Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live

กกต. แก้เพลงประชามติ ชมณัฐวุฒิแหล่ดี ยังไม่ได้หารือปม ม.61 วรรค2

$
0
0
13 มิ.ย. 2559  กรณีที่มีการเผยแพร่มิวสิควีดีโอเพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเนื้อหาเหยียดคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  
 
ล่าสุดวันนี้ (13 มิ.ย.59) สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาใช้ภาษาให้เกิดการเข้าใจผิด แค่ต้องการให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ และทาง กกต. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขถ้อยคำในเนื้อเพลงแล้ว เพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่ไม่ได้เป็นยอมรับว่าเนื้อเพลงเดิมมีเจตนาแอบแฝง โดยเนื้อเพลงใหม่ยังคงยึดการใช้ภาษาพื้นบ้านเพื่อเข้าถึงประชาชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเสนอเนื้อเพลงใหม่เข้าที่ประชุมกรรมการ กกต. พิจารณาในวันพรุ่งนี้
 
สมชัย ยังได้กล่าวชม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า สามารถแต่งเพลงแหล่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประชามติได้ดี มีการศึกษาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างดี จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น
 
สมชัย ยังกล่าวถึงกรณีคลิปเพลง อย่างนี้ต้องตีตก ซึ่งเนื้อเพลงบางส่วนมีถ้อยคำหยาบคาย และมีข้อความอันเป็นเท็จ ว่า ในส่วนของเนื้อหาที่บิดเบือนทาง กกต. จะส่งให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่าตรงกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาจะเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ขณะนี้ได้มีการจัดทำคลิปเพลงดังกล่าวเวอร์ชั่น 2 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้จัดทำเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศร่วมจัดทำด้วย จึงต้องตรวจสอบว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงมีเนื้อหาอันเป็นเท็จหรือใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือไม่
 
สมชัย ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกต. ยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับการชี้แจง เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ ที่จะต้องส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด
 
ส่วนความคืบหน้าการจัดรายการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วงและการออกเสียงประชามติผ่านโทรทัศน์ 6 ช่องหลักว่า จะเริ่มออกอากาศในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ จำนวน 13 ครั้ง ในวันจันทร์และวันพุธ เวลา 17.00 - 18.00 น. ส่วนช่องดิจิทัลทีวี ได้ตอบรับที่จะรีรันออกอากาศแล้วจำนวน 17 ช่อง จากทั้งหมด 20 ช่อง ซึ่งช่อง Workpoint ได้แจ้งไม่สะดวกที่จะออกอากาศ ซึ่งไม่มีผลอะไร โดยหลังจากนี้สื่อจะต้องแจ้งประเด็นและแขกรับเชิญในรายการต่อ กกต. โดยย้ำว่าให้อิสระในการจัดการ แต่ส่วนตัวอยากให้เชิญผู้เห็นต่างมาร่วมเสวนาอย่างเท่าเทียมกัน โดยแนะนำให้เชิญ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. มาเป็นฝ่ายเห็นต่าง ส่วนฝ่ายเห็นด้วย อาจจะเชิญกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. มาชี้แจง
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า กรณีเสียงวิจารณ์เพลงประชามติฯ เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละคนจะมีความเห็น กกต.คงจะไม่ไประงับการเผยแพร่ เพราะมองว่า เพลงดังกล่าวไม่มีเนื้อหาใดที่เข้าข่ายปลุกระดม ข่มขู่ หรือผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
 
มีรายงานข่าวว่า แม้ กกต.จะยืนยันไม่แก้ไขคำร้อง แต่ฝ่ายความมั่นคงของ คสช.และรัฐบาล รู้สึกเป็นกังวล ด้วยเกรงจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำเอาประเด็นการเหยียดหยามคนอีสานและเหนือไปปลุกระดมโจมตี กกต. จนอาจเกิดปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างผู้ที่คิดเห็นต่างกัน
 
ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้จัดทำเพลงประกอบด้วย ประยงค์ ชื่นเย็น ศิลปินแห่งชาติ , สวัสดิ์ สารคาม ผู้ร่วมทำดนตรี และพระสัญญาลักษณ์ ดอนศรี ผู้แต่งเพลง จึงได้ปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ใน กกต. และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรแก้ไขคำร้องบางท่อน โดยจะมีการบันทึกเสียงใหม่ในเร็ววันนี้
 
สำหรับคำร้องที่แก้ไขใหม่นั้น พระสัญญาลักษณ์ ดอนศรี ได้เขียนคำร้องใหม่แล้ว เฉพาะในส่วนภาคอีสาน ก็แก้เนื้อใหม่เป็น "ใช้สติพิจารณา เลือกกาช่องได๋อยู่ที่ใจของท่าน"แทน "พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา"
 
ส่วนภาคเหนือก็แก้เป็น "ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความฮื้อมันกระจ่าง"แทน "ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าฮือใครเขาชักจูงตี้นำ"
 
คาดว่าวันอังคารที่ 14 มิ.ย.2559 ที่ประชุมใหญ่ของ กกต.จะได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขคำร้องเพลงประชามติ ให้สอดรับกับเสียงเรียกร้องของคนภาคเหนือและภาคอีสาน 
 
 
 
เพลง 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง (ฉบับแก้ไข) 
 
(สร้อย ร้องหมู่) 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง กกต.ขอรณรงค์ เชิญพี่น้องทุกคนไปลงประชามติ 
... 
(เปาวลี สำเนียงกลาง) รัฐธรรมนูญเป็นกติกา นำมาซึ่งรากฐานแห่งการปกครอง 
รักกันฉันท์พี่ ฉันท์น้อง ไทยแผ่นดินทองมั่นคงอบอุ่น 
บ้านเมืองจะก้าวรุดไป เราต้องร่วมมือร่วมใจค้ำจุน 
เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำตอบอยู่ที่คุณใช้วิจารณญาณ 
... 
(ก้อง ห้วยไร่ สำเนียงอีสาน) เอ้าไปกันเด้อหมู่เฮา จากแปดโมงเช้า ฮอดสิบหกนาฬิกา 
ใช้สติพิจารณา เลือกกาช่องได๋อยู่ที่ใจของท่าน 
ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ์ ร่วมกันรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน 
หนึ่งเสียงหนึ่งคะแนนของท่าน ช่วยกันสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตย 
.... 
(บ่าววี สำเนียงใต้) คนไทยภาคใดแหลงใด รักประชาธิปไตยรักความเสรี 
ไปลงประชามติ เป็นพลเมืองดีหน้าที่ของชาวไทย 
ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ช่วยนำพาชาติให้เจริญก้าวไกล 
ดอกไม้ประชาธิปไตย หกสิบล้านใจคนไทยบานสะพรั่ง 
..... 
(หลิว อาราดา สำเนียงเหนือ) ประชามติฮ่วมใจ ปี้น้องอุ่นใจ๋จาวไทยม่วนล้ำ 
ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความฮื้อมันกระจ่าง 
เมืองสิก้ำจะจุน รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง 
หนึ่งเสียงหนึ่งใจหนึ่งพลัง ฮ่วมกันสรรค์สร้างบ้านเฮาเมืองเฮา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ ร้องรัฐบาลเปิดคำสั่ง ‘ยุติเหมืองทอง บ.อัคราฯ’ พิสูจน์ความโปร่งใส

$
0
0

เพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย V2’ เรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยเอกสารประกอบในการยุติเหมืองทอง อัคราฯ จ.พิจิตร รวมทั้งมติ ครม.10 พ.ค. 59 และ 8 มิ.ย. 59 พร้อมชี้แจงแผนการดำเนินงานเพื่อความโปร่งใส

13 มิ.ย. 2559 เวลา 18.30 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย V2’โพสต์ข้อความว่า “ข้อสังเกตต่อสถานการณ์ มติ ครม. ลักลั่น ปิด/ไม่ปิด เหมืองทอง” ซึ่งมีเนื้อหาประเด็นเรื่องมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 10 พ.ค.2559 ยุติการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ถูกยกเลิกด้วยมติครม. 7 มิ.ย.2559 เรื่องรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดย‘เหมืองแร่ เมืองเลย V2’ ได้ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ ได้แก่

1) แม้จะยืนยันความตั้งใจปิดเหมืองทองภายในสิ้นปีนี้ แต่ความแตกต่างในข้อความระหว่างมติ ครม. ใหม่ (7 มิ.ย.2559) และมติเดิม (10 พ.ค.2559) คือ ในมติใหม่ได้ตัดข้อความว่า “ทั้งนี้ ภายหลังสิ้นปี 2559 ภาครัฐจะไม่มีการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป” ออกไป นั่นหมายความว่าการปิดเหมืองทองเป็นเรื่องชั่วคราว?

2) ข้อความที่เปลี่ยนแปลงระหว่างมติ ครม. ทั้งสอง ในแง่ลดการระบุชื่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการให้สัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมว่าเป็นมติของ 4 กระทรวง สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ว่า ครม. เพียง ‘รับทราบและเห็นชอบโดยหลักการ แต่ไม่ได้ใช้อำนาจซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจ’ นี่คือความพยายามลดความรับผิดชอบในระดับ ครม./รัฐบาล ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการกลัวบริษัทฯ ฟ้องดำเนินคดี ใช่หรือไม่? - อย่างไรก็ตาม ครม./รัฐบาล ควรกล้าร่วมรับผิดชอบโดยการหนุนมติของ 4 กระทรวงให้ชัดเจน

3) เอกสารซึ่งใช้ประกอบการตัดสินใจของ 4 กระทรวงและ ครม. ควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสและความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย เช่น วีดิทัศน์, รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ของกระทรวงอุตสาหกรรม, และ มติการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ของรัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง เป็นต้น

4) ไม่ว่าใครจะออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะปิดเหมืองทองแน่นอนภายในสิ้นปีนี้ สิ่งที่จะลดความเคลือบแคลงของประชาชน คือรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‪#‎ต้องโปร่งใส ออกมาชี้แจงแผนการดำเนินงานและขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปิดเหมืองทองอย่างมีประสิทธิภาพต่อสาธารณะ และให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงมีส่วนในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าวของรัฐ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 แจง ฟ้องป้องศักดิ์ศรีรัฐ-นักสิทธิยัน ยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชน

$
0
0

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ชี้แจงเหตุฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชนผู้ทำรายงานซ้อมทรมาน ชี้จงใจปกปิดข้อมูล เคยขอข้อมูลเพื่อร่วมตรวจสอบแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องฟ้องเพื่อให้ความจริงปรากฏในศาล ระบุหากบิดเบือนก็สมควรได้รับโทษ ฐานละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านหัวหน้ากลุ่มด้วยใจ หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง ยืนยันอยู่บนเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป แนะทุกคนเรียนรู้สู่การสร้างกลไกปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้งและผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิด 

13 มิ.ย. 2559 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) กล่าวถึงกรณีสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 9 มิถุนายน 2559 เรียกร้องให้รัฐให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ แบบสองมาตรฐาน รวมทั้งให้ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกฟ้องด้วยข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และยังได้เรียกร้องให้เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่า การออกมาเรียกร้องของกลุ่ม LEMPAR และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจะสุ่มเสี่ยงต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมายซึ่งจะเป็นบัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย พ.อ.ปราโมทย์ ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ 8 มกราคม 2559 นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ณ ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส เกี่ยวกับสถานการณ์การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับปากจะทำการตรวจสอบให้ข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน

ต่อมา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มเครือข่ายองค์กรที่จัดทำรายงาน ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวและเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และต่อมาภายหลังได้มีการนำไปเผยแพร่ ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง

เขาระบุว่า จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยความโปร่งใส เพื่อนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดและใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นโดยเร่งด่วนต่อไป รวมทั้งได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

พ.อ.ปราโมทย์  ระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากรายงานดังกล่าว จำนวน 54 ราย พบว่าสามารถตรวจสอบและระบุตัวบุคคลได้เพียง 18 ราย ซึ่งผลจากการตรวจหลักฐานที่หน่วยนำมาชี้แจง ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการควบคุมตัวไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่ามีการซ้อมทรมานแต่อย่างใด ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4  สน. ได้เชิญนางสาวอัญชนามาร่วมประชุมหารือ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2559 รวมทั้งได้ประสานขอข้อมูลบุคคลที่กล่าวอ้างกับผู้จัดทำรายงานอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

"กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือกับองค์กรที่จัดทำรายงานเพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูลโดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงานมิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเยียวยา และหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง และในขณะเดียวกันได้นำเอกสารดังกล่าวออกไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิ และความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นอกจากยังนี้มีบางประเด็นที่สำคัญเช่น “โดนให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงและโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่ใบหน้า” ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง" พ.อ.ปราโมทย์ ระบุ

พ.อ.ปราโมทย์ ระบุต่อไปว่า ดังนั้น เพื่อธำรงและรักษาไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาลด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน โดยเชื่อมั่นว่าหากพยานหลักฐานมีอยู่จริงผู้จัดทำรายงานต้องนำมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริงหรือมีเจตนาบิดเบือนผู้จัดทำรายงานก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและหน่วยงานของรัฐที่พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรงพร้อมทั้งขอยืนยันว่ารัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม แต่รัฐไม่สามารถเพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายได้

 

หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ยืนยันปกป้องผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดต่อไป

ขณะที่ วานนี้ (12 มิ.ย. 2559) อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามนักสิทธิมนุษยชนที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ฟ้องร้องดังกล่าว ได้ออกมาโพสต์แสดงความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันอยู่บนเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป ไม่อยากให้เกิดเสียงเงียบ แนะทุกคนเรียนรู้สู่การสร้างกลไกปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้งและผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิด เพราะการทรมานกระทำกันในที่ลับแค่คำบอกเล่าศาลก็ไม่รับฟัง จึงต้องทำงานช่วยเหลือประชาชนต่อไป เพราะเชื่อว่าทุกคนก็มุ่งหวังสันติภาพ

รายละเอียดมีดังนี้

“ข้าพเจ้า อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ

ความตั้งใจของข้าพเจ้าคือไม่โพสต์ไม่คอมเม้นต์ FACEBOOK ในช่วงเดือนรอมฎอนที่มีความหมายนี้ แต่เมื่อเริ่มต้นการถือศีลอดก็ได้รับทราบข่าวการแจ้งความโดยกอ.รมน ภาค 4 ต่อ ข้าพเจ้าและคุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และคุณสมชาย หอมลออ จากกรณีร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม

หลายคนอาจมองว่า สมควรแล้วที่ข้าพเจ้าจะได้รับจากการกระทำของข้าพเจ้าเอง หลายคนอาจจะมองว่าไม่สมควรที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะถูกดำเนินคดีเช่นนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจดีต่อการกระทำครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ เพราะในการประชุมร่วมกันหลายครั้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีการระบุถึงการดำเนินคดีกับข้าพเจ้าทุกครั้ง และ จากเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ หรือคนทำงานให้เขา มีคนเตือนข้าพเจ้าให้ระมัดระวังตัวจากการถูกติดตาม มีการใช้เพจสื่อสารในการสร้างความเกลียดชังต่อข้าพเจ้า มีการระบุในที่ประชุมว่าข้าพเจ้าคือผู้ที่ต่อต้านรัฐ

นี่คือบททดสอบที่อัลเลาะห์ได้ให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ความรู้สึกของการตกเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นอย่างไร ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจผู้เสียหายที่ถูกดำเนินคดี ที่ต้องอยู่ในเรือนจำ มากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนข้าพเจ้าเพียงเป็นเหยื่อทางอ้อมจากการที่น้องเขยถูกดำเนินคดีความมั่นคงที่ทำให้เข้าใจและน้องสาวร่วมกันก่อตั้งกลุ่มด้วยใจเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับดีความมั่นคง อาจเข้าใจจิตใจของคนในครอบครัว แต่ครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าข้าพเจ้าเข้าใจจิตใจของเขาเองอย่างลึกซึ้ง นี่คือบททดสอบที่ว่า ข้าพเจ้าจะปกป้องเหยื่อที่ถูกกระทำทรมานได้หรือไม่ นี่คือบททดสอบของคนทำงานที่จะกล้าหาญ ทำงานเพื่อประชาชน ผู้เสียหาย ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง มีการใช้กฎหมายพิเศษ เยี่ยงนี้ได้หรือไม่

ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์แสดงความห่วงใย และการเสนอความช่วยเหลือต่างๆ ขอบคุณมากคะ มันมีความหมายมากเลย สำหรับข้าพเจ้า และเมื่ออ่านข้อคิดเห็นหนึ่ง “อย่างนี้งานเข้า จะเดินต่อสู้ไหวไหมครับ” ข้าพเจ้าจึงต้องการบอกกับทุกคนว่า ข้าพเจ้ายังคงยืนอยู่บนเส้นทางการเป็นนักปกป้อง ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อไป กลุ่มด้วยใจจะยังคงทำงานในการบันทึกข้อมูล ข้อร้องเรียน รับเรื่องร้องเรียนการละเมิด และการช่วยติดตาม เฝ้าระวัง ผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ การปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง การเข้าถึงความยุติธรรมต่อไป งานของกลุ่มด้วยใจดำเนินการเพื่อพี่น้องประชาชน และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าและกลุ่มด้วยใจคือ สันติภาพในดินแดนปาตานี

ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าและคุณพรเพ็ญ คุณสมชาย เท่านั้นที่อาจจะเจอบททดสอบแบบนี้ แต่ในพื้นที่ขัดแย้งแบบนี้ ทุกคนอาจจะเจอกับเหตุการณ์นี้ก็เป็นได้ และนั่นก็ทำให้เกิดเสียงเงียบของประชาชน โลกนี้จะมีแต่ความสงบสุข สันติ ไม่มีการละเมิด มีแต่ภาพความเป็นฮีโร่ แต่เสียงเงียบนี้คือความน่ากลัวของไฟที่จะทำลายกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนี้ ข้าพเจ้าก็เช่นกัน

ข้าพเจ้ามองเห็นว่า เพื่อการป้องกันมิให้เกิดกรณีแบบนี้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป สิ่งที่เราควรจะนำมาเป็นบทที่ทุกคนได้เรียนรู้ ก็คือการเรียนรู้ศึกษากระบวนการยุติธรรมต่อกรณีการฟ้องร้องนี้ การติดตามคดีในทุกขั้นตอนกระบวนการ การสื่อสารต่อสาธารณะ การศึกษากลไกการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้ง (HUMAN RIGHT DEFENDER) และ ในอนาคตเราอาจจำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ก็เป็นได้

ประการต่อมา เราจะทำงานเพื่อปกป้องผู้เสียหายจากการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร เราควรจะมีกลไกอย่างไร ที่ผู้เสียหายจะกล้าที่จะให้ข้อมูลและไม่ถูกฟ้องร้องว่าให้ข้อมูลเท็จ ในเมื่อการกระทำทรมานเป็นการกระทำในที่ลับมีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำที่รู้เท่านั้น แม้แต่ในชั้นศาล เมื่อผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง การบอกเล่าเรื่องการถูกกระทำทรมานในระหว่างการควบคุมตัวศาลก็ไม่รับฟัง ด้วยไม่มีประจักษ์พยาน ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ กว่า 37 วัน ถึงแม้ญาติจะเห็นร่องรอยบาดแผล แต่คำบอกเล่านี้ก็ไม่มีผลในชั้นศาล หรือแม้แต่กรณีที่มีการยิงผิดคนก็ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ด้วยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายพิเศษ

ข้าพเจ้ายังคงยืนยันที่จะต้องทำงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อการทำงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ต่อไปเมื่อมีการร้องเรียนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนก็มุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพเช่นเดียวกัน แต่อาจเป็นสันติภาพที่มองต่างมุม

ข้าพเจ้ามองเห็นโอกาสที่ดีในอนาคต ที่เราทุกคนที่มีเป้าหมายเดียวกันคือคำว่าสันติภาพ ด้วยการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในการทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน และเพื่อการปกป้องซึ่งกันและกัน

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน
อัญชนา หีมมิหน๊ะ
12 มิถุนายน 2559”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อที่ดิน ในความทรงจำคนเดินนำขบวนการอีสานใหม่

$
0
0

“ไม่รู้ว่าในสายตาผม พ่อเด่นแกหายน่ากลัวตอนไหน คงเป็นเพราะแกไม่ชอบห้องแอร์ เราเลยสนิทกัน”

“ไม่รู้ว่าในสายตาผม พ่อเด่นแกหายน่ากลัวตอนไหน คงเป็นเพราะแกไม่ชอบห้องแอร์ เราเลยสนิทกัน”

นั่นเป็นคำพูดช่วงหนึ่งในบทสนทนาขนาดสั้นของเรากับ บอม วิทูวัจน์ ทองบุ ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม และสมาชิกขบวนการอีสานใหม่ ระหว่างที่ขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน หรือ walk for rights หยุดพักกินข้าวกลางวันที่วัดแห่งหนึ่ง ในอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อาจนับว่านี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เราได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวในขณะที่เขา นอนถอดเสื้อ เอาเสื้อคลุ่มสีดำมาทำเป็นผ้าปิดตา เพื่อให้การพักผ่อนในเวลาเที่ยงครึ่งเป็นไปได้ง่ายขึ้น ก่อนจะออกเดินต่อไปในอีกชั่วโมงถัดไป และดูจะเป็นการสัมภาษณ์ที่ง่ายมาก เพราะเราถามเขาเพียงคำถามเดียว ช่วยเล่าเรื่องพ่อเด่นที่หายตัวไปให้ฟังหน่อย?

บอมเล่าว่า รู้จักกับ พ่อเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องที่ดินที่ทำกิน แห่งบ้านโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ตั้งแต่ยังเรียนที่นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเหตุการณ์ที่ทำให้เขาสองคนได้เจอกันคือ การลงทำค่ายของกลุ่มดาวดิน ซึ่งบ้านโคกยาวเป็นพื้นที่พิพาทหลังการประกาศเขตป่าสงวนชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 และมีปัญหาเรื่อยมาจนทั่งมีปัญหาระลอกใหญ่อีกครั้งหลังการรัฐประหาร 2557 โดย คสช.

“เจอแกครั้งแรก ตอนพาน้องดาวดินมาเซอร์เวย์ที่จัดค่าย ตอนนั้นผมอยู่ปี 3 ก็ได้ไปลงที่ทุ่งลุยลาย คอนสาร ก็เลยได้มาเจอพ่อเด่น แกนั่งอยู่นอกวงคุย ผิวดำๆ คล้ำๆ นั่งนิ่งๆ หน้าแกดุ ดูน่ากลัว หลายคนก็แนะตัวกันไป สวัสดีครับ ผมชื่ออะไรก็ว่ากันไป แต่แกไม่พูดเหมือนคนอื่น คำแรกผมยังจำได้เลย แกบอกว่า สบายดีลูกหลาน”

อาจจะเพราะคำกล่าวทักทายคำแรก ที่ไม่ใช่สวัสดี บอม เลือกที่จะเข้าไปคุยกับ พ่อเด่น หลังจากวงพูดคุยระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านเรื่องการเตรียมออกค่ายจบลง

“สำหรับผมตอนนั้น พ่อเด่นแกคือ อาจารย์ของเราคนหนึ่ง แกมีประสบการณ์การต่อสู้เยอะ เวลาได้คุยกัน แกก็เล่าอดีตการต่อสู้ เรื่องที่ดินที่ของแกให้เราฟัง สมัยก่อนป่าไม้ไม่กล้าทำอะไรชาวบ้านหรอก เพราะมีคอมมิวนิสต์ดูแลพื้นที่อยู่ แกก็เล่าของแกไป”

แม้ท้ายที่สุดค่ายดาวดินครั้งนั้นจะไม่ได้ไปจัดที่บ้านโคกยาว แต่จัดที่บ้านบ่อแก้วแทน แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหญ่ กับคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สิ้นสุดลง บอมเล่าว่า ได้เจอกับพ่อเด่นอีกหลายครั้งในการประชุม การสัมมนา เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องปัญหาที่ดินที่ทำกินต่างๆ เป็นประจำ แล้วเขาสองคนมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันคือ สองคนไม่ชอบห้องแอร์กันทั้งคู่

“พอผมทำงานแล้วก็มาตั้งศูนย์กฎหมายกับเพื่อนๆ เวลาเราไปประชุมเรื่องสิทธิ เรื่องกฎหมายต่างๆ ก็จะเจอแกบ่อยๆ ห้องมันแอร์เย็นเกินไปพวกผมไม่คุ้น ก็เลยออกมาสูบยากัน แกก็ตามมาด้วย แกไม่ชอบห้องแอร์เหมือนกัน ก็ได้คุยกันบ่อยๆ เราคุยเรื่องอะไร เรื่องที่ดิน เรื่องเหมือง เรื่องปิโตรเลียม แกคุยด้วยได้หมดทุกเรื่อง แล้วก็ชอบเล่าเรื่องตอนตัวเองเข้าป่าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์”

จากเรื่องราวที่ได้ฟังหลายๆ ครั้ง จากปัญหาของชาวบ้านที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ และจากการต่อสู้ของรุ่นพ่อ รุ่นลุง แม้บรรยากาศทางการเมือง และบรรยากาศในการต่อสู้จะเปลี่ยนไปมาก แต่สิ่งที่บอมเห็น พ่อเด่น ยังคงเป็นนักต่อสู้อยู่เสมอ

“ไม่คิดว่ามันจะมาจบง่ายๆ แบบนี้ ตอนแกหายไปใหม่ๆ ก็มีคนคิดว่าแกหลงป่า คิดว่าถูกสัตว์ทำร้าย โอ้ยคนเคยเป็นนายพราน เคยเป็นคอมมิวนิสต์ถ้าหลงป่าก็คงไม่ใช่ จะว่าแกป่วยผมก็ไม่เคยเห็นแกเป็นอะไรเลย แต่สิ่งที่เจอเราเจออยู่นี่คือการหายไป แบบไม่มีล่องรอยอะไรเลย คนนี่แหละที่ทำคน การอุ้มหายมันโหดร้ายตรงที่นอกจากคนที่หายจะเป็นเหยื่อแล้ว มันทำให้คนที่ยังอยู่เป็นเหยื่อไปด้วยเหมือนกัน ลูกเต้าแกก็ไม่มีอยู่กับเมียสองคน ตอนนี้ที่บ้านก็เหลือแต่เมียแก กับหมาอีกสองตัว”

หมายเหตุ1 : เด่น คำแหล้ อายุ 65 ปี ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินบนผืนป่าโคกยาว ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังเดินทางเข้าป่าบริเวณสวนป่าโคกยาวรอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติชาติภูซำผัก หนาม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อเข้าไปหาเก็บหน่อไม้ ไปวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลาย

หมายเหตุ2 : ทั้งนี้กิจกรรม walk for rights ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยขบวนการอีสานใหม่มีเป้าหมายว่าจะเดินทั่วภาคอีสานระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร 35 วัน เพื่อพบปะประชาชนในภาคอีสาน และเปิดปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ และนโยบายของรัฐทั่วภาคอีสาน รวมทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง Timeline ก่อนหายตัว ลุงเด่น คำแหล้ นักสู้สิทธิที่ดินต่อการทวงคืนผืนป่ายุค คสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาชน-นักสิทธิ LGBT ไว้อาลัยเหตุกราดยิงที่ออร์แลนโด หน้าสถานทูตสหรัฐฯ

$
0
0



 

13 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 18.00 น. บริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นักกิจกรรมด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศร่วมจัดกิจกรรมไว้อาลัยต่อเหตุการณ์กราดยิง "พัลส์"ไนต์คลับสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน เมื่อคืนวานนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณที่จัดกิจกรรม มีการแขวนธงสีรุ้ง และวางป้ายข้อความ “LOVE ALWAYS WINS STAND WITH ORLAND” บนกระดาษสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBT กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ขณะที่ เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์. เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ออกมาร่วมไว้อาลัยด้วย ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนและวางดอกไม้ไว้อาลัยราว 40 คน 

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ตัวแทนผู้จัดกิจกรรม บอกว่าผลตอบรับในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าจะมีการประกาศออกไปอย่างกระชั้นชิด พร้อมกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าคงสร้างความเศร้าใจและทุกคนคงตกใจเพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นไม่ว่ากับใครตาม

เมื่อถามถึงผลกระทบและความเคลื่อนไหวของ LGBT ในประเทศไทย พิมพ์สิริ มองว่า ยังไม่ได้มีความรุนแรงทางกายภาพชัดเจนแต่มีในทางโครงสร้าง เช่น ทางกฎหมาย  ซึ่งสามารถใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการเริ่มต้นพูดคุยกันได้

“เมืองไทยไม่ได้มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสุดขั้วอยู่แล้วต่อ LGBT เป็นแบบทนได้แต่ไม่ยอมรับได้ทั้งหมด ทำให้เห็นว่าแม้ LGBT จะไม่มีชีวิตประจำวันที่ลำบากแต่เมื่อเข้าสู่กรอบของทางการ อย่างสู่กระบวนทางกฎหมายกลับไม่มีสิทธิอะไรรองรับเลย” พิมพ์สิริ กล่าว

"แมกนั่ม"หนึ่งในผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตัวเองกำลังอยู่ในบาร์เกย์ที่เมืองไทยแต่สัมผัสได้ถึงความไม่ปลอดภัย ทั้งยังมองว่าแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่ต่างประเทศแต่ยังให้ความรู้สึกใกล้ชิด เพราะการเหยียดเพศเป็นเรื่องที่สามารถพูดถึงและรู้สึกร่วมกันได้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม

ทั้งนี้ เหตุการณ์กราดยิง "พัลส์"ไนต์คลับสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน  ประมาณ 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ สมัยใหม่ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 53 คน โดยคนร้ายถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเวลาต่อมาในที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนก่อเหตุ คนร้ายโทรไป 911 เพื่อสาบานตนแสดงความจงรักต่อ ISIS

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช: รูปรัฐ ชนชั้นนำ และเผด็จการจำแลงในอุษาคเนย์

$
0
0

พูดคุยกับดุลยภาค ปรีชารัชช ถึงรูปแบบรัฐรวมศูนย์/กระจายอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มก้อนชนนั้นนำ พร้อมเสนอว่านอกจากการตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยศึกษาแล้ว จำเป็นต้องตั้งคำถามที่ลุ่มลึกขึ้นเกี่ยวกับเผด็จการศึกษา ว่าในภูมิภาคแห่งนี้ เหตุใดชนชั้นนำอำนาจนิยมจึงได้อยู่รอด หรือปรับตัวจำแลงแปลงกายอย่างไรในโครงสร้างสถาปัตยกรรมการเมืองยุคปัจจุบัน

000

ผู้สื่อข่าวประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันศึกษาต่อปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง

โดยก่อนที่อาจารย์ดุลยภาคจะเดินทางไปเป็นนักวิจัยแลกเปลี่ยน ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ดุลยภาค และตั้งคำถามถึงลักษณะร่วมกันของรูปแบบรัฐและชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ พิจารณาแนวโน้มของระบอบการปกครองในประเทศเหล่านี้ว่าภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลายภูมิภาคในโลกเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยและสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐานนั้น บรรดารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลสะเทือนจากกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ยังพูดคุยกันถึงรูปแบบรัฐรวมศูนย์ รัฐกระจายอำนาจ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกรณีรูปแบบรัฐในพม่า ที่ด้านหนึ่งเมื่อผ่อนคลายและเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือนไปสู่การรัฐบาลพลเรือนแล้วนั้น แนวคิดสหพันธรัฐนิยมที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเรียกร้องจะมีที่ทางอย่างไร

000

...รัฐเอเชียอาคเนย์ อยู่ในส่วนไหนของคลื่นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลก ช่วงคลื่นลูกที่ 3 และคลื่นลูกที่ 4 จะเห็นลักษณะพิเศษที่เป็นตัวอย่างในเอเชียอาคเนย์ คือการก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว และก้าวถอยหลังเข้าคลอง 1 ก้าว ในลักษณะที่ว่ามีความก้าวหน้าในการพัฒนาประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมเริ่มคลายตัวเองแล้วเปลี่ยนมายอมรับกฎกติกาและประเพณีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่มีลักษณะการจำแลงแปลงร่างของเผด็จการ ที่สวมเสื้อผ้าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในยังเป็นอำนาจนิยม หรือบางครั้งมีการฟื้นคืนชีพของระบอบอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจเต็มพิกัด

 

ภาพถ่ายเมื่อ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1966 ระหว่างการประชุม SEATO ที่ฟิลิปปินส์ โดยในเวลานั้นประเทศในเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศมีผู้นำในระบอบอำนาจนิยม ในภาพ (จากซ้ายไปขวา) เหงียนเกากี นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ ฮาโรลด์ โฮลต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ปักจุงฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, เคท โฮลีโยค นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, พล.ท.เหงียนวันเทียว ประธานาธิบดีเวียดนาม จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทย และลินดอน บี จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ที่มา: Frank Wolfe, White House Photo Office / Wikipedia)

 

ถาม - ลักษณะร่วมสมัยกันของชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่มีลักษณะร่วมกันอย่างไรหากต้องจำแนก

ดุลยภาค - ชนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในหลายๆ ที่ทั่วโลก อาจจะจำแนกออกหลายประเภท บ้างก็ว่ามีชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทหาร ชนชั้นนำธุรกิจ ชนชั้นนำที่เป็นผู้นำทางความคิดหรือปัญญาชน ในแต่ละประเภทของชนชนั้นนำมีจุดเด่นจุดร่วมจุดต่างที่มีลักษณะเฉพาะตัว

เมื่อพูดถึงชนชั้นนำทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปฏิเสธไม่ได้ต้องพูดถึงบทบาททหารกับการเมือง ทั้งในไทย พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพียงแต่ว่ามีการจำแนกแยกย่อยชนชั้นนำที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองนั้นได้ทำหน้าที่ หรือมีจุดยืน หรือฟังก์ชั่นแบบไหนบ้าง เช่น นายทหารที่เข้ามาปกครองโดยตรง เราจะเห็นได้ชัดอย่างเช่น นายพลเนวิน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือนายพลซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย หรือบ้างก็ว่าเป็นทหารผู้พิทักษ์ ในยามที่บ้านเมืองสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ ก็จะมีทหารที่ทำหน้าที่พิทักษ์ค้ำยันประเทศไว้มิให้ล่มสลาย บางประเทศก็ให้ความสำคัญกับทหารในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บ้างก็มีทหารทำหน้าที่ Moderator หรือทหารที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย พยายามรอมชอมประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้งในสภาและแม้กระทั่งนอกสภา

เมื่อพูดถึงชนชั้นนำทางการเมืองประเภทอื่นๆ เช่น ชนชั้นนำทางการเมือง เราก็ให้อรรถาธิบายได้ ในเรื่องของระบบโครงสร้างพรรคการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำบางท่านมาจากการเป็นผู้นำของพรรคเด่นเดียวในรัฐ ผู้นำบางท่านมาจากการเป็นผู้นำในระบบสองพรรคการเมืองเด่นในประเทศนั้นๆ หรือบ้างก็เป็นผู้นำที่มาพรรคการเมืองกระจัดกระจายแบบประชาธิปไตยพหุพรรคในบางประเทศ

แต่คราวนี้รูปแบบพรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นอกจากพรรคการเมืองพลเรือนล้วนๆ ยังมีพรรคกึ่งพลเรือนกึ่งทหารที่ขึ้นมามีอำนาจด้วย เราเคยเห็นพรรคการเมืองไทยบางพรรค หรืออย่างในพม่า มีพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ของพม่าเป็นต้น หรือกรณีพรรคคอมมิวนิสต์ ของเวียดนาม ลาว เราเห็นชนชั้นนำที่มาจากพรรคการเมืองประเภทนี้ ซึ่งเคยเป็นชนชั้นนำนักปฏิวัติมาก่อน

 

ป้ายของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่หน้าสำนักงานสาขาพรรคย่านบึงกัก กรุงพนมเปญ ภาพนี้ถ่ายในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2555 ในภาพประกอบด้วย เจีย ซิม ประธานวุฒิสภา (เสียชีวิตเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2558) ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และ เฮง สัมริน ประธานสภานิติบัญญัติ ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ขับระบอบเขมรแดงออกจากพนมเปญเมื่อ ค.ศ. 1979  ขณะที่ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยประกาศว่าจะครองอำนาจไปอีก 30 ปี (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย อ่านคำประกาศเอกราช เมื่อ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ใกล้เคียงกันนั้นคือโมฮัมหมัด ฮัตตา รองประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ภายหลังประกาศเอกราชอินโดนีเซียยังต้องจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมดัตซ์ระหว่าง ค.ศ. 1945-1950 (ที่่มา: Presidential Documents, National Library of Indonesia/Wikipedia)

บางส่วนของคณะ "สามสิบสหาย" (The Thirty Comrades) ซึ่งเป็นกลุ่มคนหนุ่มที่ต่อต้านการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ และเรียกร้องเอกราชให้กับพม่า โดยมีแกนนำคือนายพลอองซาน ซึ่งเขาถูกลอบสังหารในช่วงเป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการก่อนได้รับเอกราช ต่อมาหลังพม่าได้รับเอกราชและปกครองในระบอบรัฐสภาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากเผชิญสงครามกลางเมืองกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และทหารก๊กมินตั๋ง จนกระทั่ง ค.ศ. 1962 นายพลเนวินซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสามสิบสหายได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของอูนุ ทำให้พม่าถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารอย่างยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ (ที่มา: Wikipedia

 

พวกพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์ที่ต่อมากลายเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาแบบพหุพรรค แบบที่เกิดขึ้นกับการเมืองแบบกัมพูชา เช่น กรณีของพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ต่อมากลายเป็นพรรคประชาชนกัมพูชานั้น อันที่จริงแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้มีสภาพหรือร่องรอยแบบพรรคการเมืองปฏิวัติเดิมหรือไม่

เรื่องสำคัญคือเรื่องแนวคิดอุดมการณ์ หรือประสบการณ์ทางการเมืองของชนชั้นนำที่แปลงสภาพจากพรรคคอมมิวนิสต์ กลายมาเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในรัฐสภาตามระบอบที่ค่อนไปทางประชาธิปไตยนั้น ก็มีบางอย่างที่ต้องปรับตัวเข้าปรับวิถีการเมืองใหม่ วัฒนธรรมการเมือง หรือรูปแบบกระบวนการการตัดสินใจเชิงนโยบายที่แปลกใหม่มากขึ้น ค่อนไปทางพหุนิยมมากขึ้น แต่ก็หลีกไม่พ้นกรอบคิดที่มาจากคอมมิวนิสต์ด้วย ก็คือการเน้นการประสานระหว่างพรรคกับรัฐให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะฉะนั้นรัฐาธิปัตย์จึงมีลักษณะเป็นแบบรัฐและพรรคเป็นตัวนำ และอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์จะไปด้วยกันได้มากแค่ไหน หรือขัดแย้งอย่างไร ก็น่าจับตามองทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบใหม่ๆ รวมทั้งบทบาทที่ยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้อยากชวนให้พิจารณาว่าในการทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะทั้งชนชั้นนำการเมือง ชนชั้นนำทหาร หรือชั้นชั้นนำกลุ่มธุรกิจ และกลุ่มปัญญาชนต่างๆ ควรต้องเข้าใจโครงสร้างรัฐด้วยว่าโครงสร้างรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถจัดประเภทเป็นแบบใดได้บ้าง หากมองในแง่ของประวัติศาสตร์ และการเมือง ตลอดพื้นฐานความหลากหลายของรัฐนั้นๆ ก็จะมีรัฐที่ใช้โครงสร้างแบบปฏิวัติ แบบพหุภาพ และรัฐที่ใช้การควบคุมการเมืองแบบเต็มพิกัด หรือเป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจเต็มพิกัด

กรณีอินโดนีเซีย ในช่วงหลังจากได้รับเอกราชใหม่ เป็นตัวอย่างของรัฐที่ใช้โครงสร้างแบบปฏิวัติ ชนชั้นนำใช้โครงสร้างประชาธิปไตยชี้นำ เพื่อคุมระเบียบของประเทศ กล่าวคือมีลักษณะเป็นพลังที่ทะยานขึ้นมาเพื่อปลดแอกเรียกร้องเอกราช แต่ชะตาชีวิตของรัฐนั้นที่เผชิญบรรยากาศการเมืองที่ยังผันผวน รัฐยังมีความยากจนและยังให้ความสำคัญกับการรวมชาติ จึงให้ความสำคัญกับลัทธิชาตินิยมด้วย

ส่วนของรัฐแบบโครงสร้างพหุภาพ พม่าหรือมาเลเซียในสมัยหนึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ลักษณะโครงสร้างพหุสังคม ซึ่งทำให้ผลิตสถาปัตยกรรมแห่งรัฐไม่มากก็น้อยตอบสนองกลุ่มพลังทางเชื้อชาติที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป สิ่งนี้เองทำให้มีการพูดถึงสหพันธรัฐในการออกแบบสถาปัตยกรรมรัฐทั้งในพม่าและมาเลเซีย

ส่วนรัฐบาลที่ใช้อำนาจแบบเต็มพิกัด ก็เห็นได้ชัดในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมก็ดี หรือเผด็จการทหารก็ดี เช่น ในยุคจอมสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ของไทย สมัยเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์ สมัยนายพลเนวินของพม่า เราจะเห็นว่ารัฐต้องคุมกลไกเบ็ดเสร็จเต็มที่ อาจปล่อยพื้นที่ให้ภาคส่วนอื่นๆ บ้าง แต่ความสงบเรียบร้อยและการใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ การใช้กฎเหล็กคณาธิปไตย การใช้โครงสร้างกองทัพบกอันมหึมา หรือหน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงเข้าไปกดทับความหลากหลายหรือตรวจสอบมอนิเตอร์ประชาชน เราก็จะเห็นโครงสร้างรัฐแบบใช้อำนาจเต็มพิกัดพอสมควร

 

เมื่อนำกรอบสามแบบดังกล่าว มามองโครงสร้างของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน บางรัฐเคยเป็นระบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ แต่บางกรณีเช่น พม่าก็เห็นไดัชัดว่าเริ่มผ่อนคลายลง แต่บางประเทศเมื่อสถาปนารัฐชาติขึ้นมา ก็เป็นระบบรัฐสภา แต่ก็ปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียวนานมากอย่างเช่นสิงคโปร์ เราจะจัดรูปแบบรัฐพวกนี้แบบไหน

สำหรับกรอบการมองสามแบบเป็นกรอบที่มาจากงานวรรณกรรมชิ้นคลาสสิคหนึ่งคือ The Cambridge History of Southeast Asia ผลงานที่ Nicholas Tarling เป็นบรรณาธิการ มีการพูดถึงการจัดโครงสร้างรัฐแบบนี้ ซึ่งใช้กับบริบทของรัฐเอเชียอาคเนย์หลังได้รับเอกราช เป็นการแบ่งโดยพินิจพิเคราะห์ผ่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นสำคัญ

หากพิจารณาสิงคโปร์ ก็อยู่ในโครงสร้างรัฐพหุภาค เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายา เคยอยู่ในโครงสร้างรัฐพหุภาพที่ค่อนไปทางสหพันธรัฐ แต่มีเรื่องดุลประชากรระหว่างชาวจีนกับชาวมลายู และการจัดสรรส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจรายได้ และงบประมาณกับรัฐบาลกลาง

แต่เมื่อเราขยายกรอบวิเคราะห์เพิ่มเติม ก็มีจัดแบ่งประเภทการปกครองของรัฐที่ใช้อีกเกณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ใช้เกณฑ์วัดระดับการพัฒนาประชาธิปไตย เราก็จะมีตัวชี้วัดว่า มีเกณฑ์ประเภทใดบ้างที่จะบ่งชี้ได้ถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยแล้วให้คะแนนและจัดอันดับ

เช่น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์การเมือง มีการหมุนเวียนชนชั้นนำไม่ใช่ชนชั้นหน้าเดิมครองอำนาจสถาพร แต่มีการเปลี่ยนชนชั้นนำที่มาจากพรรคที่ต่างกัน หรือกลุ่มขั้วอำนาจที่ต่างกัน ก็จะมีเกณฑ์การพิจารณา ก็อาจจะแบ่งประเภทรัฐได้เป็น 4 อย่าง รัฐที่ได้คะแนนสูงที่สุด ก็อาจจัดได้ว่าเป็นรัฐหรือระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ที่ลดกันลงมาคือระบอบกึ่งประชาธิปไตย ตามด้วยระบอบกึ่งอำนาจนิยม และที่แย่ที่สุดในคะแนน Democratization คือรัฐหรือระบอบอำนาจนิยม หากเราใช้ Democratization เป็นเกณฑ์สำคัญ ก็จะมีรัฐอยู่ 4 ประเภท

ซึ่งสามารถพิจารณาได้ตามช่วงเวลาด้วย เพราะบางช่วงเวลาหนึ่งประเทศหนึ่งอาจจะเป็นระบอบหนึ่ง แต่ช่วงเวลาหนึ่งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นก้าวหน้าหรือถอยหลังก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะไม่มีรัฐที่อยู่กรอบประชาธิปไตยนี้ แต่รัฐที่เข้าในกรอบนี้อาจจะเป็นรัฐในภูมิภาคยุโรปหรืออเมริกาเหนือเป็นต้น

ถ้าพูดถึงรัฐกึ่งประชาธิปไตย รับที่มีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ มีการหมุนเวียนชนชั้นนำ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ผู้นำมีที่มาจากแหล่งอำนาจหลากหลาย ฟิลิปปินส์หลายช่วงเวลาอยู่ในข่ายดังว่า แต่ก็ไม่ได้พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เพราะถ้าเราใช้เกณฑ์คอร์รัปชัน ธรรมาภิบาลเป็นข้อพิจารณาเสริม ฟิลิปปินส์อาจจะไม่ได้อยู่ในประเภทนี้ แลถ้าเราใช้บทบาทเจ้าของที่ดินที่มีอิทธิพลในการเมืองท้องถิ่น ฟิลิปปินส์ก็มีปัญหาเรื่องนี้ เราถึงเรียกฟิลิปปินส์ว่าเป็นรัฐกึ่งประชาธิปไตย

ส่วนรัฐในรูปแบบกึ่งอำนาจนิยม เราพบรัฐในเอเชียอาคเนย์มากมายที่เป็นแบบนั้น บ้างก็บอกว่า สิงคโปร์ภายใต้ระบอบลี กวน ยู เป็นแบบนี้ บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคกิจประชาชน (PAP) ก็ขึ้นมาตลอด ประชาชนไม่มีเสรีภาพมากนักในการวิจารณ์รัฐบาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม จะนำพาประเทศจะถอยหลังเข้าคลองทางเศรษฐกิจ เราจะเห็นศิลปะการบริหารที่น่าประทับใจ และการขจัดคอร์รัปชั่นในรัฐบาลสิงคโปร์

มาเลเซีย อาจเข้าข่ายประเภทนี้ อินโดนีเซียหลายช่วงสมัยเข้าข่ายประเภทนี้ ระบอบประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังเบ่งบานของพม่า ก็อาจคลี่คลายเข้าสู่ประเภทนี้ แต่ในความเป็นกึ่งอำนาจนิยมก็อาจจะแบ่งระดับแยกย่อยหลายหลายแต่ก็แบ่งคร่าวๆ ได้ประมาณนี้

อันดับสุดท้าย รัฐอำนาจนิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในลาว เวียดนาม ระบอบการเมืองประเภทนี้ บ้างก็ว่าเป็นอำนาจนิยมโดยพรรค บ้างก็อาจจะเป็นเบ็ดเสร็จนิยม แต่ผมว่าในปัจจุบันก็เริ่มคลี่คลาย

รัฐสุลต่านบรูไนก็ถูกจัดในประเภทรัฐอำนาจนยิม ส่วนรัฐไทยมีตั้งแต่ความเป็นระบอบอำนาจนิยม ระบอบกึ่งอำนาจ นิยม ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ซึ่งก็มีควมขึ้นลงตามวิวัฒนาการประวัติศาสตร์

ทั้งนี้พอจัด 4 ประเภทสำหรับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าส่วนใหญ่อยู่ใน 3 ประเภทหลัง แต่ยังไม่มีรัฐประเภทที่ 1 คือรัฐประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้

 

แนวโน้มในศตวรรษที่ 21 อาจารย์มองว่าทั้งโครงสร้างรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบของการเกาะกุมอำนาจชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการประสานประโยชน์กัน มีลักษณะต่างไปจากตอนปลายศตวรรษที่ 20 หลายรัฐเริ่มเปลี่ยนหรือผ่อนคลายระบอบการปกครอง พอเห็นพัฒนาการหรือแนวโน้มที่รัฐและชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเดินไปหรือไม่

แซมมวล พี ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์สหรัฐอเมริกัน เขียนงานประพันธ์น่าสนใจเรื่อง “Democracy's Third Wave” ลงในวารสาร Journal of Democracy ในปี 1991 ตอนหนึ่งเขียนถึง “democratic wave” หรือคลื่นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลกปัจจุบันเราผ่านคลื่นลูกที่ 1 และคลื่นลูกที่ 2 มาแล้ว ส่วนคลื่นลูกที่ 3 คือรอยต่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียตช่วง 1990-1991และปัจจุบันตกอยู่ในคลื่นลูกที่ 4 อาหรับสปริง เป็นตัวอย่างชัดเจนของ democratization คลื่นลูกที่ 4

แล้วรัฐเอเชียอาคเนย์ อยู่ในส่วนไหนของคลื่นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลก ช่วงคลื่นลูกที่ 3 และคลื่นลูกที่ 4 จะเห็นลักษณะพิเศษที่เป็นตัวอย่างในเอเชียอาคเนย์ คือการก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว และก้าวถอยหลังเข้าคลอง 1 ก้าว ในลักษณะที่ว่ามีความก้าวหน้าในการพัฒนาประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมเริ่มคลายตัวเองแล้วเปลี่ยนมายอมรับกฎกติกาและประเพณีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่มีลักษณะการจำแลงแปลงร่างของเผด็จการ ที่สวมเสื้อผ้าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในยังเป็นอำนาจนิยม หรือบางครั้งมีการฟื้นคืนชีพของระบอบอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจเต็มพิกัด ทหารกับการเมืองเอเชียอาคเนย์ก็เห็นได้ชัด การก้าวขึ้นมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหาร ก็ทำให้เห็นคลื่นโต้กลับของกระแสคลื่นประชาธิปไตย คลื่นโต้กลับที่เป็นอำนาจนิยมได้เถลิงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นการงัดค้างปะทะกันอยู่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนห้องแล็บ ห้องปฏิบัติการที่มีการชักเย่อ ระหว่างเทรนด์กระแสโลก กับลักษณะจารีตประเพณีนิยม อำนาจนิยม

สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือ นักรัฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบจะตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยศึกษาว่า เรามีคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยศึกษามาก แต่เราควรมีคำถามลุ่มลึกขึ้้นเกี่ยวกับเผด็จการศึกษา ว่าทำไมชนชั้นนำอำนาจนิยมจึงได้อยู่รอด ปรับตัวจำแลงแปลงกายอย่างไรในโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่แปรเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ทำไมเขาจึงอยู่รอด เมื่อว่าด้วยเรื่องอำนาจนิยมก็มีตัวแบบหลากหลาย เช่น อำนาจนิยมโดยพรรค เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและลาวยังทรงพลัง ในส่วนระบอบสุลต่านบรูไนยังทรงพลังอยู่ แม้ว่าระบอบราชาธิปไตยจะค่อยๆ สูญสลายในประวัติศาสตร์โลกและเป็นระบอบส่วนน้อยก็ตามที

และที่สำคัญเรื่องของอำนาจนิยมที่มาจากชนชั้นนำทหาร หรือไม่ก็อำนาจนิยมที่มาจากผู้ครองอำนาจที่ทรงคุณธรรม ปรีชาปราดเปรื่อง มีบารมี เป็น “benevolent dictatorship” บางคนบอกว่า ระบอบลี กวน ยู ก็เป็นลักษณะนี้ ก็ยังมีให้เห็นอยู่ เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย’

การปรับตัวของรัฐเอเชียอาคเนย์ก็เป็นในลักษณะที่ว่า จัดให้มีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้นมาหน่อย และมีนาฏกรรมของรัฐแสดงความฟู่ฟ่าว่ารัฐมีเสรีภาพมาก ประชาชนมีเสรีภาพมาก แต่เอาเข้าจริงพรรคการเมืองสำคัญของชนชั้นนำยังคงครองอำนาจอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ก็เปิดช่องให้มีอำนาจพิเศษ เข้ามายับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินของบ้านเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น อำนาจนิยมทรงปราดเปรื่อง มีคุณธรรม มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ มีการศึกษาระดับสูง มองแบบอริสโตเติลก็ได้ก็คือเป็นเผด็จการที่ถ้าไม่ใช่ทรราชย์ก็ผู้ทรงภูมิมาก ซึ่งกรณีของระบอบลี กวนยู ในสิงคโปร์จะเห็นได้ชัด

หรือกรณีของระบอบการปกครองลูกผสมในรัฐพม่า ยุคล่าสุด เราจะเห็นว่าคนถือดาบ Excalibur หรือดาบอาญาสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ กุมหัวใจรัฐาธิปัตย์มี 2 คน หนึ่ง ประธานาธิบดี ในยามบ้านเมืองปกติเป็นทั้งประมุขและบริหารราชการแผ่นดิน อีกคนคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถือเข้ามาถืออาญาสิทธิ์ และเปลี่ยนสถาบันการเมืองปกติให้อยู่ใต้โครงสร้างกองทัพ เพื่อดึงประเทศกลับเข้าสู่ความสงบ แล้วองค์กรตรงกลางที่ทำให้การถ่ายมือเปลี่ยนอำนาจจากผู้นำพลเรือนไปสู่ทหาร และจากทหารไปสู่พลเรือนก็คือสภากลาโหมความมั่นคงแห่งชาติ มีบุคคลในนั้น 11 ท่าน อาจจะเรียกว่าเป็นคณะรัฐบุคคล ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผู้ถือดาบอาญาสิทธิ์ เพราะฉะนั้นพม่าเป็นตัวอย่างของระบอบลูกผสม ที่เผด็จการจำแลงแปลงกายและทำให้เผด็จการถูกทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในรัฐธรมนูญพม่าปี 2008

กรณีสุดท้าย เราไม่ควรจะมองข้ามสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมพื้นเมือง จารีต เก่าแก่ของรัฐในเอเชียอาคเนย์ที่ถูกใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มเผด็จการและกลุ่มอำนาจนิยมเสมอ อนึ่ง มีงานศึกษาเปรียบเทียบการครองอำนาจนำทางการเมืองของรัฐบาลในสิงคโปร์ และรัฐบาลทหารพม่า มีงานของสตีเฟ่น แมคคาที (Stephen McCarthy) จากมหาวิทยาลัย Griffith Universityที่ออสเตรเลีย เขาเปรียบเทียบศิลปการใช้อำนาจในสิงคโปร์กับพม่า คือสมัย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย มีความคล้ายคลึงบางอย่าง กล่าวคือสิงคโปร์หยิบยืมแนวคิดขงจื้อนิยม กับคุณค่าประชาธิปไตยแบบเอเชียมาสร้างความชอบธรรมการเมือง ซึ่งไปได้สวย เพราะมีศิลปะบริหารรัฐกิจ ที่ดันสิงคโปร์ให้เจริญเติบโตได้ดี

หันกลับมามองกรณีรัฐบาลทหารพม่า สมัย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ก็ใช้พุทธศาสนานิยม กับจารีตแบบราชานิยมของกษัตริย์พม่าโบราณ เรียกว่าเป็นการคิดเก่าทำเก่า ทำใหม่ทำใหม่บ้างผสมกันไป แต่การทำเช่นนี้ ได้พามวลชนประชาชนพม่าโหยหากลับไปสู่อดีตอันรุ่งโรจน์ เพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลทหารครองอำนาจยาวนาน แต่ใช้หลักไสยศาสตร์ มายึดกุมหัวใจประชาชน ทำให้ชาวพม่าหลายๆ ส่วน ที่ศรัทธาเรื่องพวกนี้ ยิ่งมีความคิดยั่งยืนคงทน ก็ทำให้เผด็จการให้จำแลงแปลงกายดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ขุดของเก่า หรือของน่าจะเป็นที่นิยมในภูมิภาคในลักษณะร่วมสมัยขึ้นมา พม่าและสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

 

กรณีของติมอร์ตะวันออกซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กเกิดใหม่ แม้ว่าจะเคยมีความไม่สงบในระยะหนึ่งหลังได้เอกราช แต่ก็คลี่คลายได้ คำถามคือ เมื่อติมอร์ตะวันออกสามารถธำรงรูปแบบของรัฐ ในแบบรัฐสภาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ติมอร์ตะวันออกจะเป็นตัวอย่างให้กับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเป็นอิทธิพลที่ส่งผลสะเทือนสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศอื่นหรือไม่

ในอันดับแรก อยากชวนพินิจพิเคราะห์ถึงการจัดประเภทของรัฐอีกแบบ คือดูรูปการปกครองเป็นตัวตั้ง ก็จะไดีรูปแบบหลักๆ เป็น รัฐเดี่ยวกับรัฐรวม

ในรัฐเดี่ยว รัฐบาลกลางมีศูนย์อำนาจเดียว มีการตรากฎหมายแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นรัฐรวมอำนาจของรัฐบาลจะกระจายตัวลดหลั่นกันออกไป และอาจจะมีรัฐสองระดับเป็นระดับ คือมีรัฐบาลกลางกับรัฐอื่นๆ ที่มารวมตัวกัน

ในเชิงรัฐเดี่ยว มีรัฐเดี่ยวที่รวมศูนย์แบบเข้มข้น รวมศูนย์ที่เมืองหลวงอย่างเต็มที่ โดยไม่ปล่อยให้มีชุมชนการเมืองแยกตัวอิสระ แต่อาจมีรูปแบบรัฐเดี่ยวบางรัฐที่มอบการบริหารที่เป็นอิสระมากขึ้นในระดับท้องถิ่นบางกรณี หรือมีรูปแบบรัฐเดี่ยวแต่เปิดให้มีการกระจายอำนาจ เปิดเขตปกครองพิเศษให้บางดินแดน ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการปกครองตนเองได้ กรณีมินดาเนาของฟิลิปปินส์ หรืออาเจะห์ของอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างดังว่า

อีกประเภทที่เป็นรัฐรวม แบ่งเป็นสองระดับ หนึ่งก็คือ federation หรือ สหพันธรัฐ นั่นก็คือ มีการรวมตัวของหน่วยการเมืองต่างๆ และออกผลผลิตมาเป็นรัฐบาลสองระดับ รัฐบาลกลางที่เมืองหลวง และรัฐบาลมลรัฐ มาเลเซียเข้าเกณฑ์นี้ พม่าในปัจจุบันที่มีสภาและรัฐบาล 14 หน่วยการปกครอง รัฐชาติพันธุ์กับ 7 ภาคพม่าแท้ ก็มีสภาพเป็นกึ่งสหพันธรัฐ

อีกประเภทสุดท้าย เป็นรัฐที่รวมกันหลวมๆ รัฐที่รวมตัวกันมีอำนาจมากกว่ารัฐตรงกลาง มีอำนาจอิสระมาก องค์กรกลางไม่ได้มีอำนาจรัฐสมาชิก เป็น confederation หรือสมาพันธรัฐ อาเซียนอาจจะอยู่ในหมวดหมู่นี้

ในคราวนี้ถ้าเราคุยว่าหากเราจะมองติมอร์ตะวันออก หรืออินโดนีเซีย หรือรัฐอื่นๆ ในลักษณะการจัดประเภทรัฐ 2 ประเภทหลัก 4 ประเภทย่อย จะเข้าหมวดหมู่ไหนบ้าง

ในการทำความเข้าใจติมอร์ เราควรมองอินโดนีเซียเป็นร่มธงใหญ่ อินโดนีเซียแรกเริ่มคิดถึงการสร้างรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ แต่คณะนักชาตินิยมได้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดยเชื่อว่าจะเป็นเหมือนกับม้าไม้เมืองทรอย เพราะจะเป็นสลักระเบิดของเจ้าอาณานิคมดัตซ์ ทำให้การรวมชาติอินโดนีเซียสั่นคลอน เพราะจะไม่นำไปสู่ความเป็นรัฐเดี่ยว และสุดท้ยชนชั้นนำอินโดนีเซียเลือกที่จะเป็นรัฐเดี่ยว และเป็นรัฐเดี่ยวที่มีความเขม็งเกลียวในสมัยของซูฮาร์โต้ มีการใช้โครงสร้างกองทัพบก แม่ทัพภาคของอินโดนีเซียมีอิทธิพลมาก สิ่งนี้จึงอธิบายได้ถึงการใช้ความรุนแรงในติมอร์ตะวันออก จนกลายเป็นแรงกระเพื่อม กลายเป็นการปฏิวัติอันทรงฤทธานุภาพและเพื่อต่อต้านสภาวะรัฐเดี่ยวเข้มข้นรวมศูนย์ กลุ่มชนชั้นนำติมอร์ตะวันออกจึงเคลื่อนไหวอยากตั้งรัฐอิสระ และเมื่ออินโดนีเซียอยากคุยในรูปแบบรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ ก็สายเกินไปแล้วสำหรับกรณีของติมอร์ตะวันออก แต่อินโดนีเซียก็ยังใช้ได้ในกรณีของอาเจะห์

คราวนี้ เมื่อถามว่า ติมอร์ตะวันออกมีแรงกระเพื่อมใดๆ ต่อรัฐในเอเชียอาคเนย์ไหม คำตอบคือ เราควรพิจารณาถึงสิ่งที่เรีบกว่า “ชายขอบมลรัฐอุษาคเนย์” (sub-national peripherhy) กล่าวคือ ในภูมิทัศน์การเมือง/ความมั่นคง ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีกลุ่มชายขอบที่อาจจะไม่ใช่ดินแดนของชนชาติพันธุ์หลักที่มีอำนาจในการปกครองประเทศนั้นๆ อาจจะเป็นดินแดนที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้อัตลักษณ์ท้องถิ่นถูกชูความสำคัญขึ้นมา บางระดับเป็นการเรียกร้อง autonomy หรือการปกครองตัวเองภายใต้ของรัฐส่วนกลาง แต่ในบางมิติเป็นการเรียกร้องการตั้งรัฐใหม่ การแยกดินแดนใหม่

ในกรณีการเคลื่อนไหวของติมอร์ตะวันออกส่งผลกระทบกระเทือนถึงรูปแบบการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลางในบางพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เด่นชัดคือกรณีของพม่า โดยเฉพาะกลุ่มในรัฐฉานก็พูดถึงการแยกรัฐอิสระ หรือการเคลื่อนไหวในเวทีระหว่างประเทศ หรือในเวทีสหประชาชาติ โดยใช้ติมอร์ตะวันออกเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ชนชั้นนำนักปฏิวัติชนกลุ่มน้อยทั้งไทใหญ่หรือกะเหรี่ยงก็พูดถึงเรื่องนี้

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องชายขอบมลรัฐอุษาคเนย์ และสอดคล้องกับรูปแบบรัฐอีกประเภทหนึ่งคือ หากเขาทำแบบติมอร์ตะวันออกไม่ได้ คืออาจมีปัญหาคลอนแคลน ยากจน ล้มลุกคุกคลานในยุทธศาสตร์การพัฒนาหลังได้รับเอกราช ซึ่งหากเขาไม่ต้องการสิ่งนั้น สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ ขอเป็นรัฐรวมในรูปแบบสหพันธรัฐ กล่าวคือให้มีรัฐสองระดับ รัฐบาลกลางกับรัฐบาลในระดับมลรัฐ เพียงแต่ขอให้มีสหพันธรัฐที่แท้จริง ที่อำนาจส่วนกลางกับอำนาจมลรัฐควรจะเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาล่าสุดในพม่า อำนาจส่วนกลางยังสูงกว่า กลุ่มชาติพันธุ์จึงคิดว่ายังไม่ใช่สหพันธรัฐที่แท้จริง จึงมีความพยายามเรียกร้องตรงนี้ เพราะฉะนั้นเป็นที่มาของการมองรัฐในเอเชียอาคเนย์อีกแบบหนึ่ง ผ่านเทคนิคการจัดการปกครอง คือแบ่งเป็น รัฐเดี่ยวรวมศูนย์เข้มข้น รัฐรวมศูนย์กระจายอำนาจ สหพันธรัฐ และแบบสมาพันธรัฐ

000

 

พม่ายุครัฐบาลพลเรือน: การตอบสนองแนวทางสหพันธรัฐนิยมของกลุ่มชาติพันธุ์

ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐพื้นที่ภูเขาและชายแดนในพม่าที่ร่วมประชุมปางโหลงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 ทั้งนี้ข้อเสนอให้พม่าเป็นรัฐแบบสหพันธรัฐและกระจายอำนาจให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องชะงักงันหลายทศวรรษภายหลังกองทัพพม่าเข้ามามีบทบาททางการเมือง นับตั้งแต่นายพลเนวินตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเมื่อ ค.ศ. 1958 และทำรัฐประหารเมื่อ ค.ศ. 1962 (ที่มา: http://kachinlandnews.com/)

 

ขอถามในเรื่องแนวคิดสหพันรัฐนิยมกรณีพม่า ซึ่งเป็นคำขวัญทางการเมืองที่ชนชั้นนำกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อรองกับชนชั้นนำพม่าที่มีอำนาจการบริหารและการเมือง ทั้งนี้แม้ว่าจะมีระลอกของการปฏิรูปประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่า แต่ในเรื่องกระจายอำนาจ พม่าก็ยังไม่เป็นสหพันธรัฐที่แท้จริงในความมุ่งหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่รัฐบาลกลางยังคงรักษาอำนาจบริหารจัดการรัฐไว้ แต่ในทางหนึ่งก็ยอมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจปกครองตัวเองเหมือนเป็นรัฐซ้อนรัฐ เช่นในพม่าเราเห็นได้ชัดกรณีเขตว้า หรือเขตปกครองตนเองของปะโอ ในรัฐฉาน เป็นต้น คำถามคือรูปแบบการปกครองของรัฐพม่าที่มอบอำนาจกลุ่มชาติพันธุ์มากน้อยต่างกัน มีผลต่อการเรียกร้องสหพันธรัฐที่แท้จริงอย่างไร

จะแบ่งการตอบเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก ในเรื่องการพัฒนาสหพันธรัฐกับความสัมพันธ์ของการพัฒนาประชาธิปไตยและเอกภาพแห่งชาติ ว่าเอกภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางความหลากหลายจะมีลักษณะทางการเมืองอย่างไร ประเด็นที่สอง มองเรื่องตัวเนื้อแท้หรือสารัตถะของสหพันธรัฐนิยมในประวัติศาสตร์การเมืองพม่าร่วมสมัยว่ามีข้อดีข้อบกพร้องอย่างไรบ้าง จึงมีการชักเย่อไม่ให้ไปสู่จุดที่มีกระจายอำนาจมากเสียที

ประเด็นแรก ผมมีสมการเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความมั่นคง หรือ autonomy ของหน่วยการเมืองสองสมการ กรณีที่หนึ่ง ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบมีค่าเท่ากับอนาธิปไตย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อดีตรัฐบาลทหารพม่าพูดเสมอในลักษณะที่ว่ามีการแตกตัว ขัดแย้งทางชนชั้น ชาติพันธุ์ มีสิ่งที่เรียกว่ากบฎหลากสี หรือนักการเมืองแบ่งเป็นหลายฝ่าย ทุกคนมีเสรีภาพการรณรงค์การเมือง เสนอความคิดเห็นต่างๆ และเคลื่อนไหวทางการเมืองตามผลประโยชน์ของพรรคหรือกลุ่ม แต่ขาดระเบียบวินัยและไร้ซึ่งการยึดโยงผลประโยชน์ชาติโดยรวม สิ่งนี้ชนชั้นนำทหารมองว่านำไปสู่อนาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การสถาปนารัฐบาลเฉพาะกาลของนายพลเนวินช่วง ค.ศ. 1958 -1960 และกลายเป็นการยกเหตุขึ้นมาทำรัฐประหารโดยนายพลเนวิน ค.ศ. 1962

กับกรณีสอง มีกฎระเบียบวินัย แต่ถ้าไร้บรรยากาศประชาธิปไตยก็มีค่าเท่ากับเผด็จการ ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าที่เป็นทหารเข้าอยู่ในหมวดหมู่สมการหลัง ในลักษณะที่ว่าไม่ได้เปิดช่องทางบรรยากาศประชาธิปไตย ทุกอย่างถูกกดด้วยความเขม็งเกลียว นำไปสู่เผด็จการที่ทำให้พม่าล้าหลังเพื่อนบ้านในหลายมิติ เพราะฉะนั้นความพยายามของชนชั้นนำพม่าในการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งรัฐผ่านรัฐธรรมนูญ 2008 เขาพยายามรอมชอมสองสมการนี้อยู่ด้วยกันอย่างมีสมดุล คือให้มีประชาธิปไตยด้วย แต่ก่อนจะบรรลุถึงการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องเคารพกฎระเบียบพื้นฐานด้วยรัฐถึงดำรงอยู่ได้

แต่มีคนเริ่มตระหนักรู้ดีว่า กฎระเบียบที่ว่าไม่ควรเป็นกฎเหล็กคณาธิปไตย ไม่ใช่ rule by man แต่ควรเป็น rule of law ก็คือกฎที่อยู่บนพื้นฐานของนิติรัฐ นิติธรรม ทำอย่างไรจะให้คนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาร่วมกันแก้ไขปฏิรูปประเทศให้มากขึ้น ซึ่งรัฐพม่าปัจจุบันยังต้องพัฒนาอีกมากกว่าจะปลดสลักและไปถึงจุดนั้นได้ แต่ก็เป็นทางออกหนึงที่จะทำให้พม่าพัฒนาประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไปและค่อนข้างจะเบ่งบาน

หากเราเอาสองกรอบสมการมาตั้ง เราจะเห็นว่าเรื่องชนกลุ่มน้อยมักถูกมองว่ามีกองกำลังติดอาวุธ ถ้ารัฐบาลพม่าไม่มีกฎระเบียบควบคุม หรือใช้ทหารจัดการปราบปราม ก็เกรงจะเสียงต่ออนาธิปไตยหรือการล่มสลาย บางทีเขาก็มองว่าสหพันธรัฐนิยม มีค่าเท่ากับแบ่งแยกดินแดน ซึ่งนายพลเนวินที่ทำรัฐประหารก็อ้างว่าเพราะเจ้าฟ้ารัฐฉานพูดเรื่องสหพันธรัฐเยอะเกรงว่าจะแตกแยก แต่ทุกวันนี้เขาเริ่มยอมรับแล้วว่าสหพันธรัฐนิยมสามารถออกแบบดีไซน์ให้แบ่งกระจายอำนาจได้หลายสูตร โดยไม่ต้องแบ่งแยกดินแดนก็ได้ ในรัฐธรรมนูญหลายๆ ประเทศแบบสหพันธรัฐก็ระบุว่า หากมีการกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม ก็ไม่จำเป็นที่รัฐสมาชิกจะแยกตัวออกก็ได้ แต่ในบางประเทศก็ระบุถึงสิทธิการถอนตัวนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณีสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือสหพันธรัฐนิยมที่เป็นเนื้อแท้ของพม่าจริงๆ กล่าวคือ พม่าประกอบด้วยหน่วยประชากร หน่วยภูมิศาสตร์ รัฐหุบเขาหลากหลายรวมกันเป็นสหภาพพม่า ในสนธิสัญญาปางโหลง และรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 ที่ร่างโดยออง ซาน และผู้พิพากษาชื่อจานทุน มีสิ่งที่เรียกว่า “coming together” คือการมารวมตัวกัน ของรัฐพื้นราบพม่ากับรัฐชายแดนภูเขา หลักๆ คือพม่า ชิน คะฉิ่น ไทใหญ่ มารวมตัวกัน สิ่งนี้ทำให้มีสหภาพพม่า เพราะฉะนั้นรัฐส่วนกลางพม่าก็ต้องเคารพรัฐชายแดนภูเขาที่มารวมตัวกันด้วย และให้ autonomy กับรัฐส่วนนั้นในส่วนที่ใกล้เคียงกับส่วนกลาง แต่มองว่าทีผ่านมาไม่ใช่เพราะรัฐบาลส่วนกลางของพม่า ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างรัฐสภา และการบริหารนั้น คนที่เป็นบะหม่า หรือชาวพม่าส่วนกลางยังถืออำนาจอยู่ ให้ความรู้สึกว่าเป็น “Pax Birmanica” คือยังเชื่อว่าการรวมตัวเป็นอาณาจักรหรือรัฐสมัยใหม่นั้น เกิดขึ้นได้ต้องมีชนชาติหนึ่งเป็นตัวนำถึงจะคุมได้อยู่ เหมือนกับ “Pax Romanica” หรือ “Pax Britanica” มันก็ต้องมีโรมัน หรืออังกฤษเป็นศูนย์กลาง กรณีคือชนชั้นนำชาติพันธุ์พม่ายังเป็นแกนนำ แต่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์เสนอว่าต้องเท่าเทียมกันมากขึ้น เข้ามาถือส่วนแบ่งในอัตราที่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์พม่าจึงพูดถึง “สหพันธรัฐนิยม” มาเนิ่นนานพอสมควร แต่ก็มีการดึงอำนาจกลับมาสู่ส่วนกลาง และทำให้สหพันธรัฐนิยมจมดับเข้าไปอยู่ในใต้พรมไม่มีการพูดถึงเพราะมีค่าเท่ากับการแบ่งแยกดินแดน แต่ปัจจุบันมีการฟื้นฟูแนวคิดสหพันธรัฐนิยม ชนชั้นนำชาติพันธุ์กลุ่มพรรคการเมืองพม่าพูดตรงกันคือ สหพันธรัฐนิยมประชาธิปไตย ตรงนี้จะเป็นแนวโน้มใหม่ของการเมืองพม่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมเสนอว่า ต้องดูระดับการพัฒนาระดับสหพันธรัฐนิยมว่าไปด้วยกันกับประชาธิปไตยมากแค่ไหน เพราะบางประเทศเป็นสหพันธรัฐนิยม เป็นสหพันธรัฐนิยมแบบรวมศูนย์ คือแบ่งกระจายอำนาจกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่วิถีการบริหาร การใช้อำนาจเป็นแบบอำนาจนิยมก็มี เป็นสหพันธรัฐนิยมในรูปของอำนาจนิยมก็มี แต่กลุ่มชาติพันธุ์อยากให้มีสหพันธรัฐนิยมในคราบประชาธิปไตย แต่ทหารพม่าอาจไม่คิดเช่นนั้น อาจต้องการสหพันธรัฐนิยมและอำนาจนิยมด้วย

นอกจากนี้ประเด็นการจัดดินแดนในรัฐพม่าซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ว่าจะจัดโดยใช้พื้นที่เป็นเกณฑ์ไหม ยกตัวอย่างเช่นใน 7 ภาคพม่าแท้ มีการจัดแบบใช้ดินแดนเป็นตัวตั้งแบบสหรัฐอเมริกาแบ่งเป็นมลรัฐ โดยใน 7 ภาคพม่านั้น บางพื้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอยู่ด้วยแต่ไม่ได้มีการสร้างวงปกครองชนเผ่าแบบแยกย่อย แต่ใน 7 รัฐชาติพันธุ์ เช่น ในรัฐฉาน จะเห็นพื้นที่เขตปกครองของว้า ปะโอ ปะหล่อง ทะนุ โกก้าง หรือเขตปกครองของชาวนาคาในภาคสะกาย มีการจัดเขตปกครองแบบพหุชนชาติ จะเห็นการสร้างตัวethnic homeland หรือเขตปกครองสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์พอที่จะสร้างวงปกครองผุดขึ้นมาซ้อนเป็นรัฐซ้อนรัฐในมลรัฐอีกที รัฐฉานเป็นอีกหนึ่งของการจัดประเภทแบบนี้ต่างจาก 7 ภาคพม่า นี่คือความซับซ้อนของสหพันธรัฐนิยมในพม่าซึ่งต้องถกเถียงกันต่ออีกมากว่าสุดท้ายแล้วระบอบการเมืองพม่าจะวางบนจุดไหนระหว่างสิ่งที่ค่อนไปทางประชาธิปไตย หรือค่อนไปทางอำนาจนิยม

หากค่อนไปทางประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มต้องการเพราะเห็นว่าเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง แต่ชนชั้นนำทหารพม่าบางกลุ่มต้องการระบอบการเมืองที่ใช้อำนาจนิยม/จารีตนิยมเข้าไปครอบดีกว่าไหม เพราะกลัวรัฐพม่าล่มสลาย หรือการเอาแนวคิดสหพันธรัฐนิยมมาจัดการความขัดแย้งชาติพันธุ์ ว่าจะใช้รูปแบบการแบ่งพื้นที่ว่าจะเน้นภูมิภาคเน้นเขตเป็นตัวตั้ง โดยไม่สร้างวงปกครองแยกย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ซ้อนตัวขึ้นมาเพื่อให้รัฐพอเป็นเอกภาพ หรือจะสร้าง ethnic homeland เหมือนอย่างที่เกิดในรัฐฉาน แต่รูปแบบ ethnic homeland ในรัฐฉานก็เป็นการปฏิบัติเฉพาะทางการเมืองแบบกองทัพพม่าทำให้การปกครองรูปแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในรูปธรรม เพราะฉะนั้นยังมีการถืออำนาจจากส่วนกลางอยู่ นี่คือความสนใจของพม่าในเรื่องสหพันธรัฐนิยมที่อยู่บนพื้นฐานของการทำให้เป็นประชาธิปไตย และการจัดการความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล

$
0
0

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

13 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 14.00 น. ณ หอประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าราชการ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบล ระดับกระทรวง ระดับสำนักงานศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ( กศน.) ระดับจังหวัด อำเภอ เขต และตำบล ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วม จัดโดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน. ทุกระดับ นักศึกษา กศน. และประชาชนได้ตระหนักรู้ เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันหลักของชาติ และเป็นการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนอย่างแพร่หลาย จำนวน 7,424 แห่ง ทั่วประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล พร้อมกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ต้องการให้ทุกคนกลับมาดูเศรษฐกิจภายในประเทศ ว่าจะต้องขับเคลื่อนไปทิศทางไหน เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า พร้อมกับต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน และสภาพภูมิอากาศ โดยให้น้อมนำเอาแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง ตามพื้นฐานของประเทศคือการทำเกษตรกรรม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเยาวชนในต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ที่มีความเจริญ ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการทำอาชีพเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการทำเกษตรสูงขึ้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ ของภาครัฐ ต้องให้ความรู้กับเกษตรกรด้วยการแนะนำ สร้างความเข้าใจ และสร้างการยอมรับให้กับประชาชนในพื้นที่ ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ ปริมาณน้ำ และความต้องการของตลาด เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ โดยใช้ศูนย์ต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์เกษตรกร เน้นให้นำปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาเป็นแนวทางในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้บูรณาการทำงานของศูนย์ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนยกระดับอาชีพความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนของเกษตรกรต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่น เพื่อใช้เป็นข้อมูลด้านการตลาด และข้อมูลด้านการเกษตรกร รวมถึงข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐให้เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศในหลาย ๆ ด้าน และจะทำ ทุกอย่างโดยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง พร้อมกับเน้นย้ำให้ข้าราชการต้องทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน พร้อมกับเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการ โดยให้มองปัญหาจากข้างนอก มาข้างในประเทศ และมองกลับไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้ริเริ่ม และอำนวยความสะดวกให้กับเอกชนในการลงทุน เพราะฉะนั้นต้องมีการแบ่งกลุ่มตลาดภายในประเทศตามกลุ่มจังหวัด และตามความแตกต่างของศักยภาพในแต่ละพื้นที่ เน้นส่งเสริมสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือสินค้า GI เพื่อบ่งบอกที่มาที่ไปของสินค้า สามารถตรวจสอบได้ และสร้างจุดขายต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กับกำชับให้ส่วนราชการประเมินผล และตั้งเป้าหมายคาดหวังผลสำเร็จต่อการดำเนินการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนคำงบประมาณ โดยรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาทุกอย่างต้องเริ่มจากฐานราก ซึ่งส่วนใหญ่มีความยากจน พร้อมกับให้นำประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา อย่าให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซ้อน และให้ช่วยกัน ทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ พร้อมกับฝากให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการสอนภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาษาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน เพื่อยกระดับเป็นหัวหน้างาน พร้อมกับแนะนำให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมให้ความรู้โดยการทำป้ายสอนภาษาต่าง ๆ ในสถานประกอบการ พร้อมกับฝากให้ช่วยกันขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลสำเร็จโดยเร็ว โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้ประสานงาน เชื่อมโยงระหว่างศูนย์ต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างบูรณาการ และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัยแซะพวกอยากล้มประชามติ อาจผิดหวัง ยันหาก ม.61 วรรค 2 ขัดรธน.ยังทำต่อได้

$
0
0

13 มิ.ย.2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องให้กรธ.ชะลอการอบรม ครู ค. ก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างวินิจฉัยมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องชะลอการอบรมและชี้แจงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ที่อบรมไม่ได้พูดให้ร้าย หยาบคาย หรือบิดเบียนข้อเท็จจริง ส่วนจะมีหรือไม่มีกฎหมายสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และหากศาลจะวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นเพียงวรรคเดียวจะล้มได้อย่างไร และตัววรรคนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการลงประชามติ ซึ่งคนที่อยากให้ล้มอาจผิดหวังก็ได้

“สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของสวนดุสิตโพลที่พบว่ามีประชาชนร้อยละ 53 ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าขั้นตอนยังไปไม่ถึง เพราะยังอยู่ระหว่างการอบรมครู ค. และเอกสารสาระสำคัญยังแจกจ่ายไม่ทั่วถึง แต่เชื่อว่าอีก 2 สัปดาห์วิทยากรครู ค. ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อชี้แจงเนื้อหา ซึ่งจะทราบผลตอบรับของประชาชนว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด" มีชัย กล่าว

สนช.เตรียมส่งเอกสารแจงต่อศาล รธน.

ขณะที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเอกสารคำชี้แจง เจตนารมณ์ และรายละเอียดในการประชุมเพื่อเตรียมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีรายงานว่าจะสามารถส่งเอกสารทั้งหมดได้ในเวลา 16.00 น.วันนี้

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่า ถ้อยคำก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ไม่เคยปรากฏในกฎหมายมาก่อน ส่วนตัวมองว่าอาจจะถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญได้ แต่ไม่กังวลผลการตีความ เพราะหากชี้ว่าถ้อยคำส่วนใดขัดรัฐธรรมนูญ ก็ตัดถ้อยคำนั้นออกไป แต่ไม่ได้ส่งผลต่อเนื้อหาทั้งวรรค หรือกฎหมายทั้งฉบับ

ส่วน กกต.เตรียมประชุมฝ่ายกฎหมายในวันพรุ่งนี้ เพื่อเตรียมคำชี้แจง และในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการแถลงถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้แจงเพลงแหล่ของกลุ่มที่เห็นต่างด้วย

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เหลือง'ฟ้อง 'ประยุทธ์-กรธ.-สนช.-กกต.'กม.ประชามติขัดนิติธรรม ร่างรธน.ทำเสี่ยงเสียดินแดน

$
0
0

กมลพรรณ นำเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ยื่นศาลปกครอง ฟ้อง ประยุทธ์-ครม.-กรธ.-สนช.-กกต. เหตุ ร่าง รธน.  ทำไทยสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนและสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ พ.ร.บ.ประชามติขัด รธน.รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Kamolpan Cheewapansri'ระบุว่า งานที่ศาลปกครองวันนี้ ฟ้องคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะรัฐมนตรี (ครม) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) เรื่องร่าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 54. 178 ขัดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอาญา ม129 128. 129 และ พ.ร.บ.ประชามติ ขัดหลักนิติธรรม 

ไทยรัฐออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี อายุ 58 ปี  พร้อมพวกรวม 17 คน เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.) ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 กรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เพื่อลงประชามติ โดยมีรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนและสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงร่างมาตรา 54 ที่ขัดต่อกติกาสากลระหว่างประเทศ ประกอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 5 ได้ผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีหลายมาตราอาจขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 1, 4, 5 และ 35(1) รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดและผู้เกี่ยวข้องสุ่มเสี่ยง ต่อการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119, 128 และ 129 ในเรื่องการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนและสูญเสียความมั่นคงของรัฐ

ผู้ฟ้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวในประเด็น 1.ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ยุติกระบวนการเผยแพร่และการลงประชามติจนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 54 ,178 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปลงประชามติ 2.ขอให้ศาลปกครองนำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 54, 178 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 10, 13, 45(4)(5)(7), 54, 60(4)(5) และ 61 ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดต่อกติกาสากล ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 1, 3 และ 4 หรือขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119, 128 และ 129 หรือไม่ เพื่อมิให้ประเทศสุ่มเสี่ยงต่อภัยทางความมั่นคงและเพื่อให้สมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
 
โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป ว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้เพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ และจะต้องให้ไต่สวนฉุกเฉินตามผู้ฟ้องหรือไม่
 
กมลพรรณ กล่าวว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดตรากฎหมายที่กระทบสิทธิของพวกตนในการปกป้องผลประโยชน์ชาติ และไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามรูปแบบขั้นตอน ทำให้ผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของประเทศ ที่ประชาชนควรได้รับประโยชน์ กลับถูกโยกย้ายให้นายทุน หรือคู่สัญญาหรือต่างชาติโดยง่ายภายใน 60 วัน หรือภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เคยบัญญัติให้นักเรียนเรียนฟรีถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลับถูกยกเลิกเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับถึงมัธยมปีที่ 3 พวกตนและประชาชนทั่วไปจึงเดือดร้อนและเสียหาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกรม แจง ‘นกเงือกสีน้ำตาล’ สัตว์ป่าคุ้มครองตามภาพ เป็นนกที่น้องช่วยเลี้ยงดูอยู่

$
0
0

เหตุบ้านที่น้องอยู่ติดกับอุทยานเขาใหญ่ คนงานพบนกตัวนี้ที่ข้างไร่ไม่สามารถบินได้ สงสารเลยเอามาเลี้ยงเพราะหากปล่อยไปก็เชื่อว่าจะถูกสัตว์ป่าหรือคนฆ่าตาย จนทุกวันนี้มันไม่ยอมไปไหน ระบุมีช้างป่า กระทิง กวาง เก้ง หมูป่า นกเงือกต่างๆ เป็ดป่า ล้วนมาที่ไร่ โดยเฉพาะนกเงือกอาศัยในไร่เกือบร้อยตัว 

14 มิ.ย.2559 จากกรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ คนอนุรักษ์ ได้โพสต์ภาพของ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ที่ถ่ายภาพคู่กับ ‘นกเงือกสีน้ำตาล’ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมตั้งคำถามว่า นักธุรกิจชื่อดังท่านนี้ ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองหายากแบบนี้ได้อย่างไร จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา วิกรม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Vikrom Kromadit วิกรม กรมดิษฐ์  ชี้แจงว่า นกที่อยู่ในภาพนั้นเป็นนกที่น้องชายช่วยเลี้ยงดูอยู่ เนื่องจากบ้านที่น้องอยู่ติดกับอุทยานเขาใหญ่ ซึ่งมีวันหนึ่งคนงานพบนกตัวนี้ที่ข้างไร่ไม่สามารถบินได้ ไม่ทราบว่ามันมาจากไหน คิดว่าคงเป็นนกของใครสักคนหนึ่งที่มีบ้านอยู่ในแถบนั้น น้องสงสารเลยเอามาเลี้ยงเพราะหากปล่อยไปก็เชื่อว่าจะถูกสัตว์ป่าหรือคนฆ่าตาย จนทุกวันนี้มันไม่ยอมไปไหนเลยคงคิดว่าเป็นคนในไร่ไปแล้ว ที่ไร่นั้นมีช้างป่า กระทิง กวาง เก้ง หมูป่า นกเงือกต่างๆ เป็ดป่า ล้วนมาที่ไร่ โดยเฉพาะนกเงือกอาศัยในไร่เกือบร้อยตัว เนื่องจากเราไม่เคยทำร้ายและมีอาหารจากต้นไม้ที่ปลูกใหม่เกือบ10 ปี จนกลายเป็นเขตป่ากันชนระหว่างอุทยานกับชาวบ้านจากเดิมที่นี่เป็นไร่ข้าวโพดไม่มีอะไรเลย วันนี้มีสารพัดสัตว์ป่าเข้ามายึดไร่เราเป็นแหล่งอาหารและที่อาศัยไปแล้ว 

"ผมจึงขอเรียนว่าผมไม่เคยครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น ช่วงนี้ผมเดินทางมากจึงเพิ่งได้มา post ข้อความวันนี้ อาจทำให้หลายคนมีคำถามมากมากเยอะแยะ แต่หากใครสงสัยหรืออยากไปดูนกป่าหรือสัตว์ป่าต่างๆก็เชิญแวะไปดูไร่ที่เขาใหญ่ได้ หากมีอะไรเพิ่มเติมก็เชิญส่งข้อความมาที่ Facebook นี้ได้ครับ"วิกรม ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิมเติมว่า มีผู้นำวีดีโอบทสัมภาษณ์ในรายงานบ้านและสวน ตอน บ้านกลมกล่อม ที่ออกอากาศวันที่ 21 ธ.ค. 2557 ทาง AMARIN TV HD ช่อง 34 ซึ่งเผยแพรต่อในยูทูบ มาเทียบกับนกตัวดังกล่าว ซึ่งสนุกดอทคอมเคยรายงานว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่บนชั้นดาดฟ้าของอาคาร 6 ชั้นอายุ 40 ปี ที่ตั้งอยู่บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สันติภาพและความรุนแรงของโลก: มองผ่านดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก (GPI) 2016

$
0
0




บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสที่สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ (the Institute for Economics and Peace; IEP) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก หรือ Global Peace Index (GPI) ประจำปี 2016 [1] ไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่เพิ่งผ่านมา โดยบทความมุ่งทบทวนแบบแผนของสันติภาพและความรุนแรงในระดับโลก ในระยะ 9-10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งวิเคราะห์ทบทวนภาพเกี่ยวกับความรุนแรงในแต่ละระดับชั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว หากแต่เป็นการเรียบเรียงและต่อยอดจากองค์ความรู้ที่หลายท่านได้มอบไว้ให้แก่แวดวงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ 

ดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก หรือ GPI เป็นการวัดประเมินโดยอาศัยเกณฑ์อันประกอบด้วยดัชนีชี้วัด 23 ตัวแปร จำแนกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ (1) สถานการณ์ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น (the ongoing domestic and international conflict) (2) ความมั่นคงปลอดภัยของสังคม (the societal safety and security) และ (3) กิจการและแสนยานุภาพทางการทหารในแต่ละพื้นที่ (the militarisation) ทั้งหมดนี้จะเป็นเกณฑ์นำไปเก็บข้อมูลประเทศทั่วโลก 163 ประเทศ
 

แผนภาพที่ 1ดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก 23 ตัวแปร [2]


ผลลัพธ์ปรากฏว่า โลกในภาพรวมของปีนี้ มีระดับสันติภาพน้อยลงกว่าเมื่อปีก่อนพอสมควร โดยหมวดหมู่ของตัวแปรที่ดูดีขึ้น คือ กิจการและแสนยานุภาพทางการทหาร ที่แม้ว่าบางประเทศจะยังหมกมุ่นกับการสะสมอาวุธ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีทิศทางของการตัดงบประมาณการทหารลง ส่วนหมวดหมู่ที่ฉุดรั้งให้ระดับสันติภาพโลกดูตกต่ำลง คือ สถานการณ์ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศ กับ ความมั่นคงปลอดภัยของสังคม ทั้งนี้ แชมเปี้ยนของสถานการณ์สันติภาพตกต่ำมากที่สุดในปี 2016 นี้ ถ้านับในแง่ภูมิภาค ก็ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ถ้านับในแง่ประเทศ ก็คือ ประเทศซีเรีย ส่วนแชมเปี้ยนของสถานการณ์สันติภาพมากที่สุดในปีเดียวกันนี้ ถ้านับในแง่ภูมิภาค ก็คือ ยุโรป ส่วนถ้านับในแง่ประเทศ ก็ได้แก่ ประเทศไอซ์แลนด์


1. แนวโน้มระยะ 10 ปีที่ผ่านมา: ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสันติภาพ? (Peace Inequality Gap)

หากพิจารณาในภาพระยะยาว ช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ระดับสันติภาพของโลกในภาพรวมโดยเฉลี่ยกันทุกประเทศแล้ว มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และพบว่าโลกเรามีสันติภาพน้อยลง โดยอาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วง
8-9 ปีที่ระดับของสันติภาพโลกถดถอยลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามเย็น (ดูแผนภาพที่ 2)

แผนภาพที่ 2ค่าเฉลี่ยของสันติภาพโลกในช่วง 8-9 ปี (2008-2016)


ขณะเดียวกัน ถ้าหากเราพิจารณาลงไปในรายละเอียดก็จะปรากฏอีกภาพที่น่าสนใจมากกว่า นั่นคือ กราฟที่ชี้ให้เห็นการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ของช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสันติภาพ (Peace Inequality) ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุด กับกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด (ดูแผนภาพที่ 3)

แผนภาพที่ 3แสดงแนวโน้มของช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสันติภาพในระยะ 8 ปี (2008-2015)


กล่าวคือ ประเทศที่มีสันติภาพที่สุดในโลกจำนวนมากอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลสำคัญมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการเกิดฆาตกรรม การลดการใช้จ่ายด้านการทหาร และการถอนทหารออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน และพบว่า จาก 20 ประเทศที่มีสันติภาพที่สุดในโลกในการวัดประเมินปีล่าสุด เป็นประเทศในทวีปยุโรปถึง 14 ประเทศ

สำหรับกลุ่มประเทศที่ระดับสันติภาพต่ำ ได้แก่ ซีเรีย ซูดานใต้ อิรัก อัฟกานิสถาน โซมาเลีย เยเมนแอฟริกากลาง ยูเครน และซูดาน ตัวเลขชี้วัดสันติภาพที่ตกต่ำนั้นเป็นผลสำคัญมาจากการขยายตัวมากขึ้นของความไม่สงบภายในประเทศ และความตึงเครียดมากขึ้นของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งจะเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในความขัดแย้งภายในประเทศทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว (2015) พุ่งไปแตะถึงตัวเลข 280,000 คน ซึ่งคำนวณเร็วๆ ได้ว่าเพิ่มขึ้นจาก ค.ศ. 2010 ถึง 267% ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้อพยพลี้ภัยและผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นในประเทศตนเอง ซึ่งจัดได้ว่ามีสัดส่วนราว 1% ของประชากรโลกทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้เป็นสถานการณ์การใช้ความรุนแรงที่ฉุดรั้งดัชนีชี้วัดสันติภาพโลกในภาพรวมช่วงที่ผ่านมาให้ตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ


2. ผลกระทบของการก่อการร้าย

ในส่วนผลกระทบของการก่อการร้าย พบว่า ปฏิบัติการของกลุ่มที่ใช้วิธีการดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการก่อเหตุของพวกเขาคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วราว 20,000 ชีวิตนับเฉพาะในรอบการวัดประเมินปี 2015 และจำนวนราว 32,000 ชีวิตนับเฉพาะรอบการวัดประเมินในปี 2016 แต่ก็น่าสนใจว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมการก่อการร้ายที่กระทำโดยรัฐ ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เป็นผู้เล่นที่คร่าชีวิตมนุษย์ด้วยวิธีการก่อการร้าย/สร้างความสะพรึงกลัวมากที่สุดตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหาย การลักพาตัว การสังหารหมู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราตามน้ำไปกับข้อมูลของดัชนีชี้วัดสันติภาพโลก หรือ GPI ก็จะยังเห็นข้อน่าสนใจอีกสองข้อ คือ หนึ่ง ส่วนใหญ่ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ อิรัก ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และซีเรีย สองก็คือ กราฟเปรียบเทียบระยะยาวระหว่างจำนวนการเกิดเหตุเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตมีความน่าสนใจมาก เพราะมันสะท้อนว่าในขณะที่การเกิดเหตุก่อการร้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเสียชีวิตต่อการเกิดเหตุหนึ่งครั้ง กลับเพิ่มสูงขึ้นในความเร่งที่มากกว่าเสียอีก แปลว่า ศักยภาพของการก่อเหตุแต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้น การลงมือครั้งหนึ่งทำให้คนตายได้มากขึ้น ซึ่งเห็นแบบแผนนี้ชัดเจนยิ่ง ในช่วงหลังปี 2012 เป็นต้นมา


แผนภาพที่ 4เปรียบเทียบระหว่างจำนวนการก่อเหตุก่อการร้ายกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการดังกล่าวในช่วงระยะ 10 ปี (2006-2015)

ทั้งหมดที่ฉายภาพตามการนำเสนอของค่าตัวแปรของ IEP นี้ คงพอจะ “วัดอุณหภูมิ” สันติภาพโลกได้อย่างคร่าวๆ ว่า โลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น มีแนวโน้มของสันติภาพที่ตกต่ำลง ซึ่งก็แปลได้อีกแบบว่า สถานการณ์ความรุนแรงของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และการปรากฏช่องว่างถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพที่สุด กับกลุ่มประเทศที่เผชิญสถานการณ์ความรุนแรงมากที่สุด แต่ข้อน่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เวลาพูดว่า “ความรุนแรง” เรากำลังหมายถึงอะไร


3. มองสถานการณ์สันติภาพและความรุนแรงของโลก ผ่านกรอบเลนส์ของโยฮัน กัลตุง

ความรุนแรง (violence) เป็นอีกคำในทางสังคมศาสตร์ที่มีการให้นิยามหลากหลาย ความหมายของมันหลากเลื่อนไปตามบริบทของกาละและเทศะ ตลอดจนการรับรู้ของตัวบุคคล แต่ส่วนใหญ่ของการให้ความหมายมักจะเป็นนิยามในเชิงพฤติกรรม (behavioral) [3]เช่น “การการกระทําใดๆ ที่เป็นเหตุหรือเป็นสิ่งที่โน้มน้าวให้เกิดความทุกข์ทรมาน” [4] , “การจงใจใช้กําลังหรืออํานาจทางกายเพื่อข่มขู่ หรือกระทําต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อกลุ่มบุคคลหรือชุมชน ซึ่งมีผลทำให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะมีผลให้เกิดการบาดเจ็บ ตาย หรือเป็นอันตรายต่อจิตใจหรือเป็นการยับยั้งการเจริญงอกงามหรือการกีดกันหรือปิดกั้น ทําให้สูญเสียสิทธิบางประการ และขาดการได้รับในสิ่งที่สมควรจะได้รับ” [5] , หรือ “การใช้กําลังคุกคามหรือทำร้าย เพื่อควบคุม หรือครอบครองบุคคล หรือทรัพย์สิน” [6]  ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องระดับของสันติภาพและความรุนแรงในโลกตามตัวชี้วัด GPI ที่กล่าวถึงไป
ก็พอจะจัดได้ว่า มีมิติหลักคือมองความรุนแรงเป็นพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยมองว่ามันสะท้อนผ่านของ 2-3 ประเภทที่จับต้องได้ คือ (1) ขนาดและความเข้มข้นของความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ (2) ตัวเลขบ่งชี้ความมั่นคงปลอดภัยของสังคม เช่น อัตราการเกิดฆาตกรรม หรือตัวเลขการก่ออาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง และ (3) ขนาดของการทุ่มเทให้กับกิจการด้านการทหารของแต่ละรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนขับเน้นมิติการมองความรุนแรงในฐานะพฤติกรรมเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากมุมมองของนักวิชาการคนสำคัญอย่างโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung)
ก็จะพบว่า ความรุนแรงจำแนกออกได้เป็น 3 ลักษณะ ซึ่งมีความสัมพันธ์และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน คือ ความรุนแรงทางตรง (direct violence) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) [7] และวันนี้การครุ่นคิดทบทวนความเข้าใจต่อความรุนแรงแต่ละลักษณะ ตลอดจนสายสัมพันธ์ของพวกมันนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจและหาทางออกจากสถานการณ์ความรุนแรงของโลกปัจจุบัน

 


3.1 ความรุนแรงทางตรง (direct violence)

ความรุนแรงทางตรงมีลักษณะเป็นเหตุการณ์ (event) [8] อันประกอบด้วยที่มาของความรุนแรง เป้าของความรุนแรง และเหยื่อของความรุนแรงนั้น เหตุที่ต้องจำแนกเป้าของความรุนแรงกับเหยื่อของความรุนแรงออกจากกันเพราะหลายต่อหลายครั้งเป้าไม่ใช่เหยื่อ และเหยื่อไม่ใช่เป้า ดังกรณีการก่อการร้ายโดยทั่วไป ดังนั้น เราจึงไม่สามารถระงับการโจมตีได้ หากสนใจเพียงแค่มาตรการป้องกันเหยื่อให้รอดพ้นจากปฏิบัติการก่อเหตุ แต่เพิกเฉยต่อการทำความเข้าใจเป้าหมายของการใช้ความรุนแรง

ลักษณะเด่นของความรุนแรงทางตรง คือมักเผยตัวออกมาให้เห็นชัดเจนในทางกายภาพ และส่งผลในเชิงทำร้ายร่างกายมนุษย์โดยตรง ทั้งในเชิงทำลายร่างกายอันทําให้ศักยภาพของมนุษย์สะดุดหยุดลงโดยยังไม่ถึงกาลอันสมควร เช่น การบดขยี้ การฉีกกระชาก การแทง และในเชิงขัดขวางการทำงานของร่างกาย เช่น การไม่ให้มีอากาศ หรือการไม่ให้มีอาหาร [9]

ข้อน่าสนใจก็มีอยู่อีก 2 ข้อ ข้อแรกคือ เครื่องมือก่อความรุนแรง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่งกาจอย่างมากในการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือก่อความรุนแรง ในสมัยโบราณ เราอาจเห็นการให้น้ำหนักกับ “ร่างกาย” ในฐานะอาวุธ ลำดับถัดมาก็คือ อาวุธระดับพื้นฐานประเภทดาบ กริช หอก ทวน ซึ่งความสามารถทำลายล้างของของเหล่านี้ขึ้นอยู่อย่างมากกับธรรมชาติของเหยื่อแห่งความรุนแรง เช่น การชกต่อยนักมวย กับชกต่อยเด็กประถมย่อมให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าสนใจว่าเครื่องมือก่อความรุนแรงที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนั้น นอกจากจะมีอานุภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความสามารถทำลายล้างของมันยังไม่ขึ้นกับธรรมชาติของเหยื่ออีกด้วย เช่น ปืนอาก้า คาร์บอม หรือระเบิดปรมาณู ทำให้เราพอจะกล่าวได้ว่า นวัตกรรมทางอาวุธของมนุษย์สามารถทำรับประกันความตายให้กับมนุษย์ทุกประเภทได้อย่างเสมอภาค

นอกจากนี้ แบบแผนของการก่อความรุนแรงยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยที่เรียกกันว่า “สงครามยุคที่ 4” หรือ the 4th Generation War (4GW) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ การเปลี่ยนแปลงจากการรบตามแบบไปสู่การรบนอกแบบ จากสงครามระหว่างกองทัพขนาดใหญ่ไปเป็นสงครามระหว่างรัฐกับกลุ่มที่มิใช่รัฐ จากการรบแบบรวมศูนย์มาเป็นการรบแบบมีศูนย์การรบย่อยหลายจุดกระทั่งไปสู่การรบแบบกระจายตัวไปทั่วโดยไร้จุดศูนย์ดุล ตัวอย่างชัดคือการปรากฏบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ของการก่อการร้ายแบบ lone wolf ความเชื่อมโยงเดียวที่ร้อยรัดกับตัวแสดงอื่น คือ การเชื่อมโยงทางความคิด อุดมการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือและยุทธวิธีการก่อเหตุรุนแรงผ่านระบบออนไลน์ที่เป็นผลมาจากการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ สงครามในยุคที่ 4 ยังมีลักษณะเด่นคือโยงใยอยู่กับปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างมากกว่าสงครามยุคก่อนๆ และมิติของการรบทางความคิด ข่าวสาร และปฏิบัติการจิตวิทยามีบทบาทอย่างสูงต่อการแพ้/ชนะของสงคราม

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในประเด็นการก่อการร้ายข้ามชาติของตัวแสดงที่มิใช่รัฐ จะพบแบบแผนที่มุ่งเน้นการก่อเหตุต่อเมือง หรือที่เรียกว่า Urban Terrorism มากขึ้น ทั้งนี้ ก็ด้วย 3 เหตุผลสำคัญ คือ (1) เป็นการสื่อสารอย่างง่ายๆ และตรงไปตรงมาต่อสาธารณะว่า รัฐบาลของคุณไร้น้ำยา ซึ่งอาจนำไปสู่การลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ตลอดจนอาจมีผลต่อการที่ประชาชนอาจกดดันให้รัฐบาลเลิกนโยบาย/มาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการตอบโต้กลับด้วยการก่อเหตุรุนแรง (2) เป็นไปทฤษฎีสงครามกองโจรของ Carlos Marighella [10]ที่ว่า ความสำเร็จของสงครามกองโจรในเขตเมืองจำเป็นจะต้องอาศัยยุทธวิธีสร้างความสะพรึงกลัวต่อพื้นที่ดังกล่าวควบคู่ไปด้วย โดยการทำแบบนั้นจะทำให้ฝ่ายรัฐเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับในเชิงของการพยายามค้นหา สืบสวนปราบปราม และตรวจตราอย่างเข้มข้นในเขตเมือง จนกระทั่งนำไปสู่การรบกวน และสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนในพื้นที่เสียเอง และพวกเขาเหล่านั้นจะลุกมาต่อต้านหรือกระทั่งต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในที่สุด  และ (3) ในมุมของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส สะท้อนผ่านนิตยสารดาบิค เล่มที่ 7 เขาจำแนกพื้นที่ในโลกออกเป็น 3 จำพวก (น่าสนใจว่ากรอบคิดในเรื่องนี้คล้ายกับ “Either Friend or Enemy” ของจอร์จ บุช จูเนียร์อย่างมาก) คือ (1) ชุมชนมุสลิมที่อยู่ข้างพวกเขานับว่าเป็นมิตร (2) พื้นที่ที่เห็นด้วยหรือร่วมมือกับศัตรู (ตะวันตก) แม้จะเป็นชุมชนของมุสลิมแต่ก็นับว่าเป็นศัตรู และจำพวกที่สำคัญที่สุดตามยุทธศาสตร์ที่สื่อสารออกมาก็คือข้อ (3) ชุมชนมุสลิมกลางๆ ที่ไม่ take side และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนที่มิใช่มุสลิมได้ รวมทั้งมีความเห็นอกเห็นใจผู้สูญเสียจากเหตุร้ายต่างๆ ทั้งสงครามของฝ่ายตะวันตกและการก่อเหตุร้ายของไอเอส ไอเอสเรียกพื้นที่ตามข้อสามนี้ว่า “grey zone” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขาประกาศว่าจำเป็นต้องทำลายทิ้ง ให้เหลือแต่พื้นที่เผชิญหน้าระหว่างมุสลิมกับพวกที่มิใช่มุสลิม ยุทธศาสตร์เพื่อรับใช้กรอบคิดดังกล่าวของพวกเขาก็คือ การมุ่งทำลายสัมพันธภาพระหว่างชุมชนมุสลิมกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ กับสังคมใหญ่ เพื่อบีบให้โลกแตกออกเป็น 2 ข้างอย่างอย่างชัดเจนเด็ดขาด แล้วเผชิญหน้ากัน ยุทธศาสตร์นี้ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ไอเอสยังอยู่ในร่างของอัลกออิดะฮฺแห่งอิรัก (AQI) ภายใต้การนำของซัรกอวีและสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าด้วยความเกลียดชังโกรธแค้นระหว่างชุมชนสุหนี่กับชีอะฮฺในอิรักให้เข้มข้นขึ้น หลังการตั้งรัฐบาลนอมินีของอเมริกา

ข้อน่าสนใจประการถัดมา คือ ผลลัพธ์จากความรุนแรงทางตรง ซึ่งนอกจากจะส่งผลเชิงกายภาพ (physical) อันหมายถึงการทำลายร่างกาย หรือขัดขวางการทำงานของร่างกายมนุษย์แล้ว ยังมีผลอีกลักษณะที่สำคัญ นั่นคือ ผลในเชิงจิตวิทยา (psychological) หลายกรณีที่ปรากฏความรุนแรงทางตรงขึ้น ผลร้ายในทางกายภาพยุติลงเมื่อความรุนแรงสิ้นสุด แต่ผลในเชิงจิตวิทยากลับมิได้ยุติลงตามไปด้วย หากแต่ตกค้าง เป็นรอยแผลเป็น และกัดกร่อนสภาพจิตใจของเหยื่อมิรู้จบ

ผลลัพธ์เชิงจิตวิทยา / การเมืองแห่งความทรงจำ / ภูมิรัฐศาสตร์ของอารมณ์: ปาเลสไตน์และโลกมุสลิม

ในกรณีปรากฏการณ์ความรุนแรงร่วมสมัย เราพบว่า กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปัญหาของปาเลสไตน์ เราอาจกล่าวตามกรอบคิดความรุนแรงทางตรงได้ว่า ชาวปาเลสไตน์คือเหยื่อของความรุนแรง เป้าของความรุนแรงคือดินแดนภูมิลำเนาของพวกเขา ผู้ใช้ความรุนแรงคือยิวไซออนิสต์ และเครื่องมือของพวกเขาคือสรรพอาวุธหนักเบาภายใต้ยุทธศาสตร์การรุกรานยึดพื้นที่ ควบคู่กับการสร้างความสะพรึงกลัว ในวันที่ไซออนิสต์ประกาศสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้น ซึ่งได้แก่วันที่ 15 พฤษภาคม 1948 ชาวยิวอิสราเอลจดจำมันว่าเป็นวันแห่งเอกราชและอิสรภาพ แต่ชาวปาเลสไตน์เรียกมันว่า “วันนักบา” ซึ่งหมายถึงวันแห่งความหายนะมหาวิปโยค หลังจากนั้นทุกๆ ปี ชาวปาเลสไตน์ก็จัดงานรำลึกถึงวันนักบาอันอัปยศนี้เพื่อย้ำเตือนสิทธิอันชอบธรรมที่จะกลับบ้านเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันก็จัดเป็นครั้งที่ 68 ปี อันหมายถึง 68 ปีที่สิทธิโดยกำเนิดของพวกเขาถูกพรากไป เพราะฉะนั้น ปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอล จึงมิใช่แค่เรื่องการปะทะทางอาวุธ หรือข้อถกเถียงทางสิทธิมนุษยชนบนฐานกฎหมายระหว่างประเทศ หากแต่ยังมีมิติที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการเมืองแห่งความทรงจำ หรือ politics of memory อีกด้วย    

ในความเห็นของผม ก่อนหน้า 1948 สำนึกความเป็น “ปาเลสไตน์” นั้นยังไม่โดดเด่นมากนัก
แต่หลังจากอิสราเอลยึดครองดินแดน วันนักบากลายเป็นจุดอ้างอิงเริ่มต้นเพื่อเชื่อมโยงไปกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่ตามมา รวมทั้งเป็นเส้นแบ่งทางเวลาที่ใช้แยกประเภทรุ่นของคนปาเลสไตน์วัยต่างๆ ด้วย ทั้งหมดนี้มีผลในการถักทอระบบของการให้ความหมายต่ออดีต หรือความทรงจำร่วมของชนชาติกลุ่มก้อนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาหล่อหลอมสำนึกร่วมผ่านการรับรู้ถึงตนเองในฐานะที่เป็นเหยื่อร่วม และเป็นผู้มีศัตรูร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าวันสถาปนารัฐอิสราเอล เมื่อ ค.ศ.1948 นั้น คำว่า “นักบา” ได้ถูกใช้ก่อนแล้วในการเรียกปี 1920 ว่า ปีแห่งหายนะ หรือ “Nakba Year” เพื่อสะท้อนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมานและสืบเนื่องด้วยการที่ชาติมหาอำนาจยุโรปแบ่งสรรพื้นที่ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของออนโตมานออกเป็นรัฐอิสระจำนวนมาก โดยดินแดนปาเลสไตน์ถูกจัดแบ่งให้เป็นรัฐอาณัติของอังกฤษ และหลัง 1920 นี้เอง ที่ค่อยๆ เริ่มปรากฏขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมอาหรับต่อต้านการครอบงำของจักรวรรดิตะวันตกเรื่อยมา ซึ่งระยะแรกนี้ค่อนข้างเด่นชัดในซีเรีย อิรัก และปาเลสไตน์ ความทรงจำของปาเลสไตน์จึงเป็นส่วนตอนหนึ่งในภาพใหญ่แห่งประวัติศาสตร์บาดแผลของภูมิภาคที่ถูกกระทำ และริดลอนสิทธิในการกำหนดอนาคตไปอยู่ในมือของจักรวรรดิตะวันตก และความต่อเนื่องของภาพดังกล่าวที่เป็นเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีบทบาทสำคัญต่อการหล่อหลอมความรู้สึกถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีให้ฉาบเคลือบเป็นอารมณ์ร่วมของภูมิภาค

ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงอย่างคมชัดในงานของ Dominique Moïsi [11]เขากล่าวว่า ในช่วงที่ยุโรปอยู่ในยุคมืด อารยธรรมของโลกมุสลิมจัดว่าขึ้นถึงขีดสุด แต่เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคเรอเนสซองซ์ โลกมุสลิมก็ค่อยๆ เสื่อมลงจนปรากฏรูปการณ์เด่นชัดคือการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมาน และต่อมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การสร้างรัฐอิสราเอลขึ้นใจกลางแวดล้อมชาติอาหรับ ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันชัดเจนถึงความล่มสลายของโลกมุสลิม สำหรับยิว พวกเขาอาจเห็นการสร้างรัฐอิสราเอลเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมจากหลายมุมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องดินแดนพันธสัญญา การตระหนักในชะตาของชนชาติ หรือการที่ประชาคมระหว่างประเทศพยายามเยียวยาพวกเขาจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ในสายตาของชาวอาหรับ เหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นนี้ถูกจดจำในฐานะการกระทำดิบเถื่อนบนตรรกะของการล่าอาณานิคมอันล้าสมัยของตะวันตก ในบริบทโลกยุคที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสปลดปล่อยอาณานิคม และไม่อาจเข้าใจได้ว่า อาชญากรรมอันถ่อยเถื่อนที่ตะวันตกกระทำต่อชาวยิวนั้น ทำไมโลกอาหรับถึงต้องเป็นผู้ไปชดใช้ให้

ความขัดแย้งที่ตีบตันทางออกระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอล ยิ่งยืดเยื้อยาวนาน ยิ่งมีผลสำคัญต่อการค่อยๆ ปรับอารมณ์ของการถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี อารมณ์ของการถูกกระทำย่ำยี ไปเป็นอารมณ์แห่งความเกลียดชัง และเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกพิจารณารวมกับสงครามกลางเมืองอิรักหลังปี 2003 บทบาทของอเมริกาและพันธมิตรในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งการเป็นภูมิภาคที่ประกอบขึ้นด้วยผู้คนจำนวนมากซึ่งตกขบวนไม่ได้ประโยชน์แถมซ้ำกลับเสียเปรียบและถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ของเหล่านิ้ยิ่งหล่อหลอมอารมณ์ของความแปลกแยกและรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับจากสายตาของคนนอก [12]

ความรู้สึกถูกดูหมิ่นนี้ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่ยังกระจายตัวไปขับเคลื่อนภูมิทัศน์ทางอารมณ์ของชาวมุสลิมอพยพในตะวันตกอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การจลาจลในฝรั่งเศสช่วงปลายปี 2005 ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจที่เลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้อพยพจากภายนอกยุโรป ซึ่งความคับข้องดังกล่าวยังคงหล่อเลี้ยงความขัดแย้งและเพาะเชื้อแห่งการใช้ความรุนแรงในยุโรปมาจนถึงปัจจุบัน


3.2 ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence)

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หมายถึง อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์ (potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง (actuality) โดยเฉพาะเมื่อ “อะไรก็ตาม” นั้นไม่ใช่ตัวบุคคล หากแต่เป็นระบบหรือโครงสร้าง ลักษณะเด่นของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ มักเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในช่วงเวลาอันยาวนานอย่างต่อเนื่อง (duration) โดยไม่ปรากฏรูป (intangibility) ธรรมชาติของมันจึงเป็นกระบวนการมากกว่าจะเป็นเหตุการณ์จำเพาะเจาะจง [13]  ตัวอย่างเช่น งานของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งศึกษาเรื่อง “อุปลักษณ์สุขภาพสันติภาพเชิงวิพากษ์” พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ซื้อไอศกรีม เฉพาะในยุโรปมากกว่า 11 พันล้านเหรียญอเมริกัน ในขณะที่มีผู้คน 2,500 ล้านคนทั่วโลกขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งสามารถแก้ไขให้ตกไปได้ด้วยเงินเพียง 9 พันล้านเหรียญอเมริกัน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของที่ประเทศในยุโรปและอเมริกาใช้ซื้อ 56 อาหารสัตว์ในแต่ละปี แสดงว่าในความเป็นจริงแล้ว สังคมมีศักยภาพที่มากพอจะช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆ ได้ แต่สังคมเลือกที่จะไม่ช่วยเหลือ การปล่อยให้บุคคลอื่นต้องเผชิญหน้ากับภาวการณ์ที่ขัดขวางต่อความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ให้บรรลุผล ทั้งที่สังคมสามารถช่วยเหลือได้นี้ถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น [14]

งานเรื่องเผชิญภัยคุกคามโลกฯ ของคริส แอ็บบอตและคณะ [15] ก็นำเสนอภาพในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ภาพที่ประโยชน์จากความเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกนั้นไม่ได้รับการแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ปัจจุบันประชากรกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกยังต้องพยายามประทังชีวิตในแต่ละวันด้วยเงินไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เด็กราว 115 ล้านคนซึ่งควรจะได้เข้าโรงเรียนกลับไม่ได้เรียนหนังสือ ชนพื้นเมืองถูกข่มเหงรังแก และที่ทำกินของพวกเขาถูกทำลายไปเพื่อผลกำไร ในแต่ละปีจะมีประชากร 10 ล้านคนทั่วโลกตายไปเพราะความอดอยากหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความอดอยาก ทั้งที่โลกเรามีอาหารมากเพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรโลกทั้งหมด 6 พันกว่าล้านคนได้ก็ตาม ดังนั้นจะเห็นว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจภาพรวมทั้งโลกที่เราเห็นนั้นกระจุกตัวอย่างมากในพื้นที่เพียงไม่กี่ส่วนของโลก โดยที่ประชากรของโลก “ส่วนใหญ่” กลับถูกเบียดขับให้อยู่เพียงชายขอบ ในสภาวะของความยากจนและไม่เท่าเทียมนี้ อาชญากรรมอย่างเป็นระบบ ความวุ่นวายทางสังคม และความตึงเครียดทางวัฒนธรรม ล้วนเติบโตได้อย่างดีมาก [16]

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างดังกล่าวยังสัมพันธ์กับการเติบโตของกลุ่มการเมืองติดอาวุธหลายกลุ่ม
กลุ่มเหล่านี้มีจุดร่วมคือ หนทางที่พวกเขาจะบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ไม่ว่าจะกำหนดไว้เป็นรูปแบบใด
ก็ตาม ก็ล้วนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มที่พวกเขาอ้างว่าเป็นตัวแทนเสมอ ซึ่งเงื่อนไขนี้ขึ้นอยู่อย่างมากกับว่าความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มนั้นลงรากลึกและยาวนานเรื้อรังแค่ไหน ความสำเร็จของกลุ่มอย่างฮิซบอลเลาะฮฺในเลบานอน และฮามาสในฉนวนกาซ่านั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มเหล่านี้สามารถให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้จัดหาให้ประชาชน จึงได้รับความรักภักดีจากประชาชนที่หมดศรัทธากับรัฐบาลตนเอง [17]  


3.3 ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence)

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือ แง่มุมทางวัฒนธรรม (อันหมายถึงระบบความเชื่อ ระบบสัญลักษณ์ และระบบการให้ความหมายต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-มนุษย์-ธรรมชาติ-สิ่งเหนือธรรมชาติ) ที่ทำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และการใช้ความรุนแรงทางตรงกลายเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องธรรมดาหรือยอมรับได้ในสังคม และทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว คนในสังคมไม่จัดหรือไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรง [18]ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมายาคติที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่าสิ่งที่ตนพบเห็นหรือสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นั้นเป็นสิ่งถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ เนื่องจากการใช้ความรุนแรงมักประกอบด้วยมิติสำคัญสองด้าน คือการใช้ความรุนแรง และกระบวนการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงนั้น ดังนั้น การศึกษาเรื่องความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จึงเป็นการพิจารณารูปแบบวิธีการที่ความรุนแรงนานาชนิดกลายเป็นเรื่องชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับในสังคมโดยรวม [19]

ข้อย้อนแย้งเวลาพูดถึงรากเหง้าความรุนแรงในระดับวัฒนธรรม จากมุมมองของฝ่ายรัฐ ก็คือรัฐใดใดมักจะมองเห็น “ปัญหา”ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ของระบบคิด “ฝ่ายตรงข้าม” แต่กลับไม่มองว่าระบบคิดระบบให้ความหมายของฝ่ายรัฐเองเป็นรากเหง้าใหญ่ของความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เช่น ชาตินิยมที่คับแคบ กดทับชาติพันธุ์อันหลากหลายให้บีบเข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในภาพระดับโลกเกี่ยวกับปัญหาก่อการร้ายทุกวันนี้ เราก็จะพบความจริงแสนประหลาดในลักษณะเดียวกับข้างต้น เช่นว่าเวลาประชาคมระหว่างประเทศเวทีต่างๆ (เช่นในปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น G-20, APEC, ASEAN หรือ Shangri-La Dialogue) ประกาศจุดยืนร่วมกันในการประณามและต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบและไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอุดมการณ์ใด ในทางพฤตินัย เราจะพบว่า รัฐเหล่านั้นไม่ได้ต่อต้านและประณาม 'วิธี'การสร้างความสะพรึงกลัว (terror-making) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง พวกเขาแค่กำลังต่อต้านและประณามการทำแบบนั้นของกลุ่มติดอาวุธ 'ที่มิใช่รัฐ'กับอาจจะแค่อีกบางรัฐที่'ไม่เข้าพวก'เท่านั้น และหลายครั้งพวกเขาต่อต้านการก่อการร้ายด้วยการสถาปนาระบอบแห่งความกลัว (terror regime) ขึ้นมาแทนที่ รวมทั้งยืนยันการผูกขาดของรัฐ ในฐานะตัวแสดงเดียวที่จะสร้างความหวาดกลัวให้มนุษย์ได้โดยชอบธรรม ในนามของความมั่นคงแห่งชาติและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว โครงการต่อต้านการก่อการร้ายที่ผ่านมาจำนวนมาก ก็คือ การก่อการร้ายเสียเอง แตกต่างเพียงแค่มันเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ความคิดที่รับรองการใช้ความรุนแรงของรัฐ ทั้งที่ประณามการทำแบบเดียวกันจากกลุ่มที่มิใช่รัฐ นี่นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม 

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเราจะพบว่าระยะหลังมานี้ ที่โลกถูกหมุนด้วยความหวาดกลัวภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งกำลังเลือกใช้วิธีการของเผด็จการไปปราบปรามการก่อการร้ายโดยยินยอมกระทั่งจงใจละเลยและละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน นิติธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย อ.เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า “เรื่องนี้นับเป็นตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม” [20]

ความรุนแรงทั้งสามลักษณะสัมพันธ์กัน กรณีปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่พิสูจน์ว่า ความรุนแรงทางตรงที่ปรากฏในผิวหน้าของเหตุการณ์นั้นล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงระดับโครงสร้างและวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย และขณะเดียวกัน ความรุนแรงแต่ละลักษณะต่างก็มีผลส่งเสริมต่อความรุนแรงลักษณะอื่นด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงระบุแบบแผนสำคัญว่า ความยืดเยื้อของความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงถึงตาย (deadly violent conflict) มีผลอย่างมากที่จะทำให้ความรุนแรงกลายเป็นสถาบัน (institutionalization of violence)

กล่าวคือ ความรุนแรงซึ่งแต่เดิมถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์/เครื่องมือ/วิธีการของการต่อสู้อันเชื่อว่าจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง ด้วยเหตุที่พิจารณาแล้วเห็นว่า มันเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในบริบทนั้นๆ  แต่การกลายเป็นสถาบันของความรุนแรง ก็คือ เมื่อเราปล่อยให้ความรุนแรงมีบทบาทขับเคลื่อนวงจรความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ตัวของความรุนแรงเองกลับมีแนวโน้มจะดำรงอยู่เพื่อดำเนินวิถีแห่งความรุนแรงต่อออกไป โดยไม่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเมืองใด เป็นการอยู่เพื่อจะดำรงอยู่สืบไปเท่านั้น ตัวอย่างรูปธรรมของมันก็คือ ช่วงเวลา 8-10 ปี ไม่นับว่าน้อยเกินไปที่จะสร้าง “อาชีพ” ที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงขึ้นมาในพื้นที่ขัดแย้งแต่ละแห่ง รวมทั้งเป็นเวลามากพอที่จะลงหลักปักฐานอุตสาหกรรมความมั่นคงในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งของเหล่านี้กลายเป็นอาชีพ และเป็นวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญประกอบวัตถุระเบิดซึ่งน่าจะทำเงินได้มหาศาลในช่วงหนึ่งทศวรรษที่มีงานเกือบทุกสัปดาห์ เอเยนซี่พาคนเข้า-ออกประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐที่เสพติดรายได้พิเศษและอภิสิทธิ์พิเศษบางประการจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ขัดแย้ง งบประมาณที่ปิดลับได้เสมอเมื่ออ้างถึงการผันมาลงสู่พื้นที่เหล่านี้ ฯลฯ นอกจากนี้ พื้นที่ขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง เปิดช่องทางให้เสมอกับการเคลื่อนไหวของขบวนการอาชญากรรมผิดกฎหมาย ซึ่งหลายๆ ครั้งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันใน 3 รูปแบบกับกลุ่มติดอาวุธ คือ (1) เป็นผู้เล่นอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และต่างก็ไม่ล้ำเส้นกัน (2) สนับสนุนกัน และ (3) ควบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือมีโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันในเชิงองค์กร สถานการณ์แบบนี้จะยิ่งเพิ่มมิติให้โจทย์แก้ความรุนแรงสลับซับซ้อนมากขึ้น และจะมากเข้าไปใหญ่หากฝ่ายรัฐมีเอี่ยวในขบวนการดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ การกลายเป็นสถาบันของความรุนแรงยังมีอีกมิติที่สำคัญ คือ เมื่อมันเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้หมุนวงล้อของความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ผู้คนในโครงสร้างสังคมแบบนี้ก็จะเริ่มปรับตัวไปตามยถากรรม จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ ความรุนแรงจะกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความรุนแรงและการใช้กำลังจะสถาปนาตัวเป็นบรรทัดฐานสำหรับการจัดการปัญหาความขัดแย้งทุกๆ เรื่องราวในชีวิตของสมาชิกสังคม ผู้คนจะเรียนรู้ว่าความเด็ดขาดที่ตนเองได้เปรียบจะได้มาด้วยการคร่าชีวิตหรือกดทับฝ่ายตรงข้ามลงให้ได้อย่างสิ้นเชิงเท่านั้น พวกเขาจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่คิดเห็นขัดแย้งกัน แต่จะคาดหวังสังคมอุดมคติที่มีแต่ “พวกเรา” ซึ่งคิดเห็นเหมือนกันเท่านั้น อันแน่นอนว่าพวกเขาจะต้อง “กำจัดสิ่งแปลกปลอม/ความเห็นแปลกปลอม” ไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

ความหวาดระแวงจะกลายเป็นบรรยากาศร่วมของชุมชน และมีโอกาสโน้มนำไปสู่การแตกสลายของสังคมจากภายใน ในระดับที่รัฐเองอาจไม่สามารถควบคุมได้ หรือร้ายกว่านั้น คือ กลายเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งให้ติดอาวุธเสียเอง 

 


อ้างอิง

*  
[1] Global Peace Index 2016
[2]  Ibid.
[3]  ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2533. หน้า 9.
[4] นิยามขององค์การสหประชาชาติ (the United Nations; UN), อ้างถึงใน ขจรจิต บุนนาค, “ความขัดแย้ง VS ความรุนแรง”, ใน วารสารนักบริหาร. ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 ก.ค. – ก.ย. 54. หน้า 140.
[5] นิยามขององค์การอนามัยโลก (the World HealthOrganization; WHO), อ้างถึงใน ขจรจิต บุนนาค. “ความขัดแย้ง VS ความรุนแรง”.
[6] อนุช อาภาภิรม, “ฉากความรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์”. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2543, อ้างถึงใน ขจรจิต บุนนาค. “ความขัดแย้ง VS ความรุนแรง”.
[7] Johan Galtung, “Violence, Peace, and Peace Research”, in Journal of Peace Research. Vol.6, No.3, 1969, pp.167-191 and; Johan Galtung, “Cultural Violence”, in Journal of Peace Research. Vol.27, No.3, 1990,
pp.291-305.
[8] Johan Galtung, “Cultural Violence”, pp.294.
[9] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. หน้า 11-17 และ; ชาญชัย ชัยสุขโกศล. ความขัดแย้ง ความรุนแรง สันติภาพ และสันติวิธี (พาวเวอร์พอยต์นำเสนอ) https://chaisuk.files.wordpress.com/2008/10/ conflict-violence-peace-nonviolence.pdf. เข้าถึงเมื่อ 28 พ.ค.59.
[10] ใน Mini-Manul of Urban Guerrila Warare.
[11] Dominique Moïsi. The Geopolitics of Emotion: How Cultures of Fear, Humiliation, and Hope are Reshaping the World. NY: Anchor Books, 2009 and; Dominique Moïsi. “The Clash of Emotions”, in Foreign Affairs.  January/February 2007. (online) , http://gbytes.gsood.com/files/moisi.pdf. Access 30 May 2016. 
[12] Ibid.
[13] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. หน้า 25-28.
[14] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “อุปลักษณ์สุขภาพ สันติภาพเชิงวิพากษ์”. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545, อ้างถึงใน นรินทร์ นำเจริญ. “การวิเคราะห์เนื้อหาที่เสริมสร้างสันติภาพในสื่อมวลชนท้องถิ่น: ศึกษากรณีการนำเสนอข่าวชาวเขาในหนังสือพิมพ์รายวัน จังหวัดเชียงใหม่”, ใน วารสารการสื่อสารมวลชน. ปีที่ 1, ฉบับที่ 1, ก.ค.-ธ.ค. 50, หน้า 55-56.
[15] คริส แอ็บบอต, พอล โรเจอร์ส และจอห์น สโลโบดา (เขียน). สุนทรี เกียรติประจักษ์ (แปล). เผชิญภัยคุกคามโลก: ศตรรษที่ 21 กับความมั่นคงที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550. หน้า 46-66.
[16] เพิ่งอ้าง. หน้า 52-55.
[17]เพิ่งอ้าง. หน้า 56.
[18] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, “เรื่องราวความรุนแรงในสังคมไทย: ฆ่าหั่นศพ พ่อฆ่าลูก และอื่นๆ อีกมากมาย”, ใน รัฐศาสตร์สาร, 23 (3), 2545, หน้า 144-148, อ้างถึงใน ขจรจิต บุนนาค, “ความขัดแย้ง VS ความรุนแรง”.
[19] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “สันติทฤษฎี วิถีวัฒนธรรม”. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539, อ้างถึงใน อ้างถึงใน นรินทร์ นำเจริญ. “การวิเคราะห์เนื้อหาที่เสริมสร้างสันติภาพในสื่อมวลชนท้องถิ่น: ศึกษากรณีการนำเสนอข่าวชาวเขาในหนังสือพิมพ์รายวัน จังหวัดเชียงใหม่”.
[20]อ.เกษียร เตชะพีระ เขียนประเด็นนี้ไว้ในบทความเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยแพร่ในประชาไทเมื่อหลายปีมากแล้ว.

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน พับลิกโพสต์

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน อาทิตย์  ทองอินทร์ เป็นหัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ขยะกับการโต้กลับของชนชั้นล่าง

$
0
0

 

เรื่อง “ขยะ” ที่จะเล่าในที่นี้ เป็นงานวรรณกรรมแปล จากเรื่อง Trash (2010) เขียนโดย แอนดี มัลลิแกน (Andy Mulligan) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นครูอาสาสมัครที่เบงกอล ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ บราซิล วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าชีวิตของเด็กเก็บขยะที่เมืองกองขยะในฟิลิปปินส์ ซึ่งได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ล่าสมบัติที่จะสร้างคุณค่าในชีวิตให้กับเด็กเหล่านี้ ต่อมาหนังสือนี้ถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นในอังกฤษ และได้แปลเป็นภาษาไทย โดย วิกานดา จันทร์ทองสุข พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน เมื่อ พ.ศ.2557

เรื่อง “ขยะ” เล่าเหตุการณ์ในชีวิตของเด็ก 3 คน คือ ราฟาเอล การ์โด และ แรต(จุนจุน) ซึ่งใช้ชีวิตเก็บขยะอยู่ที่เบลาฮา หรือเมืองขยะแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ วันหนึ่ง ราฟาเอลเก็บกระเป๋าสตางค์ใบหนึ่งได้ในกองขยะ ในกระเป๋าใบนี้ นอกจากจะมีเงินถึงพันหนึ่งร่อยเปโซแล้ว ก็ยังมีบัตรประตัวประชาชนของชายชื่อโคเช่ อันเคลีโก แผนที่แผ่นพับ และลูกกุญแจ แต่กระเป๋าใบนี้กลายเป็นต้นเหตุให้ตำรวจท้องถิ่น ต้องยกกำลังมาที่กองขยะแล้วล่อด้วยรางวัลเพื่อจะเอากระเป๋าคืน แต่ด้วยความไม่ไว้วางใจตำรวจ ราฟาเอลกับการ์โดตัดสินใจที่จะเก็บกระเป๋านั้นไว้แล้วนำไปฝากไว้กับแรต ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าที่รูในดงขยะเป็นบ้าน และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กทั้งสามคนช่วยกันหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง

ตำรวจสงสัยราฟาเอล จึงจับตัวไปซ้อมทารุณ ราฟาเอลตัดสินใจยืนยันไม่ยอมรับ จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา กลุ่มเด็กได้ทราบความจริงว่า โคเช่ อันเคลิโก เคยเป็นเด็กกำพร้า ต่อมาได้ทำงานเป็นผู้รับใช้ของวุฒิสมาชิกเฮจิส ซาปันตานานถึง 18 ปี ขณะนั้น วุฒิสมาชิกซาปันตาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี แต่อันเคลิโกถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์มากถึง 6 ล้านดออลลาร์ และในที่สุดก็ถูกฆ่าตายที่สถานีตำรวจ เงินจำนวนมากที่ถูกปล้นออกมานั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการทุจริตคอรับชั่น และเพื่อปิดความลับและไม่ไว้ใจธนาคาร วุฒิสมาชิกซาปันตาจึงสร้างห้องใต้ดินแล้วเอาเงินสดเก็บไว้ที่บ้าน อันเคลิโกที่เป็นคนรับใช้จึงวางแผนขโมยเงินออกมา วุฒิสมาชิกซาปันตาโกรธที่ต้องเสียเงิน และยังต้องเสียชื่อเสียงที่ถูกโจมตีในเรื่องที่มาของเงินจำนวนมากนี้ จึงพยายามที่จะใช้อำนาจตำรวจติดตามเอากลับคืนมา

สำหรับกลุ่มเด็กได้พบว่า ก่อนอันเคลิโกจะถึงแก่กรรม ได้เขียนจดหมายถึงกาเบรียล โอรอนดริช ชายอีกคนที่อยู่ในคุก การ์โดได้ขอให้ซิสเตอร์โอลิเวีย ครูอาสาสมัคร ช่วยพาไปที่คุก เพื่อพบกับโอลอนดริช จึงได้หนังสือไบเบิลเล่มสำคัญ ที่จะนำม่าถอดรหัส ในที่สุดกลุ่มเด็กก็ค้นพบได้ว่า เงินทั้งหมดถูกเก็บไว้ที่สุสานฝังศพประจำเมือง จึงได้ไปนำเงินจำนวนมากนั้นมาโปรยที่กองขยะ เพื่อเป็นการคืนเงินให้กับประชาชนคนยากจน

ใน ค.ศ.2014 วรรณกรรมเรื่องนี้ ได้ถูกดัดแปลงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยสตีเฟน ดาลดรี เป็นผู้กำกับ และริชาร์ด เคอร์ติส เขียนบท นำเอาดาราภาพยนตร์สำคัญ เช่น มาร์ติน ชีน และ รูนีย์ มารา มาร่วมแสดง แต่ภาพยนตร์เปลี่ยนสถานที่ของเหตุการณ์ให้เกิดในบราซิล เพราะลักษณะสังคมบราซิลก็เป็นแบบเดียวกัน คือ มีเด็กจรจัดเป็นจำนวนมาก และประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองกองขยะ แต่โครงเรื่องทั้งหมดยังเป็นไปเช่นเดิม และกลายเป็นหนังนอกกระแสที่มีคุณภาพมากเรื่องหนึ่งของปีนั้น

ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้แรกสุดก็คือ การสะท้อนสังคมเหลี่ยมล้ำ ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของสังคมด้วยพัฒนา จึงมีย่านที่อยู่มหาเศรษฐีควบคู่กับเมืองกองขยะ แม้กระทั่งในสุสานที่เก็บศพ ก็ยังมีการแบ่งแยกเป็นด้านคนรวยกับด้านคนจน ซึ่งมีการใช้พื้นที่อย่างไม่เท่าเทียมกัน แต่นวนิยายเรื่องนี้ เดินเรื่องด้วยตัวละครเด็กเก็บขยะ ที่เป็นชนชั้นต่ำ เป็นคนด้วยโอกาส เป็นเด็กเหลือขอ เป็นบุคคลไร้ค่าของสังคม ถึงขนาดที่ตำรวจที่จับราฟาเอลไปทรมานพูดตอนหนึ่งว่า “คนอย่างมันเกิดมาทำไม” แต่ในเรื่องนี้เล่าให้เด็กเหล่านี้มีสติปัญญา ท้าทาย และทวงคืน สิทธิของตนอย่างน่าสนใจ โดยการนำเงินทุจริตเหล่านั้นกลับมาโปรยบนกองขยะ กลับคืนสู่คนยากคนจน

ปัญหาใหญ่ที่สะท้อนในเรื่องคือ การทุจริตของชนชั้นนำที่สร้างความร่ำรวยให้ตนเองเป็นการทำลายโอกาสของคนยากจนทั้งหลาย รวมทั้งพวกเด็กข้างถนน ตัวละครโอลอนดิชเล่าว่าในเรื่องว่า วุฒิสมาชิกยักยอกเงินช่วยเหลือนานาชาติราว 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตามเงื่อนไขจะเป็นเงินที่รัฐบาลต้องออกเงินสบทบในการช่วยเหลือประชาชนคนยากจน และยังรวมถึงเงินสมทบจากภาคเอกชน หมายความว่าการทุจริตทำให้ประชาชนคนยากจน และเด็กกองขยะต้องเสียโอกาสที่จะมีสวัสดิการ มีการศึกษา อาจจะคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 70 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ยกระดับคนยากจนได้มากมาย ความยากจนและไร้โอกาสของเด็กกองขยะกับความมั่งคั่งจากการทุจริตของชนชั้นนำจึงเป็นสองด้านบนเหรียญอันเดียวกัน

เนื้อหาจากเรื่อง “ขยะ” จึงเป็นเรื่องสะท้อนสังคมไทยได้เช่นกัน ในฐานะที่เป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ประชาชนจำนวนมากอยู่ในระดับยากจน การทุจริตซึ่งน่าจะหมายถึงการนำเงินของรัฐไปใช้อย่างขาดการตรวจสอบของรัฐบาลทหาร เช่น การเอาเงินจำนวนนับพันล้านไปซื้ออาวุธประเภทเรือเหาะ เรือดำน้ำ รถถังสัปปะรังเค รวมทั้งการขยายเพิ่มกำลังพลของกองทัพ ในภาวะของโลกที่ไม่มีแนวโน้มสงคราม ก็เป็นสองด้านของเหรียญที่ทำให้รัฐบาลทหาร จะต้องมาตัดงบสวัสดิการสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ ประกันสังคม โครงการสุขภาพทั่วหน้า เงินด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการลดทอนโอกาส และความใฝ่ฝันของประชาชนคนยากจนทั้งสิ้น

ในโอกาสครบรอบสองปีของการรัฐประหารครั้งนี้ จึงชวนอ่านหนังสือเรื่อง “ขยะ” น่าจะช่วยทำให้เห็นภาพของสังคมเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น

0000

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 566  วันที่ 28 พฤษภาคม 2559

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัมรา ฮาบิบ: มุสลิมผู้มีความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริงและเศร้าเสียใจต่อเหตุ 'ออร์แลนโด'

$
0
0

หนึ่งในผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ชาวมุสลิม เขียนบทความแสดงความเสียใจกรณีเหตุกราดยิงผู้คนในไนต์คลับคนรักเพศเดียวกันเมืองออร์แลนโด ขณะเดียวกันก็ขอร้องไม่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นการกดขี่ซ้ำเติมอัตลักษณ์ และเปิดเผยว่าพอมีเหตุที่โยงกับศาสนาอิสลามมักจะเกิดสองมาตรฐานขึ้นทุกครั้งเมื่อเทียบกับศาสนาอื่นๆ

13 มิ.ย. 2559 จากเหตุการณ์กราดยิงผู้คนในไนต์คลับคนรักเพศเดียวกัน ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย โดยผู้ก่อเหตุ โอมาร์ มาทีน ผู้เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยของเอฟบีไอในฐานะคนที่มีความเห็นพ้องกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิส แต่ชัมรา ฮาบิบ ผู้เขียนบทความผู้ก่อตั้งโครงการ "แค่ฉันและองค์อัลเลาะห์" (Just Me and Allah) ซึ่งเป็นโครงการภาพถ่ายคนเพศทางเลือกชาวมุสลิม ระบุในบทความว่าไม่อยากให้เรื่องราวในครั้งนี้กลายเป็นเรื่องของการ "แบ่งเขาแบ่งเรา"

ฮาบิบ เขียนถึงประสบการณ์ช่วงที่ทำโครงการ "แค่ฉันและองค์อัลเลาะห์"ของตัวเองซึ่งเป็นโครงการ
บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้มีเพศสภาพที่แตกต่างจากสังคมกระแสหลักหรือกลุ่ม "เควียร์" (queer) เธอเล่าว่าเคยพบเจอเรื่องราวในนิตยสารเกี่ยวกับหญิงชาวมุสลิมอายุ 17 ปี ในรัฐนอร์ทดาโคตาที่ถูกพ่อของตัวเองใช้อาวุธปืนจี้หัวเมื่อรู้ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน ในบทความดังกล่าวมีการอ้างถึงตัวฮาบิบเองเพื่อบอกว่ามุสลิมที่สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริงราวกับว่ามันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด ทำให้ฮาบิบสงสัยว่าถ้ามีเรื่องของผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวคริสต์พวกเขาจะถูกนำไปอ้างอิงถึงในบทความเกี่ยวกับพ่อกับลูกสาวชาวคริสต์นิกายอีแวนเจลิกหรือไม่

ฮาบิบ ระบุว่ารูปแบบสองมาตรฐานเช่นนี้ยังคงปรากฏต่อไปหลังเหตุการณ์สังหารที่ออร์แลนโดหลังจากที่พ่อของมาทีนให้สัมภาษณ์ว่าลูกชายของเขาน่าจะมีแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้หลังจากที่เห็นผู้ชาย 2 คนจูบกันในไมอามีสองเดือนที่แล้วแต่ก็พยายามบอกว่า "เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับศาสนา"  และฮาบิบเชื่อว่าในช่วงอีกไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้จะมีสื่อต่างๆ วิเคราะห์เชื่อมโยงศาสนาอิสลาม กับการก่อการร้ายและความหวาดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล

ในแง่นี้ฮาบีบเน้นย้ำว่าพอมีชาวมุสลิมที่หลงผิดไปในทางอาชญากรรมก่อความรุนแรงทีไรศาสนาและศาสนิกชนทุกคนก็จะต้องถูกสงสัยในแบบที่ไม่เกิดขึ้นกับศาสนาอื่น ซึ่งแม้กระทั่งผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวมุสลิมก็จะถูกสงสัยไปด้วย ทำให้ชาวมุสลิมต้องระวังเป็นพิเศษเพราะกลัวว่าจะถูกโจมตีจากคนที่หวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล และองค์กรมุสลิมต้องคอยรับผิดชอบออกแถลงการณ์ขอโทษแทนการกระทำของพวกกลุ่มก่อการร้ายอยู่ทุกครั้ง

ในเรื่องที่ว่าอะไรทำให้คนๆ หนึ่งออกไปสังหารผู้บริสุทธิ์ได้ อาเรีย ครุกแลนสกี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เคยศึกษาคำพูดสุดท้ายของผู้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพพบแบบแผนอย่างหนึ่งคือ แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุจะมาจากการอยากทำให้ตัวเองเป็นคนมีความสำคัญและการค้นหาความหมายของชีวิตในแบบที่พวกเขาถูกล้างสมองให้เชื่อว่าความหมายของชีวิตจะมาในช่วงหลังความตายเท่านั้น แต่ชาวมุสลิมโดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีประสบการณ์แบบนี้เป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกล้างสมองแบบดังกล่าว

"เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าอิสลามถูกกดขี่จากพวกหัวรุนแรงทางศาสนาทั่วทั้งโลก บ่อยครั้งที่มีเหตุโจมตีต่อมุสลิมรายอื่นๆ"ฮาบิบระบุในบทความ

เธอยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในปากีสถานที่สังหารผู้คนไปมากกว่า 70 คน และบอกว่าทั้งจากเหตุการณ์นี้และเหตุการณ์ที่ออร์แลนโดทำให้เชื่อได้ว่ามันไม่ควรจะกลายเป็น "การแบ่งเขาแบ่งเรา"ทุกคนล้วนเผชิญกับโศกนาฏกรรมด้วยกันทั้งนั้น

"แล้วฉันก็บอกคุณได้จากความรู้สึกโดยตรงเลยว่า ฉันเป็นมุสลิมผู้รักสันติที่รู้สึกโกรธกับการโจมตีด้วยความหวาดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผลมากเท่ากับคนอื่นๆ ทุกคน และการรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ"ฮาบีบระบุในบทความ



เรียบเรียงจาก

Queer Muslims exist – and we are in mourning too, The Guardian, 12-06-2016
http://www.theguardian.com/commentisfree/2016/jun/12/queer-muslims-mourning-orlando-nightclub-shooting
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งพักงาน 2 ผช.นักบิน จากนกแอร์-แอร์เอเชีย แชทโหม่งโลกหลังพบยิ่งลักษณ์

$
0
0

14 มิ.ย.2559  จากกรณีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่ายนมาโซเชียลมีการเผยแพร่ข้อความการสนทนาแบบกลุ่มของบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็น"ผู้ช่วยนักบิน"สายการบินแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะกำลังเดินทางกลับจาก จ.แพร่ โดยเที่ยวบินของสายการบินแห่งหนึ่ง และโพสต์ข้อความต่อมาว่า "มีเหยื่อ ออน บอร์ด หวะ"และจากนั้นมีผู้แสดงความเห็นว่า "cfit หน่อย..."ซึ่งเป็นศัพท์การบินย่อมาจาก controlled flight into terrain หมายถึงอุบัติเหตุที่เกิดกับอากาศยาน ที่บินชนผืนดิน ภูเขา หรือน้ำ หรือสิ่งกีดขวางอื่น

วันนี้ (14 มิ.ย.59) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า  น.ต.อลงกต พูลสุข ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติการของสายการบินให้เกิดความปลอดภัย เปิดเผยว่า กฎหมาย กพท. ครอบคลุมและสามารถเอาผิดได้เฉพาะกรณีข่มขู่คุกคามด้านความปลอดภัยด้านการบินที่เกิดขึ้นจากทางวาจาหรือพฤติกรรมที่แสดงออกเท่านั้น แต่กรณีดังกล่าวเป็นการคุกคามที่เกิดขึ้นจากสื่อโซเชียลมีเดีย กฎหมายยังครอบคลุมไม่ถึง รวมทั้งขณะนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความดังกล่าว ส่วนเรื่องของจริยธรรมของตัวนักบินนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละสายการบินจะต้องไปสอบสวน เอาผิดและลงโทษกันเอง กพท. มีหน้าที่ตรวจสอบและออกใบอนุญาตนักบินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กพท.. มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนไปยังสายการบินได้
 
“ผมโทรศัพท์ไปสอบถามฝ่ายดูแลนักบินของนกแอร์แล้ว ขอให้รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับมาภายใน 3-4 วัน รวมทั้งได้ส่งหนังสือไปยังสายการบินทุกสายการบิน ให้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการแสดงทัศนคติและความเห็นของนักบินผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านการบิน รวมทั้งให้เน้นย้ำเรื่องวินัยการบินด้วยว่าห้ามนำความเห็นส่วนตัวมาใช้ระหว่างทำการบิน” น.ต.อลงกต ระบุ
 

ยังไม่ผิดร้ายแรงถึงขั้นทำแตกตื่น

น.ต.อลงกตกล่าวว่า เบื้องต้นได้รับทราบว่านักบินคนดังกล่าวเป็นนักบินใหม่ที่ยังมีอายุน้อย ซึ่งความเป็นนักบินกว่าจะปลูกฝังให้เป็นมืออาชีพได้ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างนาน 5-7 ปี ทั้งนี้ยอมรับ ว่าการเริ่มต้นเป็นนักบินก็อาจทำถูกบ้างผิดบ้าง แต่ทั้งหมดก็ต้องดูที่เจตนารมณ์ว่าทำไปเพื่ออะไร
 
“เรื่องนี้ไม่น่าจะเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 เพราะเป็นการโพสต์ข้อความพูดคุยกันภายใน ไม่ได้มีการประกาศออกสู่สาธารณชนให้รับทราบ จึงไม่ได้ทำให้ผู้โดยสารหรือประชาชนทั่วไปเกิดอาการแตกตื่นจนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางด้านการบิน ซึ่งแตกต่างกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ สายการบิน คือกรณีที่ผู้โดยสารบนเครื่องได้พูดล้อเล่นด้วยการประกาศบนเครื่องบินว่ามีระเบิดบนเครื่อง เพราะกรณีหลังนั้นคำพูดที่ประกาศออกมาได้ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เนื่องจากสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนบนเครื่องบิน ซึ่งตามกฎหมายถือว่ามีความผิดมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ” น.ต.อลงกต กล่าว
 

นกแอร์สั่งพักงานมือโพสต์ 2 สัปดาห์

ร.ท.นรหัส พลอยใหญ่ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายการบินนกแอร์กล่าวถึงการสอบสวนนักบินผู้ช่วยของสายการบินนกแอร์ที่โพสต์ข้อความผ่านไลน์ในกลุ่มของนักบินที่จบการศึกษาด้านการบินในรุ่นเดียวกันว่า จากการสอบสวนพบว่านักบินผู้ช่วยคนนี้ไม่ได้มีเจตนาร้าย เป็นการโพสต์ข้อความพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนนักบินด้วยความคึกคะนอง แต่มีการใช้คำไม่สุภาพคือคำว่าเหยื่อ ซึ่งปกติจะต้องใช้คำว่า VVIP ขณะนี้ได้สั่งพักการบิน 1-2 สัปดาห์ น่าเห็นใจว่านักบินผู้ช่วยคนนี้เป็นนักบินเพิ่งจบใหม่ ไม่ได้มีความคิดหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ขณะนี้อยู่ในสภาพที่ตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 

คนเขียน CFIT อยู่ไทยแอร์เอเชีย

ร.ท.นรหัสกล่าวว่า นักบินผู้ช่วยรายนี้ให้เหตุผลว่า มีความภูมิใจที่ได้ขับเครื่องบินที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยสารมาด้วย จึงได้ขออนุญาตนักบินในเที่ยวบินดังกล่าว ถ่ายภาพคณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผ่านห้องนักบิน และหลังจากโพสต์ภาพและข้อความแล้วก็ได้ปิดมือถือไป ปรากฏว่ามีเพื่อนนักบินคนอื่นเข้ามาโพสต์ข้อความต่างๆ ส่วนผู้ที่โพสต์คำว่า CFIT ปรากฏว่าเป็นนักบินของสายการบินแอร์เอเชีย และหลังจากทำการบินเสร็จนักบินผู้ช่วยคนนี้ได้กลับมาโพสต์ข้อความอีกครั้งว่าได้นำเครื่องบินลงถึงที่หมายเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องการเอาผิดลงโทษนั้น เรื่องนี้ไม่ได้มีข้อกำหนดในส่วนของกฎหมายการบิน แต่เป็นเรื่องของระเบียบปฏิบัติของสายการบินนกแอร์ที่จะต้องกำกับดูแลและพิจารณาลงโทษ
 

ต้นสังกัดสั่งพักงาน–ทดสอบทัศนคติ

ด้า ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวหลังจากทราบเรื่องว่ามีนักบินของไทยแอร์เอเชียเป็นผู้โพสต์คำว่า CFIT ได้มีการเรียกประชุมด่วนฝ่ายนักบินและตรวจสอบพบว่าเป็นศิษย์นักบินของไทยแอร์เอเชีย คือยังไม่ได้เป็นนักบิน แต่เพิ่งเซ็นสัญญารับเป็นนักบินและอยู่ในขั้นตอนการฝึกอบรมเพียง 3 วัน กว่าจะเป็นนักบินต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี ขณะนี้ได้สั่งพักการอบรมและให้กลับไปเริ่มต้นในขั้นตอนการทดสอบทางด้านทัศนคติ (Attitude Test) และจะต้องดูพฤติกรรม เพราะผู้ที่จะเป็นนักบินได้จะต้องมีภาวะความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ หากผ่านการทดสอบก็พร้อมรับเข้ามาฝึกอบรมเพื่อเป็นนักบินต่อไปได้
 
“หลังจากทราบเรื่องได้โทรศัพท์ถึงนางสาวยิ่งลักษณ์เพื่อชี้แจงและยอมรับว่าเป็นศิษย์นักบินของไทยแอร์เอเชียที่มีการโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม และไม่ได้มีเจตนาหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ เป็นเรื่องของความคึกคะนองเท่านั้น ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้ติดใจเอาความ แต่ได้แนะนำว่านักบินจะต้องคำถึงเรื่องคำถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคนเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม” ธรรศพลฐ์ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออกหมายเรียก 3 นักสิทธิ-หมิ่นประมาท กอ.รมน. หลังเผยรายงานซ้อมทรมานชายแดนใต้

$
0
0

ออกหมายเรียก 3 นักสิทธิจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจในข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหตุออกรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนใต้

14 มิ.ย. 2559 เฟซบุ๊กส่วนตัวของ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หนึ่งในผู้ต้องหา ได้โพสต์ภาพหมายเรียกเพื่อแจ้งดำเนินคดีกรณีเปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 โดยมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พ.ท.เศรษฐสิทธิ แก้วคูณเมือง ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้กล่าวหา สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมีน๊ะ ผู้ต้องหา ในความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากผู้เสียหายพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จึงแจ้งให้ไปรับข้อกล่าวหาในวันที่ 26 มิ.ย. 2559 ณ. สภ.เมืองปัตตานี ทั้งนี้พรเพ็ญ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าจะสามารถไปรับฟังข้อกล่าวหาดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากยังต้องปรึกษากับทีมทนายก่อนในเบื้องต้น

พรเพ็ญ กล่าวว่า ตนยังยืนยันในข้อเท็จจริงในรายงานดังกล่าวเพราะในขั้นตอนการทำก็เคยได้มีการเข้าอธิบายกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงฟังแล้ว ทั้งด้านเอกสารและการพูดคุยกันในหลายครั้ง และรายงานในลักษณะนี้ก็พบเห็นได้ในระบบของทางรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่อยากให้นำเสนอออกมาในวงกว้าง

ทั้งนี้พรเพ็ญกล่าวอีกว่า มองอนาคตในเรื่องการตรวจสอบการซ้อมทรมานว่าจะเป็นไปได้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีคนรับรู้มากขึ้นอาจเป็นช่องทางสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้คนที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ซ้อมทรมานหรือเคยได้รับความเสียหายได้ทราบว่ายังมีช่องทางที่จะบอกเล่า หรือติดต่อกับทางมูลนิธิเราได้

อีกทั้งจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้กลุ่มนักสิทธิหรือกลุ่มผู้ทำงานภาคประชาสังคมให้ความสนใจ และร่วมกันตั้งคำถามถึงสิทธิของกลุ่มนักสิทธิที่ทำงานเพื่อสังคมว่าหากไม่สามารถรายงานหรือตรวจสอบรัฐได้การทำงานของตนก็จะมีความเสี่ยง เป็นเหตุให้มีการออกแถลงการณ์และร่วมลงชื่อต่างๆ พรเพ็ญกล่าว

“หลายองค์กรก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงเพราะเขาเห็นว่าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การนำเสนอรายงานในลักษณะนี้มันเป็นเรื่องปกติของนักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชนที่จะต้องเปิดเผยและตรวจสอบรัฐ แต่เมื่อเราตรวจสอบแล้วแทนที่เขาจะไปตรวจสอบกับหน่วยงานภายใต้สังกัดเขากลับมาตรวจสอบกลุ่มนักกิจกรรมที่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งมันขัดกับตรรกะคนทำงาน"พรเพ็ญกล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ชี้แจงเหตุฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชนผู้ทำรายงานซ้อมทรมาน ชี้จงใจปกปิดข้อมูล เคยขอข้อมูลเพื่อร่วมตรวจสอบแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องฟ้องเพื่อให้ความจริงปรากฏในศาล ระบุหากบิดเบือนก็สมควรได้รับโทษ ฐานละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีเจ้าหน้าที่รัฐ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เสรีเกษตรฯ'แจกใบปลิวประชามติ ก่อนถูกบุคคนอ้างเป็นนอกเครื่องแบบขอให้ยุติ

$
0
0

14 มิ.ย. 2559 จากกรณีวานนี้ (13 มิ.ย.59) ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์'โพสต์ว่า "พรุ่งนี้ เสรีเกษตรศาสตร์จะแจกเอกสารรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัย บริเวณคณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หอสมุด ไปจนถึงบริเวณประตูงามวงศ์วาน 1 ตั้งแต่เวลา 9 โมงเป็นต้นไป ถ้าสนใจสามารถมารับได้ในพื้นที่ดังกล่าวครับ"

ต่อมาวันนี้ (14 มิ.ย.59) เวลา 11.45 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า "มีตำรวจมาขอเจรจาให้หยุดแจกเราเลยจำเป็นก็หยุดแจกนะครับ"

ซึ่ง iLawรายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า วันนี้ เวลา 9.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นิสิตกลุุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ทำกิจกรรม เดินแจกใบปลิวจากบริเวณคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใบปลิวดังกล่าว มีเนื้อหารณรงค์ให้นิสิตและประชาชน ออกไปใช้สิทธิลงประชามติและประชาสัมพันธ์กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ 

ในช่วง 10.30 น.นิสิตกลุ่มดังกล่าวกลับได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยว่า มีตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบประสานกับมหาวิทยาลัยว่าทหารและตำรวจจะเข้าควบคุมสถานการณ์ ทางผู้บริหารไม่อยากให้มีเหตุควบคุมตัวกันเกิดขึ้นจึงประสานไปยังกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์หยุดกิจกรรมแจกใบปลิวเป็นการชั่วคราว
 
จากนั้น 11.30 น. เมื่อแจกเอกสารไปจนถึงบริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ ได้พบบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เจรจา
ให้ยุติกิจกรรม หนึ่งในนิสิตของกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เผยกับ iLaw ว่า "กิจกรรมครั้งเป็นเพียงการแจกใบปลิวเรื่องความเห็นแย้ง และ "ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเท่านั้น หนูไม่เข้าใจว่าจะมาคุกคามกันทำไม หนูก็กลัวเหมือนกันนะ แค่รณรงค์ให้ออกไปใช้สิทธิยังทำไม่ได้ แล้วจะมีประชามติไปเพื่ออะไร" 
 
iLaw รายงานด้วยว่า กลุ่มดังกล่าว ได้ยุติกิจกรรมในช่วงก่อนเที่ยง โดยเอกสารที่แจกวันนี้ เป็นความเห็นแย้งของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ เอกสารประชาสัมพันธ์กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เอกสารรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิในวันที่ 7 ส.ค. 2559 และเอกสารวิธีลงทะเบียนประชามตินอกเขต
 
ตัวแทนกลุ่มอีกคนกล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มเห็นร่วมกัน เรื่องประชามติจะมีผลต่อระยะยาวในอนาคต เป็นสิ่งกำหนดกดเกณฑ์ประเทศต่อไป จึงออกมาทำกิจกรรมให่นิสิตและผู้ปกครองเข้าใจ แรกเริ่มวันนี้วางแผน จะแจกเอกสารรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัย บริเวณคณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หอสมุด ไปจนถึงบริเวณประตูงามวงศ์วาน 1 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN ห่วงไทยจำกัดการถกเถียงร่าง รธน.-พลเรือนขึ้นศาลทหาร

$
0
0

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ย้ำประชาชนไทยควรวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอนาคตของประเทศผ่านการลงประชามติ รวมถึงแสดงความกังวลกรณีพลเรือนขึ้นศาลทหาร

14 มิ.ย. 2559 วานนี้ (13 มิ.ย.) เซอิด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) นำเสนอข้อมูลสถานการณ์สิทธิใน 50 ประเทศทั่วโลก ในเวทีประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 32 ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยตอนหนึ่งมีการระบุถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ในประเด็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในเดือน ส.ค. นี้

เขาระบุว่า ในขณะที่การลงประชามติจะช่วยให้ประชาชนได้ตัดสินในเรื่องว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง แต่ก็มีเรื่องที่รัฐบาลไทยทำอะไรขัดแย้งกันในตัวเองคือการจำกัดการแลกเปลี่ยนหารือกันในประเด็นรัฐธรรมนูญ โดยมีการจับกุมผู้ที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและตั้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่น"กับพวกเขา

เขาชี้ว่า คนไทยควรมีสิทธิที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจเกี่ยวกับประเทศของตนเองอย่างเสรี เป็นธรรม และมีพลวัต การถกเถียงแลกเปลี่ยนสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญถ้าหากประเทศต้องการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ เขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีกับพลเรือนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทารุณกรรมและการบังคับอุ้มหายเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับอุ้มหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และเชื่อว่าสัญญาผูกมัดเหล่านี้จะถูกนำมาใช้จริงโดยเร็ว

 

เรียบเรียงจาก

Hate is being mainstreamed' - global update by the High Commissioner, OHCHR
http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/GlobalhumanrightsupdatebyHC.aspx

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลิขิตชี้สยามเปลี่ยนให้รอดพ้นตะวันตก-ญี่ปุ่นปฏิรูปเมจิเพื่อเป็นมหาอำนาจ

$
0
0

เสวนาเปรียบเทียบปฏิรูปเมจิและสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ลิขิต ธีรเวคิน เสนอไทยยุคปฏิรูปเปลี่ยนเพื่อให้พ้นเงื้อมมือตะวันตก ญี่ปุ่นยุคเมจิเปลี่ยนเพื่อเป็นมหาอำนาจโลก ไชยวัฒน์ ค้ำชู ยกคำปัญญาชนญี่ปุ่น-ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องตะวันออกตะวันตกเป็นเรื่องของมนุษยชาติ - ไชยันต์ รัชชกูล เสนอให้ฝ่ามายาคติประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่องไทยเสียดินแดน-ชี้รัฐไทยสมัยใหม่ก่อรูปจากการสร้างอาณานิคมภายใน ขยายอำนาจไปยังดินแดนถัดจากนครสวรรค์ โคราช สงขลา

(ภาพบน) ทหารกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นสมัย ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2418) (ภาพล่าง) กองทหารมะรีน ซึ่งเป็นทหารฝึกหัดสมัยใหม่ของสยาม ด้านหลังเป็นช้างติดปืนกลแก็ตลิง ทหารกองดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทหารที่ไปทำสงครามปราบฮ่อถึงหลวงพระบางและสิบสองจุไท ภาพนี้ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2418) ที่มา: วิกิพีเดีย [1], [2] 

บรรยากาศเสวนา "กำเนิดรัฐสมัยใหม่: กระบวนการสร้างรัฐในญี่ปุ่นยุคเมจิและสยามยุครัชกาลที่ 5" โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

14 มิ.ย.2559 เวลา 13.30 น. ที่ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "กำเนิดรัฐสมัยใหม่ : กระบวนการสร้างรัฐในญี่ปุ่นยุคเมจิและสยามยุครัชกาลที่ 5"โดยมี ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินรายการโดย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ลิขิตชี้ยุคปฏิรูปไทยปลี่ยนเพื่อให้พ้นเงื้อมมือตะวันตก ญี่ปุ่นเปลี่ยนเพื่อเป็นมหาอำนาจโลก

ตอนหนึ่ง ลิขิต กล่าวว่า การเปรียบเทียบการสร้างรัฐในสมัยรัชกาลที่ 5 กับประเทศญี่ปุ่นยุคเมจิ ก็เนื่องจากสองยุคนี้อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันของการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่มีสภาพประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยในสมัยนั้นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่ออยู่รอดพ้นจากอำนาจตะวันตก แต่ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ซึ่งมีตัวแปรที่ต่างกันระหว่างสองประเทศนี้สามอย่าง คือ 1 เงื่อนไขเบื้องต้น 2 สภาพสิ่งแวดล้อม 3 ผู้นำทางการเมือง

ลิขิต กล่าวต่อว่า บทเรียนจากประเทศญี่ปุ่นทำให้เห็นว่าจะให้ตัวเองเป็นแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หรือจะให้เราเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดกลาง ในอาเซียน 10 ประเทศ ไทยเป็นประเทศที่เสียเปรียบในแง่ของประชากร ประเทศไทยมีประชากรน้อยกว่าอินโดนีเซีย และมีคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด คือ เวียดนาม ลาว พม่า ดังนั้นประเทศไทยต้องวางแผนว่าจะวางตัวอย่างไร สิ่งที่จะทำให้เกิดความเติบโตของชาติ (National Growth) และอำนาจของชาติ (National Power) ซึ่งลิขิตเสนอว่ามี 5 ตัวแปร 1. พัฒนาการเมือง ระบบการเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม 2. พัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยี 3. ระบบสังคมที่เอื้อให้คนมีโอกาสขยับชั้นทางสังคม (social mobility) 4. ประชากรต้องมีจิตวิทยาที่ทันสมัย ไม่โบราณ ไม่ต่อต้านประชาธิปไตย 5. จำนวนประชากรต้องอย่างน้อย 30 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาตั้งแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ ข้อแรกก็มีปัญหาแล้ว

“สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดคือเรื่องนี้พูดถึงระบอบประชาธิปไตย ผมแบ่งเป็น 3 โครงสร้าง ล่างสุดคือประชากร กลางคือพรรคหรือกลุ่มอะไรต่างๆ ข้างบนสุดคือรัฐธรรมนูญ ประเทศไทย 80 ปี มีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ พูดถึงข้อแรกก็ตกเลย ไม่ต้องพูดอะไรในอนาคตแล้ว” ลิขิต กล่าว

 

ไชยวัฒน์ ค้ำชูยกคำปัญญาชนญี่ปุ่น-ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องตะวันออกตะวันตก-เป็นเรื่องของมนุษยชาติ

ด้านไชยวัฒน์ ค้ำชู กล่าวว่า ผู้นำการปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศญี่ปุ่นในสมัยเมจิรัฐต้องการรวมศูนย์อำนาจในประเทศให้มั่นคง เลยยกเลิกแว่นแคว้นและเปลี่ยนให้เป็นจังหวัด มีกระทรวงมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัด เลิกระบบชนชั้นที่มีอย่างเข้มแข็ง และระบบราชการนั้นต้องสอบโดยใช้ความสามารถ ไม่ใช้เส้นสายหรือสืบทางสายโลหิตเหมือนสมัยก่อน ระบบราชการที่ญี่ปุ่นเข้มแข็งมีความสามารถ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายของประเทศ และระบบการศึกษาก็เข้มแข็งบังคับให้เด็กทุกบ้านต้องเรียนหนังสือทุกบ้านต้องมีคนรู้หนังสือ

ไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นนั้น ผู้นำจึงตระหนักว่าทำอย่างไรให้คนในญี่ปุ่นหันมาจงรักภักดีก็คือสร้างความชอบธรรมให้รัฐ ข้อแรกต้องจัดให้มีสภาให้ประชาชนมาอภิปรายได้อย่างทั่วถึง เพราะญี่ปุ่นเคยล้มเพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง

“มีความเห็นที่เป็นคำพูดขอปัญญาชนญี่ปุ่น ถึงแม้จะพูดเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว แต่ผมคิดว่ายังใช้ได้อยู่ ก็คือ เรามักจะพูดกันว่า ประชาธิปไตยมันเป็นของตะวันตกประเทศอย่างเอเชียเอามาใช้ไม่ได้หรอก ซึ่งในความคิดเห็นของประชาชนญี่ปุ่นที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของประชาชน พูดไว้ว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเรื่องของตะวันตกหรือตะวันออกมันเป็นสิ่งซึ่งของมนุษยชาติ’ แต่ผมก็ยังไม่มีคำพูดเปรียบเปรยอะไรดีเท่ากับบทบรรณาธิการในหนังสือของปัญญาชนญี่ปุ่น เราศึกษาฟิสิกส์ จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ หรือศาสตร์อื่นๆนั้น ไม่ใช่เพราะว่าประเทศตะวันตกเป็นผู้ค้นพบมันแต่เพราะว่ามันเป็นความจริงที่เป็นสากล เราจะตั้งรัฐบาลที่มีรัฐธรรมนูญในประเทศของเราไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นรูปแบบการปกครองที่มีแบบตะวันตก แต่เพราะว่ามันสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ที่เราใช้รถไฟ เรือกลไฟ สิ่งต่างๆไม่ใช่เพราะว่ามันใช้ในประเทศตะวันตกแต่เพราะว่ามันเป็นประโยชน์ต่อเรา” ไชยวัฒน์ กล่าว

“พูดง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยมันไม่ใช่เรื่องของประเทศตะวันตกเท่านั้นที่ผูกขาดแล้วประเทศอื่นที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบตะวันตกจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ พิสูจน์แล้วว่าปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ของโลกเป็นประชาธิปไตยมากกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดคืออินโดนีเซียก็เป็นประชาธิปไตย ฟิลิปปินส์เป็นคาทอลิก หรือพม่าเป็นพุทธก็เป็นประชาธิปไตย อินเดียนับถือฮินดูก็เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นมันไม่มี ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คือไม่เป็น ถ้าเป็นก็ตามหลักการที่เขายึดกัน” ไชยวัฒน์ กล่าว

 

ไชยันต์ รัชชกูล ฝ่ามายาคติไทยเสียดินแดน-ชี้รัฐไทยสมัยใหม่ก่อรูปจากการสร้างอาณานิคมภายใน

ไชยันต์ รัชชกูล นำเสนอว่า ประการแรก ในประวัติศาสตร์ไทย มักพูดอย่างหนึ่ง แต่มีความหมายอย่างหนึ่ง ประการที่สอง สิ่งที่อาจารย์ลิขิตนำเสนอ เป็นการมองประเทศไทยในแง่มุมจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการศึกษารูปแบบการก่อรูปรัฐไทย ประการที่สาม ปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ของประวัติศาสตร์ไทย และเสนอว่าน่าจะข้ามลักษณะประวัติศาสตร์นิพนธ์นี้ได้อย่างไร

ไชยันต์ รัชชกูลเสนอว่าต้องข้ามลักษณะของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเรื่องการเสียดินแดน ทั้งนี้สมัยก่อนไม่มีประเทศไทย ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปลายรัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่มีประเทศไทยในความหมายที่เป็นรัฐสมัยใหม่ ที่ว่าไทยเสียดินแดนนั้น ที่จริงก่อนหน้านั้นสยามไม่มีอำนาจเหนือดินแดนตรงนั้นเลย ตรงกันข้ามจริงๆ รัฐไทยก่อนยุครัฐสมัยใหม่ เริ่มต้นที่นครสวรรค์ กรุงเทพฯ ลงไปประมาณสงขลา แต่กระนั้นยังไม่เท่าไหร่ กรุงเทพฯ ยังต้องพึ่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคุมสงขลาอีกที อำนาจของรัฐไทยในสมัยนั้นยังไม่ถึงเชียงใหม่ ยังไม่ถึงเมืองแพร่ ยังไม่ถึงเมืองน่าน ยังไม่ต้องพูดถึงแม่ฮ่องสอนนะครับ ในภาคอีสานยังไม่ถึงนครพนม ยังไม่ถึงอุบลราชธานีด้วยซ้ำ ถ้าเกิดรัฐไทยจะมีอำนาจแค่ไหน อย่างเก่งก็แค่โคราช

เพราะฉะนั้นการสร้างรัฐไทยคืออะไร ก็คือการขยายอำนาจรัฐจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค ก็คือไปยังเชียงใหม่ ไปยังแพร่ น่าน ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายจากสงขลาไปยันกับดินแดนของอังกฤษ ที่หัวเมืองปัตตานีทั้ง 7 ที่เป็นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งลักษณะพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ที่พอจะลากได้เป็นประเทศไทย ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นแบบนี้นานแล้วตั้งแต่สมัยโชกุนโตกุกาวะ คือประเทศไทยเพิ่งเกิดเป็นประเทศสมัยตั้งมณฑลเทศาภิบาล และมายกเลิกไปในสมัยสิ้นสุดการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ

การเลิกมณฑลหมายความว่า กรุงเทพฯ สามารถที่จะสั่งการ หรือปกครองไปได้ในระดับจังหวัดโดยตรง แต่กระทั่งปัจจุบัน กรุงเทพฯ หรืออำนาจส่วนกลางไปได้ถึงระดับอำเภอเท่านั้น

ประเด็นก็คือไม่จริงเลยคือ ประการแรก เรื่องประเทศไทยเคยมีขอบเขตกว้างขวางไปกินที่โน่นที่นี่ เป็นมโนจัดๆ ทำให้เวลาเกิดการก่อรูปรัฐในที่อื่น ที่ลาว มลายา หรือพม่าตอนเหนือเราก็ไปคิดว่าเขามาเอาดินแดนเราไปซึ่งไม่ใช่

ประการที่สอง เรื่องการคุกคามของชาติตะวันตก เราบอกว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะมาครองเรา อังกฤษมาทางซ้าย ฝรั่งเศสมาทางขวา เราไปศึกษาได้นะครับในภาคอีสานไม่มีร่องรอยของอิทธิพลฝรั่งเศสเลย ฝรั่งเศสมีอำนาจจริงๆ อยู่ตอนเหนือของเวียดนามเท่านั้น ลาวและเขมรเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสเท่านั้น ไม่ได้ถูกทำให้เป็นอาณานิคมเหมือนเวียดนาม ฝรั่งเศสไม่ได้มาอีสาน และอังกฤษก็ไม่ได้มาทางเมืองกาญจน์นะครับ แต่อังกฤษมาผ่ากลางกรุงเทพฯ เลย เพื่อร่วมมือกับกรุงเทพฯ ทำให้ภาคเหนือเป็นอาณานิคม

ไปดูได้พิพิธภัณฑ์ที่เชียงใหม่มีการเก็บเหรียญสกุลรูปีซึ่งเคยมีใช้ในทางเหนือ รุ่นพ่อรุ่นแม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยายังมีเหรียญรูปีใช้ ซึ่งติดมาจากพม่าตอนบน และเข้ามาค้าขาย มันจึงไม่จริงที่บอกว่าฝรั่งเศสและอังกฤษจะแยกเมืองไทยเป็นสองส่วนเจ้าพระยาคั่นกลาง ถ้าเป็นแบบนั้นแถวพรานนกจะเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ท่าพระจันทร์จะเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสอย่างนั้นหรือ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้นเลย

เพราะฉะนั้นต้องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ เกี่ยวกับเรื่องว่ารัฐไทยจริงๆ แล้วเป็นรัฐอาณานิคมที่ขยายจากกรุงเทพฯ ไปยังส่วนต่างๆ เหนือนครสวรรค์ แล้วไปทางขวาของโคราช และไปทางใต้ของสงขลา โดยร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอังกฤษในการขยายอิทธิพลไปในภาคเหนือ และทำเองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่ของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยกันใหม่ สิ่งที่จะต้องสู้กันก็คือ สู้กับ 'สามย่าน's School of thought'ที่สอนว่าเราเสียดินแดน เมืองไทยต้องใช้ความสามารถทางการทูตเอาอังกฤษไปชนฝรั่งเศส เอาฝรั่งเศสไปชนอังกฤษ

สรุปคืออาจารย์ลิขิตมีคุณูปการมากที่ศึกษารัฐไทย ในเชิงที่เอาญี่ปุ่นมาวิจารณ์ไทย ซึ่งเป็นสิ่งค้นพบสำคัญ แต่งานของอาจารย์ลิขิตนักประวัติศาสตร์อาจมองข้ามม แต่อาจเป็นที่สนใจของนักรัฐศาสตร์ ทีนี้นักรัฐศาสตร์เถียงกับนักประวัติศาสตร์สู้ไม่ค่อยได้เพราะข้อมูลน้อย ก็ยังมีคนวิจารณ์ว่านักรัฐศาสตร์ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็จบ นอกจากนี้สำหรับนักรัฐศาสตร์ สองอย่างที่จะช่วยพลิกความคิดเราได้คือ หนึ่ง ประวัติศาสตร์ไทย และสอง การศึกษาเรื่องก่อรูปทางสังคม ซึ่งเป็นงานทางสังคมวิทยา จะทำให้เราพลิกใหม่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐสมัยใหม่ของไทย ซึ่งมีความหมายต่อรัฐไทยในสมัยปัจจุบันมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเลิกจ้างผู้นำแรงงานภายใต้รัฐบาลทหาร: ความมั่นคงของรัฐสวนทางกับความมั่นคงของแรงงาน

$
0
0

 


การปกครองประเทศด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ได้อ้างประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศที่จะส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ  ในขณะเดียวกันก็ป้องกัน ปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้การกำลังทหารข่มขู่ คุกคาม จับกุมนักกิจกรรม ประชาชนที่ต้านรัฐประหาร ในลักษณะไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายศาล ไม่ให้สิทธิในการพบญาติ ทนายความ ไม่แจ้งที่จับกุมคุมขัง ไปจนถึงการซ้อมทรมานผู้ต้องหาบางราย บังคับให้สารภาพ ด้วยกฎหมายความมั่นคงต่างๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งยังออกกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะปี 2558 ดังเห็นได้จากคดีทางการเมืองต่อไปนี้ (รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557, 30 เม.ย.59. เว็บไซด์ iLaw, http://freedom.ilaw.or.th/politically-charged)

• ข้อกล่าวหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 68 ราย

• ข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จำนวน 85 ราย  

• ข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม สืบเนื่องจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง จำนวน 77 ราย

• ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 47 ราย

• ข้อหาไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/255 จำนวน 12 ราย

• ข้อหาอื่นๆ ที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จำนวน 11 ราย   

มาถึง ณ จุดนี้ เราไม่สามารถพึ่งพาและไว้วางใจระบบยุติธรรมไทยที่อยู่ในโครงสร้างระบบราชการและ และนี่อาจสามารถส่งผลต่อระบบกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องแรงงาน ที่ ณ ปัจจุบันนี้มีการเลิกจ้างและว่างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถสรุปสถานการณ์ได้ดังนี้


การเลิกจ้าง การว่างงานภายใต้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

การว่างงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (เดือนเมษายนพ.ศ. 2559) ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2559  มีกําลังแรงงานประมาณ 38.02 ล้านคน เป็นผู้มีงานทํา 37.23 ล้านคน และผู้รอฤดูกาล 3.97 แสนคน  ว่างงาน 3.96 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 โดยมีผู้ว่างงานที่สําเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.66 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8.1 หมื่นคน  มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 8.0 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.1 หมื่นคน  และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาอีก 2.6 หมื่นคน

ย้อนไปเดือนเดียวกันของปี 58 มีกําลังแรงงานประมาณ 38.28 ล้านคน มีผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน ว่างงาน 3.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 โดยมีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน1.39 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.1 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.4 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1 หมื่นคน

ส่วนของแนวโน้มการว่างงานจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการว่างงานผู้มีงานทำภาคเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงสถานะปกติ ด้านแนวโน้มการเลิกจ้างจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการแจ้งและตรวจพบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แสดงสถานะปกติ

การจ้างงาน ในเดือนเมษายน 2559 มีการจ้างงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,338,067 คน มีอัตราการขยายตัว 2.78% (YoY)  (ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน http://nlic.mol.go.th/th/index ) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,058,715 คนแสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้น 279,352 คน   กล่าวคือ ภาพรวมในตลาดแรงงานอยู่ในภาวะปกติ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในรูปแบบดัชนีผสม 13 ตัว ส่งสัญญาณชี้นำตลาดแรงงานด้านการจ้างงานในสภาพปกติอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (ถ้าดัชนีไม่เกิน 5 ตัวจะแสดงภาวะปกติ ซึ่งมีเพียงดัชนีเดียวคือ มูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัว)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ด้านแรงงาน โดยให้มีการรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน รวมถึงจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาและสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงทีต่อไป

จากการวิเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า เศรษฐกิจแรงงานที่รัฐบอกว่าอยู่ในสภาวะปกติ ภายใต้บรรยากาศการเมืองการปกครองที่ไม่ปกตินี้ แท้จริงคือ ปัญหาความไม่ยุติธรรม ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำไม่ทั่วถึง เมื่อเข้าไปดูว่าทำไมอัตราการว่างงานในไทยต่ำกว่า 1% มาโดยตลอด หรือประมาณ 2 แสนกว่าคน ก็พบว่า การทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ถือว่ามีงานทำแล้ว

กล่าวคือ เราเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ (21.41 ล้านคนในกลางปี 2558) เช่น รับจ้างทั่วไป ขับแท็กซี่ มอไซด์รับจ้าง หาบเร่ ในภาคเกษตรก็อีกจำนวนมาก ที่สวัสดิการต่ำไม่มีประกันการว่างงานเหมือนแรงงานในระบบอุตสาหกรรม หรือในระบบประกันสังคม(16.91 ล้านคนในกลางปี 2558 จากศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ  http://nlic.mol.go.th/th/index ) แต่แรงงานนอกระบบเมื่อทำงานในไร่แห่งหนึ่งเสร็จก็ต้องรีบไปหางานทำต่อ รับจ้างทั่วไป ซึ่งคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบยังต่ำ แม้จะมีงานทำ แต่เป็นงานที่ค่าจ้างและสวัสดิการน้อย ขาดความมั่นคง  (อัตราการว่างงานในไทย 0.6% ต่ำแบบเหลวไหลสิ้นดีเลย. 2 ก.พ.57.  จากเว็บไซด์บลูมเบิร์ก http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-02-02/thailand-s-unemployment-rate-is-a-ridiculously-low-0-6-here-s-why) ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาของแรงงานนอกระบบ และสร้างงานให้มีคุณภาพ มีระบบสวัสดิการค่าจ้างที่สูงขึ้น ทั้งยังนำเสนอตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำๆ แบบนี้ต่อไป คงเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเศรษฐกิจเรายังดี ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ใช้แรงงานประสบปัญหาคุณภาพชีวิตต่ำ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานมีรายงานสถานการณ์การจ้างงานเลิกจ้างและว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมรายอุตสาหกรรม ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า สถานการณ์การเลิกจ้างของเดือน ก.พ. 59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 58 มีการขยายตัวในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ทั้งนี้มาจากการลดกำลังการผลิตและมีการย้ายฐานการผลิต ที่ทำให้ส่งออกลดต่ำลง ซึ่งการเลิกจ้างมาจากหลายสาเหตุ เช่น บริษัทเลิกกิจการ ปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ยุบแผนก เปลี่ยนมาจ้างแรงงานเหมาช่วง รับงานไปทำที่บ้าน ทำลายสหภาพแรงงาน เป็นต้น  ซึ่งผู้เขียนจะยกกรณีปัญหาการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในเชิงลึก เพื่อให้เห็นถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติไม่เป็นประชาธิปไตย


การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อทำลายอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงาน: กรณีประธานสหภาพแรงงานซูซูกิมอเตอร์และสหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟ

ความยากลำบากของคนงานที่ต่อสู้กับนายทุนดังเช่นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานซูซูกิมอเตอร์ จ.ระยอง ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  เริ่มจากการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน จำนวน 9 คนในปลายเดือนธันวาคม 2556 จากนั้นไม่นาน ก็เลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานอีก 1 คน  ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และศาลแรงงานกลาง ได้มีคำสั่งและคำพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิม แต่นายจ้างมิได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด  และล่าสุดในเดือนเมษายนปี 2559 นายจ้างได้ขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานคนปัจจุบัน คือ นายรุ่งทิวา นาคำ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างด้วย ในข้อหาที่ไร้เหตุผล เช่นเดียวกับข้อหาที่ใช้เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟ จ.ชลบุรี และเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย นายบุญยืน สุขใหม่ คือ ทำงานด้อยประสิทธิภาพ โดยนับวันลางานที่ค่อนข้างมาก โดยเอาวันลาทุกประเภทมารวมเข้าด้วยกัน เช่น วันลาหยุดพักผ่อนประจำปี วันลาป่วย วันลากิจประชุมตามที่ราชการกำหนด หรือกิจพิเศษอื่นๆ  ทั้งยังคิดเป็นชั่วโมง แต่สิ่งที่พบ คือ ไม่มีการนำประเด็นการประเมินการปฏิบัติงานในวันที่มาทำงานว่า ทำงานบรรลุตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายหรือไม่เพียงใด

นอกจากนี้ กรณีรุ่งทิวา นาคำ ยังมีข้อหาทำให้ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เสียหายจากการเฉื่อยงานไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ตามเป้า มีมูลค่าถึง 270 กว่าล้านบาท ในคำร้องต่อศาลแรงงานทำให้ทราบว่าบริษัทผลิตรถยนต์ได้วันละ 170-200 คัน/วันหรือเฉลี่ย 20 คัน/ชั่วโมง แต่ประธานสหภาพแรงงานถูกกล่าวหาว่า ทำให้การผลิตลดลงไปเหลือเฉลี่ย 12 คัน/ชั่วโมงในช่วงเวลาสิบกว่าวันของเดือน ธ.ค.58  คนงานจำนวนหนึ่งทำให้เสียหายเป็นมูลค่าเกือบสามร้อยล้าน จำนวนรถตกค้าง 600 กว่าคัน ทว่าเหลือประธานสหภาพแรงงานเพียงคนเดียวที่ยืนยันคัดค้านข้อกล่าวหานี้  นี่คือการต่อสู้กับทุนในชีวิตประจำวันเข้มข้นและสาหัสไม่ต่างจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ย่ำแย่ของการต่อสู้ระดับนี้ คือ ต้องแลกกับความอดอยาก ไม่มีเงินไม่มีงานเกิดปัญหาครอบครัวตามมา จนเป็นเหตุให้อดีตคนงานซูซูกิที่ถูกเลิกจ้างรายหนึ่งกระทำอัตวิบากกรรมจากการตกอยู่ในสภาพหดหู่สิ้นหวัง 

วิธีการบั่นทอนอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานซูซูกิมอเตอร์ในช่วงระหว่างการเจรจายื่นข้อเรียกร้องที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ว่า ห้ามนายจ้างแทรกแซงใดๆ ในระหว่างที่การยื่นข้อเรียกร้องและเจรจา ถึงแม้หลายคนอาจจะมองว่า กฏหมายให้ความคุ้มครองลูกจ้างและผู้แทนลูกจ้าง ถ้านายจ้างมีการฝ่าฝืนกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้าง ก็จะมีโทษทางอาญา  แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างก็หลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อให้พนักงานลงชื่อเพื่อถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้อง โดยอ้างว่า ถ้าไม่ถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้องก็จะไม่จ่ายโบนัสให้  ทำให้พนักงานส่วนใหญ่เกิดความหวาดวิตกที่จะไม่ได้รับโบนัส จึงยอมลงลายมือชื่อเพื่อถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้อง ทำให้อำนาจการต่อรองของผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้างลดลงและต้องยอมทำข้อตกลงสภาพการจ้างไม่ป็นไปตามที่ทุกคนคาดหวังไว้ และหลังจากนั้นก็เลิกจ้างผู้แทนเจรจาและแกนนำสหภาพฯ จำนวนหนึ่งในข้อหายุยงปลุกปั่นให้คนงานหยุดงานกว่า 400 คน (ข้อหานี้คล้ายคลึงกับข้อหาทางการเมืองยั่วยุ ปลุกปั่น ในประมวลกฎหมายอาญา ม.116) ให้เกิดกระแสความไม่พอใจกับประกาศจ่ายโบนัสปลายปี 56 ที่คนงานคาดหวังกับโบนัสเป็นอย่างมาก เนื่องจากเงินเดือนที่ได้รับต่ำหากเทียบกับรถยนต์ยี่ห้ออื่น เช่น โตโยต้า ฮอนด้า จึงเป็นที่มาของการตั้งสหภาพแรงงานและได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้าง มีกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาบริหารงานหลังจากชุดที่ถูกเลิกจ้าง 

ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้นายจ้างซูซูกิรับแกนนำสหภาพแรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างเดิม พร้อมจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน และศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ยืนตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แต่นายจ้างยังคงเพิกเฉย 

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 สหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องประจำปี และมีการเจรจาข้อเรียกร้องต่อเนื่องกันจนสามารถทำข้อตกลงได้ในปลายเดือนธันวาคม 2558 หลังจากการเจรจาข้อเรียกร้องยุติ ในวันที่ 5 มกราคม 2559 ประธานสหภาพแรงงานและกรรมการอื่น รวม 2  คน ได้ถูกกล่าวหาว่าเฉื่อยงานและลดตำแหน่งงานลงจาก Leader เป็น Operator 2 และให้ย้ายหน้าที่จากแผนก Press Welding ซึ่งเป็นไลน์การเชื่อมและประกอบตัวถังรถยนต์ ไปทำงานในไลน์การผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งแตกต่างจากหน้าที่เดิมที่เคยปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ต่อมาในเดือนมีนาคม 2559 ได้หนังสือสั่งพักงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ให้อยู่ข้างนอกห้ามเข้าโรงงานแต่ได้รับเงินเดือนปกติ  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของกรรมการลูกจ้างโดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงาน (คล้ายคลึงคำสั่ง ม.44 พักงานข้าราชการที่ไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาล) และต่อมาในเดือนเมษายน 2559 ประธานสหภาพแรงงานซูซูกิ มอเตอร์ฯ ถูกนายจ้างขออนุญาตศาลเลิกจ้าง

ประธานสหภาพแรงงานซูซูกิ มอเตอร์ฯ ถูกลงโทษถึงสามครั้งจากการกระทำเพียงครั้งเดียวที่บริษัทฯ กล่าวอ้างว่าเฉื่อยงาน  คือ 1) ถูกลดตำแหน่ง 2) ถูกย้ายงาน  3) ถูกพักงานชั่วคราว ซึ่งหลังจากนั้น นายจ้างก็ได้ขอนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาอีก 4 ข้อ ซึ่งโดยรวมคือ ปฏิบัติตนไม่สมกับการเป็นลูกจ้างที่ดีทั้งต่อต้านคัดค้านนายจ้างเรื่องโยกย้ายตำแหน่งงาน และนี่จึงสามารถกล่าวได้ว่า นายจ้างทำทุกอย่างที่เป็นการเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน นายจ้างพยายามเชื่อมโยงการเฉื่อยงานของแกนนำสหภาพแรงงานกับการเจรจาต่อรองในช่วงเวลาเดียวกัน 

จากการที่กระทรวงแรงงานบอกว่าจะเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิดทุกเดือน ในกรณีเช่นนี้รวมถึงกรณีเลิกจ้างที่นายจ้างละเมิดกฎหมาย ได้ดำเนินการปกป้องสิทธิของพวกเขาแล้วหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตได้ว่า นายจ้างญี่ปุ่น ซูซูกิ มอเตอร์ฯ ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันกับบริษัท ไอทีฟอร์จิ้ง หรือไม่ เนื่องจากข้อกล่าวหาประธานสหภาพแรงงานทั้งสองคล้ายคลึงกัน คือ ด้อยประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยใช้อัตราการมาทำงานนับวันลางาน ที่มีจำนวนมากในช่วงเวลาหนึ่งของบุญยืน สุขใหม่ กับรุ่งทิวา นาคำ กรณีของบุญยืน สุขใหม่ นายจ้างได้ทำสถิติวันลาย้อนหลังสามปีติดต่อกัน แต่เป็นการลาที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว แต่นายจ้างยังยืนยันว่าเป็นการลาที่ไม่สุจริต ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท สิ่งที่น่าสังเกต คือ นายจ้างไม่เอ่ยถึงการปฏิบัติงานในวันทำงานที่เหลือจำนวนกว่าร้อยวันนายจ้างใช้ตัวเลขสถิติการลาที่หายไป ซึ่งจากข้อเท็จจริงนั้น ในวันลาต่างๆ ที่รวมกัน มีทั้งวันลาพักร้อน ลากิจประชุมตามที่ราชการกำหนด ลาป่วย

ซึ่งหากแยกการลาแต่ละประเภทออกจากกันแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีความแตกต่างจากพนักงานอื่นๆ แต่อย่างใด แต่นายจ้างเองพยายามที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่ามีสถิติการลาที่สูงผิดปกติ  อาจมองได้อีกแง่หนึ่งว่าเป็นการชี้นำศาลหรือไม่?

และประเด็นที่เหมือนกันอีก คือ นายจ้างทั้งสองบริษัทใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 6 มาตรา 583 ในการขอเลิกจ้าง ซึ่งระบุว่า ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอันร้ายแรงก็ดีหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้  ที่ผู้นำแรงงานทั้งสองท่านจะต้องต่อสู้คดีในศาลต่อไป


กลไกคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานด้อยประสิทธิภาพ

ไม่เพียงแต่กรณีปัญหาของประธานสหภาพแรงงานสองแห่งนี้เท่านั้น ยังมีการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานอื่นๆ ในเขตจังหวัดระยอง ชลบุรี หรือปราจีนบุรี ที่ประสบความลำบากในการรณรงค์ปัญหาการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้าง เนื่องจากกลไกการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานทำงานไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้า ทั้งมีการเรียกตัวผู้นำแรงงาน เช่น นายบุญยืน สุขใหม่ไปปรับทัศนคติในค่ายทหารในช่วงของการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาข้อเรียกร้องให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรมของสหภาพแรงงานต่างๆ เช่น ในจังหวัดปราจีนบุรี และถูกกล่าวหาว่าทำลายบรรยากาศการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาล คสช.พยายามส่งเสริมการลงทุนจากการที่ภาวะการลงทุนจากต่างประเทศถดถอยลง และกำลังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน การต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานจึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าพึงประสงค์ของฝ่ายรัฐและทุน

จากสถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองที่กล่าวมา รัฐบาลทหารจริงใจแก้ไขปัญหาหรือไม่ในขณะที่ยังคงใช้มาตรการปราบปราม คุกคาม ระงับกิจกรรมของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน การออกกฎหมายต่างๆ รวมถึงการจัดทำแผนการปฏิรูป สร้างความปรองดอง ในความเป็นจริงเป็นไปเพื่อคนชั้นนำเท่านั้น ในขณะที่ชีวิตของแรงงานของประชาชนระดับล่างยังขาดหลักประกันที่มั่นคง ไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อใด และอาจมีการฉวยโอกาสเลิกจ้างในสภาวะที่กลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของรัฐทำงานด้อยประสิทธิภาพ  อีกทั้งไม่ให้พื้นที่การแสดงออกให้แก่ประชาชน หากออกมารณรงค์เรียกร้องเมื่อไหร่ ก็จะต้องเผชิญหน้ากับกฎหมายเผด็จการเพื่อความมั่นคงของรัฐที่มักขัดกับความมั่นคงของแรงงาน  ท้ายสุดความมั่นคงของรัฐคือการปกป้องผลประโยชน์ของทุน ใช่หรือไม่ท่านประยุทธ์

0000
 

 

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลจากบุญยืน สุขใหม่ และรุ่งทิวา นาคำ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเรียก 2 แกนนำแดง จ.พะเยา เข้าค่ายคุยสั่งห้ามเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

$
0
0

15 มิ.ย.2559 ความคืบหน้ากรณีการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งวานนี้ (14 มิ.ย.59) เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี  ลำปาง ได้เข้าปลดป้ายศูนย์ดังกล่าวที่ร้านค้าซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ใกล้แยกศรีชุมด้านในเทศบาลนครลำปาง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)นั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานด้วยว่า วานนี้ (14 มิ.ย.59) เจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 34 ได้ติดต่อเรียกตัวสองแกนนำเสื้อแดงใน จ.พะเยา ได้แก่ ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา และทองอุ่น มะลิทอง มาพูดคุยภายในค่ายขุนเจืองธรรมิกราช ในประเด็นการก่อตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยทหารระบุห้ามเปิดศูนย์ดังกล่าวในพื้นที่

ศิริวัฒน์ ระบุว่าเช้านี้ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อเขากับนายทองอุ่นให้เข้าไปพูดคุยเรื่องการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ภายในค่ายขุนเจืองธรรมิกราช โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) เขาได้เดินทางไปร่วมพูดคุยกับทางกลุ่มนปช.ที่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อเตรียมที่จะเปิดศูนย์ปราบโกงฯ พร้อมกับ นปช.ส่วนกลางในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารจับตาความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก่อนมีการเรียกตัวมาพูดคุย

ในการพูดคุยมีทาง พ.อ.ทินชาติ สุทธิรักษ์ เจ้าหน้าที่หัวหน้าฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 34 ร่วมกับนายทหารอีกจำนวนหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่พูดคุยกับสองแกนนำคนเสื้อแดงว่าการเปิดศูนย์ดังกล่าวไม่ได้มีกฎหมายรองรับ และในการดูแลเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีองค์กรที่รับผิดชอบอยู่แล้ว การเปิดศูนย์ฯ ในลักษณะนี้จะเป็นการสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ทางเจ้าหน้าที่จึงไม่อนุญาตให้เปิดศูนย์ดังกล่าวในพื้นที่

ศิริวัฒน์ระบุว่าตนได้พยายามสอบถามว่าการเปิดศูนย์ปราบโกงนั้นผิดกฎหมายในส่วนไหน อย่างไรบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ ทำให้ตนพยายามยืนยันว่าถ้าไม่ผิดกฎหมายใดๆ ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะทำได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่อนุญาตให้มีการเปิดศูนย์ปราบโกงได้ เพราะเกรงจะเป็นการแอบแฝงการเคลื่อนไหวทางการเมือง

การพูดคุยใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงได้มีการเชิญตัวแกนนำเสื้อแดงทั้งสองคนไปที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา เพื่อพูดคุยกับส่วนของปลัดจังหวัดพะเยา ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการลงประชามติ ซึ่งได้มีการพูดคุยขอความร่วมมือไม่ให้มีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในพื้นที่จังหวัดพะเยาเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหาร

ศิริวัฒน์ ระบุว่าเจตนาของการเปิดศูนย์ปราบโกงมีสองประเด็น คือการร่วมกันเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการร่วมกันสอดส่องดูแลการลงประชามติให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ให้มีการโกงเกิดขึ้น โดยการดำเนินการทั้งหมดไม่ได้มีเรื่องซึ่งผิดกฎหมายที่เป็นอยู่แต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมีการห้ามเปิดศูนย์ดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live