยยังติดอันดับกลุ่มประเทศที่มี “การละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ” เหมือนปีที่แล้ว

จากรายงานการสำรวจ 2016 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการสำรวจใน 141 ประเทศ ซึ่งพบว่า เบลารุส, จีน, โคลัมเบีย, กัมพูชา, กัวเตมาลา, อินเดีย, อิหร่าน, กาตาร์, ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ติดอันดับประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงาน โดย กัมพูชา, อินเดีย, อิหร่าน และตุรกี ถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับนี้เป็นครั้งแรก

กัมพูชาได้ผ่านกฎหมายสหภาพแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กระทบต่อสิทธิการชุมนุมของสหภาพแรงงานโดยตรง รัฐสามารถแทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงานได้ง่ายขึ้นทั้งการระงับและยกเลิกสหภาพแรงงาน ส่วนส่วนที่อินเดียบ่อยครั้งตำรวจมักใช้ความรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงของแรงงาน, อิหร่านใช้โทษจำคุกในการควบคุมนักสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมแรงงาน และที่ตุรกีผู้สื่อข่าวก็ถูกควบคุมด้านสิทธิเสรีภาพอย่างหนักรวมทั้งถูกโทษจำคุกเช่นเดียวกันภายใต้ข้ออ้าง "ความมั่นคงของชาติ"

10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ เบลารุส, จีน, โคลัมเบีย, กัมพูชา, กัวเตมาลา, อินเดีย, อิหร่าน, กาตาร์, ตุรกี,  และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ที่มาภาพ: ITUC)

ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากระดับ +5 ถึง 1 (ที่มาภาพ: ITUC)

จากทั้ง 141 ประเทศที่ ITUC เก็บข้อมูล พบว่ากว่าสองในสามแรงงานไม่มีสิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง และมากกว่าครึ่งปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองของแรงงาน ที่หนักกว่านั้นยังมีการฆาตกรรมนักสหภาพแรงงานใน 11 ประเทศ ได้แก่ ชิลี, โคลอมเบีย, อียิปต์, เอล ซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อิหร่าน, เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และตุรกี อีกด้วย

ในดัชนีนี้ ITUC ได้จัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อยอีก 6 ระดับไล่ตั้งแต่รุนแรงมากไปหาน้อย คือตั้งแต่ +5 ถึง 1 สำหรับประเทศไทย ITUC จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ (ระดับความรุนแรงที่ 4) ซึ่งในกลุ่มนี้มี 30 ประเทศด้วยกัน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

ITUC Global Rights Index: Workers’ Rights Weakened in Most Regions, Worst Year on Record for Attacks on Free Speech and Democracy
http://www.ituc-csi.org/ituc-global-rights-index-workers

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์กรแรงงานสากลเผย 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ (ดัชนี 2015)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์สำนักราชวังเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ รพ.ศิริราช ฉบับที่ 28

$
0
0

12 มิ.ย. 2559 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 28 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์สำนักพระราชวัง
เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช
ฉบับที่ 28
 
วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานการถวายการตรวจติดตามพระอาการ ภายหลังจากการถวายการแก้ไขการตีบของหลอดพระโลหิตของพระหทัย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ว่า อัตราการเต้นของพระหทัย อัตราการหายพระทัย และความดันพระโลหิต อยู่ในเกณฑ์ปรกติ พระอาการทั่วไปบ่งชี้ว่าพระหทัยทำงานได้ดีขึ้น ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่าภาวะกล้ามเนื้อพระหทัยของเลือดดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจของคณะแพทย์ฯ
 
อนึ่ง คณะแพทย์ จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติถวายตรวจพระหทัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) เพื่อติดตามดูการทำงานของพระหทัยในโอกาสต่อไป
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
สำนักพระราชวัง
12 มิถุนายน พุทธศักราช 2559
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพลง ‘7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง’ บอกอะไรคนไทยได้บ้างเกี่ยวกับ กกต.?

$
0
0

 

เกริ่นนำ

ในขณะที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในประเด็นปัญหาที่สำคัญยิ่งเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายในการกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนในสังคมไทยต่อไปอีกหลายปี เรื่องที่ดูเหมือนจะ “เล็ก” อย่างเรื่องของเพลงประกอบการรณรงค์ประชามติ หรือเพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” (เพลง 7 สิงหาฯ) ก็กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงที่เข้มข้นเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน เพราะเนื้อหาในเพลง “7 สิงหาฯ” ได้ก่อให้เกิดคำถาม และข้อวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมาก ถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในข้อเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนขอเสนอว่า จากเนื้อหาที่ปรากฏในเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” และจากคำสัมภาษณ์ของ กกต. บางท่านที่ออกมาตอบโต้ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์เพลงดังกล่าว มันสะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญของ กกต. ชุดปัจจุบันอย่างน้อยสามประการก็คือ  1)  ความไม่เป็นกลางในการรณรงค์ออกเสียงประชามติของ กกต2การไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตยของ กกต. และ 3การขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนของ กกต.

 

1. ความไม่เป็นกลางในการรณรงค์ออกเสียงประชามติของ กกต.

“การทำประชามติ” หัวใจของมันก็คือ “การเลือก” ว่าจะรับหรือไม่รับข้อเสนอต่างๆทางการเมืองที่ผู้บริหารปกครองประเทศคิดว่าสำคัญและจำเป็นต้องได้รับฟังเสียงความต้องการของประชาชน และเหนือสิ่งใดจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน เพื่อที่จะได้มีความชอบธรรมเพียงพอในการนำข้อเสนอเหล่านั้นไปใช้ (หรือไม่นำไปใช้ ในกรณีที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ) ทั้งนี้ประชาชนจะเป็นผู้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการตัดสินใจในประชามติเอง ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกทางเลือกใดก็ได้ที่พวกเค้าเห็นว่าดีในมุมมองของพวกเค้า  ในแง่นี้แล้วหน้าที่ของ กกต. จึงมีเพียงจัดดำเนินการทำประชามติอย่างเป็นกลาง และอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายต่างๆที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลและโน้มน้าวให้ประชาชนตัดสินใจในการลงประชามติตามแนวทางของตนได้มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อดีข้อเสียในทางเลือกต่างๆตามมุมมองของตัวเองอย่างเต็มที่ และจากนั้นจึงให้ประชาชนได้ลงความเห็นตามความต้องการของตัวเอง  กกต. จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่อะไรในการไปตัดสินว่า ทางเลือกไหนดี/ไม่ดี ไม่มีสิทธิที่จะออกความเห็นว่าประชาชนควรเลือกอะไร  

อย่างไรก็ตาม เพลงรณรงค์ประชามติหรือเพลง “7 สิงหาฯ” ที่ กกต. ได้ว่าจ้างจัดทำและกำลังนำเสนอผ่านสื่อต่างๆในขณะนี้นั้น เนื้อหาของเพลงส่วนหนึ่งได้สะท้อนถึงความไม่เป็นกลางของ กกต. เพราะมีนัยยะของการโน้มน้าวให้ประชาชนไปลงเสียง “รับร่าง” รัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างฯ ที่แต่งตั้งโดย คสช.                 

“7 สิงหาประชามติร่วมใจประชาธิปไตยมั่นคง
 กกต. ขอรณรงค์ขอเชิญพี่น้องทุกคนไปลงประชามติพี่น้องทุกคนไปลงประชามติ
 รัฐธรรมนูญเป็นกติกานำมาซึ่งรากฐานแห่งการปรองดอง
 รักกันฉันท์พี่ฉันท์น้องสังคมปรองดองมั่นคงอบอุ่น
 บ้านเมืองจะก้าวรุกไปเราต้องร่วมมือร่วมใจค้ำจุน
 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบคำตอบอยู่ที่คุณใช้วิจารณญาณ

บ้านเมืองจำก้ำจะจุนรัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง
 หนึ่งเสียงหนึ่งใจหนึ่งพลังสรรสร้างบ้านเฮาเมืองเฮา

จากข้อความในเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” ที่หยิบยกมาข้างต้น เพลงนี้กำลังบอกผู้ฟังว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกัน เพราะ เป็นกติกานำมาซึ่งรากฐานแห่งการปรองดองที่ทำให้ รักกันฉันท์พี่ฉันท์น้องสังคมปรองดองมั่นคงอบอุ่น  ยิ่งไปกว่านั้น เพลงนี้ยังถึงกับบอกด้วยว่า บ้านเมืองเราจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ต้องรักษา รัฐธรรมนูญนี้ไว้ (บ้านเมืองจะก้าวรุกไปเราต้องร่วมมือร่วมใจค้ำจุน)

ประเด็นสำคัญที่สะท้อนความไม่เป็นกลางของ กกต. ก็คือ รัฐธรรมนูญที่เพลงนี้กำลังพูดถึงความสำคัญของมันและกำลังบอกให้คนรักษา ค้ำจุนไว้นั้น ก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ คสช. กำลังผลักดันให้ประชาชนรับร่างอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญทั่วๆไป ฉบับใดก็ได้ (เพราะถ้า กกต. คิดว่าการรักษาค้ำจุนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญจริง ถ้าคิดว่าการไม่รักษาค้ำจุนรัฐธรรมนูญเป็นการทำให้บ้านเมืองไม่มี กติกาไม่มี รากฐานแห่งการปรองดองอันจะทำให้สังคมไม่ มั่นคงอบอุ่นและบ้านเมืองจะไม่สามารถ ก้าวรุกไปได้  ในช่วงก่อนหน้านี้ กกต. ต้องออกมาประนาม คสช. ตั้งแต่เมื่อก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้วเพราะนั่นคือการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม) และ รัฐธรรมนูญในเนื้อเพลงท่อนนี้ก็ไม่ได้หมายถึงรัฐมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ที่คสช.ประกาศใช้หลังรัฐประหาร (เพราะถ้าต้องการให้รักษารัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้คงอยู่ กกต.จะมาเสียเวลารณรงค์ให้ประชาชนไปลงมติรับ/ไม่รับร่างฯ ฉบับใหม่นี้ทำไมกัน) และแน่นอนว่าย่อมไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆหน้านั้นด้วย

จากท่าทีตอบโต้ต่างๆที่ผ่านมาของ กกต. ผู้เขียนเชื่อได้ไม่ยากว่า กกต. ก็คงจะออกมาแก้ต่างอย่างทื่อๆ เหมือนที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้ ว่าการตีความของผู้เขียนเป็นการตีความผิด เข้าใจผิด คิดมากไป อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากชี้ชวนให้ กกต. ตระหนักรู้ไว้ด้วยว่า “ความหมาย” ของข้อความต่างๆนั้นมันสัมพันธ์กับ “บริบท” ที่รายล้อมด้วย ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมการเมืองไทย ที่รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกของประชาชนอย่างฉบับปี 2540 ถูกฉีกโดยการรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหารชุดก่อนถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารชุดใหม่ และคณะรัฐประหารที่กำลังปกครองประเทศในปัจจุบันกำลังเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ถูกร่างโดยคนที่พวกตนแต่งตั้งขึ้นมาเอง แล้วเอามาให้ประชาชนลงประชามติ โดยไม่มีตัวเลือกรัฐธรรมนูญอื่นใดให้ประชาชนได้เลือกเลย ข้อความตามเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” ที่เน้นย้ำความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่พร่ำบอกว่าเราต้องรักษาค้ำจุนไว้เพื่อให้บ้านเมืองมีกติกา ปรองดอง ก้าวหน้านั้น คงยากที่จะให้แปลความเป็นอื่นไปได้ถ้าไม่ใช่กำลังหมายถึงให้รักษาค้ำจุนร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเสนอโดย คสช. อยู่นี้

เอาเข้าจริงแล้ว จากบทสัมภาษณ์ของนาย ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ออกมาตอบโต้ประเด็นปัญหาการเหยียดภูมิภาคในเพลงรณรงค์ประชามติ ก็ยิ่งตอกย้ำการตีความของผู้เขียนต่อเนื้อเพลงรณรงค์ประชามติไปในทางที่เห็นถึงบทบาทอันไม่เป็นกลางของ กกต. ในการจัดทำประชามติครั้งนี้ เมื่อนายศุภชัยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า:

 “ส่วนการแสดงความคิดเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่อย่างไรก็ว่ากันไป ทั้งนี้สำหรับตนนั้นคำว่ารับหรือไม่รับก็สามารถที่จะเผยแพร่ความเห็นของเราได้ แต่จะต้องไม่บิดเบือน ไม่ชี้นำ ไม่ปลุกระดม เพราะเราต้องรู้ว่า ขณะนี้บ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เราก็ต้องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองเราเกิดความสงบ จะได้เดินไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ แต่หากเรามัวทะเลาะกันประเทศชาติก็ไม่ไปไหน ผู้ชนะก็ชนะบนซากปรักหักพัง”(ศุภชัย สมเจริญ, ประธาน กกต.)[1]

ผู้เขียนคงไม่สามารถตีความหมายเพลงไปในแนวทางอื่นแล้วได้จริงๆ ก็ในเมื่อประธาน กกต. ผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย คสช. ที่มาจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเก่า กำลังบอกให้ประชาชน “ต้องร่วมมือกัน” “จะได้เดินไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้” เพื่อให้ “บ้านเมืองเราเกิดความสงบ” ไม่เช่นนั้น “ประเทศชาติก็ไม่ไปไหน”

 

2) การไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตยของ กกต.

มีหลายคนได้ออกมาพูดถึงปัญหาเรื่องการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติเชิงภูมิภาคในเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” แล้ว ซึ่งทาง กกต. บางท่าน (รวมทั้งผู้แต่งเนื้อเพลง) ก็ออกมาปฏิเสธในทำนองที่ว่าเป็นการเข้าใจผิด คิดไปเอง คิดมากไป ผู้เขียนจะไม่ขอพูดซ้ำกับท่านอื่นๆ ว่าเนื้อเพลงนี้เป็นการเหยียดในเชิงภูมิภาคใดเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะได้มีผู้กล่าวไว้มากแล้ว หากแต่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงปัญหาของเนื้อหาที่ปรากฏในข้อความของเพลงนี้เอง ว่าสะท้อนทัศนคติที่ไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของ กกต. (และผู้แต่งเพลง)

            “พี่น้องอีสานบ้านเฮาอย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา
             ใช้สติพิจารณาเนื้อหาถ้อยความหลักการสำคัญ

            ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ์ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน
             ให้ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทันเฮาคนอีสานอย่าให้ไผมาตั๊วได้

           ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮาอย่าฮือใครเขาชักจูงตี้นำ

ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตามศึกษาเนื้อความเฮื่อมันกระจ่าง

หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ การถือว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าพวกเขา/เธอจะมีฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคมหรือภูมิหลังแตกต่างกันแค่ไหน แต่เวลาที่มาใช้สิทธิทางการเมืองในการตัดสินใจร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย อย่างการออกเสียงเลือกตั้ง หรือออกเสียงประชามติ เสียงของทุกคนล้วนมีค่าเท่ากัน หลักการนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า ประชาชนทุกคนมีความเป็นนายตัวเอง (autonomy) ในการตัดสินใจและการกระทำของตัวเอง มีสำนึกรู้ในการตัดสินใจของตนเอง การตัดสินใจทางการเมืองต่างๆของเขา/เธอมาจากเหตุผลของตัวเอง ตามทางเลือกของตัวเอง ที่ตัวเองเห็นว่าดี ถูกต้อง เหมาะสมตามมุมมอง จุดยืนความเชื่อ  และตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง ดังนั้นในการเลือกตั้งและการลงประชามติภายใต้หลักการประชาธิปไตยนั้น เราไม่สามารถไปกล่าวหาหรือมีสมมติฐานว่าคนอื่นที่เห็นต่างจากเรา ที่เขาเลือกทางเลือกแบบนั้นเพราะถูก ชักจูงตี้นำ” “ชี้ซ้ายชี้ขวาถูกล่อลวงจนไม่ ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทันว่าเป็นพวกไม่ ศึกษาเนื้อความเฮื่อมันกระจ่างได้ เพราะหากเราแต่ละคนต่างมีจุดเริ่มต้นด้วยสมมติฐานที่ไม่เชื่อมั่นไม่ยอมรับในการตัดสินใจของประชาชนคนอื่นๆที่อาจจะเลือกทางเลือกต่างจากเราไม่คิดว่าการตัดสินใจของพวกเขาก็มีค่าเท่ากันกับของเราแล้วเราก็จะมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือลงประชามติที่เห็นต่างจากเราที่ไม่เป็นไปในทางที่เราต้องการและนั่นก็จะเป็นพื้นฐานการไม่ยอมรับกฎกติกาประชาธิปไตยและสังคมของเราจะไม่เหลือกลไกทางการเมืองในการตัดสินใจรวมหมู่ร่วมกันอย่างสันติอีกต่อไปและนั่นก็จะนำไปสู่ความวุ่นวายและความรุนแรงอื่นๆตามมาไม่จบสิ้น  อย่างที่ได้เกิดขึ้นมาในสังคมไทยมาหลายระลอกในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้

จากกรณีข้อถกเถียงเรื่องการเหยียดภูมิภาคในเพลง “7 สิงหาฯ” ที่ กกต. กำลังเปิดรณรงค์ ต่อให้เราเชื่อตาม กกต. (และผู้แต่งเพลง) ว่าข้อความในเพลงไม่ได้มุ่งเน้นดูถูกไปที่ประชาชนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเป็นพิเศษอย่างที่พวกเขาพยายามปฏิเสธกัน[2]ต่อให้ข้อความดังกล่าวในเพลงเป็นการเตือนสติคนไทยทั่วทุกภาคทั้งประเทศอย่างถ้วนหน้าก็ตาม เนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” นั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ดี เพราะการออกมาตักเตือนสั่งสอนประชาชนก่อนการลงประชามติเช่นนี้ มันสะท้อนว่าผู้รณรงค์เพลง “7 สิงหาฯ” มีสมมติฐานที่ไม่เชื่อ ว่าประชาชนสามารถคิดการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และไม่เชื่อว่าประชาชนได้ศึกษาทางเลือกของตนมาแล้ว เนื้อเพลงนี้มันสะท้อนคิดว่า ประชาชนถูกสั่งได้ ถูกครอบงำได้ ซึ่งทัศนะเช่นนี้นั้นเป็นปฏิปักษ์กับหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และทัศนะดังกล่าวก็สอดคล้องกับเหตุผลข้ออ้างที่ถูกใช้ในการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายๆครั้ง ที่มักจะอ้างว่า ประชาชนถูกหลอก ถูกล่อลวงชี้นำโดยนักการเมืองเลว ไม่รู้เท่าทัน ไม่กระจ่างว่าอะไรดีไม่ดี

 

3) การขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนของ กกต.  

กกต. มักจะชอบออกมากล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้ง ว่าตนเองเป็น “องค์กรอิสระ” ทำงานเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นตรงต่อใคร แต่สิ่งหนึ่งที่ กกต. ควรจะต้องตระหนักก็คือ การดำเนินงานต่างๆของ กกต. นั้นจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ผู้ซึ่งทำงานด้วยหยาดเหงื่อแรงกายแล้วต้องเสียภาษีส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆของ กกต. (เพื่อให้ กกต. สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่) มาเป็นเงินเดือนของ กกต. (เพื่อให้ กกต. สามารถเลี้ยงดูปากท้องครอบครัวตนได้อย่างไม่ขัดสน) มาเป็นค่ารถประจำตำแหน่งและคนขับรถ (เพื่อให้ กกต. เดินทางไปทำงานได้อย่างไม่เหนื่อยยาก) มาเป็นค่าจ้างผู้ช่วยและที่ปรึกษาจำนวนมากของ กกต. (เพื่อให้ กกต. ได้รับการสนับสนุนในการทำงานได้มีประสิทธิภาพ) มาเป็นค่าไปดูงานต่างประเทศ (เพื่อให้ กกต. ได้มีแบบอย่างจากสังคมที่ “เป็นประชาธิปไตยกว่า” มาปรับใช้ในบ้านเรา) ฯลฯ

“ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคนที่จะมีความเห็น กกต.คงไม่ไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น อีกทั้งทราบว่าทางศิลปินก็ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดัวย...” (ศุภชัย สมเจริญ, ประธานกกต.)[3]

 “กรณีนี้เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละคนจะมีความเห็น ถึงอย่างไร กกต.คงจะไม่ไประงับการเผยแพร่ เพราะมองว่า เพลงดังกล่าวไม่มีเนื้อหาใดที่เข้าข่ายปลุกระดม ข่มขู่ หรือผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าหาก กกต.ไปกังวล ก็เท่ากับว่า จะต้องยกเลิกทุกเรื่องตามที่คนเขาสะท้อนมา” (ศุภชัย สมเจริญ, ประธานกกต.)[4]

“ขอไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ และ กกต.ก็ไม่ได้หารือถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุม กกต. ด้วย แต่ส่วนตัวยังเห็นว่า เนื้อหาไม่ได้เป็นการดูหมิ่นคนภาคใด และผู้แต่งเพลงก็ยืนยันแล้วไม่ได้เจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด... คิดว่าบางทีสังคมก็อ่อนไหวเกินไป และบางเรื่องก็ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก...” (สมชัย ศรีสุทธิยากร, กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง)[5]

ถึงแม้เนื้อร้องของเพลงรณรงค์ประชามติ “7 สิงหาฯ” ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะถูกแต่งโดยนักแต่งเพลง สัญญาลักษณ์ ดอนศรี ไม่ได้ถูกแต่งโดย กกต. โดยตรง แต่กระนั้น กกต. ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบจากผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่เกิดจากเนื้อหาของเพลงนี้ได้ เพราะ กกต. เป็นผู้ว่าจ้าง เป็นผู้กำหนดทิศทางเนื้อหาของเพลงก่อนที่จะให้ศิลปินแต่งเพลงให้ และเป็นผู้ตรวจรับงานเมื่อศิลปินแต่งเพลงเสร็จ ดังนั้น หากเนื้อหาของเพลงมีปัญหา ก็เท่ากับว่าเป็นปัญหาของ กกต. ด้วย ที่ในการกำหนดเนื้อหาหรือการตรวจรับงาน ไม่รู้จักระวังไหว ไม่ใส่ใจใคร่ครวญในถ้อยคำ ว่าจะไปกระทบจิตใจผู้ฟังกลุ่มไหนได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้มีการปล่อยเพลง “7 สิงหาฯ” ออกมาผ่านสื่อต่างๆและเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าเพลงนี้มีเนื้อหาไปในทางที่ดูถูกหมิ่นหยามพวกเค้า แทนที่ กกต. จะออกมาอธิบายขยายความ ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเหตุผล ว่าข้อความที่ปรากฏตามเนื้อเพลง “7 สิงหาฯ” นั้นมันไม่ได้เป็นการดูถูกเหยียดภูมิภาคอย่างไร กกต. กลับออกมาให้สัมภาษณ์อย่างไร้ความรับผิดชอบอย่างง่ายๆว่า “ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น...” “เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน...” “คงไม่ไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น...” กลับย้อนตำหนิประชาชนที่คับข้องใจว่า “อ่อนไหวเกินไป...” มองว่าความรู้สึกเจ็บปวดจากการได้รับการดูถูกลดทอนศักดิ์ศรีของพวกเขานั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก...” และก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในความผิดพลาดของเนื้อเพลงดังกล่าว


บทส่งท้าย

จากกรณีปัญหาในเนื้อเพลงรณรงค์ออกเสียงประชามติ “7 สิงหาฯ” ที่ถูกว่าจ้างจัดทำโดยกกต. และจากการออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ของ กกต. ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนรู้สึกผิดหวังที่องค์กรทางการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ให้มีเพียงหน้าที่เดียวคือดำเนินการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง กลับไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเป็นกลาง ผู้เขียนรู้สึกเจ็บปวด (เหมือนที่อ. สุรพศ ทวีศักดิ์รู้สึก) ที่กกต. มีทัศนะเชิงดูถูกประชาชนว่าคิดไม่เป็น ตัดสินใจเองไม่ได้ โง่และถูกหลอก และผู้เขียนก็รู้สึกเสียดายเงินภาษีประชาชน เพราะเหล่า กกต. ที่พวกเราประชาชนต้องเหนื่อยยากทำงานเสียภาษีไปให้พวกเขาได้กินอยู่อย่างสุขสบาย ได้ทำงานโดยมีทรัพยากรพร้อมเพรียง กลับไม่ใส่ใจและไม่รับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างพวกเราเลย

 

                                                                                                            


เชิงอรรถ

[1]ผู้จัดการออนไลน์, 9 มิ.ย. 2559, “กกต.ย้ำศาลวินิจฉัยแบบไหนก็ไม่กระทบประชามติ ขออย่าจับผิดเพลงรณรงค์”, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000057813

[2]ประชาไท, 7 มิ.ย. 2559, “เพลงประชามติของกกต. สุรพศบอกเจ็บปวดมากหลังได้ฟัง 'ผู้แต่ง'ยันไม่ได้ดูถูกภาคไหน”, http://prachatai.com/journal/2016/06/66201

[3]ไทยรัฐออนไลน์, 7 มิ.ย. 2559, “กกต.โต้เนื้อหา 'เพลงประชามติ'เหยียดภูมิภาค”, http://www.thairath.co.th/content/633995  

[4]คมชัดลึก, 8 มิ.ย. 2559, “ปธ.กกต.ไม่ระงับเพลง‘7สิงหาประชามติร่วมใจ’”, http://www.komchadluek.com/news/politic/229278

[5]คมชัดลึก, 8 มิ.ย. 2559, “ปธ.กกต.ไม่ระงับเพลง‘7สิงหาประชามติร่วมใจ’”, http://www.komchadluek.com/news/politic/229278

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มรักษ์บ้านเกิดโคราชราว 800 คน เดินรณรงค์ ‘ไม่เอาเหมืองเกลือ’

$
0
0

กลุ่มรักษ์บ้านเกิดคัดค้านการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน 3 ตำบล 2 อำเภอ จ.นครราชสีมา เดินรณรงค์คัดค้านการขออนุญาตประทานบัตรในการทำเหมืองฯ กลัวผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการแตกกันของคนในชุมชน

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2559 เวลา 8.00 น. ที่ วัดพันดุง ต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ชาวบ้านประมาณ 800 คน กว่า 15 หมู่บ้านในนาม ‘กลุ่มรักษ์บ้านเกิดคัดค้านการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน’ จัดขบวนรณรงค์ในพื้นที่ เพื่อสร้างความตื่นตัวในชุมชนถึงผลกระทบจากเหมือง และคัดค้านการให้ประทานบัตรต่อบริษัทเหมืองแร่

วิโรจน์ เรียงสันเทียะ ประชาชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดคัดค้านการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน กล่าวว่า จัดขบวนรณรงค์ทั่วบริเวณ 3 ตำบล ได้แก่ ต.พันดุง ต.หนองสรวง และ ต.ค้างพลู ที่อยู่ใน อ.ขามทะเลสอ และ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา โดยมีการเดินรณรงค์เป็นช่วงๆ สลับการขึ้นรถคาราวาน โดยวัตถุประสงค์ในครั้งนี้เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถ้าหากมีการสร้างเหมืองแร่เกลือหินในบริเวณหมู่บ้าน เช่น ผลกระทบภายในครอบครัวที่มีความเห็นเรื่องการสร้างเหมืองแตกต่างกัน ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากมีกลุ่มที่สนับสนุนให้มีเหมืองและไม่ต้องการเหมืองในพื้นที่

“การรณรงค์ครั้งนี้เพื่ออยากคัดค้านการขออนุญาตประทานบัตรในการทำเหมืองเกลือใต้ดินเพราะเรากลัวว่าจะสร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งในชุมชน ก่อนหน้านี้เมื่อ 3 ปีก่อนมีการสำรวจเหมืองแร่เกลือใต้ดินในพื้นที่ และมีการทำประชาคมโดยฝ่ายบริษัทที่จะขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือใต้ดินนั้น ได้เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านโดยให้ความหวังว่าจะมีงานทำ จะพัฒนาชุมชน สร้างคนในพื้นที่ให้มีชีวิตดีขึ้น และหลังจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย” วิโรจน์ กล่าว

รายงานจากพื้นที่แจ้งว่า ขบวนรณรงค์ผ่าน 4 หมู่บ้าน สถานการณ์ทั่วไปปกติดี ไม่มีการขัดขวางใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ มีเพียงทหาร 4 นายมาดูแลความเรียบร้อย ตำรวจ 2 นายขี่รถตามถ่ายวีดีโอ ประชาชนในหมู่บ้านมีการตอบรับที่ดี ออกมาให้กำลังใจ สอบถามข่าวสาร บ้างก็มาแจ้งข่าวสารด้วยว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไหนมาให้ข้อมูลผลกระทบใดๆ ขบวนเคลื่อนไปจนสิ้นสุดที่บริเวณบริษัทกำลังขุดเจาะสำรวจชั้นหินและระดับและคุณภาพของชั้นน้ำบาดาล ซึ่งอยู่ที่ปลายนาท้ายหมู่บ้าน ห่างออกไปจากตัวหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร เพื่อทำการอ่านแถลงการณ์และประกาศเจตนารมณ์และจุดยืนในการต่อต้านคัดค้านการทำเหมืองเกลือหินของบริษัทดังกล่าว โดยชาวบ้านคาดว่าพื้นที่ตรงบริเวณขุดเจาะดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ทำเหมืองในอนาคตด้วย เนื่องจากบริษัทฯ ได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวที่เป็นรอยต่อสองตำบลประมาณ 600 ไร่ เอาไว้หมดแล้ว

ทั้งนี้ ขณะนี้สัมปทานทำเหมืองแร่ของบริษัท ซอลท์เวิร์คส จำกัด อยู่ในขั้นตอนการขอประทานบัตร ยังไม่ได้ประทานบัตร ที่ผ่านมามีการทำประชาคมหมู่บ้านของ ต.หนองสรวง และต.พันดุง ไปเมื่อปี 2556 เพื่อขอประทานบัตรในพื้นที่ 2 แปลง เนื้อที่ 600 ไร่ ซึ่งผลลัพธ์คือชาวบ้านไม่เห็นด้วยที่จะให้ดำเนินการขอประทานบัตรต่อไป แต่พบว่ามีความพยายามในการผลักดันให้ อบต.หนองสรวง และเทศบาลพันดุงเปิดประชุมสภา เพื่อให้ลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการขอประทานบัตร

คำขอประทานบัตรดังกล่าวจะขุดเกลือหินใต้ดิน 2,500 ตันต่อวัน ในระดับความลึกต่ำกว่า 140 เมตร จากผิวดิน อย่างไรก็ดี ในระหว่างการผลักดันเพื่อขอประทานบัตร บริษัท ซอลท์เวิร์คส จำกัดได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อขุดเจาะสำรวจแร่แปลงใหม่ ซึ่งมีอายุในการสำรวจ 5 ปี ในพื้นที่ 1 แปลง เนื้อที่ 10,000 ไร่ คร่อมพื้นที่ ต.หนองสรวง และต.พันดุง และปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะสำรวจจึงทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัดค้านดังกล่าว

บริษัทแห่งนี้เป็นเจ้าของเกลือยี่ห้อปรุงทิพย์และเกลืออุตสาหกรรมที่ได้จากแหล่งเกลือพิมายของบริษัท เกลือพิมาย จำกัด ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครรราชสีมา และมีบริษัทลูกอีกแห่งหนึ่งคือบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ซึ่งได้ประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน 1 แปลง พื้นที่ 200 กว่าไร่ ที่ บ.แหงเหนือ หมู่  1 และ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายมีไว้เพื่อผดุงธรรม?: โศกนาฏกรรมปกาเกอะญอที่ทุ่งป่าคา

$
0
0

1.

สองเดือนที่แล้วเมื่อครั้งไปเยี่ยมพี่น้องปกาเกอะญอที่ทุ่งป่าคา (อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน) ที่ออกจากคุก หลังจากที่ถูกขังนาน 1 ปีเต็ม ด้วยข้อหาครอบครองไม้ (ไม้ท่อนปลูกบ้าน) เมื่อเราถามกับพ่อคนหนึ่งวัย 60 ปี ว่าเมื่อออกมาแล้ว วาดหวังอยากจะทำอะไรที่สุด พ่อบอกว่า อยากมาทำไร่มากที่สุด เพราะตลอดเวลที่อยู่ในคุกก็เป็นห่วงทางบ้านสารพัดว่าจะอยู่กินกันอย่างไร ใครจะทำไร่ (ปลูกข้าว) ในปีนี้ (ซึ่งครอบครัวแก้ไขโดยการกู้ยืมเงินมาซื้อข้าวกิน)

แต่เมื่อได้ออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อคือ พ่อไม่มีแรงเลย จับขวานฟันไม้ฟืนได้ไม่กี่ทีก็เวียนหัว ต้องกลับมานั่ง บางทีเดินๆ ไปก็เวียนหัว โลกหมุน ตอนอยู่ในคุกก็ได้อาศัยยาจากโรงพยาบาลประคับประคองร่างกาย เมื่อออกมา ก็ยังต้องอาศัยยา กินอยู่ทุกวัน

เอาเข้าจริง เมื่อออกจากคุกมา ความหวังจะได้กลับมาทำไร่เหมือนเดิมก็ไม่อาจเป็นไปได้แล้ว - พ่อพูดด้วยน้ำเสียงเหน็ดเหนื่อย และเหมือนอดทนรับชะตากรรมไป

การอยู่คุก 1 ปี ไม่ได้แปลว่า มันเอาเวลาของคนๆ นั้นไปแค่ 1 ปี แต่มันหมายถึง มันได้ทำลายสุขภาพจิต สุขภาพกายของคนๆ นั้นล่วงหน้าไปอีก 10 ปี -- อาหารการกินไม่มีทางเหมือนอยู่บ้าน อากาศห้องหับที่หลับที่นอนไม่มีทางเหมือนอยู่บ้าน โรคภัยไข้เจ็บ โรคติดต่อ มีโอกาสรับเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายง่ายกว่าปกติ

อาทิตย์ก่อนพ่อหลวงนงเล่าอย่างมีอารมณ์ขันว่า อยู่นี่ได้กินอาหารคลีนๆ เป็นข้าวนึ่งแดง กับแตงผัด กะหล่ำผัด ผัดผักหลายชนิด (เน้นผักๆ) และมีชีวิตที่แอคทีฟ เพราะยืนกับนั่งตลอด นอนไม่ได้ คนมันแน่น

พ่อสองเมืองวัย 70 ปี ไม่ค่อยสบาย มีน้ำมูกไหล พ่อยิ้มบอกว่า พ่อไหวๆ แต่น้ำตาพ่อก็ไหล
....
ทุกวันนี้ คุกเมืองไทยมีนักโทษล้นคุก แต่ประเทศนี้ยังอุดมไปด้วยปัญหาในทุกๆ วัน ใครกันคือคนอยู่ในคุก และใครกันนอนตีพุงอยู่เรือนหรู

 

2.

ชั่งใจอยู่นานว่าควรเผยแพร่ภาพนี้หรือไม่

เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สามีถูกจับเข้าคุกต่อกรณีปัญหาการครอบครองไม้ผิดกฎหมาย (ไม้สำหรับสร้างบ้าน) ของชาวปกาเกอะญอบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งศาลตัดสินจำคุกประมาณ 21 คน 

แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวออกมาบ้างบางส่วน (ครบตามกำหนดโทษ 1 ปี) แต่คนที่รับโทษมากกว่านี้ ยังคงอยู่ในคุกต่อไป

ปัญหาการลักลอบตัดไม้สักของแม่ฮ่องสอน เป็นปัญหาใหญ่ มีมาอย่างยาวนาน และโด่งดัง เป็นที่จับตา เพ่งเล็ง แต่ว่าสุดท้าย คนที่เข้าคุกก็ดูจะเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ไม่สามารถเอาผิดกับคนที่เป็นต้นตอหรือสาเหตุที่แท้จริงได้

ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า “ไม้มันเดินไปเองไม่ได้ ก่อนจะเดินทางออกจากแม่ฮ่องสอนมาสู่เชียงใหม่ มันต้องผ่านด่านกี่ด่าน ต้องมีคนเซ็นใช่หรือไม่ ทำไมมันเล็ดลอดออกไปแล้วไม่มีคนเหล่านี้มีความผิดบ้างเลย”

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังมีข่าวการตัดไม้เพื่อขยายถนนที่แม่เงา สบเมย ปรากฎว่ามีจำนวนไม้ถูกตัดมากเกินจำนวนตอที่ทางอุทยานแห่งชาติแม่เงาอนุญาตให้ กฟภ. ตัด ซึ่งที่สุดแล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาแถลงว่ากำลังอยู่ระหว่างพิสูจน์ข้อเท็จจริง หลังข่าวนี้เกิดขึ้นไม่นานชาวบ้านสามสี่รายละแวกนั้นก็โดนหมายจับเพราะครอบครองไม้ปลูกบ้าน (ซึ่งเป็นไม้แผ่น ไม้กระดานปลูกบ้าน สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ไม้ที่ตัดในปีนั้น)

เธอ ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่ อ.สบเมย และถูกดำเนินคดีบอกว่า “ถ้าว่ากันตามจริงที่สุด คนแถวนี้ส่วนใหญ่ก็ซื้อไม้จากชาวบ้านด้วยกันแบบนี้แหละ ใครจะออกเดินทางจากที่นี่ (ระยะทางกว่าสองร้อยกว่ากิโลเมตรและใช้เวลาเดินทางนานราวหกเจ็ดชั่วโมงต่อหนึ่งเที่ยวขาไป) เพื่อไปซื้อไม้จากเชียงใหม่กลับมาสร้างบ้าน มันไม่มีใครทำหรอก” (แปลว่า ให้คนป่าไปซื้อไม้ในเมืองมาปลูกบ้าน ไม่มีใครทำกันหรอก)

กฎหมายเมืองไทยเป็นกฎหมายที่ตลกที่สุดและไม่เอื้ออำนวยต่อคำว่าความเป็นธรรมอย่างแท้จริงเลย

ปีทีผ่านมาเราได้ยินคำว่า ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มันจะเป็นจริงได้สักแค่ไหนก็ไม่รู้

ทนายความนักสิทธิมนุษยชนท่านหนึ่ง บอกว่า เขาหวังจะเห็นศาลสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ซึ่งปีที่แล้วมีการร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ขณะเดียวกันทางสำนักงานยุติธรรมก็ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม (ไม่เอาศาลสิ่งแวดล้อม) เช่นกัน กลายเป็นสอง พ.ร.บ. คู่ขนาน

หากมีศาลสิ่งแวดล้อม วิธีการพิจารณาคดีจะได้ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาและประเมินถึงความเสียหายด้วยหากมีการพิจารณาคดีล่าช้า

จนป่านนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร

ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ เคยบอกไว้ว่า มันจะดีมากกว่า ถ้าการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยมีการพิจารณาจากบริบทวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย ไม่ใช่เอากฎหมายมาเป็นกฎเข้ม ความผิดใดไม่ได้เข้าข่ายหนักหนาก็ไม่ควรเอาคนเข้าคุก เพราะทุกวันนี้ในคุกมีนักโทษจนล้นเกินอยู่แล้ว

ขณะที่อาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คาดหวังไปถึงว่า ควรปฏิรูปการศึกษาของนักศึกษากฎหมายไทยด้วย คนที่จะไปเป็นทนายความ คนที่จะไปเป็นผู้พิพากษา พวกเขากำชะตาชีวิตของบุคคลอื่นอยู่ พวกเขาควรรู้ว่า ตนเองกำลังเรียนกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่นักตีความตัวอักษร

วันที่แวะไปเยี่ยมเยียน เธอคนในภาพเอายาแก้เครียดมาให้ดูพร้อมบอกว่า คนในคุกก็ต้องกินยา คนอยู่ที่บ้านรอการกลับมาของสามีญาติพี่น้องก็ต้องกินยา เป็นยาแก้เครียด แก้ซึมเศร้าและอื่นๆ เวลาเล่าอะไรก็ตาม เธอเหมือน
พยายามกลั้นสะอื้น ไม่ร้อง และบอกว่า เขาตัดสินอย่างนี้ก็ต้องยอมรับ (เหมือนจะรู้ว่าเธอไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินอะไรได้) เวลาที่รู้สึกเศร้าจะรีบเล่นโทรศัพท์ สไลด์ไปเร็วๆ แต่ที่สุด พอล้มตัวนอนเปล เธอก็ร้องไห้

เธอเป็นลูกสะใภ้ของยายวัย 70 ปี ซึ่งยายมีลูกชายและลูกสาวเข้าคุกถึง 4 คน

เธอบอกว่าทุกๆ วัน ยายชราจะนั่งเหม่อ รอลูกกลับบ้าน วันนั้น ฉันอยู่บ้านตรงข้าม ยายก็ยังอุตส่าห์เดินมาหา ขึ้นเรือนมาอย่างน่าแปลกใจ เมื่อมาถึงเธอเดินมาจับมือฉัน ถามเป็นภาษาปาเกอะญอ ฉันไม่เข้าใจ จึงถามพี่วิชัยว่ายายถามว่าอะไร พี่วิชัยบอก ยายถามว่า “เมื่อไหร่ลูกชายจะกลับบ้าน”

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ขอสหรัฐฯ ประกันความปลอดภัยปชช. หลังเหตุกราดยิงไนต์คลับ LGBT ที่ออร์แลนโด

$
0
0

13 มิ.ย.2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา แถลงหลังเหตุกราดยิงในไนต์คลับสำหรับชาว LGBT ที่เมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 53 คน และกลายเป็นเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ สมัยใหม่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปกป้องคุ้มครองประชาชนจากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปืน

โดย จามิรา เบอร์ลีย์ นักรณรงค์อาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “เหตุกราดยิงที่ออร์แลนโดเมื่อคืนนี้แสดงให้เห็นถึงการเหยียดหยามชีวิตมนุษย์อย่างร้ายแรงที่สุด เราขอส่งแรงใจไปยังเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าวและชาวออร์แลนโด แต่แรงใจจำเป็นต้องถูกหนุนด้วยการลงมือทำจริงเพื่อปกป้องผู้คนจากเหตุรุนแรงเช่นนี้”

แอมเนสตี้สหรัฐอเมริการะบุด้วยว่าในฐานะที่เป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICCPR) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ICERD) รัฐบาลสหรัฐฯ มีพันธกรณีที่จะต้องปกป้องประชาชนจากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปืน

“รัฐบาลสหรัฐฯ ควรปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและระบุให้เหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปืนเป็นวิกฤตทางสิทธิมนุษยชน มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิรูปแนวทางของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และกฎหมายท้องถิ่นในปัจจุบัน ให้มีการรับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงของคนทุกคน ไม่ควรมีใครตกอยู่ในอันตรายเพียงเพราะเดินบนถนน เดินทางไปโรงเรียน หรือกำลังเต้นอยู่ในไนต์คลับ”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กระทรวงอุตฯ-สรรเสริญ’ ยันรัฐบาลปิดเหมืองทองอัคราฯ จ.พิจิตร สิ้นปี 59 เช่นเดิม

$
0
0

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมระบุ มติ ครม. 8 มิ.ย.2559 ให้ยกเลิกมติ ครม.10 พ.ค.2559 เป็นเพียงการแก้ไขรายละเอียดบางประการ พล.ต.สรรเสริญ ยืนยันปิดเหมืองทอง บ.อัคราฯ ปลายปี 2559 ตามคำสั่งเดิม

13 มิ.ย. 2559 สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GREENS NEWS) รายงานว่า สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงคำสั่งด่วน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาให้ยกเลิกมติ ครม.10 พ.ค.2559 เรื่องรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั้น  สมชาย กล่าวยืนยันว่าไม่มีการต่อสัมปทานเหมืองทองคำ จ.พิจิตร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

สมชาย เปิดเผยว่า การยกเลิกมติ ครม. 10 พ.ค. 2559 เป็นเพียงการแก้ไขรายละเอียดบางประการ แต่สาระสำคัญเรื่องการดำเนินการตามข้อเสนอของ 4 กระทรวง คือการไม่ต่ออายุประทานบัตร การไม่อนุมัติอาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตร ยังคงมีผลเช่นเดิม

สมชาย กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตามมติของ 4 กระทรวง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการปรับแก้มติ ครม.เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในส่วนของรายละเอียด จากเดิมที่ระบุว่า รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงต่อครม.โดยวิดีทัศน์ เปลี่ยนเป็น รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีการนำเสนอเอกสารต่อ ครม.เท่านั้น

“จากนี้ทุกอย่างยังคงเดิมตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวง และเป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมายกำหนด ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงฯ ได้มีการต่อใบอนุญาตกิจการโลหกรรม เป็นเวลา 7 เดือนไปแล้ว และกำลังดำเนินการตามกฎหมายในการไม่อนุญาตสัมปทานทำเหมืองที่บริษัทขอต่ออายุใบอนุญาต” สมชาย กล่าว

สรรเสริญ ยันปิด ปลายปี 59 ตามคำสั่งเดิม

เมื่อ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรารายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า ได้สอบถามไปยัง อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุหนังสือฉบับนี้มิได้เป็นคำสั่งยกเลิกการปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในสิ้นปี 2559 ตามที่เข้าใจและมีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ แต่เป็นขั้นตอนทางเทคนิคเท่านั้น

“ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาฯ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีอำนาจในการสั่งยุติการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำอยู่แล้ว ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีจึงไม่ต้องมีมติสั่งการใด ๆ แต่เป็นเพียงการรับทราบมติตามที่เสนอเท่านั้น” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว .

สำหรับ มติ ครม. 10 พ.ค.2559 ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบข้อเสนอของ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรของเหมืองแร่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายเวลาให้บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ถึงปลายปี 2559 เท่านั้น เพื่อที่จะนำแร่ออกจากพื้นที่ และเยียวยาพนักงานก่อนการปิดกิจการ

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหะกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และกระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2559 กลับมีการยกเลิก มติวันที่ 10 พ.ค.2559 โดยหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0505/ 20618 ลงวันที่ 8 มิ.ย.2559 ระบุตอนหนึ่งว่า ครม.พิจารณาเห็นว่ามติเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 เรื่องรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรายงานของ รมว.อุตสาหกรรม เกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ในรูปแบบวิดีทัศน์ โดยไม่มีเอกสารเสนอคณะรัฐมนตรี จึงให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว และมีมติเป็นดังนี้

1.รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานในรูปแบบวิดีทัศน์ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้เป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน 2.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: เปิดปมตำรวจไทย 'ฆ่าตัวตาย'มากที่สุด สูงกว่าทั่วไป 2 เท่า

$
0
0

รายงานพิเศษจาก TCIJ พบระหว่างปี 51-59 มีตำรวจฆ่าตัวตาย 279 นาย เฉลี่ยฆ่าตัวตายปีละกว่า 32 คน ยศดาบตำรวจ-สายป้องกันปราบปรามฆ่าตัวตายมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป ตำรวจมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ถึง 2 เท่า

หากคุณมีอาชีพตำรวจ อายุระหว่าง 41- 50 ปี ทำงานในสายงานป้องกันและปราบปราม มียศดาบตำรวจ และสังกัดตำรวจภูธรภาค 5 โปรดระวัง เพราะจากการเก็บตัวเลขสถิติที่ผ่านมา คุณจัดอยู่ใน ‘แบบแผน’ ของกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง  ที่ จะฆ่าตัวตายมากที่สุดในประเทศไทย!

‘ตำรวจ’ อาชีพที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุด

อาชีพตำรวจถือว่าเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูง ทั้งความกดดันในหน้าที่การงานและปัญหาส่วนตัว (อ่านเพิ่มเติมจากรายงานเก่าของ TCIJ 'ปมตร.สอบสวนเครียด-นายกด-งานหนัก จี้ปฏิรูป 3 แนว ยุบ-ย้าย-แยกกองใหม่') ประกอบกับการคลุกคลีอยู่กับเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่เสมอๆ รวมทั้งปัจจัยสำคัญ นั่นก็คือตำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายที่สุด บ่อยครั้งเราจึงได้ยินข่าวคราวว่า ตำรวจมักจะเลือกจบชีวิตเพื่อหนีปัญหาต่าง ๆ ด้วยการฆ่าตัวตาย

วงการตำรวจเอง ก็เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นการฆ่าตัวตายในวิชาชีพตนเองเป็นวาระสำคัญ มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีการศึกษาถึงปัญหานี้อย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยในปี 2556 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่ง ตร. ที่ 328/2556 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความประพฤติของข้าราชการตำรวจและพัฒนากำลังพล ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.) สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สกพ.) โรงเรียนนายร้อยตํารวจ และโรงพยาบาลตำรวจ ศึกษาสาเหตุการฆ่าตัวตายของตำรวจ รวมทั้งยังมีการให้จัดตั้งโทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 1599 ขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยให้มีนักจิตวิทยาปฏิบัติหน้าที่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีปัญหาความเครียด

 

ข้อมูลจากการศึกษาสาเหตุการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่าระหว่างปี 2551-2559 มีตำรวจฆ่าตัวตายรวม 279 คน (ปี 2559 ข้อมูลถึง ณ เดือน  พ.ค.) และเมื่อพิจารณาสถิติระหว่างปี 2551 ถึงสิ้นปี 2558 มีตำรวจฆ่าตัวตาย 260 คน เฉลี่ยแล้ว 8 ปีที่ผ่านมาตำรวจฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 32.5 คน ซึ่งเมื่อเทียบเป็นสัดส่วน พบว่าตำรวจไทยฆ่าตัวตาย 13.6 นายต่อตำรวจแสนนาย ส่วนค่าเฉลี่ยเมื่อปี 2557 ของคนไทยโดยรวมนั้นฆ่าตัวตายเพียง 6.08 คนต่อประชากรแสนคนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าตำรวจไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนไทยปกติถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

 

(อ่านต่อรายงานนี้จนจบได้ที่ เปิดปมตำรวจไทย'ฆ่าตัวตาย'มากที่สุด สูงกว่าทั่วไป 2 เท่า-ดันสตช.เร่งแก้ไข)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุคคลอ้างเป็นตำรวจ ขอดูธงแดง'สามัญชน'ของขบวนการอีสานใหม่

$
0
0

บุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังสะพุง ดักรอจุดดื่มน้ำ เข้าสอบถามข้อมูลขบวนเดินอีสานใหม่ พร้อมขอดูธงแดง ‘สามัญชน’ ด้านทหารเข้าตรวจสอบที่พักของคืนนี้ 4 รอบ ระบุเดินทางถึงวังสะพุงเมื่อไหร่จะเตรียมต้อนรับและดูแลความปลอดภัย

13 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 09.00 น. ขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน walk for rights โดยขบวนการอีสานใหม่ ได้ออกเดินทางเป็นวันที่ 8 โดยออกเดินทางจาก อำเภอภูกระดึง มุ่งหน้าสู่อำเภอหนองหิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเดินทางได้มีบุคคลซึ่งระบุว่าตนเองเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.วังสะพุง 3 นาย มารออยู่บริเวณจุดพักดื่มน้ำ โดยพยายามสอบถามว่า ขบวนการอีสานใหม่จะเดินไปถึงที่ไหน ด้านตัวแทนกลุ่มได้ตอบว่าเดินไปเรื่อยๆ ทั่วภาคอีสาน บุคคลดังกล่าวจึงตอบกลับว่า ไม่เชื่อ พร้อมทั้งระบุด้วยว่า จะเดินไปเรื่อยๆ ได้อย่างไร ต้องมีจุดมุ่งหมาย ทั้งนี้บุคคลดังกล่าวยังได้ขอตรวจสอบ ธงสีแดง ซึ่งมีการเขียนคำว่า ‘สามัญชน’ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้ยึดธงผืนดังกล่าวไป

ตัวแทนกลุ่มอีสานใหม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติ่มว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร เดินทางเข้าไปที่ที่พักของกลุ่มสำหรับคืนนี้ ทั้งหมด 3 รอบ และเข้าไปอีกครั้งช่วงเช้าที่ผ่านมาอีก 1 รอบ โดยพยายามถามข้อมูลต่างๆ เช่นจะเดินไปที่ไหนบ้าง มากันกี่คน พร้อมทั่งระบุด้วยว่า จะเตรียมต้อนรับ และดูแลความปลอดภัยให้ในเขตพื้นที่อำเภอวังสะพุง

ทั้งนี้กิจกรรม walk for rights ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยขบวนการอีสานใหม่มีเป้าหมายว่าจะเดินทั่วภาคอีสานระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร 35 วัน เพื่อพบปะประชาชนในภาคอีสาน และเปิดปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ และนโยบายของรัฐทั่วภาคอีสาน รวมทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดบทเรียนความล้มเหลวในเวเนซุเอลา รัฐฝ่ายซ้ายละตินอเมริกายังมีความหวังหรือไม่

$
0
0

จอห์น เฟฟเฟอร์ จากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศเขียนถึงวิกฤตในเวเนซุเอลา ชี้ว่านอกจากภาวะควบคุมไม่ได้ภายนอกแล้ว รัฐบาลมาดูโรเองบริหารผิดพลาดและเอาแต่โทษสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ แอบพยายามช่วยกอบกู้วิกฤตนี้เพราะผลประโยชน์ที่มีในประเทศ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ต่อต้านมาดูโรไม่ได้สะท้อนว่าผู้คนจะต่อต้านฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาแต่อย่างใด

12 มิ.ย. 2559 บทความจากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy In Focus: FPIF) ระบุถึงสภาพใกล้ล่มสลายของเวเนซุเอลา จากการบริหารผิดพลาดของผู้นำคนใหม่ยุคหลังชาเวซ

จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการ FPIF ระบุว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำมันร้อยละ 95 แต่ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงก็ส่งผลกระทบทางการเงิน อย่างไรก็ตาม เวเนซุเอลายังคงมีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมาก ในระดับที่มากกว่าซาอุดิอาระเบียเสียอีก รวมถึงการที่เวเนซุเอลามีการเปลี่ยนแปลงให้การผลิตไฟฟ้าบางส่วนมาจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานน้ำ ทำให้แม้ว่าทรัพยากรน้ำมันมักจะถูกเก็บไว้ส่งออกหรือเข้าถึงยากแต่ก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ทว่าภาวะภัยแล้งก็ทำให้เวเนซุเอลาต้องเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในปัจจุบัน

ภาวะขาดแคลนดังกล่าวนี้บวกกับการขาดความสามารถในการบริหารของรัฐบาลชุดนิโกลาส มาดูโร ผู้มาแทนฮูโก ชาเวซตั้งแต่ปี 2556  ทำให้เวเนซุเอลาเกิดวิกฤตหนัก ถึงแม้ว่ามาดูโรจะพยายามคงไว้ซึ่งการสนับสนุนของประชาชนด้วยการทำให้ราคาการบริโภคต่ำและค่าแรงหมุนเวียนโดยการผลิตธนบัตรและคงการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวลดลง เกือบร้อยละ 6 ในปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงอีกร้อยละ 8 ในปีนี้

เฟฟเฟอร์ระบุว่าผู้คนในเวเนซุเอลาที่ยังคงมีความเป็นอยู่ที่ดีในตอนนี้เห็นจะมีแต่พวกตลาดมืดที่ขูดรีดด้วยการเอาสินค้าจำเป็นมาขายด้วยราคาที่สูงขึ้น พวกนักการเมืองวงในก็มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงเงินแข็งค่าได้ซึ่งอดีตที่ปรึกษารัฐบาลรายหนึ่งประเมินไว้ว่ามีมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ มีการคอร์รัปชันอย่างน่ารังเกียจในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เช่น อดีตหัวหน้าหน่วยปราบปรามยาเสพติด อดีตโฆษกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ทหารหลายนาย และหลานของภรรยาผู้นำสองคนต่างก็ถูกตั้งข้อหาค้ายาเสพติด

บทความระบุถึงสภาพความโกลาหลในเวเนซุเอลาช่วงวิกฤตว่าซูเปอร์มาร์เก็ตขาดแคลนอาหารทำให้เกิดการต่อคิวยาวและเกิดจลาจลแย่งชิงอาหาร มีอัตราอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น โครงการสาธารณะต่างๆ ของรัฐที่เคยได้รับความชื่นชมอย่างมากในสมัยรัฐบาลชาเวซก็หายไป อาคารราชการเปิดทำการเพียง 2 วันต่อสัปดาห์เพื่อประหยัดไฟฟ้า ผู้คนตกลงสู่ห้วงความยากจนเนื่องจากทั้งเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย ระบบการแพทย์ใกล้ล่มเพราะขาดแคลนยาสำคัญ ทารกแรกเกิดเสียชีวิตรายวันเพราะระบบไฟฟ้าในโรงพยาบาลขัดข้อง

แต่มาดูโรกลับพยายามกลบปัญหาเหล่านี้ด้วยการคุยโว ชูเรื่องชาตินิยม และพึ่งพาวิธีการออกกฎตามใจชอบ มีการฝึกกองกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และความคิดเห็นของเขาอย่างเช่นการขอให้ผู้หญิงเลิกใช้ไดร์เป่าผมเพื่อประหยัดไฟทำให้ความคิดของเขาถูกนำมาล้อเลียนโดยพิธีกรรายการโทรทัศน์ จอห์น โอลิเวอร์

ถึงแม้ว่ามาดูโรจะเข้าสู่ตำแหน่งตามกระบวนการเลือกตั้งที่ดูค่อนข้างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นเขากลับทำตามแบบอำนาจนิยมด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยืดเยื้อไปเรื่อยๆ จนถึงอย่างน้อยช่วงปลายปี 2560 อีกทั้งยังใช้พรรคพวกในศาลสูงสุดเพื่อประกาศให้ผลการเลือกตั้งในรัฐอมาซอนาสโมฆะ เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับเสียงข้างมากในสภาพอที่จะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างการถอดถอนศาลสูงสุดได้ ศาลสูงสุดยังให้อำนาจมาดูโรในสถานการณ์ฉุกเฉินและป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านมีอิทธิพลต่อประเทศมาก

บทความใน FPIF ระบุว่าวิกฤตในครั้งนี้มีบางเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมาดูโร เช่น ราคาน้ำมันและปริมาณน้ำฝนน้อยแต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่เป็นผลมาจากมาดูโรหรืออาจจะรวมถึงสิ่งตกทอดจากนโยบายของชาเวซด้วย คือเรื่องการที่เวเนซุเอลาไม่สามารถหลุดออกจากการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมันได้ และถึงแม้ว่าระบอบชาเวซจะทำให้ผู้คนหลุดจากความยากจนได้มันยังสร้างระบอบอุปถัมภ์ในแบบใหม่ขึ้นมาจนทำให้ไม่สามารถสร้างสถาบันประชาธิปไตยที่คงทนหรือเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ชาเวซยังแจกจ่ายผลกำไรจากอุตสาหกรรมน้ำมันและไม่ได้เตรียมพร้อมรับมืออนาคต

บทความระบุด้วยว่า ทั้งนี้มาดูโรยังมักจะกล่าวโทษสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ เช่นกล่าวหาว่าแอบช่วยเหลือพวก "ฟาสซิสต์ฝ่ายขวา"ในประเทศ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ เคยสนับสนุนการรัฐประหารชาเวซในปี 2545 จริง และในสมัยของรัฐบาลโอบามาก็ยังอยากให้เวเนซุเอลามีรัฐบาลเป็นกลุ่มอื่น แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับวิกฤตในปัจจุบันของเวเนซุเอลาเลย สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรเวเนซุเอลาแต่ก็เป็นการคว่ำบาตรคนไม่กี่คนในประเทศเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามสมัยรัฐบาลโอบามาเริ่มมีการพยายามคืนสัมพันธ์กับประเทศที่เคยบาดหมางกันอย่างคิวบาแต่ก็ยังคงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจคิวบาอยู่แม้จะคืนสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว ในขณะที่เวเนซุเอลากับสหรัฐฯ มีความใกล้ชิดมากด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแต่ทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้ส่งทูตไปประจำในอีกประเทศมาตั้งแต่ปี 2553

FPIF ยังเปิดเผยอีกว่าในช่วงเดือน มี.ค. 2558 ช่วงที่สหรัฐฯ พยายามคืนสัมพันธ์กับคิวบา มาดูโรพยายามเข้าหาสหรัฐฯ อย่างเงียบๆ เพื่อดูว่าจะสามารถหาประโยชน์จากนโยบายผูกมิตรนี้ได้หรือไม่ สหรัฐฯ ก็ตอบสนองมาดูโรในทางบวกด้วยการจัดการเจรจาหารือสองฝ่ายแต่ฝ่ายหนึ่งกลับไม่ต้องการแชร์ผลประโยชน์ร่วมด้วย และไม่สามารถตกลงกันได้ อย่างไรก็ตามเวเนซุเอลาก็ยังคงเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการให้บรรษัทสหรัฐฯ เข้าไปตั้งศูนย์ขุดเจาะทรัพยากรหรือ
ให้สหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในประเทศ

เฟฟเฟอร์ระบุในบทความว่าถึงแม้มาดูโรจะสงสัยว่าสหรัฐฯ จะวางแผนรัฐประหารเขาหรือไม่ แต่ดูเหมือนรัฐบาลโอบามาจะกังวลในเรื่องที่เวเนซุเอลาจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวมากกว่าจะสนใจว่ามาดูโรจะยังคงอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ รัฐบาลโอบามาหนุนให้สเปนเป็นตัวกลางเจรจาหารือระหว่างมาดูโรกับรัฐสภาภายใต้การควบคุมของฝ่ายค้านอยู่เงียบๆ และถึงขั้นจูงใจให้วาติกันช่วยเหลือในเรื่องนี้จากที่เคยช่วยเรื่องคืนสัมพันธ์กับคิวบามาแล้ว

บทความชี้ว่า แน่นอนว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องการผู้นำเวเนซุเอลาที่อ่อนข้อให้ง่ายกว่านี้ แต่การที่เวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในประเทศห้าอันดับแรกที่เป็นผู้จัดหาทรัพยากรน้ำมันให้ สหรัฐฯ จึงไม่ต้องการให้เวเนซุเอลาล่มสลายหายไปกับความโกลาหล ดังนั้น สหรัฐฯ จึงไม่ได้ต้องการทำให้รัฐบาลมาดูโรขาดเสถียรภาพ เฟฟเฟอร์ระบุว่าถ้าอยากเห็นว่าสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ดูเวเนซุเอลาเป็นตัวอย่าง

มาดูโรยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น อาทิ องค์กรสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาดูโรอย่างหนัก ลุอิซ อัลมาโกร ประธานองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) กล่าวว่าเวเนซุเอลาละเมิดกฎบัตรของรัฐจากการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีโอกาสที่เวเนซุเอลาจะถูกระงับสมาชิกภาพ แต่มาดูโรก็ตอบโต้แบบขวานผ่าซากว่าให้เอา "กฎบัตรความเป็นประชาธิปไตยยัดเข้าไปในอะไรก็ได้"และ "เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีความเคารพในตัวเองและจะไม่ใช้กฎบัตรที่ว่ากับเวเนซุเอลา"

ไม่ใช่เพียงแค่ OAS ที่ถูกมองว่าเป็นองค์กรเชื่องๆ รับใช้สหรัฐฯ เท่านั้นที่วิจารณ์ในเรื่องนี้ กลุ่มสังคมนิยมอย่างองค์กรนักสังคมนิยมนานาชาติ (The Socialist International) ก็ประณามรัฐบาลเวเนซุเอลาหลายครั้ง สิ่งที่พวกเขาวิจารณ์เมื่อไม่นานมานี้อย่างเรื่องความบิดเบี้ยวของประชาธิปไตย เรื่องนักโทษการเมือง และความตกต่ำของสถาบันที่ค้ำจุนชีวิตผู้คน

ในแง่ของการเชื่อมโยงปรากฏการณ์มาดูโรกับปรากฏการณ์ที่ละตินอเมริกาหลายประเทศเริ่มถดถอยหลังจากที่ฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายขวามาระยะหนึ่ง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 มีชาวเวเนซุเอลาที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้ายน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เชื่อว่าประเทศยังคงดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร ขณะที่ชาวเวเนซุเอลาที่เหลือล้วนต้องการการเปลี่ยนแปลง

เฟฟเฟอร์ระบุว่าการต่อต้านมาดูโรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธฝ่ายซ้ายสักเท่าใด มาดูโรเป็นนักประชานิยมที่มีแนวโน้มไปในทางอำนาจนิยม ส่วนแนวร่วมฝ่ายต่อต้านก็ประกอบด้วยพรรคการเมืองจากอุดมการณ์ทุกแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสุดโต่งหรือกลุ่มหัวก้าวหน้า รวมถึงพรรคสายสังคมนิยมประชาธิปไตยหลายพรรค ส่วนระบอบชาเวซนั้นเป็นแค่ลัทธิอุดมการณ์การเมืองอย่างหนึ่งที่กำลังกระเสือกกระสนเฮือกสุดท้ายและอาจจะลากเวเนซุเอลาให้ล่มไปด้วย มันจึงถึงเวลาแล้วที่ดินแดนปฏิวัติจะต้องเริ่มตั้งต้นใหม่อย่างถอนรากถอนโคนอีกครั้ง


เรียบเรียงจาก

A Failed State in Latin America?, John Feffer, FPIF, 08-06-2016
http://fpif.org/failed-state-latin-america/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร ขอ นปช.หยุดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ อย่าดึง 'ยูเอ็น-อียู'เข้ามา ชี้เป็นเรื่องภายใน

$
0
0

13 มิ.ย.2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เชิญ องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) สหภาพยุโรป(อียู) รวมถึงสถานทูตต่างประเทศในไทย เข้ามาสังเกตการณ์ศูนย์ปราบโกงประชามติ ว่า ตนยืนยันว่าไม่ให้ตั้ง ไม่เช่นนั้นใครก็ตั้งขึ้นมาได้ เพราะการตั้งศูนย์ปราบโกงต้องมีองค์กรขึ้นมารองรับ ฉะนั้นอยากถามว่าจะไปตั้งทำไม เพราะมีหน่วยงานของภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว อีกทั้งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในประเทศ ทำไมต้องเอาใครเข้ามาวุ่นวาย เพราะเรามีทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ถือเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องห่วง เราไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความเสียหาย

“ดังนั้น คนที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรมาทำให้เกิดความวุ่นวาย และไม่ควรดึงองค์กรต่างชาติเข้ามา เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ  ตอนนี้ประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า ไม่ควรมาเตะขัดขากันเอง” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
"หยุดเถอะ ผมขอร้อง ไม่เอา หากยังเดินหน้าต่อ ผมก็มาตรการทางกฎหมายดำเนินการ ไปดูว่าผิดอะไรหรือไม่ หากผิดว่าไปตามนั้น แต่ตอนนี้ผมขอร้องก่อน หากจะตั้งแบบนี้ ใครๆ ก็ตั้งขึ้นมาได้ แบบนี้ประเทศก็ยุ่งวาย ไม่เช่นนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีไว้ทำไม ยุบและตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาแทนเลยไหม ในทางกลับกันผมขอให้เชื่อมั่นว่าเราอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ซึ่งผมดูแลเรื่องความมั่นคงในประเทศ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นผม ว่าผมจะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายที่ได้วางไว้" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
ส่วนกรณี กกต. ขอใช้พื้นที่หน่วยทหารทำความเข้าใจการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สามารถทำได้ และคงไม่มีการชี้นำ แต่ต้องดูเรื่องความปลอดภัยภายในค่ายด้วย 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ขอบคุณ 'CEO นกแอร์'ขอยกเป็นอุทาหรณ์ไม่นำทัศนคติส่วนตัวมาปนกับงาน

$
0
0

13 มิ.ย.2559 จากกรณีวานนี้ (12 มิ.ย.59) โลกโซเชียลเผยแพร่ข้อความการสนทนาแบบกลุ่มของบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็น "ผู้ช่วยนักบิน"สายการบินแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะกำลังเดินทางกลับจาก จ.แพร่ โดยเที่ยวบินของสายการบินแห่งหนึ่ง และโพสต์ข้อความต่อมาว่า "มีเหยื่อ ออน บอร์ด หวะ"และจากนั้นมีผู้แสดงความเห็นว่า "cfit หน่อย..."ซึ่งเป็นศัพท์การบินย่อมาจาก controlled flight into terrain หมายถึงอุบัติเหตุที่เกิดกับอากาศยาน ที่บินชนผืนดิน ภูเขา หรือน้ำ หรือสิ่งกีดขวางอื่น

ตามา พาที สารสิน CEO สายการบินนกแอร์ ได้ทวิตว่า "ผมเพิ่งทราบเรื่องนะครับ กำลังตรวจสอบแต่นิสัยแบบนี้รับไม่ได้เหมือนกันนะครับ"และ "เดี๋ยวผมจะโทรไปขอโทษคุณยิ่งลักษณ์เองครับ นกแอร์ไม่มีคำว่าการเมืองครับ ผมรับไม่ได้แน่ๆ" พร้อมทั้งในอินสตาแกรมของพาที เมื่อเวลา 21.16 น. มีการเผยแพร่จดหมายขออภัยถึงยิ่งลักษณ์ ด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (13 มิ.ย.59) ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra'ว่า ก่อนอื่นตนต้องขอบคุณ คุณพาที  และผู้บริหารสายการบินนกแอร์ ที่ได้ออกมาแสดงความขอโทษ และใส่ใจว่าจะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ให้กับตนและผู้โดยสารทุกท่าน ซึ่งการที่ตนและลูกได้เดินทางกลับถึงบ้านด้วยความปลอดภัยก็ถือว่าดีแล้ว

"แต่ ดิฉันอยากให้กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อไม่ให้การนำทัศนคติส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับงานบริการแบบความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้โดยสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะต่อตัวดิฉัน หรือผู้โดยสารท่านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อจะได้เกิดความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ และเป็นมาตรฐานขององค์กรต่อไป ขอขอบคุณค่ะ"ยิ่งลักษณ์ ระบุ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีงานศิลปะสุธี-หอศิลป์กวางจูแสดงความเสียใจไม่ได้ศึกษาการเมืองไทยเพียงพอ

$
0
0

หอศิลป์เมืองกวางจูและภัณฑารักษ์เสียใจที่เกิดข้อขัดแย้งในงานศิลปะ ‘มวลมหาประชาชน’ ของสุธี คุณาวิชยานนท์ และเสียใจที่ไม่มีความสามารถพอที่จะศึกษาการเมืองไทย โดยหอศิลป์จะจัดการบรรยายสาธารณะเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและการเมืองในประเทศไทย และยินดีเผยแพร่เอกสารของกลุ่มหนุน-ค้านการแสดงงานของสุธี และจะรวบรวมเอกสารทั้งหมดในหอจดหมายเหตุเพื่อให้สาธารณชนสามารถใช้ศึกษาต่อไป

ส่วนหนึ่งของผลงานที่สุธี คุณาวิชยานนท์ จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ The truth To turn it over ที่หอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่าง 10 พฤษภาคม - 15 สิงหาคม 2559 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย "กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม")

ศิลปินนิรนามกลุ่ม Guerrilla Boys โพสต์ภาพอยู่เบื้องหน้าผลงาน "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน"ผลงานศิลปะของสุธี คุณาวิชยานนท์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2559 โดยศิลปินนิรนามผู้สวมหน้ากากกอริลลายังถือกระดาษเขียนข้อความว่า "This work still waiting 'Junta' create democracy for them!!!"หรือ "ผลงานนี้ยังคงรอ 'รัฐบาลทหาร'เนรมิตประชาธิปไตยให้พวกเขา"และลงชื่อ Guerrilllaboys ท้ายข้อความ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

13 มิ.ย. 2559 กรณีที่ สุธี คุณาวิชยานนท์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเชิญผลงานศิลปะชุด The truth To turn it over ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) นั้น

อย่างไรก็ตาม มีผลงานส่วนหนึ่งของสุธีในชุด "มวลมหาประชาชน/Thai Uprising"เป็นงานในช่วงการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ทำให้ “กลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย” หรือ กวป. ทำจดหมายเปิดผนึกทักท้วงไปยังภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ โดยระบุว่าผลงานดังกล่าวของสุธีมีข้อเท็จจริงตรงข้ามกับจิตวิญาณการต่อสู้ของชาวกวางจู อีกทั้งยังมีสมาชิก กวป. แถลงว่า เป็นงานศิลปะของศิลปินที่สนับสนุน กปปส. และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการล้มกระบวนการประชาธิปไตย

ล่าสุดมีจดหมายเปิดผนึกของ กวป. ถึงผู้ที่เคยร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกชี้แจงความคืบหน้าของการตอบสนองจากภัณฑารักษ์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู มีรายละเอียดดังนี้

000

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ร่วมลงชื่อ กวป.

ในนามของผู้ประสานงานนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ขอแจ้งความคืบหน้าของการตอบสนองของภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ต่อการทักท้วงและข้อเรียกร้องของ กวป. ดังนี้

ประการแรก ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูได้สนองต่อข้อเรียกร้องของ กวป. และการเรียกร้องจากกลุ่มต่างๆ ในหลายประการด้วยกัน

1. สำหรับข้อเรียกร้องจาก กวป. ให้ภัณฑารักษ์ชี้แจงกระบวนการคัดเลือกผลงาน ภัณฑารักษ์ได้ชี้แจงว่า “ด้วยเพราะไม่มีความรู้เพียงพอ เมื่อปีที่แล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูจึงได้ขอคำปรึกษาจากผู้ดูแลแกลอรี่ในกรุงโซลที่เชี่ยวชาญศิลปินเอเชียนให้แนะนำเกี่ยวกับผลงานของศิลปินที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทางพิพิธภัณฑ์สนใจงาน “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” (History Class) ของ รศ. สุธี โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นผลงานเชิงความสัมพันธ์ (relational) ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับผลงานได้ด้วย พร้อมทั้งสนใจผลงานของศิลปินคนอื่นๆ ซึ่งทางผู้ดูแลแกลอรี่ดังกล่าวแนะนำมา ทางพิพิธภัณฑ์จึงเชิญ รศ. สุธีไปสัมมนาที่พิพิธภัณฑ์เมื่อปีที่แล้ว และจึงยินดีที่จะเชิญ รศ. สุธี ไปร่วมแสดงงานในนิทรรศการที่แสดงอยู่ขณะนี้ ดังที่เขาได้เคยชี้แจงมาก่อนหน้านี้แล้ว”

(Lacking information of its own, the Gwangju Museum of Art asked a gallerist in Seoul, who is knowledgeable on Asian artists, last year for recommendations of artists who work with historical themes. The museum was interested in Mr. Kunavichayanont’s History Class, in particular how it is relational (how it invites audience participation), among the works by different artists presented to us by the gallerist. We therefore invited Mr. Kunavichayanont to a seminar at our museum last year, and we thus became comfortable inviting Mr. Kunavichayanont to exhibit in our current exhibition, as we have previously explained to you.)

ทางพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ยังได้กล่าวแสดงความเสียใจว่า “ไม่ว่าจะด้วยประการใด พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูและข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจที่ได้เกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการร่วมแสดงงานของ รศ. สุธี นี้ขึ้นมา และเสียใจที่ทางเราไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะศึกษาถึงการเมืองไทยและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับการเมืองในการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิทรรศการนี้เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ “18 พฤษภา” (May 18th)”

(In any event, the Gwangju Museum of Art and I regret that the current controversy has arisen regarding Mr. Kunavichayanont’s participation in our exhibit, and that we were unable to examine Thailand’s political situation and art’s relationship to politics for our current exhibition, particularly given that the exhibition commemorates May 18th.)

ในจดหมายตอบฉบับก่อนหน้า (ซึ่งเขาได้บอกกล่าวกับสื่อมวลชนด้วย) ภัณฑารักษ์ยังอธิบายว่า ในกระบวนการคัดเลือกงาน เขาไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และบริบททางการเมืองของผลงาน รศ. สุธี ชุดนี้ดีพอ หากแต่เลือกผลงานเพียงเพราะมีรูปแบบการแสดงออกที่คล้ายคลึงกับที่ประชาชนกวางจูใช้ในการต่อต้านเผด็จการในเหตุการณ์ “18 พฤษภา” เท่านั้น

2. ภัณฑารักษ์แจ้งว่า พิพิธภัณฑ์ได้ติดตั้งข้อความว่า “ขณะที่มีคนมองว่าการเดินขบวนประท้วงในปี 2556-2557 นั้นเป็นการต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมและการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากแต่มีอีกฝ่ายมองว่า การประท้วงนั้นเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารของกองทัพ” (While some view the 2013-2014 Bangkok protests as having been in opposition to the Yingluck administration’s amnesty bill and corruption, others feel the protests paved the way for a military coup.) ในทันทีที่ผลงาน Thai Uprising ถูกตั้งคำถามทักท้วง และตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วพิพิภัณฑ์ยังได้แสดงข้อความอธิบายกระบวนการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดง พร้อมทั้งแสดงจดหมายของ กวป. ฉบับแรก แสดงจดหมายอธิบายจุดยืนจาก รศ. สุธี และจดหมายจากผู้สนับสนุน รศ. สุธี ไว้ในงานแสดงผลงาน

3. กวป. ยืนยันในหลักการเสรีภาพของการแสดงออกและเคารพในความคิดเห็นของศิลปิน จึงไม่ได้เรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูต้องถอดผลงานแต่อย่างใด (ตั้งแต่จดหมายฉบับแรกที่ส่งไป) หากแต่ ภัณฑารักษ์แจ้งว่า มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มในเกาหลีเองให้ถอดถอนผลงาน Thai Uprising ของ รศ. สุธี ทว่าเนื่องจากตามข้อตกลง การถอดถอนผลงานต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงาน ซึ่ง รศ. สุธี ได้ปฏิเสธการถอดถอนผลงาน ทางภัณฑารักษ์จึงแจ้งว่าไม่สามารถถอดถอนผลงานตามข้อเรียกร้องของกลุ่มในเกาหลีได้

ประการที่สอง ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูและภัณฑารักษ์ได้เชิญ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐและผู้ประสานงาน กวป. อีกหนึ่งคน ไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและการเมืองในประเทศไทย ทาง กวป. ตอบรับคำเชิญ การบรรยายนี้จะเป็นบรรยายสาธารณะ และทางพิพิธภัณฑ์จะจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายจากคำบรรยายของตัวแทน กวป. เพื่อเผยแพร่ต่อไป

ประการที่สาม ทาง กวป. เรียกร้องเพิ่มเติมว่า ขอให้พิพิธภัณฑ์เผยแพร่จดหมายเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ต่อสาธารณชน และขอให้พิพิธภัณฑ์ยืนยันว่าจะเก็บรวบรวมจดหมายและเอกสารเหล่านี้ไว้ในหอจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงสำหรับการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ได้ต่อไป

หากมีความคืบหน้าประการใดต่อไป คณะผู้ประสานงานจะรายงานให้ทุกท่านทราบเพิ่มเติม พร้อมกันนี้ เนื่องจากข่าวคราวของการทักท้วงนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่แวดวงศิลปะและผู้สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดตามอย่างกว้างขวาง จึงขอแนบรายงานข่าวของสื่อมวลชนต่างประเทศมาท้ายกับจดหมายนี้ด้วย

ด้วยความนับถือ

ผู้ประสานงาน กวป.

000

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. คณะศิลปินในนาม “กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม"นำโดยสุธี คุณาวิชยานนท์, จรูญ อังศวานนท์ จุมพล อภิสุข, มานิต ศรีวานิชภูมิ, ไพโรจย์ ศรีประภา อภิศักดิ์ สนจด ฯลฯ จัดแถลงข่าวในเรื่อง "บทบาทและจุดยืนของศิลปินที่มีจิตสำนึกสาธารณะ” ต่อกรณีที่ที่ กวป. ทำจดหมายประท้วงการแสดงผลงานของสุธีดังกล่าว

โดย "กลุ่มศิลปินและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม"ได้เผยแพร่จดหมายถึงสื่อมวลชนในประเทศไทย และส่งจดหมายเปิดผนึกถึง จอง-ยัง ลิม ลงฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และมีผู้ร่วมลงนามข้างท้ายเป็นจำนวน 512 คน โดยมีเนื้อหาว่า สุธีและเพื่อศิลปินภายใต้กลุ่ม Art Lane ได้ทำกิจกรรมระดมทุนและให้เงินสนับสนุนกลุ่ม กปปส. เพราะทุกคนมีแนวคิดและเป้าหมายที่ตรงกัน นั่นคือการคัดค้านกฏหมายนิรโทษกรรม และการคอรัปชั่นของรัฐบาลในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว การร่วมชุมนุมของสุธีและกลุ่มไม่ได้มีเจตนาที่จะปูทาง หรือสนับสนุนให้มีการรัฐประหารแต่อย่างใด ผลงานชุดดังกล่าวของสุธีนั้นได้แสดงถึงเสรีภาพในการทำงานของศิลปินตามแนวทางของประชาธิปไตย ซึ่งมีความสอดคล้องกับนิทรรศการที่จัดขึ้น ศิลปินทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น อีกทั้งยังกล่าวว่า ลิม จองยัง ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่สมควรทำตามกระแสกดดันจาก กวป. และเครือข่าย

ขณะที่สุธี ซึ่งร่วมแถลงข่าวด้วยกล่าวยืนยันไม่สนับสนุนรัฐประหาร และเขาเชื่อเรื่องเสรีภาพการทำงาน ไม่ขัดข้องหากพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูจะติดจดหมาย กวป. คู่ผลงาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตจากบทบาทการสอบสวน ใน 'คดีพระธัมมชโย'

$
0
0

บทความนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตการดำเนินคดีของดีเอสไอที่ดำเนินงานในห้วงเวลานับตั้งแต่ที่มีการควบคุมบริหารราชการแผ่นดินภายใต้อำนาจการปกครองของ คสช. โดยเฉพาะบทบาทของดีเอสไอกับกรณีมีผู้กล่าวโทษต่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา รวมถึงการดำเนินคดีทางอาญาต่อพระภิกษุรูปอื่นมาเป็นระยะแล้วนั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายผู้หนึ่งและเป็นประชาชนภายใต้รัฐไทย จึงขอใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้มุมมองอันเป็นข้อสังเกตในทางคดี  โดยยึดหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความรู้และข้อเท็จจริงที่ได้รับจากข่าว สื่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น  หากมีข้อเท็จจจริงและข้อกฎหมายใดอันเกิดจากความคลาดเคลื่อน ผิดหลงหรือข้อจำกัดอื่นๆ ผู้เขียนขอน้อมรับในความผิดพลาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะปกป้องหรือกล่าวหาผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น

จากกรณีที่พนักงานอัยการท่านหนึ่งซึ่งเป็นคณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ในการเข้าร่วมการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณี "พระธัมมชโย"และบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสารมวลชนรายการหนึ่ง เป็นการเหมาะสมหรือเป็นหน้าที่หรือไม่ในการให้ข้อมูลด้านเดียวต่อสังคมนั้น ท่านผู้ชมรายการดังกล่าวต้องพิจารณากันเอง แต่ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อประโยชน์อันควรมีควรได้และสร้างการรับรู้รับทราบให้แก่ประชาชน มิได้มีเจตนาสร้างความแตกแยกหรือเข้าใจผิดแก่ผู้ใด จึงขอตั้งสังเกตจากเนื้อหาการสนทนาในรายการดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1.การขอเปลี่ยนหัวหน้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ไม่ใช่ "การตั้งเงื่อนไข"ของการจะต้องถูกดำเนินคดีจากผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นการเรียกร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่อาจมีอคติ ไม่เป็นกลาง ปฏิบัติหน้าที่ไม่เที่ยงธรรม ล้วนเป็นเหตุแห่งการคัดค้านได้ {1}การบอกว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา จึงอาจจะทำให้สังคมเกิดทัศนคติในทางลบกับผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา  ทั้งที่ทุกการสอบสวนไม่ว่าหน่วยงานใด เมื่อมีเหตุที่ต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวน  (ในที่นี้รวมถึงอัยการที่ร่วมสอบสวนด้วย) ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ถูกคัดค้านก็อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนตัวหรือถอนตัวจากการสอบสวน แล้วแต่กรณี

2.พนักงานอัยการกล่าวว่า "ตนพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการทำหน้าที่"จึงขอตั้งข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประการ คือ

2.1 ) การปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาสั่งการ ต้องมิใช่ทำตามความประสงค์ของผู้บังคับบัญชาจนเสียความยุติธรรม เพราะอัยการต้องตรวจสอบพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง   และต้องมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของตน  มิใช่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาในการใช้ดุลพินิจโดยอ้างอำนาจตามกฎหมาย

2.2) การยอมปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา หากผู้บังคับบัญชาให้พ้นจากหน้าที่คดีนั้น เพราะถูกผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านไว้ด้วยเหตุใดๆ แม้ในทางบริหารงานบุคคลผู้บังคับบัญชา อาจจะอ้างว่า คำคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเหตุผลก็ตาม แต่หากอัยการท่านนั้นเห็นว่าตนถูกคัดค้านและอาจสร้างความไม่ยุติธรรมในการสอบสวนคดี เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม เกิดความโปร่งใสและปราศจากความเคลือบแคลงในการทำหน้าที่ ก็ควรต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาว่า ตนขอถอนตัวออกไปเองก็ยังทำได้ ในสำนักงานอัยการสูงสุดก็อาจมีกรณีตัวอย่างของการเปลี่ยนชุดทำงานของอัยการมาแล้วหลายชุดในบางคดีก็เป็นได้ แต่สังคมไม่เคยรับรู้หรือไม่

3. ความเป็นมืออาชีพของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ถูกนำมากล่าวเป็นบทนำในการสนทนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี   ทั้งนี้ การเป็นมืออาชีพเป็นเพียงนามธรรมหรือเพื่อยืนยันถึงประสบการณ์ในการทำงาน  แต่นั่นไม่ได้พิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่นั้นๆ จะมีคุณธรรม จรรยาบรรณและรักษาความเที่ยงธรรมได้หรือไม่

4. การจัดสถานที่แจ้งข้อหาที่เหมาะสมกับสถานะของผู้ต้องหาไม่ว่าจะมีเหตุเจ็บป่วย เป็นพระภิกษุ หรือประการอื่นใด  ในอดีตก็เคยปฏิบัติมาแล้ว อัยการอธิบายทางปฏิบัติไว้เอง  มิใช่การขุดบ่อล่ออะไร  เพราะมิได้จะทำให้พนักงานสอบสวน ผิด ปอ.ม.157 ซึ่งในทางกลับกัน ถือเป็นการใช้วิธีการที่เหมาะสมและมีกาละเทศะเสียด้วยซ้ำ

การยก ป.วิ.อ.ม.64 ที่มีการแก้ไข พ.ศ.2547  บัญญัติว่า"ถ้าบุคคลที่มีชื่อในหมายอาญาถูกจับ หรือบุคคลหรือ สิ่งของที่มีหมายให้ค้นได้ค้นพบแล้ว ถ้าสามารถจะทำได้ก็ให้ส่งบุคคลหรือสิ่งของนั้นโดยด่วนไปยังศาลซึ่งออกหมาย หรือเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในหมาย แล้วแต่กรณี  เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น"ในบทบัญญัตินี้  ถือว่ากฎหมายให้ทำตามความเหมาะสมที่  "สามารถทำได้"   รวมถึงการที่ผู้ถูกกล่าวหาไปยังเจ้าพนักงาน  หรือเจ้าพนักงานไปพบที่แห่งใดก็ได้  การอ้างว่าเพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่าป้องกันการนำตัวไปสอบสวนในเซฟเฮ้าส์นั้น  เป็นการนำกรณีตัวอย่างมาอธิบายที่ไม่ตรงกับกรณีนี้ จึงไม่สมเหตุสมผล เพราะความจริง พระธัมมชโยเป็นพระภิกษุท่านอยู่ที่วัด การอธิบายเช่นนั้นเป็นคนละประเด็นกัน

นอกจากนี้ หมายจับก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้พนักงานสอบสวนผู้ใดมีอำนาจรับตัว และดำเนินการแจ้งข้อหา ตลอดจนมีอำนาจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวได้เองด้วย เวลาอธิบายต้องอธิบายให้ชัดตามหลักกฎหมาย พนักงานอัยการอาจช่วยทำให้เรื่องที่ดูยากกลายเป็นเรื่องง่ายได้ตามอำนาจของท่าน

ดังนั้น การแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาสามารถแจ้งนอกสถานที่ของที่ทำการพนักงานสอบสวนได้ ทั้งนี้ ป.วิ.อ.มาตรา 134 มีถ้อยคำวางหลักเอาไว้ว่า "..ปรากฎว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา.." จึงเป็นการให้อำนาจพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาได้หากปรากฎต่อหน้า ณ ที่ใดๆก็ได้ อัยการก็ยืนยันในรายการว่าสามารถทำได้ ซึ่งต้องแยกออกจากขั้นตอนการสอบสวน เช่นสอบปากคำ การโต้แย้งพยานหลักฐาน ซึ่งขั้นตอนนั้นสามารถมอบหมายทนายความเข้าชี้แแจงได้

5. การพูดว่า  "การเจรจาต่อรองให้ทำการสอบสวนในวัดทำไม่ได้"นั้น เป็นการพูดที่ผิดต่อธรรมชาติ เนื่องจากขั้นตอนเริ่มต้นของการสอบสวนคือการแจ้งข้อหา สอบปากคำเบื้องต้นว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ  และพิมพ์นิ้วมือทำทะเบียนประวัติเท่านั้น การสอบสวนทุกประเด็นเป็นรายละเอียด ทางปฏิบัติจะนัดหมายและให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาให้หาหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่มีการเจรจาต่อรองแทบทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการลดความสูญเสียหรือการตอบโต้ที่รุนแรงจากการจับกุม และยังเป็นทางออกที่ปฏิบัติได้มิใช่การปฏิบัติที่มิชอบแต่อย่างใด

ในอดีต ก็พบว่ามีกรณีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากกรณีพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่ายึดสถานที่ราชการ แต่มีการแจ้งข้อหาและนัดพบกันนอกสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน นั่นคือ การเจรจาต่อรองหรือไม่ ?

6. มีการใช้คำว่า "ยืดหยุ่น"จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เสมือนหนึ่งว่าเป็นบุญคุณมาก ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาลและต้องเป็นตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย มิได้เป็นความดีความชอบที่ดูพิเศษแต่อย่างใด

การอธิบายและตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการขุดบ่อล่อ..  จึงเป็นโต้กลับให้เห็นว่าการจะแจ้งข้อหาในที่แห่งอื่นนอกจากดีเอสไอไม่ได้เท่านั้นเอง

7.การตั้งวงเจรจาว่าเป็นการกระทำในทางปกครอง  แต่ไม่ผูกพันพนักงานสอบสวน  เริ่มต้นคงจะลืมไปว่าเป็นข้อเสนอจากฝ่ายผู้กล่าวโทษหรือมาจากเจ้าหน้าที่รัฐมิใช่หรือ  แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการตาม ป วิ อาญา ก็ถือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนึ่ง ซึ่งหากกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ประชาชนได้รีบความเสียหายหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิอย่างรุนแรง ก็ถือว่าไม่ชอบการทางปกครองด้วย เมื่อ ป วิ อ.ให้อำนาจไว้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น  การใดๆ ทำได้ในอำนาจก็ทำไป  มิใช่ว่าจะไม่ผูกพันพนักงานสอบสวน การอธิบายว่าไม่ผูกพันคล้ายกำลังส่งสัญญาณว่าไม่เอาใครทั้งนั้นนอกจากตนเองใช่หรือไม่ ?

8.  การใช้ช่องทางของคดีประเภทสำนวน ส.2 (คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ไม่ได้ส่งตัวมา*ดูเชิงอรรถ{2} )    เป็นการสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลประเภทหนึ่ง บางคนอาจมองว่าเร่งรัดสรุปสำนวนหรือสั่งฟ้องคดีบางรายไปก่อนก็ได้  แต่สาระสำคัญในทางกฎหมายคือ คดีอาญาเรื่องใดหากทราบผู้กระทำผิดและมีจำนวนหลายคน ซึ่งได้ตัวมาสอบสวนบางคน พนักงานสอบสวนก็จะใช้วิธีการส่งสำนวนสรุปความเห็นสั่งฟ้องเฉพาะรายที่ได้ตัวมาสอบสวนแล้วให้พนักงานอัยการไปฟ้องต่อศาลก่อน  สำนวนคดีลักษณะนี้เรียกว่า  สำนวนคดีที่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้   ( หลบหนี ) พนักงานสอบสวนจะทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ ( ป.วิ.อ. ม.141 ) ในคำฟ้องก็จะระบุว่า "จำเลยที่ 1  กับพวกที่หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  ได้บังอาจสมคบร่วมกัน..."  ในทางคดีเมื่อฟ้องต่อศาลก็อาจเป็นประเด็นทั้งทางคดี และข่าวสาร   จากนั้นผู้ใดจะหยิบฉวยไปขยายผลอนย่างไรก็ได้เรียกว่า"เอาที่สบายใจ"

9. ตอนท้ายของการสนทนา สามารถสะท้อนและตอกย้ำได้ในตัวแล้วว่า ประเทศไทย ใช้หลักนิติรัฐ คือการปกครองโดย กฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่นำมาใช้นั้นจะต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากบุคลลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
*หลักนิติรัฐ" มีหลักการดังนี้ คือ

1) รัฐและฝ่ายปกครองจะต้องใช้กฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนบัญญัติเป็นหลักในการปกครอง

2) การดำเนินกิจการใดๆก็ตามของรัฐและฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินไปตามกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามหลักแห่งความยุติธรรม

3) รัฐและฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้

4) การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองต้องตรวจสอบและควบคุมได้

ในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยนี้  เป็นหลักของการปกครองที่ถือว่า "คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน"

ดังนั้นผู้ที่มาปกครองประเทศจึงเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน แต่อย่างไรก็ดี  ต้องทำการปกครองประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจและกำหนดหน้าที่ไว้

หลักการปกครองที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องไม่ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผู้ปกครองโดยขาดความยุติธรรมเว้นเสียแต่จะบอกว่าเวลานึ้ไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย!

 

 

เชิงอรรถ

{1} จรรยาบรรณพนักงานสอบสวน
จรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน ที่ต้องประพฤติปฏิบัติควบคู่ไปกับอุดมคติของตำรวจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม มีดังนี้
1. พนักงานสอบสวน ต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ
2. พนักงานสอบสวน ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดมั่นในศีลธรรม
3. พนักงานสอบสวน ต้องอำนวยความยุติธรรม ด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยปราศจากอคติ
4. พนักงานสอบสวน ต้องกล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
5. พนักงานสอบสวน พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เสียสละ และอดทน เพื่อประโยชน์แห่งการอำนวยความยุติธรรม
6. พนักงานสอบสวน พึงมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ด้วยความสุภาพ อ่อนโยน มีไมตรีจิต และเต็มใจให้บริการประชาชน
7. พนักงานสอบสวน พึงหมั่นศึกษาหาความรู้ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา
8. พนักงานสอบสวน พึงสำนึกและยึดมั่นในวิชาชีพการสอบสวน มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีและวิชาชีพของตนเอง
(ข้อมูลเทียบเคียงจาก ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน พ.ศ.2544 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544)

{2} ความหมายของการรับสำนวนคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด
ส.1 คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ส่งตัวมา
ส.1 ฟ คือ สำนวนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
ส.2 คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ไม่ได้ส่งตัวมา
ส.2 ก คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ไม่ได้ส่งตัวมาเฉพาะคดีเปรียบ
เทียบ)
ส.3 คือ สำนวนไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด
ส.4 คือ
ส.4วาจา คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ส่งตัวมา (แขวง)
ส.5 คือ สำนวนแก้ต่างคดีอาญา
ส.5 ก คือ สำนวนความแพ่ง
ส.6 คือ สำนวนอุทธรณ์
ส.7 คือ สำนวนฎีกา
ส.11 คือ สำนวนที่มีความเห็นแย้งผู้ว่าฯ
ส.12 คือ สำนวนตายในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
ส.12 ก คือ สำนวนตายโดยผิดธรรมชาติ
ประเด็น คือ สำนวนรับประเด็น.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยังไม่เคาะ กรณีปิดพีซทีวี ส่งเรื่องกลับอนุเนื้อหา พิจารณาใหม่

$
0
0

ที่ประชุม กสท. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ พิจารณาช่องพีซ ทีวี ก่อนเสนอต่อที่ประชุม กสท.อีกครั้ง

13 มิ.ย. 2559 ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 19/2559 ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณีบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ได้ยื่นเอกสารคัดค้านการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่องรายการ พีซ ทีวี ต่อ กสท. โดยที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการนำเอกสารดังกล่าวไปรวมพิจารณากับเรื่องดังกล่าว แล้วนำเสนอที่ประชุม กสท. อีกครั้ง

ส่วนกรณีวอยซ์ทีวี สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสท. และ กสทช. ทวีตว่า มติยังมีความสับสนเล็กน้อย เพราะเสียงแตกมาก กสท.ยังไม่ฟันธงว่าขัดมาตรา 37 แต่เหมือนจะให้สำนักงานเตือน อย่างไรก็ตาม ต้องขอดูร่างมติก่อน

"ประเด็นทางกฎหมายตามมาตรา 37 คือ ถ้ามติไม่สรุปว่าผิด จะออกคำสั่งเตือนในฐานอะไร จุดนี้ยังสับสน ขอรอความชัดเจนจากการรับรองมติก่อนค่ะ"สุภิญญาระบุและว่า ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ขัดทั้งมาตรา 37 และ ประกาศ คสช. จึงยังไม่ต้องมีโทษทางปกครอง แต่อาจมีประเด็นเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งเป็นมิติจรรยาบรรณ

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง พีซ ทีวี ได้เดินทางมาที่ สำนักงาน กสทช. ตึก EXIM Bank ถนนพหลโยธิน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาโทษทางปกครองสูงสุด หรือเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศ

โดย อรุโณทัย ศิริบุตร หัวหน้าผู้ประกาศข่าว หนึ่งในตัวแทนของสถานี กล่าวว่า การที่มาในวันนี้ ก็เพื่อคัดค้านมติคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ตามที่คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ออกมาเปิดเผยว่า จะมีการพิจารณาใน 3 รายการคือ “เข้าใจตรงกันนะ” วันที่ 11 และ 21 มีนาคม 59 รายการ “เข้มข่าวดึก” วันที่ 24 มีนาคม 59 และ รายการห้องข่าวเล่าเรื่องค่ำวันที่ 28 มีนาคม 59 ว่าจะมีการพิจารณาสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต

รายงานระบุว่า ตามเนื้อหาหนังสือคัดค้านระบุว่ารายการที่พบว่ามีปัญหา เนื่องจากเนื้อหาต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศตามประกาศ คสช.ฉบับ ที่ 97/2557 และ103/2557 และเป็นการขัดต่อเงื่อนไขการออกอากาศตามบันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกับ กสทช. เนื่องจากรายการดังกล่าว แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ

อรุโณทัยระบุว่า จากการดูคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับนี้ ไม่มีการลงโทษใดเลยของ คสช. ที่นำไปสู่การเพิกถอน อย่างมากแค่การระงับ ถ้ามีปัญหาที่รายการ ก็ระงับเฉพาะรายการนั้น ถ้ามีการลงโทษที่เลยเถิด จะนำไปสู่ผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และกระทบต่อพนักงานอีก 100 ชีวิต ที่ตกงานอย่างกะทันหัน จึงร้องเรียนขอให้คณะกรรมการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เพราะว่า ประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับระบุว่า ถ้ามีการกระทำผิดในฐานะสื่อมวลชนหรือสถานี ก็ใช้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ใช้กฎหมายของตัวเองพิจารณา จึงสรุปว่าลงโทษตามมาตรา 37 ของ กสทช. ตามที่คุณสุภิญญาระบุ เราจึงมายื่นขอความเป็นธรรมและคัดค้านมติของคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯ

นอกจากนี้ อรุโณทัยระบุว่า สำหรับมาตรการของสถานี และ นปช.นั้น หากคณะกรรมการฯมีมติเพิกถอน ก็จะใช้การออกอากาศบนระบบออนไลน์ ผ่านยูทูบหรือมาตรการอื่นตามที่ผู้บริหารพิจารณาจะยื่นต่อองค์กรต่างๆ หรือไม่ ซึ่งในทางของ นปช. หากมีการปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ก็มีการยื่นหนังสือถึงอียู หรือองค์กรอื่นเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งอยู่ในช่วงประชามติ เชื่อว่าการทำงานของเราไม่นำไปสู่การปลุกปั่น ยั่วยุ ความวุ่นวายในบ้านเมืองตามที่ถูกกล่าวหา

ขณะที่ทนายของสถานีพีซ ทีวี ระบุว่า ได้เตรียมข้อมูลเพื่อคัดค้านมตินี้ไว้แล้ว แต่หากมีมติเพิกถอน ก็จะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองในทันที

สำหรับสถานีพีซ ทีวี เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 จนนำไปสู่การออกอากาศบนโลกออนไลน์ และต่อมา ศาลปกครองได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 จนกระทั่งคณะอนุกรรมการได้มาพิจารณาอีกครั้งในวันนี้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live