Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live

PerMAS จัดวันมนุษยธรรมปาตานี ย้ำพลเรือนต้องได้รับการคุ้มครอง

$
0
0

 

3 ก.พ.2562 สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS รายงานว่า วันนี้ PerMAS จัดกิจกรรมเนื่องในวันมนุษยธรรมปาตานี รณรงค์แอคชั่นทั้งที่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ กรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งนักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม

ปีนี้ ธีมของ PerMAS คือ " Respect Patani = Respect everyone"เคารพปาตานี = เคารพมนุษย์ทุกคน เพื่อเคารพในความเป็นมนุษย์ เเม้จะเป็นในสภาวะสงครามก็ตามเเต่ เเต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครอง เเละยกเว้นในสภาวะสงคราม พลเรือนปาตานีไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด ต้องได้รับการคุ้มครอง เเละ ยกเว้นจากการทำสงครามและให้คู่สงครามเคารพหลักกฏหมายมนุษยธรรม และปฎิบัติตามกฏกติกาสงครามในการทำสงคราม เพื่อหลีกเลี่ยงพลเรือนที่เป็นเป้าหมายอ่อนเเอ

ซูลกิฟลี มะนาวี ผู้อำนวยการกิจการรณรงค์กิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า การเคารพความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ความเสมอภาคในความเป็นชนชาติ เป็นสิ่งสำคัญ ที่มนุษย์ทุกคนพึ่งจะได้รับสิทธิเหล่านั้น

สำหรับวันมนุษยธรรมปาตานี ที่ PerMAS จัดกิจกรรมนั้นซึ่งทุกๆ จะมีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรม เช่น เรื่องความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สินในสภาวะสงคราม เเละรณรงค์ให้คู่สงครามเคารพหลักกมนุษยธรรม และปฎิบัติตามกฏกติกาสงครามในการทำสงคราม เพื่อหลีกเลี่ยงพลเรือนที่เป็นเป้าหมายอ่อนเเอ

แถลงจัดกิจกรรมของ PerMAS ยังระบุด้วยว่า หลักกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือ กฏกติกาสงคราม (International Humanitarian Law) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการจำกัดขอบเขตความรุนแรงจากการทำสงครามของคู่ขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม รวมทั้งสถานที่ต่างๆ ที่ต้องยกเว้นจากการปฏิบัติการทางการทหาร เช่น สถานที่ประกอบศาสนากิจ มัสยิด วัด โบสถ์ และศาลเจ้า สถานที่ศึกษา ศูนย์การศึกษาชุมชน (ตาดีกา) โรงเรียน ปอเนอะมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเป็นต้น เพื่อให้คู่สงครามจะตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตพลเรือนที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการปฏิบัติการทางการทหาร เพราะการเคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการแสวงหาแนวทางเพื่อยุติสงครามด้วยแนวทางทางการเมือง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: ท.ทหารแพ้ฝุ่น

$
0
0

ท่านผู้นำฉุนเฉียว ถูกหาว่าไม่เอาใจใส่ รัฐบาล ไม่เข้มงวดจริงจัง ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เด็กจะไอเป็นเลือดอยู่แล้ว ก็มาด่ารัฐบาล ทั้งที่ประชาชนต้องร่วมมือกัน ต้องเสียสละ มีจิตสำนึก เดี๋ยวถ้ายังแก้ไม่ได้ จะสั่งใช้รถวันคู่วันคี่ ห้ามรถดีเซลวิ่ง ห้ามขับรถคนเดียว ขึ้นแท็กซี่ก็ต้อง 2-3 คน โทษฐานที่ด่าท่านดีนัก

หลังจากท่านยัวะ ก็กดปุ่มสั่งการ อย่างที่สื่อพาดหัว “ประกาศสงครามฝุ่น” ทุกหน่วยงานขมีขมัน ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ระดมโดรนฉีดน้ำทั่วน่านฟ้า กระทรวงศึกษาฯสั่งปิดโรงเรียนทันควัน ให้เด็กกลับบ้านตั้งแต่เที่ยง

แหม่ ทำยังกะเพิ่งตื่นรู้ว่ามีฝุ่น ตื่นแล้วก็ตูม ทำไมไม่สั่งปิดโรงเรียนเสียตั้งแต่กลางคืน หรือปิดวันรุ่งขึ้น ให้เด็กกลับบ้านตามปกติก็ได้ นี่พ่อแม่ต้องวิ่งวุ่นไปรับลูกก่อนเวลา

ทำให้คนระอาเข้าไปอีก นี่แหละราชการไทย นายกฯ ไม่เต้นก็คงไม่ทำอะไร นอกจากจัดงานอีเวนต์ ให้ท่าน ผอ.มาเป็นประธานฉีดน้ำ

ว่าตามเนื้อผ้า ก็น่าเห็นใจท่านผู้นำ ปัญหา PM2.5 รัฐบาลเทวดาก็ไม่สามารถแก้ทันควัน เพราะต้องใช้ทั้งมาตรการบรรเทาระยะสั้น และแก้ปัญหาระยะยาว แต่สิ่งที่ชาวกรุงอัดอั้น คือท่าทีรัฐบาลเหมือนไม่เข้าใจหัวอกประชาชน ที่กลัดกลุ้มกังวลจะเป็นบ้าเป็นหลัง ดารานักร้องโพสต์ใส่หน้ากาก อากาศเป็นพิษไม่เหมือน ครั้งชัตดาวน์กรุงเทพฯ ตอนนั้นปลอดโปร่งโล่งจังเลย นี่ฝุ่นคลุ้งมา 2 อาทิตย์ ก็ยังไม่มีมาตรการจริงจัง นอกจากจับรถควันดำ กับใช้ทหารฉีดน้ำ ขยันฉีดจนน้ำท่วม ทั้งที่นักวิชาการบอกว่าได้ผลน้อยมาก ก็ยังจะเปิด “ยุทธการใบหยก” ให้กระทรวงกลาโหมนำโดยพี่ป้อม ยึดยอดเนินฉีดละอองน้ำ

มาตรการระยะยาวก็ไม่พูดถึง ปล่อยให้คนฟัง Good Monday แล้วค่อยประกาศส่งเสริมรถ EV ป่านฉะนี้ ฝุ่นพิษเกิดจากอะไร จะแก้แบบไหนให้ถูกหลัก กทม.ก็เพิ่งเชิญนักวิชาการไประดมสมอง หลังจากจะเอากากน้ำตาลผสมน้ำขึ้นไปฉีด แล้วกรมควบคุมมลพิษยังอึ้ง เอาผลวิจัยมาจากไหน

ระบบราชการก็เสียเครดิต ตรวจโรงงานไม่พบมลพิษ ตรวจรถเมล์ไม่พบควันดำ โซเชี่ยลอำกันอื้ออึง

แล้วที่ท่านมองว่าพรรคการเมืองหาเสียงโจมตีรัฐบาล ก็ไม่รู้พรรคไหน เพราะภรรยาโฆษกรัฐบาลโพสต์เอง จะทำอย่างไร ปัญหาเข้าขั้นวิกฤต

ย้ำอีกที ในขณะที่ท่านกำลังจะตอบรับเป็นแคนดิเดต นายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองต้องมี Sense เข้าใจหัวอกชาวบ้าน ถึงจะยังแก้ปัญหา ไม่ได้ ก็ต้องใส่ใจจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้อง สอนสั่ง ขู่ลงโทษประชาชน

การบริหารทุกข์สุขไม่สามารถใช้วิธีคิดวิธีการทำงานตามระบบราชการ หรือระบบทหาร สั่งจากบนลงล่างอย่างที่ท่านเคยชิน เพราะระบบราชการมันห่วย ผู้คนจึงเรียกร้องให้กระจายอำนาจ เพราะระบบทหารมีไว้ทำสงคราม ไม่ได้มีไว้บริหารประเทศ ทหารมีไว้อยู่ชายแดน ใช่เลย ทหารไม่ได้มีไว้อยู่ทำเนียบ

ไม่รู้บ่นทำไม ให้คนเกลียดทหารไปอยู่ชายแดน เอาจริงนะ อยู่ชายแดนยังมีโอกาสตายน้อยกว่ารบกับฝุ่นเมืองกรุง

ทหารมีหน้าที่อยู่ชายแดน ไม่ได้มีหน้าที่รบกับฝุ่น รบกับสิ่งที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญ ยามมีภัยพิบัติ ทุกชาติก็ใช้ทหารเป็นกำลังเสริม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทวงบุญคุณ หรือใช้เป็นข้ออ้างยึดอำนาจ นั่นต่างหาก ที่ทำให้คนไม่ชอบทหาร

อย่ารบกับศัตรูที่ตัวเองไม่ถนัด อย่ารบกับประชาชน มีแต่จะแพ้ย่อยยับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2164393

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: เพื่อสุดท้ายต้องปะทุพุพองไป

$
0
0

ต้องโศกเศร้าสักปานใดในราษฎร์เทวษ
จึงประเทศจะสวยงามตามประสงค์
ต้องเจ็บปวดสักเท่าใดในเจตจำนง
บางสูงส่งจึงจะราบระนาบเดียวกัน

บางสูงส่งที่ใช่ว่ามายาภาพ
หากทาทาบทับบีบบดกดขีดคั่น
จนทางรอดทางไปในทางนั้น
คือสภาพซากศพอันเหลือเวทนา

คือดวงตาพริ้มหลับกับความเจ็บ
เพื่อการเก็บความหลังซ่อนบังหน้า?
เป็นสามัญฆาตกรรมอันต่ำช้า
เพื่อหวังว่าจะกลบฝังสิ่งทั้งปวง?

ความเจ็บปวดเหล่านี้ที่สาหัส
ย่อมขบกัดต่อเวรเป็นโซ่ห่วง
ประวัติศาสตร์ผ่านไปใช่เปล่ากลวง
ฤดูใบไม้ร่วงย่อมผลัดใบ

เพียงกงล้อประวัติศาสตร์อาจเคลื่อนฝืด
ด้วยข้นหนืดเลือดขังแช่แผลหม่นไหม้
เพื่อสุดท้ายต้องปะทุพุพองไป
บ่อนชอนไชรากโสมมล้มอยู่แล้วฯ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: นิติอักษรศาสตร์

$
0
0

มือกฎหมายฝ่าย คสช. บอกแก่นักข่าวว่า การที่รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทหารออกไปก่อตั้ง และเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองซึ่งพยายามจะสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารต่อไป “ไม่ผิดกฎหมาย” ซ้ำยังเปรียบเทียบให้ นักข่าวเห็นอีกว่า เมื่อรัฐบาล (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ยุบสภา รัฐมนตรีที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปเหมือนเดิมได้

ผมเชื่อว่า มือกฎหมายคนนี้คงเป็นรุ่นน้องผมจากคณะอักษรศาสตร์แน่ๆ เพราะกฎหมายของเขามีความหมายตามลายลักษณ์อักษรของตัวบทเท่านั้น

เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยประกาศยุบสภา รัฐบาลนั้นก็กลายเป็นรัฐบาลรักษาการไปทันที (ในบางประเทศมีกฎหมายบังคับ บางประเทศเป็น “ประเพณี” ซึ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่ากฎหมายเสียอีก) กล่าวคือ ไม่ริเริ่มนโยบายใหม่ ไม่ทำอะไรที่จะผูกมัดรัฐบาลต่อไป กำกับให้งานประจำดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุดเท่านั้น

และด้วยเหตุดังนั้น รัฐมนตรีซึ่งจะลงเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพื่อให้งานประจำของรัฐดำเนินต่อไป แต่ไม่สามารถใช้อำนาจทางการเมืองซึ่งมีอยู่ตามตำแหน่งไปเป็นเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองได้

ตัวบทของกฎหมายซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรคือส่วนเดียวของสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” เท่านั้น (คิดถึงคำว่า Law และ law ในภาษาอังกฤษให้ดี) ความหมายที่แท้จริงของกฎหมายยังมีแบบธรรมเนียมซึ่งถือปฏิบัติมานาน และที่สำคัญเหนืออื่นใดคือหลักการบางอย่าง ซึ่งกฎหมายบังคับใช้เพื่อตอบสนองต่อหลักการนั้น และอำนวยให้หลักการนั้นดำรงอยู่อย่างมั่นคงแข็งแรง

หลักการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียม คือหลักการที่ต้องดำรงอยู่อย่างมั่นคงในการเลือกตั้ง รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเปี่ยมควรดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปหรือไม่ เมื่อตัดสินใจลงแข่งขันทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง จะไปค้นหาถ้อยคำวรรคตอนตัวสะกดในกฎหมายเหมือนอ่าน กำศรวลสมุทรไม่ได้ แบบธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาก็ตาม และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลักการความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการเมืองของการเลือกตั้ง หากไม่ต้องการรักษาหลักการข้อนี้ จะจัดเลือกตั้งไปทำไม

แต่เพราะอ่านกฎหมายกันตามแนวอักษรศาสตร์เช่นนี้แหละ ที่ทำให้ 4 รัฐมนตรีซึ่งอาสาไปรวบรวมที่นั่งในสภาหลังการเลือกตั้งเพื่อมาสนับสนุนคณะ คสช.ต่อไป ออกมาแก้ตัวด้วยเหตุผลของเด็กอมมือว่า ตนจะใช้โอกาสนอกเวลาราชการเท่านั้นในการไปดำเนินงานทางการเมือง ประหนึ่งว่าอำนาจทางการเมืองเปิด-ปิด ได้ด้วยเวลาราชการ เหมือนสถานที่ราชการ

บางคนบอกว่าพวกเขาหน้าด้าน ผมไม่ทราบว่าเขาโง่จริงหรือแกล้งโง่ (ที่คิดว่าคนไทยโง่ถึงขนาดเชื่อเหตุผลของเด็กอมมือได้) ก็คนขนาดมือกฎหมายยังอ่านกฎหมายเหมือนกำศรวลสมุทรถึงเพียงนั้น ก็ยากที่จะทำให้พรรคพวกกำกับความโลภความหลงของตนเองให้อยู่ในขอบเขตที่พองามได้ ในเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามลายลักษณ์อักษรของกฎหมายหมดแล้ว

ผมกลับไปเช็กดูว่ามือกฎหมายคนนั้นเป็นรุ่นน้องอักษรศาสตร์ของผมสักกี่รุ่น ปรากฏว่าเขาไม่เคยเป็นศิษย์เก่าของคณะอักษรศาสตร์เลย ผมรู้สึกตระหนกอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะเขาไม่ใช่รุ่นน้องอย่างที่เข้าใจ แต่เพราะกฎหมายในเมืองไทยถูกอ่าน-สอน-เรียน-ใช้-บังคับใช้ หรือแม้แต่พิพากษาด้วยความหมายตามลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวอย่างมากต่างหาก

กฎหมายไทยมี “ปาฏิหาริย์”, “อภินิหาร”, “เล่นกล”, หรือ “ตุลาการภิวัตน์” ได้ ก็เพราะกฎหมายถูกอ่านและใช้อย่างไม่สนใจหลักการซึ่งอยู่เบื้องหลังข้อบังคับเหล่านั้น เพราะลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวกำหนดความหมายให้ตายตัวไม่ได้ เช่นเดียวกับกำศรวลสมุทร อ่านสิบคนก็มีความหมายสิบอย่าง แม้แต่คนเดียวกันอ่านคนละเวลาก็อาจให้ความหมายที่ต่างออกไปได้

หากความหมายของกฎหมายขึ้นอยู่กับการตีความของ “มือ” กฎหมายตามใจชอบเช่นนี้ มือกฎหมายย่อมสามารถสร้างอภินิหารหรือปาฏิหาริย์ของกฎหมายได้ตามใจชอบของตนหรือของ “นาย” ได้เสมอ และความหมายนั้นอาจขัดแย้งกับหลักการและธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างไรก็ได้ ภายใต้ภาวะอย่างหนึ่ง การกระทำอย่างนี้ถือเป็นเสรีภาพ แต่ภายใต้ภาวะอีกอย่างหนึ่ง การกระทำอย่างเดียวกันกลับถูกห้ามปรามและลงโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายจึงไม่แตกต่างจากคำสั่งโจร เพราะไม่มีหลักการใดๆ เพื่อความเจริญผาสุกและก้าวหน้าของสังคมรองรับเลย

อำนาจเถื่อนต่างๆ ที่ใช้ในการฉีกกฎหมายไทยนั้น อาจอ้างว่ากฎหมายนั้นๆ ยังไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญแก่ชาติ แต่หลักการของกฎหมายเหล่านั้น เช่น ความยุติธรรม, ความเป็นธรรม, มนุษยธรรม, และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เล่า ไม่สำคัญและไม่จำเป็นแก่ชาติด้วยหรือ เมื่อกฎหมายถูกฉีก ไม่ใช่เศษกระดาษชิ้นหนึ่งถูกฉีกทิ้ง แต่หลักการที่จำเป็นและขาดไม่ได้ของสังคมมนุษย์ซึ่งอยู่เบื้องหลังกฎหมายนั้น ก็ถูกฉีกทิ้งทำลายไปพร้อมกัน

แม้กระนั้นอำนาจเถื่อนต่างๆ ที่กระทำย่ำยีกฎหมายไทยตลอดมา ก็อาจแสวงหามือกฎหมายมารับใช้ได้ไม่ยากตลอดมาเหมือนกัน ไม่มีมือกฎหมายไทยคนใดรู้สึกตะขิดตะขวงว่า จะร่างกฎหมายใหม่ขึ้นบนหลักการอะไร ภาระของเขาเพียงแต่หาถ้อยคำในภาษาไทยมาทำให้ความต้องการอันไร้หลักการของอำนาจเถื่อนมีหน้าตาเป็นกฎหมายเท่านั้น

กฎหมายจึงกลายเป็นคำสั่งของบุคคล เพื่อประโยชน์ของบุคคล ความหมายของมันถูกกำหนดไว้อย่างแน่ชัดในอักขรวิธี, วจีวิภาค และวากยสัมพันธ์ของตัวบท โดยไม่สัมพันธ์กับหลักการอะไรทั้งสิ้น นอกจากประโยชน์ของบุคคลผู้ถืออำนาจ และนั่นคือเหตุผลที่นักกฎหมายไทยบางคนแยกไม่ออกว่า คำสั่งของโจรกับคำสั่งของรัฐต่างกันอย่างไร

อันที่จริงซ่องโจรกับรัฐนั้นต่างกันนิดเดียว แต่เป็นนิดเดียวที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือในซ่องโจร กฎเกณฑ์และการบังคับใช้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในขณะที่ในรัฐ กฎเกณฑ์และการบังคับใช้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์สาธารณะ

พรรคพวกที่ใกล้ชิดกับหัวหน้าโจร ทำอะไรก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะความหมายของกฎหมายมีอยู่เพียง ในลายลักษณ์อักษรของตัวบทเท่านั้น จึงอาจ “อ่าน” ให้มีความหมายอย่างไรก็ได้ ในทางตรงกันข้าม กลับ “อ่าน” กฎหมายฉบับเดียวกันเพื่อลงโทษคนที่ไม่ใช่พรรคพวกของหัวหน้าโจร หรือเป็นอริกับหัวหน้าโจร

ลายลักษณ์อักษรของตัวบทของกฎหมายในรัฐ อาจเข้าใจได้จากหลักการของความสัมพันธ์สาธารณะ การกระทำใดๆ ที่เป็นภัยในระยะสั้นหรือในระยะยาวแก่ความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อประโยชน์ส่วนรวม ย่อมเป็นความผิดเสมอ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นใครก็ตาม และไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจใกล้ชิดสักเพียงไรก็ตาม

อันที่จริง แม้แต่ความแตกต่างระหว่างรัฐที่เจริญก้าวหน้ากับรัฐล้าหลังก็อยู่ตรงนี้เหมือนกัน การปกครองของรัฐล้าหลังตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนบุคคล รัฐที่เจริญก้าวหน้าคือรัฐที่พยายามดิ้นให้หลุดจากแบบปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนบุคคล มาเป็นความสัมพันธ์สาธารณะ แม้แต่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ก้าวหน้า ซึ่งโดยหลักการแล้ว อำนาจย่อมมีฐานมาจากบุคคล แต่ในรัฐประเภทนั้นหลายรัฐ อำนาจของบุคคลกลับมีความมั่นคงขึ้น หากทำให้การบริหารเป็นไปตามหลักการความสัมพันธ์สาธารณะ (ด้วยเหตุผลที่พันท้ายนรสิงห์กราบทูลพระเจ้าเสือในเรื่องเล่านั่นแหละ)

หากกฎหมายในประเทศไทยถูกสอน-เรียน-ใช้-บังคับใช้-พิพากษากันตามตัวอักษร โดยไม่มีหลักการที่พ้นไปจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล นักกฎหมายก็จะเป็นข้ารับใช้ของอำนาจเถื่อนตลอดไป เพราะนักกฎหมายไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาแห่งอำนาจของผู้มีอำนาจ ดูอยู่อย่างเดียวคือสอดคล้องกับอักษรในตัวบทหรือยัง ถ้ายังก็ “อ่าน” ใหม่ให้สอดคล้อง ตราบเท่าที่เป็นอยู่เช่นนี้ การปกครองของรัฐไทยก็ยังเป็นเรื่องของบุคคลอยู่ตราบนั้น

กฎหมายจะแสดงปาฏิหาริย์แก่บางคน และบางกรณีตลอดไป กฎหมายจึงไม่ใช่กฎหมาย เป็นแต่เพียงความต้องการตามอารมณ์ของผู้มีอำนาจเท่านั้น ดังที่เกิดในประเทศล้าหลังทั่วไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1188428

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เลือกตั้ง 62: 'พรรคพลังประชารัฐ'ตัวแปรในการสืบทอดอำนาจ คสช.

$
0
0

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังอยู่ในอำนาจมานานกว่า 4 ปี ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ คสช. เขียนขึ้น เปิดช่องให้คสช. ไม่ลงจากอำนาจไปง่ายๆ โดยพรรคการเมืองที่จะเป็นปัจจัยหลักในการอยู่ในอำนาจต่อของ คสช. ก็คือ 'พรรคพลังประชารัฐ'

ก่อตัวจากเครือข่ายกลุ่มสามมิตร 

พรรคพลังประชารัฐก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองผ่าน ชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม คนสนิทของ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์'รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เข้ายื่นจดจองชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

หลังจากนั้น พรรคก็ได้รัฐมนตรีอีก 4 คน จากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนพรรค ได้แก่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งว่ากันว่าเป็นลูกศิษย์ 'หัวกะทิ'ของสมคิด 

ในขณะเดียวกัน ก็มีเหตุการณ์คู่ขนานอย่างการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม 'สาม ส'. หรือ สามมิตร ที่นำโดย 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ'อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย, 'สมศักดิ์ เทพสุทิน'แกนนำกลุ่มมัชฌิมา อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวง และแกนนำกลุ่มวังน้ำยม กลุ่ม ส.ส. ที่เคยสังกัดในพรรคไทยรักไทย ส่วน ส. ที่สามซึ่งคาดว่า เป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เดินทางเทียบเชิญนักการเมืองต่างๆ มาเข้ากลุ่ม

จนกระทั่ง มีการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคทำให้กลุ่มสามมิตรและอดีตนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นเข้ามาร่วมพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการพร้อมยุติกลุ่มสามมิตรในที่สุด

เจ้าของฉายา 'พรรคพลังดูด'

หนึ่งในปฏิบัติการเฟ้นหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ถูกเรียกขานจากหน้าสือว่า 'ใช้พลังดูด'หรือ การดึงดูดนักการเมืองและอดีตนักการเมืองมาเป็นพรรคพวก และด้วยประสบการณ์การเมืองอันโชกโชนของสมาชิกกลุ่มสามมิตร อย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน กับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเดินหน้าดูดตัวนักการเมืองตั้งแต่เหนือจรดใต้เข้าสังกัดอย่างน้อย 82 คน โดยเฉพาะการดึงตัวนักการเมืองจากพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ 

พลังดูดที่ว่านี้ อาจไม่ใช่ดูดด้วยอำนาจของเงินตราเพียงอย่างเดียว แต่อาจะเป็นการ "เคลียร์" คดีความที่คั่งค้างอยู่ของตัวนักการเมืองหรือบุคคลใกล้ชิด อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ให้ทำพลังการดูดเพิ่มขึ้นก็คือ การคืนตำแหน่งให้กับนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยถูกรัฐบาลชุดนี้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบการทุจริตอย่างน้อย 9 คน 

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ พรรคพลังประชารัฐเลือกดึงตัวนักการเมืองที่มีฐานเสียงในระดับภูมิภาคเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น การดึงตัวคนจากพรรค ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา พลังชล รวมถึงพรรคการเมืองเก่าอย่างไทยรักไทย มาร่วมด้วย

เจ้าของคำพูด 'รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา'

ต้องยอมรับว่า ประโยคที่ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา"ซึ่งหลุดจากปาก สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร คือ คำอธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจุบันได้วางกติกาการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคที่ประกาศสนับสนุนมีความได้เปรียบยิ่งกว่าพรรคอื่น อาทิ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) ที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เลือกคนไหนเท่ากับเลือกพรรคนั้น ทำให้บรรดาพรรคที่มีนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลไปสังกัดพรรคมีข้อได้เปรียบ 

นอกจากนี้ ระบบเลือกตั้งแบบ MMA ยังทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่เคยได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวนมาก ได้ ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ไม่มีพรรคไหนสามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรได้ 

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ การลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา หรือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ไม่น้อยกว่า 376 เสียง อีกทั้ง ต้องไม่ลืมอีกว่า รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ ห้ ส.ว. ชุดแรกมาจากการคัดเลือกโดยคสช. จำนวน 250 คน ที่พร้อมสนับสนุนสานต่อภารกิจของคสช. หรือสนับสนุนพรรคที่สนับสนุนคสช.

เท่านั้นยังไม่พอ เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจพิเศษ อย่าง มาตรา 44 กับรัฐบาลคสช. ไว้ และ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. ก็เคยใช้อำนาจดังกล่าว 'แทรกแซง'การแบ่งเขตการเลือกตั้งของกกต. โดยเฉพาะในพื้นที่หาเสียงหลักของพรรคพลังประชารัฐ 

อีกทั้ง ก่อนหน้าที่สี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. จะลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ทั้งสี่คน ยังมีข้อได้เปรียบเพราะมีสถานะ ‘รัฐบาลพิเศษ’ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดอำนาจไว้เหมือนรัฐบาลรักษาการหลังการยุบสภาหรือมีการเลือกตั้งใหม่หลังครบวาระ ทำให้สามารถอนุมัติเงินหรือโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ ควบคู่ไปกับการเดินสายหาเสียงทางการเมือง 

พรรคตัวแปรสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ คสช. เป็นคนฟูมพัก ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคที่สนับสนุน คสช. มีโอกาสจะช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ

เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ คสช. กลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้ง ผ่านการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง โดยมาตรา 159 กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนปิดสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ได้จำกัดว่า ชื่อของบุคลลที่เสนอให้เป็นนายกรัฐมตรีนั้นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็น ส.ส. ด้วย

แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่า พรรคที่มีสิทธิเสนอชื่อให้ คสช. กลับมาเป็นนายกฯ ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ พรรคที่ได้ที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 50 คน  

ดังนั้น ก้าวแรกของการที่ คสช.จะกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง คือ คสช. ต้องคว้าที่นั่งในสภาอย่างต่ำ 25 ที่นั่ง

อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ หากพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. ต้องการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองต้องได้รับเสียงจากรัฐสภาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 376 เสียง 

แต่เนื่องจาก คสช. มีความได้เปรียบในเรื่องจำนวน ส.ว. ที่ตัวเองเป็นคัดเลือกไว้อยู่แล้ว 250 ที่นั่ง ดังนั้น หากพรรคพลังประชารัฐและพรรคอื่นๆ ที่ต้องการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็เพียงแค่ต้องรวมเสียงในสภาผู้แทนฯ ให้ได้อย่างน้อย 126 ที่นั่ง เพีื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจากสภาผู้แทนฯ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ

$
0
0

ที่มาภาพ https://www.facebook.com/policybypeople

ดูรายการ “นโยบาย By ประชาชน” ที่ถกเถียงเกี่ยวกับข้อเสนอ “ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษา” ผมมีข้อสังเกตว่า การถกเถียงดังกล่าวยังไม่ใช่การถกเถียงระหว่างความคิดแบบเสรีนิยม (liberalism) กับอนุรักษ์นิยม (conservativism) ที่ชัดเจน ดูเหมือนจะเป็นการถกเถียงระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ก้าวหน้ามากกว่า

แม้ เรณุวัชร์ สุนันทวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6 ที่รณรงค์ให้ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับจะเสนอข้อโต้แย้ง (arguments) แบบเสรีนิยมอยู่บ้าง เช่นว่า “ผู้เรียนควรมีสิทธิ์เลือกเรียนศาสนาตามความเชื่อหรือความสนใจของตนเอง” หรือ “เราสามารถจะเป็นคนดีหรือมีความสุขได้ตามความเชื่อของตนเอง” แต่ข้อโต้แย้งของเขาเป็นเรื่องของปัญหาประสิทธิภาพ, คุณภาพของการเรียนการสอนมากกว่า เช่นตัวอย่างเหตุผลในแคมเปญรณรงค์ของเขาตอนหนึ่งว่า

“...การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างๆ เช่น หลักสูตร เนื้อหาที่กำหนดให้เรียน ตัวครูผู้สอน เทคนิควิธีการสอน สื่ออุปกรณ์ในการสอน หนังสือตำราประกอบการเรียน การวัดประเมินผล ทัศนคติของผู้เรียน เป็นต้น เพราะเหตุนี้ความล้มเหลวในการสอนวิชาพระพุทธศาสนานั้นจึงกลับมีมากกว่าความสำเร็จ”[1]

ส่วนข้อเสนอของเขาคือ ไม่ใช่ให้ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาไปเลย แต่ให้นำวิชานี้มาเป็นวิชาเลือกเสรี ในส่วนของวิชาบังคับในหมวดศาสนานั้นให้เป็นการสอนศาสนาเปรียบเทียบแทน เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้หลักคำสอนและวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละศาสนา ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้แม้จะก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ยังเป็นข้อเสนอในกรอบคิดอนุรักษ์นิยมที่เห็นว่าควรมีการสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ (public school) ในระดับประถมและมัธยมศึกษาอยู่นั่นเอง

ส่วนข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น เป็นข้อโต้แย้งบนความคิดแบบอนุรักษ์นิยมชัดเจนมาก เช่นว่า เพราะวิชาพระพุทธศาสนาให้สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เมื่อชีวิตเผชิญความทุกข์ คำสอนพุทธศาสนาช่วยได้ ถ้าการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพก็ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น การเรียนพุทธศาสนาสอดคล้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเป็นไทย ทำให้พุทธศาสนามั่นคง ถ้าไม่ดีจริงรัฐก็ไม่บังคับให้เรียน ฯลฯ

มีบางคนโต้แย้งว่า “ทำไมรับไม่ได้กับการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ขณะที่รับได้กับการบังคับเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์” ซึ่งสะท้อนว่าขาดการแยกแยะระหว่างการเรียนความรู้กลางๆ ที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาจำเป็นต้องนำไปใช้ประโยชน์ในโลกที่เป็นจริง หรือโลกที่มีระบบหรือเงื่อนไขทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆ ให้คนทั่วไปจำเป็นต้องใช้ความรู้ดังกล่าวนั้นในการอยู่ร่วมกัน กับการเรียนศาสนาอันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” หรือของกลุ่มคนทางศาสนาหนึ่งๆ ที่จำเป็นต้องไม่ขัดกับหลักการสาธารณะคือ หลักเสรีภาพทางศาสนาและหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา

เมื่อพูดโดยภาพรวม การศึกษาด้านศาสนา (religious education) แบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ แบบแรก คือ การศึกษาที่มุ่งให้เกิดความรู้และศรัทธาในคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรม การสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนา หรือความเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนานั้นๆ แบบที่สอง คือการศึกษาศาสนาเชิงวิชาการที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาแบบกลางๆ เช่นการศึกษาศาสนาในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือศึกษาเปรียบเทียบคำสอนของศาสนาต่างๆ ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ หรือการศึกษาแบบวิเคราะห์ตีความหลักปรัชญา โลกทัศน์ ชีวทัศน์ในหลักคำสอนของศาสนานั้นๆ อย่างที่ศึกษากันในวิชาปรัชญาศาสนาเป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปที่เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) และยึดถือเคร่งครัดในหลักการที่ว่ารัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนา” (religious neutrality) จะห้ามการศึกษาศาสนาแบบแรกในโรงเรียนของรัฐ แต่ให้เรียนได้ในโรงเรียนเอกชน ซึ่งโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่สอนศาสนาก็เป็นโรงเรียนเอกชนขององค์กรศาสนานั้นๆ หรือนิกายนั้นๆ เอง หรือไม่ก็จัดการเรียนรู้ในกลุ่มทางศาสนาต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ส่วนการศึกษาศาสนาแบบที่สองมีการเปิดให้เลือกเรียนได้อย่างเสรีในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม บางประเทศในยุโรปเช่นสหราชอาณาจักรมีการเรียนศาสนานิกาย Church of England ในโรงเรียนรัฐบาล แต่เรียนแบบเป็นวิชาการ และให้เสรีภาพแก่นักเรียนและผู้ปกครองปฏิเสธหรือถอนตัวจากการเรียนวิชาศาสนาได้ตลอดเวลา ขณะที่ประเทศในตะวันออกกลางมีการบังคับเรียนศาสนาอิสลามในโรงเรียนของรัฐสำหรับนักเรียนมุสลิม แต่ก็ไม่บังคับนักเรียนที่ไม่ใช่มุสลิม โดยให้พวกเขาได้เลือกเรียนวิชาจริยธรรมแทน

ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ต่างจากที่อื่นๆ คือ การกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนของรัฐ เป็นการบังคับให้คนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่เช่นนั้นก็ไม่จบตามหลักสูตรภาคบังคับ จึงขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาชัดเจน แม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้คนศาสนาอื่น หรือคนไม่มีศาสนาหันมานับถือพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องเรียนในสิ่งที่ขัดต่อเจตจำนงของตนเอง (ในแง่นี้จึงขัดหลักสิทธิมนุษยชน)

นอกจากโรงเรียนจะบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว คณะสงฆ์ไทยยังพ่วงหลักสูตรธรรมศึกษาตรี, โท, เอกเข้ากับวิชาพระพุทธศาสนาด้วย โดยแชร์คะแนนในรายวิชาดังกล่าว แต่หลักสูตรธรรมศึกษานั้นเป็นหลักสูตรที่ใช้กันมาร่วมร้อยปีโดยไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย นี่ยังไม่เท่าไร ที่ขัดกับ “ความชอบธรรม” ตามหลัก “ความเป็นกลางทางศาสนา” ของรัฐ ก็คือการที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่องค์กรทางศาสนาบางศาสนาเข้ามามีอำนาจบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาของตนเองใน public school อย่างไม่แยแสต่อการเคารพเสรีภาพทางศาสนาของนักเรียน ในแง่นี้จึงเป็นบทบาทที่ผิดเพี้ยนของสถาบันพุทธศาสนาไทยด้วย

กล่าวโดยสรุป ในมุมมองแนวคิดเสรีนิยมถือว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิและความเสมอภาคในการเลือกนับถือศาสนา ความเชื่อ หรือปรัชญาใดๆ เพื่อการมีชีวิตที่ดีอย่างสอดคล้องกับอุปนิสัย รสนิยม หรือความพึงพอใจของตนเอง ตราบที่เขายังเคารพสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ทำอันตรายต่อผู้อื่น ดังนั้นรัฐจะอ้างว่าศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี หรือศาสนาเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์จึงบังคับให้ทุกคนต้องเรียนไม่ได้ เพราะการตัดสินใจว่าความเชื่ออะไรดี มีประโยชน์สำหรับตนเอง เป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคนอย่างสมบูรณ์ รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นกลางทางศาสนาจำเป็นต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของพลเมือง

มองในอีกด้านหนึ่ง หากไม่มีการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชน องค์กรหรือกลุ่มทางศาสนาต่างๆ ที่มีความสนใจทางศาสนาตรงกันได้แข่งขันอย่างเสรีและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ การฝึกอบรม การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาให้น่าสนใจและดึงดูดให้คนอยากเข้าหา และเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนได้มีเสรีภาพในการเลือกเรียนรู้ศาสนาในแบบที่ตนเองสนใจและนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มากกว่าถูกบังคับให้เรียน    

 

 

อ้างอิง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ร้องทบทวน พ.ร.บ.โรงงานใหม่ ชี้ร่างเดิมซ้ำเติมปัญหาฝุ่นพิษ

$
0
0

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ร้องทบทวน พ.ร.บ.โรงงานใหม่ให้เข้มงวดสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ชี้ปล่อยให้เป็นไปตามร่างเดิมเสี่ยงเพิ่มมลพิษและซ้ำเติมปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพและปริมณฑล เสนอการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ และ ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก เพื่อไม่ให้ “คนไทย” อยู่ในสภาพตายผ่อนส่งจากมาตรฐานแบบไทยๆ พร้อมทั้งแนวทางปฏิรูป 12 ข้อสู้ภัยฝุ่นพิษ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (แฟ้มภาพ)

4 ก.พ. 2562 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า  พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่กำลังผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)มาบังคับใช้นั้นอาจทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศหรือปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพและปริมณฑลย่ำแย่ลงอีก เสนอให้ทบทวนเนื้อหากฎหมายเพื่อให้มีการกำกับควบคุมเข้มงวดขึ้นและมีมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น กฎหมายโรงงานใหม่มีการผ่อนคลายกฏระเบียบเรื่องการจัดตั้งโรงงาน การไม่ต้องต่อใบอนุญาต หรือมีใบอนุญาตแบบไม่มีวันหมดอายุหรือแบบตลอดชีพ มีการแก้ไขคำนิยามโรงงานใหม่ ใช้ผู้ตรวจสอบเอกชนตรวจสอบคุณภาพโรงงานได้ กฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม อาจเป็นผลบวกต่อภาคการลงทุนและผลดีต่อภาคการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมแต่อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะปลดล็อคโรงงานขนาดเล็ก 60,000 แห่ง ไม่ต้องขอใบอนุญาตและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแลกันเองเป็นการอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม มาตรฐานและการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมอาจหละหลวมหากผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาระบบนิเวศน่าจะรุนแรงขึ้น ปัญหาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอาจเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการมีชีวิตและใช้ชีวิตสูงขึ้น ผลดีต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจจะถูกหักล้างไป เป็นการเติบโตแบบไม่ยั่งยืนและสร้างปัญหา ผู้มีรายได้น้อย คนยากจนที่ไม่มีอำนาจต่อรองจะต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด โรงงานขนาดเล็กอาจมีการปล่อยน้ำเสีย ควันพิษ กากอุตสาหกรรม มีมลพิษทางเสียงมากขึ้นเพราะอาจขาดการกำกับควบคุมจากการผ่อนคลายกฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงาน  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ที่โครงสร้างทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจด้วย ให้โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นประชาธิปไตยและเกิดการมีส่วนร่วม โครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือนโยบายต่างๆของรัฐต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต การรวมศูนย์อำนาจในการบริหารประเทศผ่านการใช้มาตรา 44 ปิดช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช มีการออกมาตรา 44 และ คำสั่งต่างๆเอื้อต่อการลงทุนของเอกชนโดยละเลยต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน เช่น การยกเว้นผังเมืองใน EEC ยกเว้นผังเมืองสำหรับโรงงานไฟฟ้าขยะ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสีย เป็นต้น พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่เองก็ผ่อนคลายมาตรฐานตรวจสอบทางด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อมีการขยายโรงงานหรือเพิ่มกิจการการผลิตในโรงงาน รัฐบาลและ สนช จึงควรทบทวนเนื้อหาและถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่เพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดเตรียมกฎหมายแบบมีส่วนร่วมภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

12 แนวทางปฏิรูปสู้ภัยฝุ่นพิษ

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าว นำเสนอ การปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ การปฏิรูปต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เอา “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มียุทธศาสตร์การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน สมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสนอการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบเพิ่มเติมจากที่เคยเสนอก่อนหน้านี้ ดังนี้  

1. กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดระดับมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียง และมลพิษต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2. สร้างระบบและกลไกในการควบคุมพฤติกรรมในการก่อให้เกิดมลภาวะโดยใช้มาตรการบังคับ และ มาตรสร้างระบบแรงจูงใจ

3. ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก (PM2.5 ที่ 25 PM10 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ. ม.) เพื่อไม่ให้ “คนไทย” อยู่ในสภาพตายผ่อนส่งจากมาตรฐานแบบไทยๆ (PM2.5 ที่ 50 PM10 ที่ 120 ไมโครกรัมต่อ ลบ. ม.) เพราะระดับมาตรฐานไทยยังมีอันตรายต่อสุขภาพ

3. สร้างระบบและกลไกในการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมและลดระดับมลภาวะ

4. สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษและปัญหามลภาวะต่างๆได้ทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงวิธีป้องกันตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัย เกิดจิตสำนึกในการร่วมกันในการลดมลภาวะต่างๆ แนวทางนี้จะทำให้การจัดการผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนต่ำสุด   

5. การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6. การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่  การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

7. การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน และ การเตรียมความพร้อมรองรับการภัยพิบัติทางธรรมชาติ

8. การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

9. การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลกที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

10. จำกัดปริมาณรถยนต์ในบริเวณเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและภาษีสุขภาพสำหรับรถยนต์ใหม่ เก็บภาษีแบบขั้นบันไดตามอายุการใช้งาน

11. เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนให้สามารถเชื่อมโยงมากขึ้น และ สามารถเข้าถึงได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงด้วยราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

12. มีมาตรการป้องกันการก่อมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรกรรม และ มลพิษที่ถูกปล่อยมาจากภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างบูรณาการ      

ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการประเมินผลการพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ แต่ขาดความสมดุล ด้านคุณภาพ “จุดอ่อน” ของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมือง และราชการยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจและขาดประสิทธิภาพ ระบบกฎหมายล้าสมัย นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของประเทศ คือ การทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการและในภาคธุรกิจเอกชน ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาของคนไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ไม่สามารถปรับตัว รู้เท่าทัน

วิทยาการสมัยใหม่ ทั้งฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอ่อนแอ ไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจยังด้อยประสิทธิภาพ  จึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงขึ้น ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ความอ่อนแอของสังคมไทยที่ตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยม ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรมและปัญหาสังคมมากขึ้นด้วย

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวด้วยว่า ตนได้เคยนำเสนอแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯก่อนหน้านี้ 10 มาตรการ โดยมี มาตรการแรก ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทาลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บ

ภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศหรือมลพิษใดๆควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนของการใช้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ในการควบคุมและป้องกันมลพิษควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือ การซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ หรืออาจใช้  ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้

มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง

มาตรการที่เก้า การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้

มาตรการที่สิบ ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต

ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของทุกคนจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนจึงสามารถทำให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 5.93 ล้านคนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ชดเชยนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกที่ลดลงจากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยจะบินตรงไปยังแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดหรือมาต่อเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือดอนเมืองโดยไม่แวะเข้ามาที่กรุงเทพเพื่อเลี่ยงฝุ่นพิษ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แพทย์ชี้ฝุ่น PM 2.5 ซึมเข้ากระแสเลือด หากเรื้อรังก่อมะเร็ง-เส้นเลือดสมองตีบ

$
0
0

แพทย์ มช. ชี้ฝุ่น PM 2.5 อันตรายสูง มีผลเฉียบพลัน หากเรื้อรังอาจเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบเกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต และมะเร็งปอด

 

ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 กลายเป็นอีกหนึ่งมลพิษที่อยู่คู่กับคนไทยอย่างยาวนาน เพราะสาเหตุหลักสำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งการจะแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดยังต้องอาศัยเทคโนโลยีและแนวทางจัดการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างยั่งยืน ดังนั้นเมื่อเรายังต้องเผชิญไปอีกพักใหญ่ สิ่งที่จะทำได้คือการรู้เท่าทันความอันตราย หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการใช้ชีวิต เพื่อให้มีผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายน้อยที่สุด

นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หัวหน้าโครงการผู้ทำวิจัยชุดโครงการ ‘ความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในเชียงใหม่และลำพูน’ ชี้ว่าฝุ่น PM 2.5 (มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน) มีความอันตรายต่อร่างกายสูง โดยได้อธิบายความอันตรายว่า

“ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กมากพอที่จะหายใจเข้าไปสู่ปอด และซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดดังนั้นแล้วผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจึงมีทั้งแบบ ‘เฉียบพลัน’ (เห็นผลใน 1 - 2 วัน) ซึ่งส่วนมากจะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน หากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคัน เป็นตุ่มได้

ส่วนผลแบบ ‘เรื้อรัง’ (ค่อย ๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว) คือ เส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ, เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต, การเป็นมะเร็งปอดเพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH), อีกระบบคือเข้ารกไปทำอันตรายเด็กในท้อง ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ติดเชื้อง่าย ทุพโภชนาการ และเป็นโรคออทิสซึม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก”

 

 

นอกจากอาการเจ็บป่วยข้างต้นแล้ว อีกโรคหนึ่งที่น่าตระหนักถึงความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 คือ “โรคถุงลมโป่งพอง” ซึ่งมีความอันตรายเช่นเดียวกับการ “สูบบุหรี่” โดย นพ.พงศ์เทพ ได้อธิบายว่า “การเกิดถุงลมโป่งพอง เกิดมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปที่ปอด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เม็ดเลือดขาวกินฝุ่นพวกนี้เพื่อรักษาร่างกายแต่ไม่สามารถย่อยได้จึงตายแล้วปล่อยเอนไซม์ที่เป็นน้ำย่อยมาย่อยผนังปอดอีกทีหนึ่ง ทำให้ถุงลมนับร้อยในปอดแตกออกเหลือเป็นถุงเดียว พื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซลดเหลือน้อยลง และทำให้เกิดอาการเหนื่อย ดังนั้นเมื่อเราสูดหมอกควันเข้าไปมาก ๆ จึงเป็นเสมือนการสูบบุหรี่”

ดังนั้นแล้วทุกคนจึงควรป้องกันการรับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) เพราะมีความต้านทานโรคน้อยและส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว รองลงมาคือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย อีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะมีผลกระทบโดยตรงคือผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นเข้าไปอาจทำให้อาการกำเริบจนเสียชีวิตได้

สำหรับวิธีการป้องกันนอกจากการใส่หน้ากากมาตรฐาน N95 (ป้องกันได้ 95%) ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ แนะนำว่าหากไม่สามารถหาซื้อได้หรือสวมใส่แล้วไม่สบาย “สามารถไส่หน้ากากอนามัยทั่วไปซ้อน 2 ชั้น หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำแทนได้ โดยในช่วงที่มีการประกาศว่าค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และงดออกกำลังกายในพื้นที่เปิดหรืออาคารที่ไม่ได้ปิดมิดชิดเพราะจะทำให้มีการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมากขึ้น แม้อาศัยอยู่ในบ้านก็ควรลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น การปัดกวาดฝุ่น (ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดแทน) การจุดธูปเทียน และการทำอาหารในบ้าน เป็นต้น”

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'มาราปาตานี'ประกาศ 'ไม่คุยกับฝ่ายรัฐ'จนกว่าเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลใหม่

$
0
0

 

4 ก.พ.2562 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วานนี้ (3 ก.พ.62) สุกรี ฮารี หัวหน้ากลุ่มมาราปาตานี ออกแถลงการณ์ความยาวประมาณ 2 นาที โดยเนื้อหาใจความคือ 'ไม่ยอมรับ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลฝ่ายไทย' โดยมีการระบุอ้างอิงว่า พล.อ.อุดมชัย ไม่ได้มาหารือที่มาเลเซีย โดยมีการอ้างอิงว่า จะขอพบสุกรี เป็นการส่วนตัว ซึ่งทำให้เกิดการมองว่า รับไม่ได้กับท่าทีลักษณะนี้ แล้วมีนัยยะแอบแฝงหรือไม่ ถึงไม่คุยกับคนอื่นๆ แต่จะคุยกับนายสุกรีเพียงคนเดียว 

คำแถลงยังแถลงยังระบุอีกว่า จะมีการล้มโต๊ะการเจรจาสันติภาพทั้งหมด จนกว่าไทยจะเลือกตั้ง แล้วก็ได้รัฐบาลใหม่ โดยขอให้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุย ซึ่งที่ว่านี้เป็นจุดยืนของกลุ่มมาราปาตานี 

ที่มา ช่อง 3วอยส์ออนไลน์และไทยพีบีเอส

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลอ่านคำร้องส่ง 'ฮาคีม'กลับบาห์เรน นัดทนายส่งคำคัดค้าน-พิสูจน์หลักฐาน เม.ย. นี้

$
0
0

ศาลอ่านคำร้องขอส่งตัว 'ฮาคีม อัล อาไรบี'แข้งบาห์เรนลี้ภัยที่ถูกจับในไทยกลับไปรับโทษที่บาห์เรน สถานทูตสิบกว่าประเทศ-องค์กรสิทธินานาชาติแห่สังเกตการณ์ ทนายยื่นคัดค้านส่งกลับอีก 60 วัน นัดส่งภายใน 5 เม.ย. พิสูจน์หลักฐาน 22 เม.ย. จำเลยปัด ไม่ได้กระทำผิด ถูกทำร้ายทางการเมือง-ศาสนา สถานทูตออสเตรเลียอัด บาห์เรนไม่เคยถามถึงฮาคีมเลยจนกระทั่งมีการจับกุมในไทย

(กลาง ใส่ตรวน) ฮาคีม อัล อาไรบี (ที่มา: Banrasdr Photo)

4 ก.พ. 2562 ที่ศาลอาญารัชดา ศาลนัดสอบคำให้การคดีฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ผู้ถูกรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย แต่ถูกคุมขังในไทยมาตั้งแต่ 27 พ.ค. 2561 นัดของศาลครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีคำร้องจากราชอาณาจักรบาห์เรนให้ส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทย

การสอบคำให้การครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสถานทูตต่างประเทศหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยและต่างชาติอีกหลายองค์กร

ฮาคีมปรากฏตัวพร้อมทีมทนายความและล่ามแปลภาษาจากไทย-อราบิก จากนั้นศาลได้อ่านคำร้องของอัยการที่เห็นพ้องให้ส่งฮาคีมกลับไปยังราชอาณาจักรบาห์เรน โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ต้องสงสัยของสำนักงานอัยการและศาลบาห์เรน เนื่องจากทำผิดกฎหมายบาห์เรนที่มีโทษจำคุก 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากนั้น ทีมทนายความจำเลย (ฮาคีม) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านการส่งตัวข้ามแดนไปยังบาห์เรนไปอีก 60 วัน เนื่องจากเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องและเอกสารประกอบจากทางอัยการในวันนี้ และยังต้องเตรียมเอกสารจากต่างประเทศทั้งจากบาห์เรนและออสเตรเลีย ซึ่งมีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับและภาษาไทย จึงต้องใช้เวลาศึกษาและแปลเอกสาร

ศาลอนุญาตให้ยื่นคำคัดค้านภายในวันที่ 5 เม.ย. 2562 กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อตรวจบัญชีพยานและเอกสารของทั้งฝ่ายอัยการและจำเลยในวันที่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 09.00 น. เพื่อกำหนดประเด็นในการนัดสืบพยานต่อไป

ฮาคีมได้แถลงต่อศาลถึงความกังวลหากมีการส่งตัวกลับประเทศบาร์เรนก็จะถูกลงโทษสถานหนัก และมีความเสี่ยงจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากสิ่งที่เขาพบเจอนั้นเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา ในส่วนของข้อหาที่บาห์เรนตั้งเอาไว้ว่าเขาทำลายทรัพย์สินราชการนั้น ฮาคีมให้การปฏิเสธ เนื่องจากในวันและเวลาที่เกิดเหตุนั้น เขาเตะฟุตบอลในการแข่งขันที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อยู่

หลังเสร็จสิ้นการนัดสอบคำให้การ ที่หน้าศาลอาญา อัลลัน แมคคินนอน รักษาการเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่สถานทูต อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวฮาคีมเป็นภาษาไทย

“รัฐบาลบาห์เรนไม่เคยแสดงความพยายามหรือแจ้งรัฐบาลออสเตรเลียแม้แต่ครั้งเดียว ถึงกรณีคุณฮาคีม หรือต้องการตัวคุณฮาคีมกลับประเทศบาห์เรน แต่ว่าทันทีที่คุณฮาคีมและภรรยาเดินทางมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย รัฐบาลบาห์เรนได้ประสานมาที่รัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วนเพื่อขอให้ควบคุมตัวคุณฮาคีมและดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศบาห์เรนทันที การกระทำของรัฐบาลบาห์เรนทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบากมากครับ ซึ่งจริงๆ แล้วปีนี้เป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวไทยและประเทศไทย”

“ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ารัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้คุณฮาคีมกลับไปยังประเทศออสเตรเลียให้เร็วที่สุด เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย คุณฮาคีมเป็นนักฟุตบอลผู้เป็นที่รักของแฟนฟุตบอลทีม Pasco Vale FC และแฟนฟุตบอลทั่วประเทศเลยครับ เราหวังว่าคุณฮาคีมจะได้กลับไปหาครอบครัวและภรรยาของเขาในเร็ววัน”

อัลลันกล่าวว่า ได้มีการติดต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้ปล่อยฮาคีมกลับไปออสเตรเลียเพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย โดยอัลลันได้รับการยืนยันจากอัยการว่าตามกระบวนการผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลไทยสามารถหยุดการดำเนินคดีนี้ได้

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน หนึ่งในทีมทนายความของฮาคีมกล่าวในกรณีที่อัยการคัดค้านการขอประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะมีการหลบหนีว่า ตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้ามีใครเป็นผู้ต้องหาแล้วศาลควรจะคุมขังตัวเอาไว้ แต่ทั้งนี้ศาลก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ให้ใช้ได้

ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมืองกล่าวว่าเธอได้ไปพูดคุยกับฮาคีมและบอกว่าข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความที่ฮาคีมฝากมา

“ผมกลัวการถูกส่งกลับไปบาห์เรน พวกเขาฆ่าผมได้ ผมไม่ได้ทำอะไร ผมเล่น(ฟุตบอล)อยู่ในลีกบาห์เรนและมันถูกถ่ายทอดสดในทีวีในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น ช่วยผมด้วย อย่าไปเชื่อบาห์เรน พวกเขาทำสิ่งนี้กับผมเพราะว่าผมเป็น (มุสลิมนิกาย) ชีอะห์”

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วันนี้ (4 ก.พ. 2562) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์สืบเนื่องกรณีของฮาคีม ใจความว่า

ประเทศไทย: ยกเลิกคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อฮาคีม อาลี อัล อาไรบี ผู้ลี้ภัย

ก่อน “ฮาคีม อาลี อัล อาไรบี” นักฟุตบอลซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจะขึ้นศาล เพื่อรับการไต่สวนคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ แคทเธอรีน เกอร์สัน นักรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเด็นประเทศไทยกล่าวว่า

“ทางการไทยควรยุติกระบวนการใด ๆ ที่เป็นผลมาจากคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ฮาคีมเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการทรมานในบาห์เรน และครอบครัวของเขายังถูกประหัตประหารต่อไปที่นั่น นอกจากนั้นฮาคีมและภรรยาก็ยังได้รับที่พักพิงในออสเตรเลีย เขาไม่ควรถูกกักตัวแม้แต่อีกเพียงวันเดียวก็ตาม และควรได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านที่เมลเบิร์นทันที

“รัฐบาลไทยควรตระหนักว่า แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวของบาห์เรนคือการจับตัวฮาคีมมาลงโทษอีก จากการที่เขาออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสงบ และหากถูกส่งตัวกลับไปบาห์เรน ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่เขาจะถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย ทั้งนี้ตำรวจสากลทำถูกต้องแล้วที่ได้ยกเลิก “หมายแดง” เพื่อจับตัวฮาคีม เนื่องจากเป็นการออกหมายที่ขัดกับนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัยของหน่วยงาน

“กรณีนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลก ทำให้คนทั้งโลกต้องตื่นตระหนก เช่นเดียวกับกรณีราฮาฟ โมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยจากซาอุดิอาระเบีย ทางการไทยมีโอกาสอีกครั้งที่จะแสดงเจตจำนงเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย โดยการปล่อยตัวฮาคีม และไม่ปฏิบัติตามคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของบาห์เรน เนื่องจากการปฏิบัติตามคำขอเช่นนี้ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”

ข้อมูลพื้นฐาน

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พนักงานอัยการของไทยได้ยื่นคำร้องขอส่งตัวอัล อาไรบีเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ในนามของรัฐบาลบาห์เรน ระหว่างเดินทางโดยใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทางของออสเตรเลีย อัล อาไรบีถูกควบคุมตัวพร้อมกับภรรยา ทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อปีที่แล้ว เป็นไปตามการออกหมายแดงที่ผิดพลาดของตำรวจสากล ปัจจุบันเขายังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ

ตามขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คาดว่าอัล อาไรบีจะต้องขึ้นศาลในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) โดยศาลจะสอบถามว่าเขาประสงค์ที่จะถูกส่งตัวไปบาห์เรนหรือไม่

เขาเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน และที่ผ่านมาได้วิพากษ์วิจารณ์ทางการบาห์เรนอย่างสงบและเปิดเผยหลังถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และถูกทรมาน เขาหลบหนีไปออสเตรเลียและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2560 ทางการบาห์เรนมีสถิติที่เลวร้ายในแง่การปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ

ในปี 2557 ผลจากการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้เขาได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในการพิจารณาลับหลัง ในข้อหาทำลายโรงพัก ปัจจุบันพี่ชายหรือน้องชายของเขายังคงใช้โทษจำคุกในข้อหาเดียวกัน

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในการส่งตัวบุคคลกลับไปยังดินแดนใด ๆ ที่บุคคลผู้นั้นมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะถูกทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความเคารพมากขึ้นต่อข้อห้ามนี้ รวมทั้งการให้สัญญาในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2559 ว่าจะออกพระราชบัญญัติต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยรวมถึงการคุ้มครองไม่ให้มีการบังคับส่งกลับ

ที่ผ่านมามีทีมฟุตบอลในไทยออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรนผ่านแฮชแท็ก #SaveHakeem ที่ผ่านมามีเชียงใหม่ เอฟซี และเชียงราย ยูไนเต็ดที่ออกมาร่วมรณรงค์ปล่อยตัวฮาคีม

เชียงใหม่ เอฟซี รณรงค์ปล่อยตัวฮาคีม (ที่มา: Facebook/Official Chiangmai Football Club)

#SaveHakeem 'เชียงรายยูไนเต็ด'รณรงค์ปล่อยตัวนักเตะบาห์เรนลี้ภัย หลังถูกคุมขังในไทยเกือบ 2 เดือน

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เอกชนไทยจับมือตลาดหลักทรัพย์-ประชาสังคม พัฒนาความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหาร

$
0
0

กรรมการสิทธิชี้พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเส้นทางอาหาร ใช้แรงงานเด็ก-แรงงานบังคับ-การจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม-ขับไล่รื้อถอน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง ตัวแทนจากเทสโก้และแมคโครเห็นร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสวัสดิภาพผู้บริโภค กฎหมาย และการปฏิบัติต่อแรงงานเป็นสำคัญ

แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (EU) ในโครงการ SWITCH Asia ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ‘เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม’ โดยมีตัวแทนจากธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม และมี ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แนะนำทิศทางความยั่งยืนของผู้บริโภค และภาคเอกชนในยุโรปและทั่วโลก หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าประเด็นความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารอย่างสิทธิแรงงาน สิทธิผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสำคัญมากขึ้น ซึ่งธุรกิจไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเส้นทางอาหารยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าบริษัทจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศยังคงละเลยที่จะตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการขับไล่รื้อถอน และอื่นๆ อีกมากมาย โดยกรรมการสิทธิฯ ทิ้งท้ายว่าธุรกิจภาคค้าปลีกจำเป็นต้องมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในห่วงโซ่อุปทานอาหารสามารถเข้าถึงได้ 

สำหรับสิทธิแรงงานในภาคเอกชน แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาการอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของไทย แบ่งปันประสบการณ์ว่าที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนเองให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิแรงงานมาโดยตลอด เพราะทำการซื้อขายกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยในโรงงาน ความสุขของพนักงาน และการสานสัมพันธ์กับชุมชน 

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ห้างค้าปลีกที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ระบุว่าซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ตรงกลางของเส้นทางอาหารระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยเทสโก้ โลตัสเริ่มระบุที่มาที่ไปของอาหาร โดยอาหารที่นำมาขายต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกษตรกร แรงงาน หากพบกรณีการละเมิดสิทธิ จะมีการตักเตือนคู่ค้า และตัดความสัมพันธ์ทางการค้าหากไม่มีการแก้ไข นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบยั่งยืน รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม และบริจาคอาหารสดที่เหลือจากการขายให้กับชุมชนที่ขาดแคลนด้วย 

ตัวแทนเทสโก้ โลตัส เปิดเผยแผนในอนาคตว่าจะทำให้บรรจุภัณฑ์ทุกอย่างของเทสโก้ โลตัสเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ. 2568 รวมไปถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้บริโภคมากขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งสังคม โดยเน้นย้ำว่าคู่ค้าของเทสโก้ โลตัสเองก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม หากทำไม่ได้ตามมาตรฐานก็อาจไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ในอนาคต 

สำหรับความท้าทายสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มองว่าอุตสาหกรรมประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความท้าทายที่สุด นอกเหนือจากนั้นคือการบริหารงานในภาคธุรกิจ โดยยืนยันว่าผู้บริหารควรมีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน มีความตระหนักถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อเกษตรกร แรงงาน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ต้องมีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วัดผลได้​และกล้าประกาศ​ให้สาธารณะรับรู้ หากถ้าทำตามเป้าไม่ได้ ก็ต้องกล้าที่จะแสดงความรับผิดชอบ 

จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเรื่องที่บริษัทจะไม่ต่อรองคือสวัสดิภาพผู้บริโภค กฎหมาย และการปฏิบัติต่อคนที่อยู่ในเส้นทางการผลิตและจำหน่ายอาหาร พร้อมเสนอแนะว่าการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนต้องอาศัยการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรื่องไหนที่ไม่ยั่งยืนแต่มีการปฏิบัติกันมานานแล้วก็ต้องหาแนวทางทดแทนที่ดีกว่ามาใช้ โดยในอนาคตแม็คโครประกาศว่าไม่ได้แค่จะทำตามมาตรฐานในประเทศด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ต้องการจะทำตามมาตรฐานสากลด้วย 

นอกจากการพัฒนาในมิติต่างๆ ข้างต้น มิติด้านสิทธิสตรีในเส้นทางอาหารก็เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเช่นกัน รวงข้าว จันทร์ฉาย ผู้เชี่ยวชาญโครงการ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศของการจ้างงานและค่าจ้างอาจดูไม่เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย แต่ยังมีแง่มุมของการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมของผู้หญิงที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ไปจนถึงภาระซ่อนเร้นของผู้หญิงหลายคนที่ถูกคาดหวังให้ต้องดูแลครอบครัวและเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม 

ด้านธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่าการพูดคุยในประเด็นความยั่งยืนที่มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนถือเป็นสัญญาณที่ดี และที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากภาคเอกชนที่จะทำตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น แต่จากข้อมูลและงานวิจัยต่างๆ จากภาคประชาสังคม ต้องยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ยังไม่หมดไป การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนนั้นต้องการการปรับเปลี่ยนเชิงระบบ สร้างการปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลและนโยบายต่อผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา จึงจะเป็นการพิสูจน์ว่าบริษัทใดมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนานโยบายและแนวทางการทำธุรกิจให้มีความยั่งยืน โปร่งใส สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลสั่งจำหน่ายคดีชูป้าย'ค้าน รปห.'พูดเพื่อเสรีภาพ''เหตุกฏหมายยกเลิก

$
0
0

ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งให้งดสืบพยานและจำหน่ายคดี"ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร"โและ "พูดเพื่อเสรีภาพ"เนื่องจากคำสั่ง หน.คสช.3/58 ได้ถูกยกเลิกแล้ว


4 ก.พ. 62 ศาลทหารขอนแก่น ได้มีการนัดหมายสืบพยานคดี "ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร"แต่ได้นัดหมายจำเลยในคดี "พูดเพื่อเสรีภาพ"มาพร้อมกันจากนั้นศาลจึงได้มีคำสั่งงดสืบพยานในและมีคำสังให้จำหน่ายคดีทั้งสอง โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกแล้ว

กิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในกิจกรรมได้มีการเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมโหวตโนและร่วมกันอ่านแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 หลังจากกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกและอัยการได้ส่งฟ้องจำเลยทั้ง 8 คน ได้แก่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 1 นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ จำเลยที่ 2 นายอาคม ศรีบุตตะ จำเลยที่ 3 น.ส.ณัฐพร อาจหาญ จำเลยที่ 4 น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ จำเลยที่ 5 น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ จำเลยที่ 6 นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ จำเลยที่ 7 และนาย ชาดไท น้อยอุ่นแสน จำเลยที่ 8 ว่าได้ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ว่ามีพฤติกรรมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ในส่วนของกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ได้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร คสช.2557 เมื่อ วันที่ 22 พ.ค.2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น โดยกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาดาวดิน ทหารตำรวจได้เข้าทำการจับกุมและยึดอุปกรณ์ผู้ทำกิจกรรมจำนวน 7 คนได้แก่ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นายพายุ บุญโสภณ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นายสุวิชชา ฑิพังกร นายศุภชัย ภูครองพลอย และนายวสันต์ เสกสิทธิ โดยทันที

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
ศาลทหารสั่งฟ้องคดีพูดเพื่อเสรีภาพส่งเรือนจำทันที ด้านนักวิชาการเร่งยื่นเงินประกันตัว

จับ ‘ดาวดิน’ เข้าห้องขังทันที หลังชูป้าย คัดค้านรัฐประหาร ที่ขอนแก่น

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

บอร์ดสปสช. ชี้หลักประกันสุขภาพปี 61 ปชช.เข้าถึงการรักษา ครัวเรือนยากจนลด

$
0
0

บอร์ด สปสช. ชี้หลักประกันสุขภาพฯ ปี 61 บรรลุตามเป้า ทั้งเบิกจ่ายงบประมาณ ดูแลผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการ ครอบคลุมทั่วถึง ช่วยลดครัวเรือนยากจนจากค่ารักษาลง จากร้อยละ 2.01 ในปี 45 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 60 งบประมาณปี 61 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ

4 ก.พ. 2562 วันนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ   โดยที่ประชุมได้มีมติรับรองผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณและการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของประชาชนผู้มีสิทธิ์ จากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลที่ได้รวมกับงบกลางที่เพิ่มเติม จำนวน 130,719.62 ล้านบาท (หลังหักเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ) ทั้งในส่วนของงบบริการสาธารณสุขเหมาจ่ายรายหัวและงบบริการเฉพาะ อาทิ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น    

ในปีงบประมาณ 2561 มีประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.803 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66.24 ล้านคน สามารถดำเนินการดูแลครอบคลุมผู้มีสิทธิได้ถึงร้อยละ 99.94 มีการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 184.6 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.73 ครั้ง/คน/ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราเข้ารับบริการเกิน 7 ครั้ง/คน/ปี ส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยใน อยู่ที่ 6.2 ล้านครั้ง หรือ 0.12 ครั้ง/คน/ปี

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะที่การดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มที่แยกบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั้งผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่ตามเป้าหมาย โดยบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ป่วยรับบริการ 261,930 คน การการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 74,857 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 57,288 คน การควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดัน) 3.93 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 10,389 คน ผู้อายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 211,290 คน นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2561 ได้เพิ่มเติมค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ 202แห่ง จากที่กำหนดเป้าหมาย 175 แห่ง อย่างไรก็ตามมีเพียงบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริการ 332,968 ครั้ง หรือร้อยละ 51.1 ซึ่งต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายในปีต่อไป

สำหรับในส่วนหน่วยบริการในระบบบัตรทองนั้น ปี 2561 มีหน่วยบริการที่ร่วมดูแลประชากรผู้มีสิทธิจำนวน12,151 แห่ง ครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริกรประจำ หน่วยบริการ และหน่วยบริการรับส่งต่อ รวมถึงหน่วยบริการไม่ได้จัดเครือข่าย โดยเป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11,070 แห่ง กระทรวงอื่นๆ 240แห่ง เอกชน 527 แห่ง และท้องถิ่น 314 แห่ง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ยังได้มีการรายงานในส่วนภาพรวมการคลังสุขภาพ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2533-2560 โดยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ขณะที่รายจ่ายสุขภาพโดยรวมของทั้งประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.02เมื่อเทียบกับ GDP

การลดลงของครัวเรือนที่ต้องยากจนลงจากจ่ายค่ารักษาหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากร้อยละ2.01 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 2560 หรือจาก 2.2 แสนครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 5.2 หมื่นครัวเรือนในปี 2560, ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจากร้อยละ 4.06 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ2.26 ในปี 2560 หรือจาก 6.6 ครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 4.8 แสนครัวเรือนในปี 2560 และสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจากครัวเรือนจากร้อยละ 27 ในปี 2545 ลดลงเหลือร้อยละ 11.32 ในปี 2560

“จากผลดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับครัวเรือน ช่วยลดวิกฤตทางการเงิน โดยเฉพาะจากโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ส่งผลต่อความพึ่งพอใจของประชาชนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 93.93 ขณะที่ความพึงพอใจผู้ให้บริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 70.67 ซึ่งเกิดจากผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว  

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคประชาชนร้องกฤษฎีกา ค้าน ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงยา

$
0
0

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์พร้อมภาคีเครือข่าย ทำจดหมายถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา คัดค้านสาระร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร พร้อมส่งตัวแทนให้ข้อมูลและพิจารณา ชี้ ร่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตัดสาระกฎหมายเดิมที่เคยเป็นประโยชน์กับการเข้าถึงยาของประชาชน

4 ก.พ. 2562 ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับที่ พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2542 และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรดังกล่าว ได้ลดทอนมาตรการปกป้องสาธารณะลง และยังไม่ขยายเวลาการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน

"ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรที่ผ่านครม.เมื่อ 29 ม.ค.นั้น ได้ตัดสาระสำคัญของมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) โดยแก้ไขให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจการใช้สิทธิให้เหลือเพียงกระทรวงเท่านั้น จากเดิมที่ทบวง และ กรม สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิการให้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวของประชาชน อีกทั้งยังขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุขที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในปี 2549 และ 2550 กับยารักษาไวรัสเอชไอวี ยารักษามะเร็ง และยารักษาโรคหัวใจ ส่งผลให้ประเทศสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มได้มากขึ้น และประหยัดงบประมาณได้มากว่า 4,500 ล้านบาท และเป็นตัวอย่างที่ทั่วโลกยกย่อง"

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (CL) ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์ที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก และขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่เน้นย้ำว่าการคุ้มครองด้านสาธารณสุขต้องมาก่อนการค้า

"ในเรื่องค่าตอบแทน (Royalty fee) ในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (CL) กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้พิจารณาจากเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้า ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์และขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาฯ ด้วยเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคการเข้าถึงยาได้  ในประเด็นนี้ ควรจะที่เป็นไปตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ซึ่งให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างหน่วยงานรัฐที่ประสงค์ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร"ตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว

 

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 39/2558 วันที่ 27 ต.ค. 2558 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ โดยในเดือน พ.ย. 2558 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอผลการศึกษาและเสนอแนะให้ระมัดระวังเรื่องมาตรการทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า “มาตรการทริปส์ผนวก” หรือ “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สนช.ได้เคยเรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปท้วงติงประเด็นเหล่านี้ด้วย แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการแก้ไขสาระร่างกฎหมายให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ชี้ว่า การแก้ไขร่างกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ยังไม่ได้แก้ปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นกับการขอสิทธิบัตร นั่นคือ ช่วงระยะเวลาคัดค้านที่สั้นเกินไป จนทำให้คำขอสิทธิบัตรด้อยคุณภาพคาอยู่ในระบบมากมาย

"จากข้อเสนอของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และองค์กรภาคีเสนอให้ขยายระยะเวลาคัดค้าคำขอสิทธิบัตรได้ก่อนออกสิทธิบัตร (Pre-grant opposition) เป็น 180 วัน ไม่ใช่แค่ 90 วันตามเดิมหลังโฆษณาครั้งที่สอง อีกทั้งในร่างพ.ร.บ. ควรกำหนดภายใน 3-6 เดือนนับจากที่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ด้วย และเห็นว่าควรให้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการติดตามเพื่อการยื่นคำคัดค้าน พร้อมกับอยากเห็นการพิจารณากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นไปอย่างรอบด้านและพึงไว้ซึ่งประโยชน์ประชาชน” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ม.ค.-4 ก.พ. 2562

$
0
0

ชื่นชมพนักงานสนามบินหญิง หลังถูกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตบแต่ไม่ตอบโต้/เตรียมงานรองรับนักเรียน-นักศึกษาช่วงปิดภาคเรียน กว่า 23,000 อัตรา เริ่มรับสมัคร 1 ก.พ. 2562 นี้/พรรคอนาคตใหม่ ดันตัวแทนแรงงานหญิงขึ้นที่ 3 บัญชีรายชื่อ มั่นใจได้เข้าสภา/หลังช้างตกมันกระทืบควาญดับ คนเลี้ยงช้างดันออกกฎหมายสับตะขอ-คล้องโซ่เลี้ยงตามขนบ/คนขอกลับคืนสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 148,363 คน/รมว. แรงงาน สั่งการเร่งตรวจสอบ ติดตาม ดำเนินคดีผู้หลอกลวง ชักชวนไปทำงานฟินแลนด์

พบอาชีพ ‘พ่อครัว-แม่ครัวไทย’ เป็นที่ต้องการในต่างแดน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภาย หลังพบปะและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการและแรงงานไทยที่ประกอบอาชีพด้านอาหารไทย ณ เมือง Hausach สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ว่าปัจจุบัน ในเยอรมนีมีร้านอาหารไทยกว่า 600 แห่ง และอาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าในต่างประเทศมีความต้องการในตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวไปทำงานกว่า 4,000 คน

อย่างไรก็ตามแรงงานไทยที่ทำงานในเยอรมนียังต้องการที่จะพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะด้านภาษาเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความพร้อมจะขับเคลื่อนตามนโยบาย 3A ของกระทรวงในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการสร้างแรงงานคุณภาพ (Super Worker) โดยจัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ มีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 200 คน ในสาขาที่มีความต้องการในต่างประเทศ ได้แก่ สาขาการประกอบอาหารไทย พนักงานนวดไทย สปาตะวันตกและไทยสัปปายะ

โดยก่อนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขานั้นจะมีการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อม เช่นการให้ความรู้ด้านภาษา กฎหมายแรงงาน และการประกอบธุรกิจในเยอรมนี เป็นต้น จากการติดตามผลผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 สาขาการประกอบอาหารไทย พบว่าแรงงานไทยมีความก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดือนละ 10,000 บาท

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนแรงงานไทยที่ผ่านการทดสอบตั้งแต่ปี 2554-2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,614 คน สำหรับในปีนี้มีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยแล้ว 88 คน ประกอบด้วยการทดสอบฯในไต้หวันจำนวน 60 คน และเนเธอร์แลนด์อีก28 คน นอกจากนี้ยังมีแผนจะไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในประเทศเดนมาร์ก สเปน และญี่ปุ่นอีกด้วย

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ได้ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลใหญ่ นายกเทศมนตรี Mr.Wolfgang Hermann นางจิราภรณ์ ไมเออร์-คนัพพ์ ประธานสมาคมบ้านแสนสุข ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม และคณะผู้ดำเนินการจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในประเด็นเกี่ยวกับโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาทักษะให้กับผู้ประกอบกิจการร้านอาหารไทยและแรงงานไทยเพื่อให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นซึ่งจะนำประเด็นเหล่านี้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าวต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 4/2/2562

รมว. แรงงาน สั่งการเร่งตรวจสอบ ติดตาม ดำเนินคดีผู้หลอกลวง ชักชวนไปทำงานฟินแลนด์

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกรมการจัดหางาน เร่งตรวจสอบ ดำเนินคดีผู้แอบอ้างหลอกชักชวนไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ ด้วยรายได้เกินจริงกว่า 85,000 บาท พร้อมย้ำผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้มีความผิดตามกฎหมาย ถูกจับปรับติดคุก

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายเน้นหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวงและลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้ชักชวนแรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ โดยโพสต์โฆษณารายได้เกินจริงผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียว่ามีรายได้ถึง 70,000 – 85,000 บาท ซึ่งพบว่ามีแรงงานไทยหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ รมว.แรงงานห่วงใยพี่น้องแรงงานไทยว่าจะถูกหลอก โดยได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนคนหางาน ดังนั้น เพื่อมิให้แรงงานไทยหลงเชื่อคำชักชวนเกินจริงดังกล่าว กรมการจัดหางานจึงขอแจ้งให้ทราบว่า การไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์นั้น แรงงานจะมีรายได้จริงประมาณเดือนละ 1,000 – 1,200 ยูโร หรือประมาณ 39,000 – 46,800 บาท และก่อนเดินทางไปทำงาน แรงงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อคน เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เป็นต้น และขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับแรงงานแต่อย่างใด เนื่องจากฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์จะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี จึงอย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนไปทำงานเก็บผลไม้ป่าดังกล่าว และขอให้แรงงานไทยศึกษาข้อมูลการทำงานให้รอบคอบกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจเดินทาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เฝ้าระวัง คุมเข้ม ตรวจสอบและสกัดกั้น เพื่อคุ้มครองคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศไม่ให้ถูกหลอกลวงจากสาย/นายหน้าเถื่อน รวมทั้งได้ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีพฤติกรรมในการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ผ่านสายตรวจออนไลน์ อย่างเข้มงวด ซึ่งแรงงานไทยที่ถูกหลอกลวงสามารถแจ้งความหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

กรณีที่มีการโฆษณาการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ โดยการโฆษณาจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่มีผู้มาร้องทุกข์ว่าถูกหลอกลวงไปทำงานเก็บผลไม้ป่า และพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิด จะมีความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2561 มีคนหางานมาร้องทุกข์กับกรมการจัดหางาน กรณีถูกสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนหลอกจำนวน 123 ราย โดยส่วนใหญ่ถูกหลอกไปทำงานประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับสาย/นายหน้าเถื่อนดังกล่าวแล้ว

ที่มา: ข่าวสด, 4/2/2562

คนขอกลับคืนสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 148,363 คน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดำเนินการคืนสภาพผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดิมอีกครั้ง ว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการติดตามผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพกลับเป็นผู้ประกันตน โดยส่งหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีสิทธิจำนวน 777,228 คน

ซึ่งผลการติดตามมีผู้ประกันตนติดต่อกลับสู่ระบบประกันสังคมแล้วขณะนี้จำนวน 363,000 คน โดยแบ่งเป็นขอกลับคืนสิทธิเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 148,363 คน และกลับเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาสมัครมาตรา 40 หรือขอรับสิทธิชราภาพ หรือทายาทมาขอรับสิทธิกรณีตาย ไปแล้วจำนวน 214,637 คน โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จะคืนสภาพรีบดำเนินการติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด สาขา ทุกแห่งที่สะดวก หรือทางไปรษณีย์ (แนบแบบ สปส. 1-20/1) หรือทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2562

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนจะต้องชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้กลับเป็นผู้ประกันตน โดยจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขได้หลายช่องทางด้วยกัน คือ จ่ายด้วยเงินสด ณ สำนักงานประกันสังคมได้ทั่วประเทศ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ทุกสาขา ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา (seven - eleven) ผ่านระบบ Pay at Post ที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ หรือจ่ายทางธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ พร้อมแนบแบบส่งเงิน (สปส.1-11) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (บริษัทห้างเซ็นทรัล)

ทั้งนี้ ยังสามารถจ่ายเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ

โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณีเช่นเดิม คือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ

ซึ่งผู้ประกันคนจะต้องปกป้องสิทธิของตนเองโดยให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ และควรนำเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง จังหวัด สาขา ที่สะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: Sanook News, 3/2/2562

หลังช้างตกมันกระทืบควาญดับ คนเลี้ยงช้างดันออกกฎหมายสับตะขอ-คล้องโซ่เลี้ยงตามขนบ

ดร.บุญทา ชัยเลิศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยฝ่ายอาเซียนสัมพันธ์ ได้เปิดการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการปางช้างด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ประจำปี 2562 และการฝึกอบรมการควบคุมช้างอาละวาดและช้างตกมัน ที่สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 62 ที่ผ่านมา ณ ปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่

สพ.ญ.ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยในการศึกษาระดับปริญญาเอก หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ “ปัจจัยทางด้านการจัดการปางช้างที่มีผลต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของช้าง” บรรยายถึงความเหมาะสมของการเลี้ยงช้างเพื่อสวัสดิภาพที่ดี กำลังเป็นที่จับตาของต่างชาติ

แม้สถานที่ประกอบการช้างหลายๆ แห่งจะใช้ชื่อว่าแซงชัวรี่ (Sanctuary) ก็ตาม แต่จะมีความเหมาะสมหรือไม่ สภาวะความเป็นอยู่ สวัสดิภาพดีเพียงพอไหม? เป็นจุดที่นักกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์จากต่างประเทศดูอยู่ เราจะต้องทำอย่างไร ให้การเลี้ยงช้างของพวกเราเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้มีภาพรวมที่ดีขึ้น และต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งในด้านความปลอดภัยและสวัสดิการ สวัสดิภาพที่ดีของควาญช้างด้วย ไม่ใช่เพียงแต่มองในด้านสวัสดิภาพที่ดีของช้างเพียงฝ่ายเดียว

โดยในหลักการของการจัดการสัตว์เลี้ยงที่ได้มาตรฐานในระดับสากลนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงช้างไทยให้มีสวัสดิภาพที่ดีได้ด้วย เช่น มีอาหารและน้ำสะอาดที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของช้าง อาหารมีความสดใหม่ และหลากหลาย ช้างมีความสะดวกสบายจากสภาพแวดล้อมที่ดี มีร่มเงาให้พัก มีการรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ มีพื้นทีเพียงพอต่อการเคลื่อนไหว โซ่มีความยาวที่เหมาะสม ช้างมีสุขภาพที่ดี มียาและอุปกรณ์ในการรักษาดูแลที่เหมาะสม ช้างอยู่อย่างมีความสุขปราศจากความหวาดกลัวและทรมาน

และข้อสุดท้าย ช้างสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมตามปกติวิสัยได้ มีการสืบพันธุ์ตามฤดูกาลที่เหมาะสมเพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ เป็นการอนุรักษ์ช้างโดยไม่มีการบังคับขืนใจแต่อย่างใด

ด้าน น.สพ.เพชรธิศักดิ์ สมบัติภูธร สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ ผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมช้างตกมัน กล่าวถึงปัญหาช้างอาละวาดมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ความเครียด การตกใจ ความกลัว หรือช้างนั้นมีนิสัยที่ดุร้ายอยู่แล้ว รวมถึงการตกมันของช้างในช่วงฤดูการผสมพันธุ์ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างอาละวาด ยากต่อการควบคุม เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตผู้คนที่อยู่ในบริเวณและยังเป็นอันตรายต่อช้างด้วยกันเองอีกด้วย

น.สพ.เพชรธิศักดิ์ บอกว่า ควาญช้างต้องมีความเข้าใจและเอาใจใส่ดูแลช้างของตนให้ดี มีวิธีการจัดการที่เหมาะสม ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อทั้งช้างและคน มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดการช้างตกมัน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเป็นหมู่คณะ ไม่สามารถที่จะดำเนินการเพียงลำพัง แต่การจัดการจะง่ายและสะดวกต่อการควบคุมช้างได้มากขึ้น ถ้าควาญช้างได้รับการอบรมและมีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช้างแสดงอาการเบื้องต้น

“โรงพยาบาลช้าง ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ จ.ลำปาง มีคณะทำงานเพื่อดูแลและจัดการช้างตกมันที่พร้อมจะดำเนินการช่วยเหลือ เมื่อมีการร้องขอทุกเมื่อ ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะจัดการช้างตกมันได้ด้วยตัวเอง”

ส่วนในการดูแลช้างปกติที่ไม่ได้อยู่ในช่วงของการตกมันนั้น ช้างโดยธรรมชาติเขาเป็นสัตว์ป่า แม้จะนับเป็นช้างบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์หลายช่วงอายุแล้วก็ตาม ก็ต้องฝึกให้เขายอมรับในการใช้ตะขอ และโซ่ในการควบคุมดูแล และต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม ใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อให้การอยู่ร่วมกับคนได้อย่างปลอดภัย ใช้เพื่อเป็นภาษาในการสื่อสาร ไม่จำเป็นต้องสับหรือทำร้ายเขาให้ได้รับบาดเจ็บ ใช้เพื่อความปลอดภัยของคนเลี้ยง นักท่องเที่ยว และ แม้กระทั่งต่อช้างด้วยกันเอง เพื่อควบคุมการทะเลาะวิวาทในหมู่ช้างเกเร

“โซ่และตะขอสำคัญมากในการควบคุมช้าง เห็นควรว่าควรจะมีกฎหมายในการควบคุมการเปิดกิจการปางช้าง เพื่อเป็นการดูแลให้ความยุติธรรมทั้งช้างและคน เพื่อสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ดีทั้งสองฝ่าย”

นายวนชาติ บูรพาเกียรติ ผู้จัดการและควาญช้างปางช้างไทยอิเลแฟนท์โฮม บ้านแมตะมาน ต.กื้ดช้าง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าได้รับประโยชน์มากในการเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมดูแลช้างอาละวาด-ช้างตกมัน และวิธีการป้องกันตัว การระวังตัวในการเข้าหาช้างตกมัน ช้างอาละวาด

โดยส่วนตัวที่คลุกคลีกับช้างมานานตั้งแต่เป็นควาญช้างจนทุกวันนี้เป็นผู้จัดการปางช้าง ก็ยังคลุกคลีอยู่กับช้างมาโดยตลอด นับว่ารู้จักนิสัยช้างดีพอ ขอยืนยันว่าช้างกับตะขอเป็นของคู่กันที่ต้องใช้ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ควบคุมลำบาก เราจะแจ้งกับลูกค้าตรงๆ ว่าเราต้องใช้เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และความปลอดภัยของตัวควาญเองด้วย

“เห็นควรที่ต้องออกเป็นกฎหมายควบคุมอย่างจริงจังว่าให้ผู้เลี้ยงช้าง ต้องใช้ตะขอต้องใช้โซ่ในการเลี้ยงช้าง เราต้องยอมรับความเป็นจริง อย่าไปบิดเบือนความจริงของการเลี้ยงช้างไทยเรา”

นายอภิชิต ดวงดี ควาญช้างและเจ้าของปางช้างเอเลแฟ่นท์เรสคิวย์ปาร์ก กล่าวว่าการเลี้ยงช้างโดยไม่ใช้โซ่กับตะขอนั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ ถ้าฝืนทำก็จะกลายเป็นข่าวเศร้าอย่างที่ปรากฏมาเมื่อปลายปีที่แล้ว เราต้องมองไปที่ความปลอดภัยก่อน บางแห่งใช้วิธีบอกลูกค้าว่าไม่ใช้ตะขอและโซ่ แต่ก็แอบใช้ในเวลากลางคืน หรือเวลาที่ไม่มีลูกค้า ไม่ให้ลูกค้าเห็นเวลาใช้

“ถ้าจะให้ตนไปทำงานในปางช้างที่ประกาศว่าไม่ใช้โซ่ใช้ตะขอในการเลี้ยงช้าง ก็จะไม่ไปทำเป็นอันขาด เพราะกลัวตาย แต่ก็มีเพื่อนๆ ทำงานในปางช้างประเภทนั้นบ้าง เขาก็ไม่ได้เต็มใจเท่าไหร่ ต้องจำใจทำ เพราะเจ้าของเขาบังคับไม่ให้ใช้และให้รายได้ดี แต่พวกเขาก็รู้สึกกลัวและไม่มั่นใจ เลยมีการแอบใช้หนังสติ๊กและตะปูในการควบคุมช้างแทน”

นายธีรภัทร ตรังปราการ เจ้าของกิจการภัทรเอเลแฟ้นท์ฟาร์ม และนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย Thai Elephant Alliance Association ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ช้างโดยภาคเอกชน ให้ความเห็นว่า กิจกรรมอบรมในครั้งนี้มีประโยชน์ ควรที่จะจัดอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาวะจริงในการทำงานมีหลายเหตุปัจจัย ควรมีการซักซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอในการดูแลและจัดการช้างอาละวาดช้างตกมัน ทางปางช้างภัทรของตนก็พร้อมที่จะช่วย เสียสละส่งทีมจิตอาสามาอบรมและพร้อมที่จะเข้าไปช่วยในเหตุการณ์จริงถ้ามีช้างอาละวาด

ส่วนในความเห็นเรื่องของการใช้อุปกรณ์ควบคุมช้างเช่นโซ่ หรือ ตะขอนั้น ที่ปางช้างของตนก็ใช้ในภาวะจำเป็นต่างๆ เช่น ในการรักษาพยาบาล เพื่อสะดวกในการให้สัตวแพทย์ตรวจรักษาในสถานการณ์ที่ต้องควบคุมบ้างเป็นพิเศษ ส่วนในกรณีปางช้างที่จะไม่ใช้ตะขอหรือโซ่ในการควบคุมในการเลี้ยงช้างนั้น ส่วนตัวเห็นว่าถ้าช้างมีจำนวนน้อยแค่ 1-3 เชือกก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นปางใหญ่มีช้างจำนวนมาก ก็ลำบากในการควบคุมดูแล

“ถ้ามองระยะสั้นอาจจะมองเห็นว่าการไม่ใช้อุปกรณ์ในการควบคุมดูแลช้างนั้นให้อิสระแก่ช้าง แต่ในความเป็นจริงนั้นช้างก็ถูกกักขัง ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในคอกกั้นอยู่ดี แม้ว่าจะไม่ล่ามโซ่ไว้ ซึ่งเป็นทฤษฎีลวงว่าช้างนั้นได้รับอิสระ แต่ไม่ใช่เลย มันกลับส่งผลเสียมากกว่าที่จะมีผลดีกับตัวช้างเสียด้วยซ้ำ คือช้างจะมีความเครียดมากกว่าช้างที่ถูกล่ามโซ่ในพื้นที่เปิด ซึ่งมีผลการวิจัยรับรองอย่างเป็นทางการในการตรวจหาฮอร์โมนความเครียดของช้างในดุฏฎีนิพนธ์ของ สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์ จากศูนย์เพื่อความเป็นเลิศในการวิจัยช้างและสัตว์ป่า”

สำหรับแนวทางในการเลี้ยงช้างโดยไม่ใช้ตะขอกับโซ่เป็นอุปกรณ์ในการควบคุมดูแลช้างนั้น เป็นเพียงกระแสเพื่อลวงให้เข้าใจผิดว่าช้างได้รับอิสระ แต่บางแห่งก็เป็นการแค่ได้รับอิสระต่อหน้าลูกค้าเท่านั้น ในความเป็นจริงคือใช้แต่ไม่บอก ไม่เคยเห็นที่ไหนจะทำได้จริงเลย หรือแม้ว่าจะทำจริงๆ ก็เป็นการจับช้างเข้าขังในคอกเหมือนเดิม เป็นอิสระแค่เพียงในชั่วโมงที่ลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมเท่านั้น

ส่วนการเสนอให้มีข้อกฎหมายควบคุมการเลี้ยงช้างนั้น เห็นว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงออกต่อการรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่น ทั้งนักท่องเที่ยว คนเลี้ยงช้าง หรือแม้แต่ช้างด้วยกันเองก็จะปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากการทะเลาะวิวาทกันของช้างด้วย

“ขอเน้นย้ำว่าการเลี้ยงช้างโดยไม่มีอุปกรณ์การควบคุมดูแลช้างนั้น เป็นการริดรอนสิทธิของผู้เลี้ยงช้าง ของนักท่องเที่ยว และของตัวช้างเองด้วย”

ขณะที่นางสาวปักษธร สมินทรปัญญา นักวิชาการแรงงานชำนาญงาน สำนักงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมศึกษาดูงานและอบรมในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า แรงงานจังหวัดฯ มีหน้าที่ดูแลลูกจ้างให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ประสบอันตรายในการทำงาน ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับช้าง ตามที่ได้เห็นมาถือว่ามีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่สามารถสร้างอันตรายได้มาก ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้เข้ามาศึกษา เพื่อหาทางดูแลและคุ้มครองคนเลี้ยงช้าง ให้มีความปลอดภัยในการทำงานและมีสวัสดิการที่ดี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/2/2562

พรรคอนาคตใหม่ ดันตัวแทนแรงงานหญิงขึ้นที่ 3 บัญชีรายชื่อ มั่นใจได้เข้าสภา

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงาน แหล่งข่าวจากพรรค อนาคตใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับการเปิดกว้าง รับผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ สมัครเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

ปรากฏว่ามีทั้งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนขับแท็กซี่ เกษตรกร เป็เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค อีกทั้งตลอดช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา แกนนำพรรคอนาคตใหม่ไม่ว่าจะเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ประกาศบนเวทีปราศรัยอย่างมั่นใจหลายครั้งว่า พรรคอนาคตใหม่จะมีแรงงานตัวจริงเข้าสภาอย่างแน่นอน

ล่าสุด จากการจัดลำดับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ชื่อของนายธนาธร และนายปิยบุตร จะอยู่ในลำดับที่ 1 และ 2 ขณะที่ลำดับที่ 3 จะเป็น น.ส.วรรณวิภา ไม้สน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคอนาคตใหม่ในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่มีความมั่นใจว่า น.ส.วรรณิภา จะเป็นกรรมกรคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร

แหล่งข่าวระบุอีกว่าการมีชื่อของ น.ส.วรรณวิภา ปรากฏอยู่ในว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคในลำดับที่ 3 เป็นสิ่งยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่เอาจริงกับการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตายให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำระบบสวัสดิการให้เป็นสิทธิ์ ไม่ใช่การสงเคราะห์ เพราะการยกระดับรายได้คุณภาพชีวิตของประชาชน คือรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ทำให้ประชาชนสามารถดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่มุ่งมั่นที่จะทำในส่วนของนโยบายรัฐสวัสดิการ ได้แก่ 1.เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน 2.สนับสนุนเงินเลี้ยงดูบุตรอายุ 0-6 ปี เดือนละ 1,200 บาท 3.สนับสนุนค่าครองชีพและเริ่มต้นชีวิตของเยาวชนอายุ 18-22 ปี เดือนละ 2,000 บาท 4.ขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ 5.เพิ่มเงินค่าครองชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 1,800 บาท 6.เพิ่มงบรายหัวในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็น 4,000 บาทต่อคนต่อปี

โดยคาดว่าทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณ 370,000 ล้านบาท ซึ่งแนวทางการหารายได้มาจากการจัดสรรงบประมาณประมาณเสียใหม่ เช่น ลดงบที่ไม่จำเป็นในระบบราชการ ลดงบประมาณอุดหนุนกองทัพ เป็นต้น

สำหรับ น.ส.วรรณวิภา อายุ 36 ปี เป็นชาว จ.อุตรดิตถ์ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนศรีนคร จ.สุโขทัย, ปวช.คอมพิวเตอร์ธุรกิจ กาญจนาภิเษกสมุทรปราการ จากนั้นเดินทางเข้ามาทำงานเป็นแรงงานในโรงงานหลายแห่ง ปัจจุบัน เป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมาร่วมต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด จึงเข้าใจและทราบปัญหาของผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างดีว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิที่พึงได้รับของผู้ใช้แรงงานต่อผู้บริหาร รวมถึงหน่วยงานรัฐ มักถูกเมินเฉย ไม่ได้รับการตอบรับหรือดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ปัญหาเก่าไม่ได้รับการแก้ไขและยังเพิ่มปัญหาใหม่ขึ้นมา

โดย น.ส.วรรณิภา เคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า การมีผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง นับว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น อยากให้ผู้ใช้แรงงานมั่นใจว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานจะถูกผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากกว่าที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระบุอีกว่า สำหรับรายชื่อของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ในลำดับต้นๆ นอกจากนายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.วรรณวิภา แล้ว ยังปรากฏรายชื่อของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหน้าพรรค น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักธุรกิจชื่อดัง เป็นต้น ทั้งนี้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จะมีการประชุมสรุปการจัดลำดับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: ข่าวสด, 30/1/2562

รมว.แรงงาน มอบเงินเยียวยาทายาทลูกจ้างเสียชีวิต เหตุคอนโดมิเนียมย่านพระราม 3 ถล่ม

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ถึงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบอันตรายขณะกำลังต่อเครน เพื่อก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง บนถนนพระราม 3 ซอย 45 แขวงโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีผู้ประสบอันตราย 10 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย และได้รับบาดเจ็บ 5 ราย

โดยการประสบอันตรายดังกล่าวเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บมีสิทธิประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงในส่วนของลูกจ้างที่เสียชีวิต ในวันนี้ (28 ม.ค. 2562) ตนได้มอบเงินให้กับทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้ผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 5 ราย ดังนี้

นายวิทูณ ไชยมี ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,812,728.60 บาท

นายเติมศักดิ์ ศรีพิทักษ์ ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,792,370.16 บาท

นายวิชา กาวีอ้าย ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,423,156.86 บาท

นายศิลป์ กาศสกุล ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,548,981.14 บาท

นายธนโชค บริคุต ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,368,890.40 บาท

ที่มา: คมชัดลึก, 30/1/2562

เตรียมงานรองรับนักเรียน-นักศึกษาช่วงปิดภาคเรียน กว่า 23,000 อัตรา เริ่มรับสมัคร 1 ก.พ. 2562 นี้

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน ประจำปี 2562” พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ สถานประกอบการ 21 แห่ง เพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียนหรือนักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียน หรือช่วงว่างจากการเรียในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน เปิดรับสมัครพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้มีงานทำในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน ได้รับการเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำงานจริง ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ลดการมั่วสุมและการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รู้จักความอดทน มีระเบียบวินัย และได้เรียนรู้โลกของอาชีพอันเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว รวมทั้งมีรายได้ในระหว่างการเรียน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยมีการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามรูปแบบ “ประชารัฐ” และได้รับการตอบรับจากนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,163 แห่ง เป็นกรุงเทพมหานคร 124 แห่ง ส่วนภูมิภาค 1,039 แห่ง สามารถส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้ถึง 35,403 คน จากเป้าหมาย จำนวน 30,000 คน สร้างรายได้จำนวนทั้งสิ้น 458,822,880 บาท

รมว.แรงงาน กล่าวว่าสำหรับในปีงบประมาณ 2562 มีเป้าหมายส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน/นักศึกษา จำนวน 50,000 คน ขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างรองรับแล้ว 631 ตำแหน่ง 23,609 อัตรา อาทิ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป พนักงานบริการลูกค้า พนักงานฝ่ายผลิต สถานพนักงานประจำร้าน พนักงานจัดเรียงสินค้า เป็นต้น สถานประกอบการ 1,029 แห่ง งาน“ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน ประจำปี 2562” ในวันนี้เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2561 โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน/นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน “ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน” ระหว่าง กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสถานประกอบการ 21 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท เมเจอร์ซีนิเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด (บาร์บิคิว พลาซ่า) บริษัท บางจากกรีนเนท จำกัด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย ยามาซากิ จำกัด บริษัท ฟูจิ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เมซโซ่ จำกัดบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท แมคไทย จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด (ซานตาเฟ้) บริษัท กาโตว์ เฮ้าส์ จำกัด บริษัท บิซิเนสเซอร์วิสเซสอัลไลแอนซ์ จำกัด (อเมซอน คาเฟ่) และบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าจ้างที่นักเรียน/นักศึกษาจะได้รับไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 40 บาท ระยะเวลาทำงานคือ 1) เปิดภาคเรียนปกติ : วันเรียนปกติ ไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง วันหยุดเรียน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง 2) ปิดภาคเรียน : ไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง 3) สัปดาห์ละไม่เกิน 36 ชั่วโมง สำหรับในส่วนของการดูแลปฏิบัติงานนั้น จะมีการจัดหาพี่เลี้ยงในการสอนและมอบหมายงาน รวมทั้งเสริมสร้างวินัยให้แก่นักเรียน นักศึกษา และในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยระหว่างทำงาน นายจ้างยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ขณะที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะจัดส่งนักเรียน นักศึกษา ฝึกอบรมความรู้เบื้องต้น เช่น การทำงานเป็นทีม มีจิตบริการ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นต้น พร้อมทั้งปฐมนิเทศก่อนส่งตัวเข้าทำงานระหว่างวันที่ 1–8 มี.ค. 2562

ทั้งนี้นักเรียน นักศึกษาสามารถสมัครได้หลายช่องทางคือ 1. ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ที่อาคาร 3 ชั้น ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ , สำนักงานจัดหางานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10, สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด 2. สถานประกอบการที่รับนักเรียน นักศึกษาเข้าทำงาน 3. เว็ปไซต์ : www.smartjob.doe.go.th 4. สายด่วน 1506 สมัครตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป

“โครงการ“ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน ประจำปี 2562” จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งผู้ปกครองว่าบุตรหลานได้ฝึกการทำงาน ไม่ไปเล่นเกมส์ หรือเที่ยวแหล่งอบายมุขช่วงปิดภาคเรียน ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็จะไม่ขาดแคลนแรงงาน และได้ทำประโยชน์ต่อสังคม ขณะที่นักเรียน นักศึกษาก็ได้ฝึกความอดทน ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ เห็นคุณค่าของเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เรียนรู้โลกแห่งการทำงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานจริง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506” รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 28/1/2562

ชื่นชมพนักงานสนามบินหญิง หลังถูกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตบแต่ไม่ตอบโต้

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่าได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ขอสงวนสัญชาติ) รายหนึ่งได้ทำร้ายร่างกายพนักงานจุดตรวจค้นสัมภาระขณะที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงโดยเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 26มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พนักงานได้ปฎิบัติหน้าที่ตามที่ถูกฝึกอบรมมาเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยขององค์การบินระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด แต่กลับถูกนักท่องเที่ยวสาวรายนี้ไม่ยอมให้ตรวจและทำร้ายร่างกาย ซึ่งหลังเกิดเหตุทราบว่าพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ต้องขอชื่อชมพนักงานสาวรายนี้ที่มีความอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ที่ผ่านมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเองได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้บริการและอบรมพนักงานให้มีความอดทนอดกลั้นต่อทุกสภาพอารมณ์ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละวันไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพนักงานคนดังกล่าวถึงแม้จะถูกกระทำแต่ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรและไม่ติดใจเอาความ เนื่องจากเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกรงว่าอาจส่งผลกระทบภาพรวมของการให้บริการภายในสนามบินได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/1/2562

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คนงานเจเนอรัลมอเตอร์ในอเมริกาเหนือคัดค้านการเลย์ออฟ-ปิดโรงงาน

$
0
0

กลุ่มคนทำงานบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์คัดค้านการปลดพนักงานโดยอ้างเรื่อง "ปรับโครงสร้าง"โดยพวกเขาจะนัดชุมนุมกันเองโดยไม่ได้มาจากการจัดตั้งของกลุ่มสหภาพแรงงานใดๆ

ที่มา: wsws.org

ทั้งนี้บริษัทเจเนอรัลมอเตอร์ (GM) ปลดคนงานราว 4,250 คน ในวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างบริษัทช่วงก่อนการรายงานผลประกอบการปี 2561 และผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา

ในแผนการปรับโครงสร้างนี้จะทำให้มีการปรับลดตำแหน่งงานทั้งหมดลงราว 14,000-15,000 ตำแหน่ง อีกทั้งทาง GM ก็เคยประกาศไว้เมื่อปลายปี 2561 ที่่ผ่านมาว่าพวกเขามีแผนการจะปิดตัวโรงงาน 4 แห่งในสหรัฐฯ และแห่งที่ 5 ในแคนาดา

สาเหตุที่ GM มีแผนการปรับโครงสร้างนี้ พวกเขาอ้างว่าเพื่อเป็นการ "ปรับลดรายจ่าย" 6,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อนำไปลงทุนในยานยนต์ยุคใหม่เช่นรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง รวมถึงพยายามผลักดันให้มีบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร ซึ่งเป็นการที่ GM พยายามหารายได้จากบริการแทนการขายรถ

อย่างไรก็ตามเว็บไซต์สังคมนิยม World Socialist ก็ระบุว่าการปิดตัวที่จะลดคนงานรับเงินเดือนประจำลงร้อยละ 15 ของ GM อ้างว่าเป็นไปเพื่อลดรายจ่ายก็จริง แต่ทาง GM เองก็ใช้เงินไปถึง 10,600 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2558 เพื่อซึ้อคืนหุ้นของบริษัท ซึ่งเป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ผลงานของเหล่าขุนคลังของบริษัทเอง

การปลดคนงานในครั้งนี้ยังสร้างความไม่พอใจและการต่อต้านจากกลุ่มคนงานยานยนต์ทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดา ผู้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการปรับลดตำแหน่งงานที่เป็นผลมาจากการที่สหภาพแรงงานยานยนต์ร่วมมือกับรัฐบาลโอบาม่าในปี 2552 ที่บีบให้ GM ล้มละลายและต้องปรับโครงสร้าง ทั้งนี้การปลดคนงานยังกลายเป็นการทำให้พื้นที่ในสหรัฐฯ และแคนาดาเหล่านี้ยากจนลงไปอีกหลังจากที่ได้รับความเสียหายจากการลดลงของภาคส่วนอุตสาหกรรมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ยังเคยมีการประท้วงในช่วงเดือน ม.ค. จากกลุ่มคนงานในโอชาวา ประเทศแคนาดา ที่นั่งปักหลักประท้วงหลังจากที่ซีอีโอของ GM แมรี บาร์รา ประกาศว่าเธอจะพิจารณาใหม่อีกครั้งในเรื่องการตัดสินใจสั่งปิดโรงงาน โดยที่คนงานเหล่านี้ชุมนุมกันเองอย่างเป็นอิสระจากสหภาพยูนิฟอร์ จนทำให้เจ้าหน้าที่ของสหภาพยูนิฟอร์กลัวและใช้วิธีก่อกวนเพื่อพยายามปราบพยศ

ทั้งนี้เว็บไซต์ World Socialist ยังระบุว่าจะมีการนัดชุมนุมของกลุ่มคนงานหน้าสำนักงานใหญ่ของ GM ในวันที่ 9 ก.พ. เพื่อต่อต้านการสั่งปิดโรงงานด้วย โดยมีการประสานงานร่วมกับคนงานเม็กซิกัน 70,000 คนในมาตาโมรอสที่ปักหลักประท้วงมาเป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งการประท้วงของพวกเขาเป็นการเรียกรวมตัวเพื่อการงานและคุณภาพชีวิตของตัวเองโดยไม่ขึ้นกับสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (UAW) และยูนิฟอร์เช่นกัน

เรื่องนี้ยังทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่เคยให้สัญญาเรื่องการสร้างงานเพิ่มออกมาวิจารณ์แสดงการต่อต้านการสั่งปิดโรงงานในครั้งนี้โดยเฉพาะในโอไฮโอซึ่งเป็นรัฐที่เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2559

เรียบเรียงจาก

GM to start laying off 4,000 salaried workers on Monday, CNN, 01-02-2019

GM to lay off 4,250 salaried workers in North America starting Monday, World Socialist Web Site, 02-02-2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ครอบครัวชาวอาร์เมเนียจะไม่ถูกส่งกลับ-หลังโบสถ์เนเธอร์แลนด์สวด 3 เดือนปกป้องผู้ลี้ภัย

$
0
0

กรณีช่วงปลายปี 2561 โบสถ์เบเธล ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้วิธีสวดนมัสการในโบสถ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้อพยพชาวอาร์เมเนียไม่ให้ถูกส่งตัวกลับประเทศ ทั้งนี้เพราะกฎหมายเนเธอร์แลนด์ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ซึ่งดำเนินพิธีกรรมทางศาสนา โดยล่าสุดครอบครัวผู้อพยพชาวอาร์เมเนียได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้อยู่ต่อ ไม่ต้องมีการส่งตัวพวกเขากลับแล้ว

โบสถ์ในเนเธอร์แลนด์ให้ที่พักพิงผู้ลี้ภัย สกัดเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการทำพิธีนมัสการติดต่อกัน 5 สัปดาห์, 2 ธ.ค. 2561

Bethel International Church (BIC) Den Haag ที่มา: Google Maps

หลังจากที่โบสถ์จัดพิธีกรรมพร้อมกับให้ที่พักพิงครอบครัวผู้อพยพทัมราซยันมาเป็นเวลา 96 วันติดต่อกัน ล่าสุดสื่อ PRI ก็รายงานว่าครอบครัวทัมราซยันไม่ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศแล้ว หลังจากที่ 4 พรรคแนวร่วมรัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีข้อตกลงว่าจะพิจารณาใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับกรณีผู้ขอพักพิงในประเทศหลายร้อยกรณี โดยเป็นกรณีที่ครอบครัวเหล่านั้นมีเด็กที่เกิดในเนเธอร์แลนด์หรือใช้เวลาส่วนใหญ่เติบโตในเนเธอร์แลนด์ ทำให้เด็กมากกว่า 600 รายที่เคยถูกสั่งให้ส่งตัวออกนอกประเทศมีโอกาสที่จะอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ต่อไปได้อีก

ในกรณีของครอบครัวทัมราซยันที่มีสมาชิกครอบครัวอยู่ 5 รายนั้น ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยถูกปฏิเสธไม่ให้ลี้ภัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์มาก่อน อย่างไรก็ตามพวกเขามีลูก 3 คนที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มาเป็นเวลา 9 ปี แล้ว พวกเขามีอายุ 15, 19 และ 21 ปี

ผู้เป็นพ่อของครอบครัวทัมราซยันจำเป็นต้องหนีออกจากอาร์เมเนียเนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง เขาเดินทางออกจากประเทศพร้อมครอบครัวและขอลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์ แต่กรณีของเขาก็ใช้เวลาพิจารณายาวนานมาเป็นเวลา 6 ปี แล้ว โดยศาลเนเธอร์แลนด์เคยอนุญาตให้พวกเขาลี้ภัยได้ แต่ทางรัฐบาลกลับพยายามจะส่งตัวพวกเขาออกนอกประเทศ

โบสถ์เบเธลในกรุงเฮก ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ดำเนินพิธีกรรมทางศาสนามาตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไม่มีหยุดโดยอาศัยเหล่านักบวชทั่วยุโรปและอย่างน้อยหนึ่งรายจากสหรัฐฯ ที่อาสาสมัครมาเป็นผู้ดำเนินพิธีกรรมผลัดเปลี่ยนกะกันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2561 และเพิ่งหยุดพิธีกรรมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศเรื่องการพิจารณาผ่อนผันผู้ลี้ภัย

วิธีการดำเนินพิธีกรรมของนักบวชเหล่านี้ทำให้สื่อจากนานาชาติให้ความสนใจ จนกลายเป็นการกดดันรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ผล โดยที่ ฮาร์ยาร์ปี ทัมราซยัน กล่าวขอบคุณเหล่าผู้อาสาสมัครดำเนินพิธีกรรมทำให้พวกเขา "ดำเนินชีวิตต่อไปได้"ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ถูกยกเลิกคำสั่งส่งตัวกลับประเทศแล้ว

เรียบเรียงจาก

Dutch church ends 96-day service as Armenian family spared deportation, PRI, 01-02-2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รอบโลกแรงงาน มกราคม 2019

$
0
0

จีนจะเข้าสู่ยุคอัตราเติบโตของประชากรลดลง

เมื่อวันวันที่ 3 ม.ค. 2019 มีการประกาศ 'หนังสือปกเขียวเกี่ยวกับจำนวนประชากรและแรงงาน: รายงานปัญหาจำนวนประชากรและแรงงานฉบับที่ 19'ณ กรุงปักกิ่ง รายงานฉบับนี้ระบุว่ายุคของอัตราเติบโตของประชากรลดลงของจีนกำลังจะมาถึง

จากการคาดการณ์ จีนจะมีจำนวนประชากรสูงถึง 1,442 ล้านคนในปี 2029 หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไปอัตราเติบโตจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2050 จำนวนประชากรจะลดลงเหลือ 1,364 ล้านคน ในปี 2065 เหลือ 1,248 ล้านคน เทียบเท่ากับขนาดของประชากรในปี 1996 หากอัตราการให้กำเนิดบุตรยังคงอยู่ในระดับ 1.6 โดยตลอด จะทำให้อัตราเติบโตของจำนวนประชากรที่ลดลงมาถึงเร็วกว่าที่คาด คือเกิดขึ้นประมาณปี 2027 ทำให้เมื่อถึงปี 2065 จำนวนประชากรจะลดลงเหลือ 1,172 ล้านคน เทียบเท่ากับขนาดของประชากรในปี 1990

ที่มา: China Radio International, 7/1/2019

ANA เปิดเผยผลการตรวจสอบกรณีที่นักบินผู้หนึ่งของบริษัทในเครือดื่มสุราก่อนออกบิน

นักบินผู้หนึ่งของบริษัทในเครือออล นิปปอน แอร์เวย์ส หรือ ANA ซึ่งถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ก่อนออกบิน ได้รายงานเท็จเกี่ยวกับเวลาและปริมาณที่ตนได้ดื่มสุรา และยังได้ให้นักบินผู้ช่วยกล่าวเท็จเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตนด้วย

นักบินในช่วงอายุ 40 ปีสังกัดบริษัท ANA Wings ผู้นี้ ถูกเปลี่ยนตัวก่อนออกบินในเที่ยวบินหนึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ เนื่องจากเขาไม่ผ่านการตรวจแอลกอฮอล์ เหตุดังกล่าวทำให้เที่ยวบิน 5 เที่ยวต้องล่าช้า

บริษัทออล นิปปอน แอร์เวย์ส กล่าวว่านักบินคนดังกล่าวรายงานต่อเจ้าหน้าที่บริษัทในตอนแรกว่าเขาดื่มสุราไฮบอล 2 กระป๋อง กระป๋องละ 350 มิลลิลิตร ในห้องพักของตนที่โรงแรม แต่มีการตรวจพบภายหลังว่าที่จริงแล้วเขาได้ดื่มเบียร์ ไฮบอล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกอย่างหนึ่งที่ร้านอาหาร ซึ่งมีปริมาณรวมราว 1.2 ลิตร

นักบินคนนี้ยังได้ปฏิเสธด้วยว่าตนไม่ได้ละเมิดกฎของบริษัทที่ห้ามไม่ให้ดื่มสุราในช่วง 12 ชั่วโมงก่อนออกบิน

ทว่าในความเป็นจริงแล้วเขาได้ดื่มสุราเกินกำหนดเวลา โดยละเลยไม่ฟังคำเตือนจากนักบินผู้ช่วยซึ่งร่วมโต๊ะที่ร้านอาหาร นอกจากนี้เขายังขอให้นักบินผู้ช่วยกล่าวเท็จด้วยว่าเขาไม่ได้ละเมิดกฎระเบียบ

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 8/1/2019

Jaguar Land Rover เตรียมเลิกจ้างพนักงานสูงสุดถึง 4,500 คน

Jaguar Land Rover เตรียมเลิกจ้างพนักงานสูงสุดถึง 4,500 ตำแหน่ง จากกำลังแรงงานทั้งหมด 40,000 คน ในสหราชอาณาจักร เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันภายหลังการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยแผนกที่คาดว่า จะมีการปรับลดจำนวนพนักงานลง ได้แก่ ฝ่ายบริหาร, การตลาดและธุรการจะได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่มีความเป็นไปได้ที่พนักงานฝ่ายผลิตบางส่วนจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ที่มา: thenational.ae, 10/1/2019

รัฐมนตรีแรงงานญี่ปุ่นขออภัยเรื่องที่กระทรวงเปิดเผยตัวเลขสถิติที่ไม่เหมาะสม

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ให้คำมั่นจะหาความจริงว่าเพราะเหตุใดทางกระทรวงจึงเปิดเผยตัวเลขสถิติด้านแรงงานที่ไม่เหมาะสมหลายรายการ ซึ่งมองกันว่าเรื่องนี้เป็นเหตุให้ผู้คนหลายล้านคนได้รับเงินสิทธิประโยชน์น้อยกว่าที่ควรได้รับ

ระหว่างการแถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม นายทากูมิ เนโมโตะ รัฐมนตรีแรงงานของญี่ปุ่น ได้ขออภัยอย่างสุดซึ้งจากการที่ทางกระทรวงได้เปิดเผยตัวเลขสถิติที่รวบรวมด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมมานานหลายปี ซึ่งได้ทำให้สาธารณชนได้รับผลเสีย ตัวเลขที่เป็นปัญหานี้รวมถึงสถิติเงินค่าจ้าง และสถิติจำนวนชั่วโมงทำงานที่สำรวจเป็นรายเดือน

โดยหลักการแล้วจะต้องดำเนินการสำรวจเช่นนี้ต่อธุรกิจรายใหญ่ทั้งหมดที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีการสำรวจบริษัทขนาดใหญ่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวเพียงหนึ่งในสามของทั้งหมดในกรุงโตเกียวเท่านั้น

ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมนี้ทำให้มีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน ตลอดจนเงินค่าเสียกายกรณีเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นายเนโมโตะกล่าวว่าตนหวังจะทำหน้าที่รับผิดชอบด้วยการกำกับดูแลให้มีการสืบหาความจริงอย่างถี่ถ้วน รวบรวมมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นซ้ำสอง และจ่ายเงินสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสมแก่ผู้คนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 11/1/2019

พนักงานรักษาความปลอดภัยสนามบินในเยอรมนีประท้วงหยุดงาน

พนักงานรักษาความปลอดภัยสนามบิน 3 แห่ง ในเยอรมนีผละงานประท้วงเป็นเวลา 1 วัน มีรายงานว่าต้องยกเลิกเที่ยวบินที่ดุสเซลดอร์ฟ 350 เที่ยว สตุทการ์ท 142 เที่ยว และที่โคโลญ-บอนน์ 131 เที่ยว ทั้งนี้สหภาพแรงงานเรียกร้องขอขึ้นค่าตอบแทนรายชั่วโมงให้กับลูกจ้างทั้งหมด

ที่มา: time.com, 10/1/2019

แรงงานในอนาคตต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อแข่งขันกับหุ่นยนต์

เจนเนล ชาเวซ (Jennail Chavez) อายุ 25 ปี เคยทำงานอยู่ในคลังเก็บสินค้าแห่งหนึ่งและต้องการหางานใหม่ที่ดีกว่า จึงกลับไปเรียนหนังสือต่อ และหลังจากเรียนต่อที่วิทยาลัยการช่าง Los Angles Trade Technical College ชาเวซวางแผนว่าจะทำงานเป็นผู้รับเหมาทั่วไป เธอชอบทำงานด้านการก่อสร้างและไม่ลังเลแม้ว่างานการก่อสร้างเป็นงานของผู้ชาย

ชาเวซบอกว่าต้องการทำงานที่เหมาะกับบุคลิกส่วนตัว จึงหันมาทำงานด้านการก่อสร้าง แต่ไม่นานหลังจากนั้น เธอค้นพบว่าความสามารถที่เรียนรู้จากวิทยาลัยการช่างกำลังจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์

เธอกล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถสร้างบ้านได้ ทำให้วิตกกังวลว่านี่จะทำให้เธอกำลังจะตกงาน

ลอเรนซ์ แฟรงค์ (Laurence Frank) ประธานของวิทยาลัยการช่าง Los Angeles Trade Technical College กล่าวว่า แรงงานในสหรัฐฯ ปัจจุบันจำเป็นต้องเข้ารับการฝึกฝนความสามารถใหม่เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป เขากล่าวว่า คนงานต้องเรียนรู้ความสามารถใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

เจค็อบ พอร์ทิลโล (Jacob Portillo) เข้าใจดีถึงความจำเป็นของการรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขาเพิ่งจบจากโครงการฝึกอบรมด้านการทำงานกับรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล

เขากล่าวว่า ทุกปีที่ผ่านไป ระบบต่างของรถบรรทุกวิวัฒนาการไปสู่ระบบที่แตกต่างไปกลายเป็นเรื่องใหม่ ตัวเขาเองต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและต้องวิวัฒนาการตามงานที่ทำ

ตำแหน่งงานต่างๆ ที่ต้องใช้ความคิดระดับสูง ต้องขบคิดเพื่อแก้ปัญหา เป็นงานที่หุ่นยนต์ทดแทนได้ยาก แฟรงค์กล่าวว่า งานช่างประปา ช่างไฟฟ้า เป็นงานที่ต้องแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา ต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา งานในตำแหน่งเหล่านี้มีความมั่นคงสูงเพราะหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนมนุษย์ได้ยาก

นอกจากนี้ ตำแหน่งงานที่ต้องใช้ความสามารถด้านอารมณ์ (Soft skills) อย่างเช่น การสื่อสาร การจัดการเวลา และงานที่ต้องทำเป็นทีม จะช่วยให้แรงงานมีงานทำต่อไปในอนาคต

เจน โอทส์ (Jane Oates) ประธานของ Working Nation หน่วยงานรณรงค์เพื่อส่งเสริมการเตรียมแรงงานชาวอเมริกันให้พร้อมกับตำแหน่งงานในอนาคต บอกว่า มีความจำเป็นมากที่ต้องสอนนักเรียนนักศึกษาสมัยใหม่ให้เป็นนักสื่อสารที่ดี ทำงานเป็นทีม และมีความสามารถในการวิเคราะห์

โอทส์กล่าวว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยจำนวนมากในสหรัฐฯ ตามไม่ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อพูดถึงการเตรียมตัวนักเรียนนักศึกษาให้พร้อมกับตลาดงานในอนาคต

เขากล่าวว่า มหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษาควรว่าจ้างคนที่มีความรู้จากภาคอุตสาหกรรมเข้าไปสอนหนังสือ

โอทส์กล่าวว่า ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้และการปรับตัวจะไม่มีทางสิ้นสุด เราต้องครุ่นคิดตลอดเวลาว่าจะพัฒนาตนเองให้เหมาะกับงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

และสำหรับ เจนเนล ชาเวซ เธอบอกว่าจะทำงานในภาคการก่อสร้างไปอีกสักสองสามปี และวางแผนว่าจะกลับไปเรียนต่อทางด้านไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ที่มา: VOA, 13/1/2019

จีนเกิดกระแสหางานทำในเขตชนบท

สำนักข่าวจีนรายงานว่าสถิติจากกระทรวงการเกษตรและชนบทของจีนพบว่า ปัจจุบันจีนมีประชากรจำนวน 7,800,000 คน ออกจากเมืองเพื่อไปบุกเบิกพัฒนาธุรกิจในเขตชนบท ถึงแม้ว่าจีนกำลังอยู่ในกระบวนการการพัฒนาในเขตเมือง แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีกระแสหันไปบุกเบิกพัฒนาธุรกิจในเขตชนบทที่นับวันจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

ปีหลังๆ มานี้  จีนใช้มาตรการจำนวนหนึ่งเพื่อให้สิทธิพิเศษในการพัฒนาการเกษตรและให้ชาวนามีความมั่งคั่งขึ้น สนับสนุนการก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคของเขตชนบท เร่งกระบวนการการพัฒนาพร้อมกันทั้งตัวเมืองและเขตชนบท ส่งเสริมให้ผู้ที่มีเงินทุน มีเทคนิคและมีความสามารถพิเศษบุกเบิกพัฒนาธุรกิจในเขตชนบท เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่แรงงานในเขตชนบทจำนวนมากไปหางานทำในเมืองเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันโอกาสการมีงานทำและโอกาสการพัฒนาในเขตชนบทมีมากขึ้น

จากตัวเลขสถิติพบว่าเมื่อปี 2018 เฉพาะการเกษตรเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการท่องเที่ยวในเขตชนบทของจีนสร้างรายได้มูลค่ากว่า 800,000 ล้านหยวน การบริโภคทางอินเทอร์เน็ตของเขตชนบททะลุ 1.3 ล้านล้านหยวน  ซึ่งช่วยให้เกษตรกรจำนวน 2,800,000 คน มีงานทำ

ที่มา: China Radio International, 13/1/2019

'นักพัฒนาซอฟต์แวร์'ครองแชมป์งานที่ดีที่สุดแห่งปี 2019

รายงานของ U.S. News & World Report ระบุว่าอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอาชีพที่ดีที่สุดในปีใหม่นี้ โดยเงินเดือนเฉลี่ยสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ที่ 101,790 ดอลลาร์ หรือราว 3,200,000 บาทต่อปี และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะไม่ได้มีอัตราเฉลี่ยของเงินเดือนสูงที่สุด หรือไม่ได้มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุด แต่คาดการณ์ว่าความต้องการในตำแหน่งงานนี้จะมีเพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 30 ระหว่างปี ค.ศ. 2016 และ ค.ศ. 2026 Rebecca Koenig ผู้สื่อข่าวของ U.S. News and World Report กล่าวว่า ระดับความเครียดโดยเฉลี่ยช่วยให้อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์นี้ติดอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะเป็นงานที่มีความเครียดน้อยกว่างานอื่นๆ

ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่ติด 10 อันดับแรกของการจัดอันดับงานที่ดีที่สุดของสหรัฐอเมริกาในปี 2019 ได้แก่ อาชีพกุมารแพทย์ (อันดับที่ 8) พยาบาลเวชปฏิบัติ (อันดับที่ 7) และทันตแพทย์ (อันดับที่ 4) ส่วนอันดับที่ 2 คืออาชีพนักสถิติ ซึ่งกระโดดขึ้นมาสี่อันดับจากเมื่อปีที่แล้ว และอัตราการว่างงานของอาชีพนี้ก็ลดลงจากร้อยละ 1.4 เหลือเพียงร้อยละ 0.9 ในปีนี้ ซึ่งแม้ว่าคุณจะมีอาชีพที่ดีเยี่ยม แต่ถ้าหากไม่มีใครจ้างงาน หรือคู่แข่งในทักษะเดียวกันยังว่างงานกันอยู่มาก ก็คงไม่มีความหมาย ดังนั้นอัตราการว่างงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าอาชีพใดควรจะอยู่ในอันดับต้นๆ

สรุป 10 อันดับแรกของอาชีพที่ดีที่สุดในปี ค.ศ. 2019 อันดับ 1 นักพัฒนาซอฟต์แวร์ อันดับ 2 นักสถิติ อันดับ 3 ผู้ช่วยแพทย์ อันดับ 4 ทันตแพทย์ อันดับ 5 มี 2 อาชีพ ได้แก่ ทันตแพทย์จัดฟัน และพยาบาลผู้ช่วยวิสัญญีแพทย์ อันดับ 7 อาชีพพยาบาลเวชปฏิบัติ อันดับ 8 กุมารแพทย์ และอันดับ 9 มี 4 อาชีพด้วยกัน ได้แก่ สูตินรีแพทย์, ศัลย์แพทย์ในช่องปากและใบหน้าขากรรไกร, ทันตแพทย์ทันตกรรมประดิษฐ์ และอายุรแพทย์

U.S. News & World Report ดึงข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการจ้างงานสูงสุดนี้มาจากสำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อคำนวณว่าอาชีพไหนคืออาชีพที่ดีที่สุด โดยอาศัย 7 ปัจจัยในการคำนวณ อาทิ เงินเดือนเฉลี่ย อัตราการว่างงาน การเติบโตในระยะเวลา 10 ปี โอกาสการทำงานในอนาคต ระดับความเครียด และสมดุลของชีวิตในการทำงาน

ที่มา: VOA, 16/1/2019

Tesla มีแผนที่จะปรับลดพนักงานประจำ 7%

Elon Musk ซีอีโอของ Tesla แจ้งว่าบริษัทมีแผนที่จะปรับลดพนักงานประจำร้อยละ 7 เพราะต้องการควบคุมต้นทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตรากำไร โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2018 Tesla พึ่งมีการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 30%

ที่มา: businessinsider.com, 18/1/2019

สื่อใหม่ชื่อดัง BuzzFeed และ HuffPodst ลดพนักงานเพิ่ม

สื่ออังกฤษรายงานเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2019 ว่าหลังจาก BuzzFeed สื่อเว็บไซต์ชื่อดังได้ประกาศปลดพนักงานครั้งแรกไป 100 ตำแหน่ง จากพนักงานทั้งหมด 1,700 คน ล่าสุด BuzzFeed  ประกาศภายในองค์กรว่าจะลดพนักงานเพิ่มเติมอีก 200 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน HuffPodst อีกหนึ่งสื่อชื่อดังได้ลดนักข่าวไปร้อยละ 10 มาแล้ว

ที่มา: theguardian.com, 27/1/2019

เกาหลีใต้ว่าจ้างแรงงานกัมพูชาหลายพันคน

การโยกย้ายถิ่นทั้งภายในและนอกประเทศเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยพบว่าเขตชนบทของกัมพูชายังตามไม่ทันเนื่องจากไร้การพัฒนาและคนเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

และในบรรดาประเทศต่างชาติ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่แรงงานกัมพูชานิยมมากที่สุดและแรงงานต้องแข่งขันกันในระดับหนึ่งเพื่อจะได้ไปทำงานในเกาหลีใต้ที่ต้องการแรงงานจากกัมพูชาปีละสี่พันคน

ดี เทโฮยา เจ้าหน้าที่โครงการแห่ง Central หน่วยงานรณรงค์สิทธิ์แรงงานกัมพูชา กล่าวว่าเกาหลีใต้เสนอสภาพการทำงานที่ดีกว่าประเทศอื่น ตลอดจนเคารพต่อสิทธิ์มนุษยชนและให้ค่าแรงที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับงานในกรุงพนมเปญหรือในประเทศอื่นๆ

กระทรวงแรงงานและการฝึกฝนอาชีพกัมพูชาชี้ว่าโดยเฉลี่ย แรงงานชาวกัมพูชาในเกาหลีใต้มีรายได้ราวเดือนละ 1,200 -1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 36,000-40,000 บาทหากทำงานในภาคการเกษตรและราวเดือนละ 1,700 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 50,000-54,000 บาท หากทำงานในภาคอุตสาหกรรม

หากเทียบกันแล้ว โรงงานผลิตเสื้อผ้าในกรุงพนมเปญจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานหญิงราวเดือนละ 182 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น หรือ 5,460 บาทเท่านั้น นี่เป็นตัวเลขล่าสุดในเดือนนี้

มีแรงงานชาวกัมพูชาในเกาหลีใต้ราว 54,000 คน ทำงานในภาคการก่อสร้าง การเกษตรและในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง แรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านเกิดปีละราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือแก่ครอบครัว

ผ่านข้อตกลงทวิภาคีกับกัมพูชา รัฐบาลเกาหลีใต้จะเป็นฝ่ายจัดการขั้นตอนการรับสมัครและคัดเลือกอย่างเป็นทางการ ตลอดจนการจัดการการย้ายถิ่นชั่วคราวผ่านระบบการจ้างงานที่เรียกว่า Employment Permit System (EPS) ที่กำหนดอายุแรงงานที่ไม่เกิน 40 ปีและมีการทดสอบความรู้ภาษาเกาหลีด้วย

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ชี้ว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียไม่กี่ชาติที่จัดการแรงงานต่างด้าวด้อยฝีมือเองอย่างเป็นทางการโดยไม่ใช้บริษัทนายหน้าเอกชน ในขณะเดียวกัน ระบบ EPS ได้ให้การปกป้องทางกฎหมายแรงงานแก่แรงงานต่างด้าวในระดับเดียวกับแรงงานชาวเกาหลี

และตัวเลขของทางการเกาหลีใต้ยังชี้ด้วยว่า ชายที่อาศัยในเขตชนบทของเกาหลีใต้ที่หาภรรยาชาวเกาหลีไม่ได้ ได้เเต่งงานกับหญิงชาวกัมพูชาไปแล้วราว 8,000 คน

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาส่วนมากไปทำงานในประเทศอื่นที่เสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะแทบไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงานและต้องพึ่งนายหน้าหางานเป็นหลัก ซึ่งอาจเอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวง นอกจากนี้ยังมีแรงงานกัมพูชาจำนวนมากที่ไม่ได้รับการลงทะเบียนและแอบเดินทางข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมาย

บรรดากลุ่มพิทักษ์สิทธิ์แรงงานและองค์การ ILO ได้เรียกร้องมานานแล้วให้มีการปรับปรุงการปกป้องสิทธิ์แรงงานต่างด้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและกัมพูชาได้เริ่มควบคุมแรงงานข้ามชายแดนเพื่อลดปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์โดยนายหน้า ผู้ว่าจ้างและเจ้าหน้าที่ทางการที่ทุจริต

มีชาวกัมพูชาราว 1 ล้านคนทำงานในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักและราวครึ่งหนึ่งอาจเป็นแรงงานผิดกฎหมาย มาเลเซียเป็นจุดหมายที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งของแรงงานกัมพูชา ขณะที่แรงงานจำนวนมากไปทำงานในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซาอุดิอารเบียและฮ่องกง ส่วนคูเวตก็กำลังเจรจากับกัมพูชาเพื่อรับแรงงานกัมพูชาไปทำงานจำนวน 5,000 คน

หน่วยงาน Amnesty International ชี้ว่าแรงงานย้ายถิ่นที่มุ่งหน้าไปเกาหลีใต้มักมีการศึกษาที่ดีกว่าและได้รับการปกป้องจากการเอาเปรียบจากผู้ว่าจ้างมากกว่าแรงงานจากชาติอื่น แต่แรงงานชาวกัมพูชาก็ยังเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบทางแรงงาน โดยเฉพาะหากทำงานในภาคการเกษตร

แต่หน่วยงาน Amnesty International ชี้ว่าในปี ค.ศ. 2017 พบว่าแรงงานกัมพูชาในต่างแดนต้องกู้ยืมเงินในประเทศบ้านเกิดเพื่อใช้เดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้และเมื่อไปถึงที่หมายแล้ว แรงงานกัมพูชาเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ว่าจ้างเพราะระบบ EPS ของเกาหลีใต้เอียงไปเข้าข้างผู้ว่าจ้างงานมีอิทธิผลต่อการอนุญาตให้แรงงานอยู่ในประเทศ

แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก รวมทั้งคนที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมต้องยอมทำงานที่ถูกบังคับให้ทำ ทั้งๆ ที่ต่างไปจากที่ตกลงกันเอาไว้เพราะกลัวว่าจะถูกไล่ออก ไม่ต่อวีซ่าให้หรืออาจถูกขู่ทำร้ายร่างกาย จึงตกอยู่ในสภาพถูกบังคับให้ทำงาน

ดี นักรณรงค์แรงงานท้องถิ่นกล่าวว่าแรงงานย้ายถิ่นที่เดินทางกลับกัมพูชาจำนวนมากเจอกับปัญหาในการหางานที่เหมาะสมกับความสามารถในกัมพูชา เขากล่าวว่านี่ทำให้แรงงานกัมพูชาไม่อยากเดินทางกลับและเป็นการสูญเสียโอกาสแก่เศรษฐกิจกัมพูชา

เขากล่าวว่า รัฐบาลไม่มีแผนรองรับแรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับบ้านจากเกาหลีใต้หรือจากประเทศอื่น เพื่อสร้างงานที่เหมาะกับความสามารถและความรู้ที่แรงงานกัมพูชาได้เรียนรู้มา

เฮง ซอร์ โฆษกของกระทรวงแรงงานและการฝึกฝนอาชีพของกัมพูชา ยอมรับในเรื่องนี้ แต่กล่าวว่าการปรับปรุงด้านการปกป้องแรงงานแก่คนต่างด้าวในต่างประเทศมีความสำคัญกว่า

เขากล่าวว่าอันดับแรก กัมพูชาต้องมีระบบของการปกป้องแรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย อย่างที่สอง หากแรงงานถูกส่งตัวกลับ ทางการต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่แรงงานที่ถูกส่งตัวกลับสามารถเลือกทำได้และทางกระทรวงยังต้องรับรองความสามารถด้านการทำงานและประสบการณ์จากต่างประเทศ

ที่มา: VOA, 28/1/2019

Tesco ยืนยันพนักงาน 9,000 คน ในอังกฤษ มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง

Tesco ประกาศว่าจะปิดเคาน์เตอร์จำหน่ายอาหาร 90 แห่งในอังกฤษ ส่วนจุดจำหน่ายอาหารสดในร้านค้า700 แห่ง จะยังเปิดตามปกติแต่อาจมีบางแห่งที่ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีบริการอาหารปรุงสดอีกต่อไป ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดต้นทุนธุรกิจ ส่งผลกระทบทำให้อาจจะต้องลดจำนวนพนักงาน 9,000 คน

ที่มา: finance.yahoo.com, 28/1/2019

กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นพบข้อผิดพลาดในสถิติที่ใช้เพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2019 ว่าพบข้อผิดพลาดในสถิติที่ใช้เพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ นี่เป็นปัญหาที่พบเป็นครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถิติของทางกระทรวงที่ถูกตรวจพบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ยอมรับว่าการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างค่าจ้างได้ดำเนินการด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม การสำรวจนี้มุ่งที่จะให้ได้ภาพที่ชัดเจนว่ามีการจ่ายค่าจ้างอย่างไร ตามประเภทการจ้างงานหรืออาชีพ ผู้ตรวจการของกระทรวงควรจะส่งมอบแบบสอบถามให้กับธุรกิจต่างๆ และเก็บกลับมาด้วยตัวเอง แต่แบบสอบถามส่วนใหญ่กลับถูกส่งไปทางไปรษณีย์

นอกจากนี้ สถานบันเทิงจำพวกบาร์และคาบาเรต์ยังถูกกันออกจากการสำรวจโดยไม่มีเหตุผล ขณะที่กำหนดเส้นตายที่ให้กับผู้ตอบแบบสอบถามก็ถูกตัดให้สั้นลง ผลของการสำรวจถูกใช้เพื่อคำนวนค่าจ้างขั้นต่ำ และใช้อ้างอิงโดยบริษัทเอกชนเพื่อกำหนดค่าจ้างของบริษัท นอกจากนี้ยังใช้เพื่อประมาณการค่าชดเชยรายได้ของผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ได้พัวพันกับเรื่องอื้อฉาวที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับสถิติที่มีข้อบกพร่องของรัฐบาล

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 29/1/2019

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ (ใหม่) กับเสียงมนุษย์ (เก่า) ในม่านฝุ่นการพัฒนาเมือง

$
0
0

แผนแม่บทการพัฒนาและอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์กำลังมีเวอร์ชันใหม่ที่ยังไม่เปิดเผยสาธารณะ ศึกษาเสร็จแล้วเหลือเพียงผ่าน ครม. ขยายพื้นที่อนุรักษ์ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม คลุมอย่างน้อย 77 ชุมชน เราชวนสำรวจปัญหาของการจัดทำแผนที่มีเวลาสั้นมาก แต่ก็มีคอนเซ็ปท์ใหม่เรื่องชุมชน คนทำแผนยืนยันไม่เหมือนกรณีป้อมมหากาฬ –ช่วยอนุรักษ์ชุมชนเก่าได้แน่ ขณะที่ชาวชุมชนในหลายแห่งยังหวาดหวั่น แม้แผนดีแต่ กทม.อาจจัดการอีกแบบ และอย่าว่าแต่แผนแม่บทฯ อนาคตเดือนหน้ายังยากจะเดา เมื่อไม่รู้ว่าเจ้าของที่อย่างสำนักทรัพย์สิน ฯลฯ จะจัดการกับชุมชนอย่างไร

กรุง​เทพฯ ดุจ​เทพสร้าง เมืองศูนย์กลาง​การปกครอง
วัด วัง งาม​เรืองรอง เมืองหลวงของประ​เทศ​ไทย

อาจไม่น่าแปลกใจที่คำขวัญของกรุงเทพมหานครจะไม่ปรากฏร่องรอยมนุษย์ปุถุชนอยู่ในนั้น

“ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเยอะมาก เจ็ดปีที่ต้องทนกับรถติด ฝุ่นละออง ลูกค้าก็ไม่มา” เสียงบ่นดังขึ้นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวของเมืองหลวง

เป็นอีกหนึ่งวันเหงาๆ ของฉัตรชัย เติมธีรพจน์อายุ 51 ปี เจ้าของร้านขายโคมเจ้า อุปกรณ์ที่ใช้ในศาลเจ้าคนจีน รวมถึงกล้องถ่ายรูปต่างๆ เขาเป็นชาวชุมชนเจริญไชยที่อยู่บ้านหลังนี้มาตั้งแต่เกิด บ้านที่อยู่กันมาสามชั่วอายุคน จนกระทั่ง 7 ปีก่อนเจริญไชยอยู่ในเส้นทางการก่อสร้างของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีวัดมังกร

การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินส่งผลกระทบกับชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจของชุมชนเจริญไชย ชุมชนที่โด่งดังเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในพิธีกรรมจีน และเป็นแหล่งซื้อขายที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศตั้งแต่สมัยอากงอาม่าของฉัตรชัย

ฉัตรชัยเล่าต่อไปว่า หลังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เจ้าของที่ดินได้ยกเลิกสัญญาเช่ากับผู้อยู่อาศัยในชุมชนเจริญไชย พวกเขาอยู่ด้วยการจ่ายค่าเช่าเดือนต่อเดือนโดยไม่ทราบชะตากรรมว่าเดือนหน้าจะยังได้อยู่ในพื้นที่หรือไม่ สถานะผู้เช่าที่อยู่มายาวนานไม่ได้นำไปสู่การเจรจาพูดคุยกับเจ้าของที่ดิน

ที่ผ่านมาชาวชุมชนพยายามส่งเสียงเพื่อหาทางออกไปพร้อมกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น หนึ่งในหลักฐานสำคัญคือพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง บ้านหนึ่งหลังที่อุทิศพื้นที่เพื่อนำเสนอความเป็นมา ผ่านข่าว ข้อมูล และวัตถุเก่าแก่ต่างๆ

เจริญไชยเป็นภาพสะท้อนของชุมชนจำนวนมากในพื้นที่เมืองหลวงชั้นในที่พยายามอยู่กับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน นอกจากนี้มันกำลังถูกผนวกเอาไว้เป็นหนึ่งในอาณาเขตของแผนแม่บทการพัฒนาและอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ที่ขยายพื้นที่ออกมาถึงคลองผดุงกรุงเกษมด้วย


ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง

รู้จักแผนแม่บทกรุงฯ แอบดูเล่มใหม่ที่ยังไม่เปิดเผย

  • แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ คือ แผนที่จัดทำโดย คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า (ชื่อเดิม-คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี 2546 ขยายขอบเขตงานไปยังพื้นที่เมืองเก่าในจังหวัดอื่นๆ)
  • แผนแม่บททำหน้าที่วางกรอบแนวทางอนุรักษ์คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์
  • แผนที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ฉบับที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อปี 2540
  • ปี 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเลขานุการของคณะกรรมการกรุงฯ ว่าจ้างให้ศูนย์บริการทางวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำร่างแผนแม่บทฉบับใหม่
  • ขณะนี้ร่างแผนแม่บทฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้ว สผ. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนส่งให้ ครม. พิจารณาขั้นสุดท้าย
  • ทาง สศช. รับร่างแผนแม่บทนี้ไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ตามกรอบเวลาที่กำหนด สศช.มีเวลาพิจารณา 30-45 วัน แต่ปัจจุบันเรื่องยังคงเงียบ
  • เมื่อสอบถามไปยัง สศช. ได้ข้อมูลว่า ต้องรอให้ ‘แผนแม่บทยุทศาสตร์ชาติ’ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อน เมื่อประกาศแล้วจึงจะพิจารณาแผนแม่บทกรุงฯ ซึ่งเป็นแผนระดับรองลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ สศช.คาดหวังว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติน่าจะประกาศใช้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือภายในรัฐบาล คสช.

ในแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน (2540) การเปลี่ยนแปลงรูปธรรมที่เห็นชัดในแผนก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 20 โครงการ เช่นปรับปรุงพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณวัด มัสยิด พื้นที่คุ้มครอง ปรับปรุงพื้นที่รอบโบราณสถาน โดยกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ 20 ปี แต่ละโครงการใช้เวลาไม่เท่ากัน

ตัวอย่างผลกระทบต่อชุมชนที่ชัดเจนและโด่งดังที่สุดคือ การรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ หนึ่งในย่านอยู่อาศัยเก่าแก่แล้วแทนที่ด้วยสวนหย่อมภายใต้แผนแม่บท (2540) โดยการให้เหตุผลว่าคนในชุมชนไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม เจ้าของที่ดินที่แท้จริงได้รับเงินค่าชดเชยตามกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535 ไปแล้ว กระบวนการเจรจาต่อรองในระดับรากหญ้า รวมถึงความพยายามรื้อฟื้นอัตลักษณ์วัฒนธรรมสารพัดตลอด 26 ปีของคนใน-นอกชุมชนไม่สามารถเปลี่ยนความมุ่งมั่นของ กทม. ในการทำสวนหย่อมให้ได้ตามแผน

ขณะปรับพื้นที่ทำสวนหย่อมในชุมชนมหากาฬ

กทม.คือตัวเอกในการจัดการเมืองตามแผน เมื่อ ครม.เห็นชอบแผนแม่บทก็จะนำมาสู่การออกข้อบัญญัติ กทม. ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เพื่อควบคุมการใช้พื้นที่ เช่น การจำกัดความสูงอาคาร ประเภทของสิ่งปลูกสร้าง เงื่อนไขการดัดแปลงอาคารซึ่งหากมีเทศบัญญัติชัดเจนก็จะสามารถบังคับใช้กับเอกชนในพื้นที่ได้

ในส่วนหน่วยงานรัฐนั้น ตามมติ ครม.ปี 2558 ก่อนการก่อสร้างใดๆ ของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์และในบริเวณเมืองเก่าจะต้องส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะกรรมการกรุงฯ ผ่านทาง สผ. เพื่อพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกรุงฯ แล้วถึงจะขอตั้งงบประมาณจากสำนักงบประมาณได้

แม้แต่กรณีการทำสถานีรถไฟฟ้าเข้าพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ก็มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกรุงฯ พิจารณา โดยสิ่งที่เห็นวันนี้คือการย้ายออกของหน่วยงานราชการซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องกับการรองรับแผนแม่บทฯ ใหม่ ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่าทาง กทม.กำลังย้ายหน่วยงานในสังกัดบางส่วนไปอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ที่ดินแดง ในอนาคตศาลาว่าการ กทม. 1 บริเวณเสาชิงช้าจะถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการบางส่วนที่ต้องย้ายออกไปอยู่บริเวณอื่น เพื่อลดความแออัด เช่น กระทรวงมหาดไทย

แผนแม่บทใหม่ หน้าตาเป็นอย่างไร

แผนแม่บทฯ ใหม่มีจุดสำคัญคือ การขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น
1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน
2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก
3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์
4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม
5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

การขยายพื้นที่มาถึงริมคลองผดุงกรุงเกษมจะทำให้อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ กินพื้นที่ราว 8,000 ไร่ หรือ 12.8 ตร.กม. จากปัจจุบันเนื้อที่ประมาณ 5.8 ตร.กม.และจะมีชุมชนที่อยู่ในอาณาเขตอย่างน้อย 77 ชุมชน

แผนฉบับใหม่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองจาก ครม.


ภาพโดย นัฐพล ไก่แก้ว
คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

จากการสอบถาม บวรเวท รุ่งรุจีคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขยายแผนแม่บทออกมาถึงคลองผดุงกรุงเกษมนั้นเป็นเพราะคลองแห่งนี้ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการขยายพื้นที่เมืองหลวงในแบบเก่า ผ่านเส้นทางสัญจรทางน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการขยายเมืองด้วยถนนในรัชกาลที่ 5

“แผนแม่บทเกาะกรุงฯ จะทำให้หน่วยราชการที่เป็นกรรมการร่วมด้วยไปดำเนินการในภารกิจหน้าที่ของตัวเอง เช่น กรมศิลปากรก็ต้องไปดูว่ามีโบราณสถานหรือบ้านที่จะสำรวจหรือขึ้นทะเบียนไหม จะส่งเสริมเขาไหม จะอนุรักษ์ก็ไปทำ กทม. จะช่วยเขายังไง เพราะ กทม. เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนดูแลพื้นที่ ถ้าไปทำโดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน เราจะหลงในข้อมูล และคิดว่าเขาเป็นคนดั้งเดิมกันหมด” บวรเวทกล่าว

ไม่(น่า)มีไล่รื้ออย่างป้อมมหากาฬ

บวรเวทย้ำว่า ไม่น่ามีการดำเนินการซ้ำรอยกับการไล่รื้อชุมชนแล้วแทนที่ด้วยสวน แบบกรณีชุมชนป้อมมหากาฬแล้ว เพราะภายใต้แผนแม่บทใหม่มีแต่เพียงโครงการเล็กๆ

“คงไม่ (มีแบบป้อมหากาฬ) แล้วล่ะ เราคุยกันว่าในบางพื้นที่ถ้ามีสวน ต้องมองสวนแบบไม่ใช่ park ใหญ่ๆ แต่มองที่ว่างย่อยๆ แค่เป็นห้องแถวห้องหนึ่งก็ทำเป็นสวนหย่อมแทรกไปได้ แต่เท่าที่เช็คดูมันไม่มีที่ว่างแล้ว เป็นบ้านคนเต็มพรืดไปหมด มีเพียงที่ป้อมมหากาฬที่เป็นที่ราชพัสดุ” บวรเวทกล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ของป้อมมหากาฬ ทำให้ภาคประชาชนอาจมองว่าแผนแม่บทนั้นเป็น “ความเสี่ยง” หนึ่งที่ชุมชนอาจถูกไล่รื้อเพื่อจัดระเบียบใหม่ แต่มุมมองของผู้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทฉบับใหม่กลับต่างออกไป โดยเห็นว่ามันจะเป็นการช่วยคุ้มครองชุมชนดั้งเดิมไว้ได้ต่างหาก


รศ.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์

รศ.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ หัวหน้าโครงการจัดทำแผนผังแม่บทฯ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หน่วยงานวิชาการที่รับทำร่างแผนแม่บทจาก สผ. เล่าว่า แผนแม่บทคือกรอบการพัฒนาเขตกรุงรัตนโกสินทร์ในหลายมิติ ไม่ว่าเรื่องสิ่งปลูกสร้าง การจราจร วัฒนธรรม เศรษฐกิจของชุมชน เขามองว่าแผนแม่บทมีความสำคัญในฐานะกรอบการกำกับพื้นที่ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อผู้อาศัยในพื้นที่เมื่อการพัฒนาพุ่งกลับเข้าสู่พระนครเดิมตามเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน

“อีกหน่อยชุมชนก็ถูกรื้อไล่หมด แล้วมันจะกลายเป็นอะไร มันไม่ใช่มิวเซียม มันจะกลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้เพราะถูกไล่ที่หมด ถ้าจะเก็บชุมชนคุณก็มีทางเดียวคือต้องไปคุมไม่ให้มีโครงการยักษ์ใหญ่เกิดขึ้น ที่จริงมันก็มี แต่มันก็ไม่เยอะ โครงการใหญ่พิเศษทำไม่ได้ ตึกสูงก็ทำได้แค่ 5-7 ชั้น สูงกว่านั้นทำไม่ได้ ถ้าคุณไม่วางกรอบด้วยแผนแม่บทแบบนี้ อีกหน่อยมีทำไอค่อนสยามกลางเยาวราชจะเกิดอะไรขึ้น” วรรณศิลป์กล่าว

“ไม่ใช่การอนุรักษ์สุดกู่จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่พัฒนาจนกระทั่งคุณค่ามรดกวัฒนธรรมหายไป เราพยายามที่จะผสานสมดุล” วรรณศิลป์กล่าวถึงแนวคิดการวางกรอบ

คุมสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่อาจบังคับเอกชนไม่ให้ไล่ชุมชน

กระนั้นวรรณศิลป์ก็ยังย้ำว่า ในทางปฏิบัติคงอยู่ที่การออกเทศบัญญัติและการบังคับใช้แผนโดย กทม. และแนวทางการอนุรักษ์ที่วางกรอบไว้นี้ก็ใช่ว่าจะสามารถไปสั่งเอกชนไม่ให้รื้อไล่ชุมชนที่เป็นผู้เช่าได้

ในปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านเข้ามาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ฉบับปัจจุบันและฉบับใหม่ที่กำลังใกล้คลอดนี้มี 3 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน จากสถานีหัวลำโพงถึงสามแยกท่าพระ-บางแค หัวลำโพง ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง สายสีส้มในสถานียมราช-บางขุนนนท์ และสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

รศ.วรรณศิลป์ย้ำว่า ในช่วงการจัดทำร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ได้จัดทำการสำรวจและประเมินค่าไปแล้วทั้งแหล่งมรดกที่จับต้องได้ เช่น สถาปัตยกรรม และส่วนที่จับต้องไม่ได้ เช่น วิถีชีวิต องค์ประกอบความเป็นชุมชนผ่านการใช้งานสถานที่ เช่น ร้านอาหารโบราณ เทศกาลระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติที่จัดในที่นั้น


ตัวอย่างการประเมินคุณค่าสิ่งปลูกสร้าง
ที่มา:
https://www.facebook.com/MasterPlanofPhayaooldtown/

รศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า โครงการปรับปรุงพื้นที่ในแผนแม่บทเป็นเพียงแนวทาง ไม่ได้ฟันธงว่าที่ไหนต้องกลายเป็นอะไร เพราะการทำแผนแม่บทสมัยใหม่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แล้ว

“แม่บทเดิมเน้นการรักษาอาคารที่เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าสูงๆ ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วัด แต่แม่บทเดิมมันขาดสาระของชุมชน ที่จะเป็นชุมชนที่อาศัยในพื้นที่เก่า เน้นพื้นที่โล่ง ทำสวนสาธารณะ แต่หลังๆ มันก็มีปัญหา บางชุมชนที่เขาไม่สะดวกทำ แผนใหม่จึงต้องใส่ความสำคัญของชุมชน สาระของชุมชนเข้าไปด้วย” ยงธนิศร์กล่าว

ยืนยันให้ความสำคัญกับชุมชนมากกว่าแผนเก่า

การเปลี่ยนแปลงในแผนแม่บทใหม่นี้คือการให้ความสำคัญกับชุมชน อาคาร บ้านเรือนที่ไม่มีความสำคัญระดับชาติ แต่เป็นท้องถิ่น เบื้องต้นยงธนิศร์ระบุว่ามีการสำรวจบ้านเก่า อาคารเก่านับพันๆ แห่ง ซึ่งจะมีรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ในการอนุรักษ์ให้กับผู้อยู่อาศัยและเจ้าของอาคารเหล่านั้นต่อมา เช่น การลดหย่อนภาษี หรือการขายสิทธิ์ให้นักพัฒนาเอกชนนำพื้นที่ไปพัฒนาต่อ

เท่าที่สำรวจแผนแม่บทฉบับใหม่ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะคร่าวๆ นั้น จะเห็นโครงการย่อยมากมาย เช่น การปรับปรุงทางเท้า ติดตั้งไฟถนน จำกัดปริมาณการจราจรในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ การปรับปรุงพื้นที่โรงเรียนในชุมชน และยังไม่เห็นโครงการรื้อย้ายชุมชนที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ยงธนิศร์ยังมีข้อกังวลว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่อาจไม่เข้าใจการทำงานของแผนแม่บทใหม่นี้ เพราะเป็นการเน้นเรื่องกระบวนการที่นำไปสู่การตัดสินใจในพื้นที่ต่างๆ มุ่งลดข้อขัดแย้งของชุมชนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมซึ่งยากกว่าการดำเนินการแบบเดิม

แม้การรื้อย้ายชุมชนอาจไม่เกิดขึ้นแบบตรงๆ เหมือนชุมชนป้อมมหากาฬ แต่ประสบการณ์ที่แล้วมาบอกเราว่า มีการนำคนออกจากพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ในแบบอื่นๆ ด้วย เช่นในปี 2525 กทม.-คณะกรรมการกรุงฯ ย้ายตลาดนัดสนามหลวงออกไปอยู่จตุจักร และขณะนี้กำลังจะโยกย้ายหน่วยงานราชการออกไปจากพื้นที่ราชดำเนิน ในเรื่องนี้ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรให้ความเห็นไว้ว่า มองอีกแง่หนึ่ง มันเป็นการเขี่ยคนธรรมดาออกไป ทั้งทางตรงคือผู้ค้าขายสินค้าในตลาดนัด และทางอ้อมคือคนที่หารายได้กับการกินการอยู่ของข้าราชการจำนวนมาก

ลุ้น กทม.เข้าใจคอนเซ็ปท์อนุรักษ์หรือไม่

การดำเนินการของ กทม.เป็นประเด็นพอสมควร แม้แต่บวรเวทเองก็กังวลว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนอาจไม่เกิดขึ้นตามที่วาดฝัน ยกตัวอย่างกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทางสำนักการโยธา กทม. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก มีเสียงคัดค้านเรื่อยมาจากทั้งกลุ่มสถาปนิก ชุมชน รวมถึงคณะกรรรมการกรุงฯ เองก็ตามเมื่อมีบางส่วนของถนนริมแม่น้ำจะถูกสร้างอยู่ในอาณาเขตกรุงรัตนโกสินทร์

“การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องยาก ดูอย่างถนนแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ที่ไหน ไม่ต้องไปมองไกลเลย” บวรเวทกล่าว

“ขนาดพูดกันแรงๆ ว่า เขาไม่ได้สั่งให้คุณทำถนน คุณก็ไปคิดทำถนนขึ้นมา ผู้ใหญ่บอกเพียงให้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ถ้าโจทย์เป็นอย่างนั้นทำไมไม่ไปพัฒนาในเขตพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ ไปทำถนนในชุมชนให้ดีขึ้น” บวรเวทเล่า

มีส่วนร่วมในระยะเวลาสั้นเกิน

แผนแม่บทฉบับใหม่มีการรับฟังความเห็นทั้งสิ้น  9 ครั้ง เป็นการประชุมใหญ่ 3 ครั้ง ประชุมโฟกัสกรุ๊ปอีก 6 ครั้ง แม้แต่ผู้จัดทำแผนเองก็มองว่ายังมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วม ด้วยเวลาของการจัดทำที่สั้นเกินไป

วรรณศิลป์ระบุถึงปัญหาเรื่องกรอบเวลาที่ทาง สผ. กำหนดให้ทีมจัดทำต้องทำร่างแผนแม่บทให้เสร็จใน 270 วัน หรือปิดงานให้ได้ภายใน 1 ปีงบประมาณ กรอบเวลาที่สั้นเช่นนี้ทำให้การจัดรับฟังความเห็นกระชั้นเกินไป เขาประเมินว่าถ้าจะทำให้ดีต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ปีสำหรับการศึกษาพื้นที่กว้างเช่นนี้

“ควรให้เวลาเยอะๆ แล้วไปตกผลึกให้ชัดขึ้น การรีบสรุปก็ต้องมีอะไรที่ตกหล่น ด้วยกรอบเวลาที่ให้ก็ทำดีที่สุดได้เท่านี้ เคยบอกเขาว่าถ้าอยากได้ผังที่ดีหรือผังที่เสร็จ ถ้าเอาผังที่เสร็จ 5 เดือนก็ได้ แต่ถ้าผังดีๆ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 2 ปี”

“แผนขนาดใหญ่ต้องรอบคอบมาก ต่อให้เป็นการบังคับให้มีการมีส่วนร่วม จำนวนครั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญเก่ากับประสิทธิผลของการประชุม ถ้าประชุมถี่เกินไป ยังไม่ทันมีไอเดียอะไรใหม่ก็ประชุมอีกแล้วอาจไม่เกิดประโยชน์ ต้องให้เวลาเขาตกผลึก คิดและเพิ่มอะไรขึ้นมา การเร่งประชุมทำให้ได้ข้อเสนอน้อย เพิ่งประชุมไปเมื่อเดือนที่แล้ว เดือนนี้ประชุมอีกแล้ว ชาวบ้านต้องทำมาหากิน ประชุมติดๆ กัน คนเก่าก็ไม่มา ถ้าเว้นระยะห่างกันนิดหนึ่ง แล้วสื่อสารกันด้วยเฟสบุ๊ค มีอะไรก็ส่งมารวบรวมไว้ด้วย เชื่อว่าจะมีไอเดียใหม่ๆ เกิดเยอะขึ้น”

ชุมชนวัดแค ผู้เช่าที่สำนักทรัพย์สินฯ

ในระดับชุมชนเองก็มีกระบวนการต่อรองในระดับชุมชนด้วยเครื่องมือที่แตกต่าง เพื่อรับมือกับความตึงเครียดที่คืบคลานเข้ามาในเมื่อแผนแม่บทฉบับใหม่ขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นอีก

ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) เป็นชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยเช่าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และวัดกันเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันมูลค่าที่ดินสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีหลานหลวงที่จะมาขึ้นบริเวณ ถ.หลานหลวง และชุมชนเองก็จะถูกผนวกเข้าเป็นพื้นที่ในพื้นที่ของแผนแม่บทใหม่ด้วย

 

สุวัน แววพลอยงามประธานชุมชนวัดแคกล่าวว่า ที่ผ่านมาในการรับฟังความคิดเห็นของแผนแม่บท มีหลายคนรวมถึงเธอด้วยที่เสนอให้มีการจัดผังชุมชนแต่ไม่มีผลใดๆ เธออยากให้ชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการในโครงการเกี่ยวเนื่องกับชุมชน แต่จากการทำงานที่ผ่านมา เธอได้ข้อสรุปว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับเรื่องความสัมพันธ์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่และยังเป็นหน่วยงานที่มีตัวแทนเป็นหนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการกรุงฯ นั้น สุวันบอกว่าในทางปฏิบัติมีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน แต่การตัดสินใจในระดับนโยบายว่าจะเกิดอะไรกับพื้นที่ที่เช่าอยู่ เป็นเรื่องที่ชาวชุมชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ แม้แต่การจัดกิจกรรมในชุมชนก็ต้องแจ้งเจ้าของที่อย่างละเอียด ส่วนการเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้แต่ประธานชุมชนเองก็ยังไม่รู้ทิศทางของสำนักทรัพย์สินฯ ว่าจะทำอะไรกับที่ดินแปลงนี้ต่อไป


ทางเดินในชุมชน และบ้านหลังวัดสุนทรธรรมทาน

“ทำงานร่วมกับ(สำนัก)ทรัพย์สินฯ ตลอด และเป็นแบบนี้ตลอด ทำเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตตามนโยบายด้วยกัน เช่น เรื่องบ้านมั่นคง แต่ตอนนี้เริ่มได้ยินข่าวว่าจะยกเลิกสัญญาเช่า 30 ปีและจะยกเลิก MOU ด้วย” สุวันพูดถึงโครงการบ้านมั่นคงที่ชุมชนวัดแคเป็นหนึ่งในชุมชนนำร่องในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการนี้กำหนดให้สัญญาเช่าในพื้นที่โดยไม่ต้องย้ายออก แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ จากจิรายุ อิศรางกูล ณ อยุธยา เป็นพลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล


ตลาดนางเลิ้ง

สุวันยังมีความหวังในการทำงานร่วมกับภาครัฐภายใต้แผนแม่บทฯ ใหม่ แม้จะยังไม่เห็นความคืบหน้านับจากวันที่ไปออกความเห็นในเวทีรับฟัง แต่ความทรงจำเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ เครือข่ายและเพื่อนที่ทำงานชุมชนร่วมกันมายาวนานยังคงเป็นบาดแผลที่ทำให้เธอไม่ไว้วางใจการทำงานของภาครัฐ

“กับโครงการแผนแม่บทฯ ไม่อยากคาดหวัง มันน่าจะเป็นสมหวังของคณะกรรมการกรุงฯ มากกว่า เพราะถ้าเรามองย้อนหลังไปมันมีแต่ความเจ็บปวด ที่ผ่านมามันเห็นอยู่แล้วว่าคนละแนวคิด บางอย่างเราไม่สามารถที่จะสู้ได้ เช่น ต้องการหมู่บ้านวัฒนธรรม แต่ไล่คนออกไปหมดเลย ป้อมมหากาฬแทนที่จะให้คนช่วยกันดูแลตัวเอง บ้านนู้นบ้านนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แต่มันก็ไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้”

แต่อย่างน้อยที่สุด การเป็นชุมชนนำร่องก็ทำให้สุวันมีความหวัง และเธอมองเป็นมุมบวกต่อชุมชนเมื่อ พ.ร.บ. การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โยกย้ายที่ดินที่ชาวนางเลิ้งอาศัยอยู่ไปอยู่ใต้พระปรมาภิธัยของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

“พี่ว่าน่าจะโชคดีนะ การเป็นระบบนี้กลับมารวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่องค์เดียว ก็อยู่ที่ว่าพวกเราจะทำให้เข้าใจเราได้แค่ไหน เพราะเราเป็นพสกนิกร ที่ผ่านมาระบบประชาธิปไตย ความถูกต้อง ระบบศาลก็ไม่ได้ช่วย” สุวันกล่าว

ชุมชนนางเลิ้ง ต้นแบบการอนุรักษ์แบบช่วยตัวเอง

นางเลิ้ง หนึ่งในย่านที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 ปีได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในชุมชนนำร่องจาก 7 ย่านประวัติศาสตร์ใน กทม. ตามโครงการพัฒนาย่านประวัติศาสตร์เมืองสู่การท่องเที่ยวสร้างสรรรค์ ของ กทม. ที่มุ่งให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของเมืองให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และสร้างรายได้ให้พวกเขาผ่านการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวอีกทาง

โชคร้ายที่การยอมรับดังกล่าวยังไม่นำมาซึ่งงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการดังกล่าวจัดทำในลักษณะร่วมกันระหว่างเครือข่ายชุมชนมาเป็น 10 ปีแล้ว ทว่าการดำเนินการยังเป็นไปในลักษณะพึ่งพากัน จัดทำการท่องเที่ยวในชุมชนในแบบที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ

นางเลิ้งจัดนิทรรศการปลุกกลิ่นอายชุมชนเก่า หวังกระตุ้นคนในพื้นที่หาคุณค่า
เดินดูนางเลิ้ง เมื่อวัฒนธรรมถูกใช้รองรับการพัฒนา สู่คำถามสิทธิในเมืองที่เท่าเทียม
สำนักงานทรัพย์สินฯ บอกเลิกสัญญาสนามม้านางเลิ้ง ย้ายทรัพย์สินออกภายใน 180 วัน


กิจกรรมนางเลิ้งที่รักนำเสนอวัฒนธรรมชุมชน ของดีในชุมชน
ได้รับความร่วมมือจากย่านอื่นๆในกรุงเทพฯ มาร่วมออกบูธนิทรรศการ

ระพีพัฒน์ เกษโกศลนักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ในฐานะเลขานุการเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ให้สัมภาษณ์ในงาน นางเลิ้งที่รัก เมื่อปลายปี 2561 ว่างานลักษณะนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพราะได้งบประมาณจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของทาง กทม. ซึ่งมีให้เพียงปี 2561 ปีเดียว


ตัวแทนจาก 7 ย่านเก่าใน กทม. เดินทางไปดูงาน
เรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ จ.เพชรบุรีเมื่อกลางปี 2561

“การมีงบประมาณนั้นทำให้สามารถเอางบไปกระจายเกื้อหนุนคนทำงานในพื้นที่ได้ ถ้าเราไม่มีงบสนับสนุน บางทีชาวชุมชนก็ต้องหางบจากการจัดกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันดูไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ทำงานอนุรักษ์มานาน พวกเขาต้องมาเหนื่อยในขณะที่ปากท้องยังหิวอยู่ แต่สุดท้ายเราก็สนับสนุนไม่ได้มากนัก” ระพีพัฒน์กล่าว

ชุมชนเจริญไชย เชื่อตึกยังอยู่ แต่คนอาจอยู่ไม่ได้

ชุมชนเจริญไชยอยู่ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ตามแผนแม่บทฉบับใหม่ที่ขยายออกมาครอบคลุม มันเป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่นับร้อยปี และมีสมาชิกชุมชนราว 80 ครัวเรือน

การมีส่วนร่วมของชาวชุมชนกับเจ้าของที่อย่างมูลนิธิจุมพฎ-พันธุ์ทิพย์ เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหลังมีโครงการรถไฟฟ้าสถานีวัดมังกร จากนั้นการติดต่อก็หยุดชะงัก


ตึกเก่าชุมชนเจริญไชย

แนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยวและแผนแม่บทที่พูดเรื่องการกระจายนักท่องเที่ยวตามแนวรถไฟฟ้ายังเป็นทิศทางที่คนที่นั่นตั้งคำถาม สำหรับชุมชนที่มีอาชีพหลักเป็นการค้าขายสินค้าวัฒนธรรมจีน ฉัตรชัย-คนขายโคมจีนประเมินว่าการเข้ามาของนักท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินอาจไม่เป็นประโยชน์กับการค้าขายของชุมชน ก็ในเมื่อโคมกระดาษ ประทัด ไก่ต้ม ฯลฯ ไม่ใช่สิ่งที่คนจะหิ้วขึ้นรถไฟฟ้ากัน


สถานีวัดมังกร (บน) ที่ยังไม่ได้อยู่ในเขตแผนแม่บท
มีขนาดใหญ่โตกว่าสถานีสนามไชย (ล่าง) ที่อยู่ในแผนแม่บท
เนื่องจากคณะกรรมการกรุงฯ พิจารณารูปแบบสถานีรถไฟใต้ดินส่วนที่โผล่ขึ้นมาบนดิน
กรณีสนามไชยหน้าพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม มีการจำกัดความสูงเพื่อไม่ให้บดบังทัศนวิสัย
ความกว้างของส่วนที่ยื่นมาก็ไม่กินพื้นที่ใหญ่โต 

ศิริณี อุรุนานนท์ (เล็ก)ชาวชุมชนเจริญไชยอายุ 48 ปี อาชีพค้าขายกรอบรูป อัลบั้ม อุปกรณ์ ฟิล์ม เป็นอีกคนที่พูดถึงปัญหาชุมชนเรื่องความมั่นคงทางที่อยู่มานาน

เธอเล่าว่ามีการพูดคุยกับที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาแผนแม่บทในส่วนขยายต่อเนื่องมานาน ตึกในชุมชนก็เป็นตึกที่ได้รับการศึกษาว่าเป็นตึกเก่าที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ แต่เมื่อศึกษาแล้วยื่นไปทาง กทม.ในทางปฏิบัติก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ยังห่วงกังวลว่า การอนุรักษ์อาคารกับวิถีชุมชนอาจเป็นหนังคนละม้วน


ทางเดินภายในชุมชน เต็มไปด้วยร้านค้าและสินค้าที่ใช้ในพิธีกรรมทางความเชื่อแบบจีน

“ถ้าแผนแม่บทมันอาจรักษาตัวอาคารตรงนี้ไว้ ซ่อมแซมให้ดี แต่บางแห่งที่เราก็เห็นว่าเขารักษาอาคาร แต่ค่าเช่ามันทำให้คนอยู่ไม่ได้ก็มี ก็เลยทำให้ยังไม่รู้ว่าจะรักษาได้แต่อาคารหรือเปล่า มันอาจเป็นเหมือนกับหลายที่ อาคารยังอยู่ แต่เป็นร้านค้าสมัยใหม่ เป็นแมคโดนัลด์” ศิริณีกล่าว

000

แผนแม่บทฉบับใหม่ที่ขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้ยังไม่คลอดอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายยังคงคาดหวังในทางที่ดี บทบาท กทม. ในการอำนวยการพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำตามวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ผู้จัดทำร่างแผนแม่บทอธิบายไว้สวยหรู ในตอนต่อไปจะชวนผู้อ่านดูความพร้อมของ กทม. ต่อการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมผ่านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการถนนในแม่น้ำเส้นยาวที่โฆษณาว่าจะเป็นการทำให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำได้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เปิดวิสัยทัศน์ 4 พรรคด้านวัฒนธรรม “มึงมาไล่กูสิ” สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม

$
0
0

‘ปิยบุตร’ จากอนค. ชี้ “มึงมาไล่กูสิ” สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม พร้อมชู 4 แนวนโยบายผลักดันการเมือง-ความคิดสร้างสรรค์-เศรษฐกิจ ‘สมบัติ’ จากเกียน ชี้ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย ความเป็นไทยควรถูกสังคายนาตั้งอยู่บนสังคมโลก ‘ณัฐวุฒิ’ จากทษช. ระบุแนวคิดพรรคเคารพและยอมรับความหลากหลาย พร้อมใช้กลไกรัฐคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน อดิษร จากพท. ชี้ ปัจจุบันวัฒนธรรมประยุทธ์รุ่งโรจน์ แต่วัฒนธรรมประชาชนถูกเหยียบย่ำ

จากซ้ายไปขวา พิธีกร, อดิศร เพียงเกษ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, สมบัติ บุญงามอนงค์

 

5 ก.พ. 2562 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเวทีเสวนา "พลังวัฒนธรรม กับการเมืองไทย"โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่, อดิศร เพียงเกษ พรรคเพื่อไทย, สมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน และณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ พรรคไทยรักษาชาติ

 

‘ปิยบุตร’ จากอนค. ชี้ “มึงมาไล่กูสิ” สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม พร้อมชู 4 แนวนโยบายผลักดันการเมือง-ความคิดสร้างสรรค์-เศรษฐกิจ

ปิยบุตร แสงกนกกุลพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า วัฒนธรรมคือเรื่องวิธีคิด คือวิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมชนชาติไทยมีลักษณะพิเศษ ถูกกำหนดขึ้นจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ถ้าเกินกว่านี้ไม่ใช่ ซึ่งลุกลามมาถึงการที่หัวหน้า คสช. กำหนดค่านิยม 12 ประการ แล้วปลูกฝังในโรงเรียน ขณะที่วัฒนธรรมของสากลนั้น คือ การเลื่อนไหล เปลี่ยนตามช่วงเวลาและความนิยมของผู้คน ทั้งนี้ วัฒนธรรมยังเป็นเครื่องมือเปลี่ยนอุดมการณ์ความคิดของคนด้วย เช่น เรายึดหลักเสรีประชาธิปไตย แต่ด้วยเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่ฝังรากลึก ครอบงำเราอยู่ จะค่อยๆ กล่อมเกลาเราไปเรื่อยๆ

งานวัฒนธรรม คือ การช่วงชิงความหมายของถ้อยคำ นิยามความหมายเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เช่นคำว่า ประชาธิปไตย สมัยกรีกโรมันเป็นคำที่แย่ แต่ปัจจุบันเป็นคำมาตรฐานแล้วทุกประเทศ แม้ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องบอกว่าเป็น เช่น ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

"หรือแม้แต่คำว่าคนดี ระยะหลังถูกทำให้เสียไป โดยคนกลุ่มหนึ่งสถาปนาตนเองว่าเป็นคนดี ส่วนคนอื่นเป็นคนไม่ดี ดังนั้น คนดีต้องยึดอำนาจมาปกครอง เรื่องนี้เราจำเป็นต้องช่วงชิงนิยามกลับมา อธิบายความหมายใหม่ในแง่ของฝ่ายประชาธิปไตยว่า คนดี คือ คนที่เคารพศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์ เคารพความหลากหลาย เชื่อในเรื่องความเสมอภาค เชื่อในเรื่องสิทธิ์เสรีภาพ

“ผมคิดว่าในปัจจุบัน วัฒนธรรมอำนาจนิยมยังครอบงำสังคมไทยอยู่ ดูได้จากคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญยึดอำนาจมา แต่วันนี้อ้างรัฐธรรมนูญทุกวัน หรือที่สบถออกมาว่ามึงมาไล่กูสิ สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ใช่เรื่องความจริงใจหรือการเป็นคนพูดตรงๆ แต่ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเขาเชื่อว่าจะทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด นี่คือวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมไทยเรามาจนปัจจุบันนี้"ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรกล่าวต่ออีกว่า พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงความคิดคน เพราะถ้ายังเป็นวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ทหารยึดอำนาจก็จะกลับมาอีก นิรโทษกรรมตัวเองอีก สังหารหมู่กลางเมืองแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก

ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จะทำงานวัฒนธรรม 1.ภายในพรรคมีการจัดงานวัฒนธรรมทุกปี และ 2 นโยบายทางวัฒนธรรมที่จะผลักดันซึ่งคิดไว้ใน 3 มิติ คือ การเมือง ความคิดสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจ เป็นกรอบเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ธงหลักที่เราอยากเห็นคือ การปลดปล่อยงานวัฒนธรรมออกมา โดยนโยบายที่จะทำ ได้แก่ 1.แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในแสดงออก เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ กฎหมายหมิ่นประมาท เป็นต้น 2.เปิดพื้นที่สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมพื้นที่และผู้คน 3.สนับสนุนศิลปินแขนงต่างๆ ให้เข้าถึงระบบสวัสดิการ มีกองทุนด้านวัฒนธรรม และ 4.ใช้งานวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจส่งออกทั่วโลก รวมถึงทลายธุรกิจผูกขาดที่เกี่ยวกับงานวัฒนธรรม เช่น โรงหนัง สายส่งหนังสือ นอกจากนี้ มีความตั้งใจจะลดภาษีให้เกิดการบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น ส่วนการจัดเก็บภาษี เก็บได้จากงานวัฒนธรรมไหนต้องนำไปสนับสนุนกองทุนงานวัฒนธรรมนั้น ทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยสามารถไปได้กับวัฒนธรรมสากล เราสามารถเชิดชูวัฒนธรรมไทยได้โดยไม่ปฏิเสธโลกาภิวัฒน์

 

ทั้งนี้ไอลอว์ได้รายงานในส่วนของพรรคอื่นด้วย ดังนี้

 

‘สมบัติ’ จากเกียน ชี้ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย ความเป็นไทยควรถูกสังคายนาตั้งอยู่บนสังคมโลก

สมบัติ บุญงามอนงค์พรรคเกียน กล่าวว่า “ศิลปะหมายถึงสิ่งที่ศิลปินแสดงออกผ่านตัวงานศิลปะ เมื่อพูดถึงศิลปะจำเป็นต้องพูดถึงคนและสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจของคนสร้างศิลปะนั้น เช่นสภาพแวดล้อมทางสังคม มีคำกล่าวว่า ศิลปะบริสุทธิ์ไม่มีจริง เพราะว่า ศิลปินได้รับอิทธิพลมาจากสังคมและแสดงออกผ่านศิลปะ ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ของเพลง “ประเทศกูมี” ที่ถือว่าเป็นการเขี่ยศิลปะหรือเพลงเพื่อชีวิตแบบเดิมลงคลองไปเลย เพราะศิลปินเพื่อชีวิตเดิมไม่ได้ทำหน้าที่ในการรับใช้สังคมปัจจุบันแล้ว พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่เคารพ ยืนยันว่า ผมเคารพจิตวิญญาณการสร้างสรรค์ผลงานในอดีต แต่เพลงในอดีตไม่ได้รับใช้สังคมปัจจุบันแล้ว

ส่วนคำว่า วัฒนธรรม แปลว่า วิถีชีวิต คนไทยชอบนำไปปะปนกับประเพณีหรือรูปแบบ เช่น โขน หรือชุดแบบไทยเดิม ขอโทษทีนะ ผมไม่รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม อาจจะเป็นวัฒนธรรมช่วงหนึ่งแต่ไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวบ้านจริง วัฒนธรรมทางการเมืองไทยตอนนี้คือ เรามีการรัฐประหารทุกสามปี มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม เราเชื่อว่า ถ้าใครมีอำนาจ ผู้นั้นจะได้รับความนิยม ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม วัฒนธรรมแบบนี้มันแผ่ซึมซาบในสังคมเรา แต่ถามว่า มันเป็นวัฒนธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องตั้งคำถาม อย่างไรก็ดีเชื่อว่า มันเปลี่ยนแปลงได้

วันนี้ผมเห็นคนขับมอเตอร์ไซด์ย้อนศร ผมนึกถึงนายทหารที่ยึดอำนาจ คิดว่า มันพอๆกัน คือถ้าเรายอมรับคนที่ขี่มอเตอร์ไซด์ย้อนศรได้ คุณก็อาจยอมรับคนรัฐประหารได้ ถ้าหากเราจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยจะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันได้ทั้งหมด ผมหวังว่า เราจะสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยอมรับกันได้

ผมอยากเห็นสังคมไทยมีวัฒนธรรมเชิดชูสามัญชน เวลาเราไปต่างประเทศเราจะเห็นรูปปั้นของคนธรรมดา เป็นคนที่ชุมชนนั้นๆระลึกถึง อย่างแรกคือ อยากให้พื้นที่หน้าไทยรัฐเป็นรูปปั้นของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนที่สังคมไทยควรจะรู้จักเขา เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดามากๆ เวลาเราบอกว่า เราจะบันทึกเรื่องราวหรือสร้างงานศิลปะที่เกี่ยวกับสามัญชน มันเป็นเรื่องดีที่เราจะรู้จักกับสามัญชน แต่ละท้องถิ่นควรจะกลับไปค้นหาเรื่องราวเหล่านี้และสร้างประติมากรรมงานปั้นของคนเหล่านี้

ในส่วนนโยบายเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมมองว่า ต้องมีสองมิติ หนึ่ง เวลาที่มาพูดถึงอะไรไทยๆ ผมไม่เชื่อนะ มันมาจากการใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะปฏิเสธสิ่งที่เป็นหลัก ถ้าไปไล่เรียงความเป็นไทย คนที่พูดบ่อยๆคือ คุณประยุทธ์ ที่บอกว่า รากเหง้าของคนไทยมาจากอัลไตอยู่เลย พูดเป็นตุเป็นตะโดยไม่เข้าใจความเป็นไทย ผมมองว่า ความเป็นไทยควรจะถูกสังคายนา เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง การเป่าแคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นสิ่งผิดกฎหมายเพราะเป็นวัฒนธรรมของคนลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา แสดงถึงความขบถต่อต้านชนชั้นปกครอง

สองความเป็นไทยที่อยู่บนสังคมโลก เราต้องรู้จักในแนวกว้าง เราต้องรู้จักมนุษย์ที่อยู่ในที่ต่างๆ การใส่เสื้อนาซี สะท้อนว่า แนวกว้างก็ไม่ได้ แนวลึกก็ไม่ได้ วัฒนธรรมต่างชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย เราจะแลกเปลี่ยนวิถีความรู้จากภายนอกเข้ามา การเรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับรากเหง้าทำให้เรามีตัวตนและภาคภูมิใจ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ สถานะไทยสากลที่คนทั่วโลกยอมรับได้”

‘ณัฐวุฒิ’ จากทษช. ระบุแนวคิดพรรคเคารพและยอมรับความหลากหลาย พร้อมใช้กลไกรัฐคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า “คำถามเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม ขอพูดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคนกรุงเทพฯ วันนี้หลายคนลังเลแม้แต่จะออกจากบ้านมาใช้ชีวิต เยี่ยงคนธรรมดา จากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ เราจะออกไปไหนก็ต้องพยายามตรวจว่า แต่ละจุดมีปริมาณที่เป็นอันตรายหรือไม่ คำย่อว่า พีเอ็มนอกจากฝุ่นผง คิดถึงเรื่องอื่นได้อีกไหม มีคำในภาษาอังกฤษที่คล้ายคลึงกับคำว่า พีเอ็ม คือว่า นายกรัฐมนตรี (Prime minister) พีเอ็ม 2.5 ก็รู้อยู่แล้วว่า มันไม่เต็มร้อย ไม่เต็มสิบ ทั้งประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์พีเอ็ม 2.5 สถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่เต็ม หมายถึงไม่เต็มใจจะออกจากตำแหน่ง ทั้งที่หลายคนพยายามจะบอกว่า ให้สติและสำนึกทางการเมืองก็ตาม

ก่อนงานจะถูกปิดก่อนเวลา ขอย้อนกลับไปที่เรื่องศิลปะและวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการได้ตลอดเวลา มีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ศิลปะจะเกิดขึ้นโดยชนชั้นใดก็ได้ คนระดับล่างเดินดิน คนชั้นสูงผู้มีอำนาจนำอำนาจการปกครองได้หมด สิ่งนี้อยู่ใน รัฐชาติที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยแท้จริงจะมีศิลปะที่งอกงามเติบโตและรับใช้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่อย่างแหลมคม เราเห็นงานศิลปะหลายชิ้นจากหลายประเทศ รับใช้ผู้ถูกกดขี่และพาชนชั้นนั้นเหยียดยืนขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้ถูกกดขี่ขึ้นมายืนเทียบเคียงกับผู้ปกครองและผู้กดขี่เสมอ

ต่อข้อคำถามที่ว่า มันมีไหมที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศที่แต่งเพลง ผมว่า มี และเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำได้ ผู้นำหลายๆชาติที่เขียนลำนำ กวี ผู้นำประเทศที่สร้างศิลปะจะเพื่อรับใช้ประชาชนหรือตอบสนองกิเลสทางการเมือง เห็นจากเนื้อหาเป็นความตรงไปตรงมา เป็นสัจจะของชีวิตหรือเป็นความปลิ้นปล้อน ฉ้อฉลตลบตะแลงเพื่อรักษาอำนาจรัฐของตนเอง ตรงนี้คือความแตกต่างของผู้นำประเทศที่ทำเพื่อประชาชนและผู้นำที่ทำเพื่อพวกพ้อง แสดงท่าทีที่หมิ่นแคลนประชาชน เป็นหน้าที่ประชาชนที่ ไม่ให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป การทวงคืนที่สันติ ปลอดภัยที่สุดโดยการเลือกตั้ง

เรื่องศิลปะและวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคไทยรักษาชาติ จะไม่ขยายความแต่จะพูดให้ชัดว่า แนวคิดของเราคือเคารพและยอมรับความหลากหลายและพร้อมที่จะใช้กลไกรัฐสนับสนุนปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนถึงที่สุด ในมิติด้านเทคโนโลยีจะใช้เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพที่จะสวนทางกับรัฐบาลปัจจุบัน เปิดทางให้บุคคลที่มีความดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม รางวัลศิลปินแห่งชาติจะต้องพิจารณาถึงวัตรปฏิบัติด้านประชาธิปไตย เพราะศิลปินเป็นผู้สร้างงานศิลปะ ศิลปะจะต้องรับใช้ประชาชน ถ้ารับใช้อำนาจนิยม คงไม่อาจเรียกว่า ศิลปินแห่งชาติได้

อดิษร จากพท. ชี้ ปัจจุบันวัฒนธรรมประยุทธ์รุ่งโรจน์ แต่วัฒนธรรมประชาชนถูกเหยียบย่ำ

อดิษร เพียงเกษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “อดีตเคยใช้หอประชุมศรีบูรพา ขับไล่ถนอม, ประภาส และณรงค์ ไม่เชื่อว่า ปี 2562 จะมาพูดเรื่องเดิม คิดว่า อีกสิบปีต่อไปก็ต้องพูดเพราะว่า เขา(คสช.)อยู่อีก 20 ปี ใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ถ้าวัฒนธรรมไปอยู่กับประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เป็น “มึงมาไล่ดูสิ” บ้านเขาเข้าทางหน้าต่าง ถ้าบ้านผมเข้าทางหน้าต่างคือโจร วัฒนธรรมแบบนี้คือ ถอยหลังลงคลอง ลุแก่อำนาจ วัฒนธรรมที่ชนชั้นใช้อำนาจนิยมชมชอบมาก วัฒนธรรมประยุทธ์รุ่งโรจน์ แต่วัฒนธรรมประชาชนกลับถูกเหยียบย่ำ

การสบถเป็นเรื่องธรรมดา แต่ธรรมดาของมึงไม่ใช่ของกู มันต่างกันนะ วัฒนธรรมคือ คุณอยู่กำพืดใด ยืนตรงไหน รับใช้ใคร วัฒนธรรมรับใช้พวกพ้องตัวเอง อยู่ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐ เลื่อนเลือกตั้งมาห้าครั้ง พอจะเลือกตั้งก็ไม่รู้ว่า จะเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคไหนหรือไม่

กลับมีที่เรื่องวัฒนธรรมทุกครั้งในการต่อสู้จะพูดถึงวัฒนธรรม ที่มีทั้งวัฒนธรรมหลวงและราษฎร์ แต่วัฒนธรรมราษฎร์ไม่มีใครสนใจเลย คิดอย่างไรให้มันดีงามตามสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมชั่วคราวแบบนี้ ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ อยากให้เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่อนุบาล ถึงจะชนะทุกอย่างที่ไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดี คือ วัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ แทนที่จะเอาเพลงขอเวลาอีกไม่นานมาเปิด

นโยบายทางวัฒนธรรม ปัญหาปัจจุบันคือ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาทุกข์ คนแก้เท่าที่ดู สโลแกนตามสี่แยก ถ้ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจคนแก้ก็ต้องเพื่อไทย เขาว่ามาแบบนั้นนะ เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว เราก็จะสร้างสุขให้แก่ประชาชน สุขนั้นจะได้มาอย่างไรก็ได้มาจากวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะสร้างสุขหลังจากที่แก้ทุกข์ไปแล้ว วัฒนธรรมที่สร้างจะเป็นประชาธิปไตยที่เคารพประชาชน ไม่ว่าอำนาจอธิปไตย ต้องขึ้นกับประชาชน ยกตัวอย่างหนึ่งในอำนาจอธิปไตยคือ อำนาจตุลาการ ศาลฎีกาต่อไปคุณต้องไม่ตัดสินว่า เมื่อปฏิวัติแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มันเป็นคำพิพากษาโบราณแล้ว ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ถ้าผู้พิพากษาหรือตุลาการท่านใดเป็นแบบนั้น เพราะประชาชนเข้าใจแล้วว่า การยึดอำนาจเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดี เป็นเดรัจฉานวิชาของประชาธิปไตย

กระทรวงวัฒนธรรมจะต้องเป็นกระทรวงเกรดเอไม่ใช่เป็นกระทรวงลับๆล่อๆ ไม่มีที่ไปค่อยไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม ที่ผ่านมาไม่ได้รับใช้ประชาชน มองขึ้นข้างบนไม่ได้มองลงข้างล่าง งบประมาณจะต้องกระจายลงสู่ด้านล่าง เดี๋ยวนี้งบประมาณมีไม่กี่เปอร์เซนต์ส่งถึงประชาชน มองตามระบบราชการ”

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 27824 articles
Browse latest View live